xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เปิดแอปฯควบคุมโรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (21 เม.ย.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว จัดทำแอปพลิเคชัน "กรมควบคุมโรค" ว่า แอปฯ ดังกล่าว จะเป็นการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านโรคติดต่อในประเทศได้ง่ายขึ้น และตรวจสอบสถานการณ์โรคได้ตลอดเวลาทางโทรศัพท์มือถือ ช่วยกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันควบคุมโรค จะเพิ่มศักยภาพประเทศในการลดผลกระทบจากโรคระบาดข้ามแดนได้
ทั้งนี้ ได้รวบรวมโรคที่น่าสนใจและเป็นปัญหาในประเทศไทยที่ประชาชนต้องรู้ไว้กว่า 100 โรค เช่น โรคไข้หวัดนก โรคปอดบวม โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้รากสาดใหญ่ โรคมือเท้าปาก โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคไข้เลือดออก เป็นต้น บรรจุในแอปฯ และเร่งทำให้ครบถ้วนภายใน ก.ย.นี้

นอกจากนี้ ยังมีการพยากรณ์โรคทั้งรายสัปดาห์ รายฤดูกาล และรายปี ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทางโทรทัศน์ ควบคู่กับการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีคำเตือนประชาชนด้านการป้องกันโรคล่วงหน้า ให้ประชาชนมีเวลาเตรียมตัวป้องกันตนเอง ไปพร้อมๆ กับการเตรียมตัวของบุคลากรภาครัฐและสถานบริการ มั่นใจว่ามาตรการนี้จะลดปัญหาการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของประชาชนได้มาก จึงอยากขอความร่วมมือสื่อมวลชนร่วมกันสร้างประโยชน์สังคม นำข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงจากแอปพลิเคชันมาเผยแพร่ต่อไป เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงสุขภาพกับโรคภัยต่างๆ ยิ่งกว้างขวางและรวดเร็วเท่าไร ยิ่งเป็นผลดี

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีสำหรับสมาร์ทโฟน ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ส่วนระบบไอโอเอส อยู่ระหว่างพัฒนา คาดว่า 1-2 สัปดาห์จะใช้งานได้ ในแอปฯ จะมีข้อมูล 2 ส่วน ส่วนแรกสำหรับประชาชน ในหัวข้อ "กดดูรู้โรคกับกรมควบคุมโรค" มี 3 เรื่องย่อย ได้แก่ 1.กดดูรู้โรค นำเสนอเป็นข้อมูลภาพกราฟิกการ์ตูน โรคต่างๆ เข้าใจง่าย นำไปเผยแพร่หรือแชร์ต่อได้ 2.การพยากรณ์โรครายสัปดาห์ โดยจะมีทีม แซท (Situation Awareness Team : SAT) ปฏิบัติการวิเคราะห์สถานการณ์ของโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ทุกสัปดาห์ เริ่มทดลองเผยแพร่แล้ว 4 ฉบับ ได้แก่ ระวังเตือนภัยโรคไข้หูดับ, อากาศร้อนระวังโรคพิษสุนัขบ้า, เตือนอุบัติเหตุช่วงเทศกาล และเตือนโรคคอตีบให้รีบมารับวัคซีนป้องกันโรค และ 3.การพยากรณ์โรคตามฤดูกาลและรายปี ซึ่งจะบอกวิธีการดูแลและป้องกันง่ายๆ และในอนาคตจะพัฒนาการพยากรณ์ให้ลงลึกถึงระดับพื้นที่ใดต้องระวัง

"ส่วนที่ 2 จะใช้สำหรับกลุ่มนักวิชาการ นักเรียน/นักศึกษา มี 4 หัวข้อ ประกอบด้วย 1.การสรุปวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารโรคที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ 2.สื่อเผยแพร่โรคติดต่อและภัยสุขภาพต่างๆ เช่น การจมน้ำ อุบัติเหตุ 3.ข้อมูลสถานการณ์โรคระบาด และ 4.องค์ความรู้เกี่ยวกับการสื่อสารข้อมูลและผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่องโรคและภัยสุขภาพ เพื่อที่จะนำข้อมูลความรู้ไปใช้ประโยชน์ต่างๆในการบริการและการศึกษา" นพ.โสภณ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น