xs
xsm
sm
md
lg

รัฐเถียงคอเป็นเอ็นเศรษฐกิจฟื้น งัดหลากหลายตัวเลขโชว์ หอการค้าฯสวนยังฟุบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-รัฐบาลยันเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกฟื้นตัวแล้ว นำตัวเลขโชว์ ทั้งการเร่งลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มมากขึ้นหลังปลดล็อคขอใบ รง.4 อสังหาริมทรัพย์ขยายตัว ท่องเที่ยวโตกระฉูด 26% ส่วนภาคส่งออกแม้หดตัว แต่ได้การค้าชายแดนช่วย "บิ๊กตู่"สั่งดูแล SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้านหอการค้าไทยประเมินสวน เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น พร้อมหดเป้าจีดีพีทั้งปีเหลือ 3.2% จากเดิม 3.5-4%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (16 เม.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ในเวลา 09.00-11.50 น. จากนั้นเวลา 12.00 น. ที่ตึกนารีสโมสร นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม นายอำพล กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี รอ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงผลการประชุม

นายอาคม กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา มีตัวชี้วัดบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น ตั้งแต่เดือนม.ค.และก.พ. โดยมีสัญญาณที่ดี โดยมีการอัดฉีดเม็ดเงินในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบที่ 2 ของรัฐบาล ในการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ถนนทางหลวงโดยกรมทางหลวงชนบท งบประมาณ 6 หมื่นล้านบาท และถนนสายรองในชนบทโดยกรมทางหลวงชนบทงบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าสามารถเบิกจ่ายได้ภายในเดือนพ.ค.นี้ อย่างน้อยจะเบิกจ่ายได้ 55% ถือว่าเป็นตัวเลขการเบิกจ่ายมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ 50% เนื่องจากรัฐบาลได้เติมเงินซึ่งเป็นส่วนของเงินกู้เข้าไปในโครงการดังกล่าวด้วย ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้จะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.2558 หรือใช้เวลาในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น 12 เดือน

ส่วนการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก็เป็นไปในทิศทางที่ดี เนื่องจากในปีที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ทำให้ภาคเอกชนสามารถก่อสร้างโรงงานและเดินเครื่องจักรการผลิตได้เป็นจำนวนมาก

ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดมีการเจริญเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะอาคารพาณิชย์ และคอมมูนิตี้ มอลล์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมถึงที่อยู่อาศัยและหมู่บ้าน โดยเฉพาะบริเวณที่รัฐบาลประกาศเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีฐานอยู่ในกรุงเทพฯ ได้เข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ตัวชี้วัดด้านการบริโภคยังส่งสัญญาณที่ดี กล่าวคือ ตัวเลขการบริโภคเพิ่มขึ้น 1-2% แม้ว่าในปีก่อน ภาคการเกษตรอาจเจอปัญหาภัยแล้ง หรือสินค้าประมงของไทยบางรายการ เช่น กุ้ง การส่งออกไปต่างประเทศมีปัญหา

นายอาคมกล่าวว่า สำหรับตัวเลขการส่งออก ในช่วง 2 เดือนแรกติดลบ 4% แต่ถ้าหากหักตัวเลขการส่งออกทองคำออกไปการส่งออกของไทยจะติดลบเพียง 3% เท่านั้น ซึ่งไม่น่าเป็นห่วง โดยพบว่าเศรษฐกิจการค้าชายแดนได้เติบโตอย่างมาก ตัวเลขเป็นบวก 710% ดังนั้น ทิศทางดังกล่าวถือว่าสอดคล้องกับนโยบายการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลที่จะเน้นในการส่งเสริมการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงการเปิดตลาดบริเวณประเทศเพื่อนบ้านให้มีการขยายตัวมากยิ่งขึ้น

สำหรับภาคการท่องเที่ยว ถือว่ามีสัญญาณดีมาก และได้เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็น 10% ของจีดีพี โดยเบื้องต้นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารายงานว่าในช่วง 2 เดือนแรก ปริมาณนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น 22% ขณะที่ตัวเลขล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 เม.ย.2558 เพิ่มขึ้นแล้ว 26% ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยคลี่คลายลง เพราะต่างประเทศให้ความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย โดยเฉพาะตัวเลขนักท่องเที่ยวของประเทศจีน เติบโตอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญมีการกระจายตัวไปเที่ยวในภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น เช่น ทางภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้

ส่วนตัวเลขดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสแรก ผลจากราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้เกิดการประหยัดเงินที่เป็นค่าใช้จ่ายในการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นราว 26% และเกิดการฟื้นตัวในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงช่วยให้ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดรวมถึงดุลบริการดีขึ้น ส่งผลดีต่อกระแสเงินต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยได้ดุลการค้าและดุลพัญชีเดินสะพัดเกินดุล จึงทำให้ค่าเงินบาทแข็ง แต่ก็ไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันรายได้จากการจัดเก็บภาษี กระทรวงการคลังรายงานว่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2 เดือนแรกประมาณ 0.9% แม้ว่าภาคการส่งออกยังไม่ฟื้น แต่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ และการค้าชายแดนมีการขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น

"ภาคการส่งออกถือว่าสร้างรายได้คิดเป็น 70% ของรายได้เข้าประเทศ แม้ว่าวันนี้ การส่งออกจะอ่อนตัวลงจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา แต่พบว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขการส่งออกไปตลาดประเทศสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าตลาดส่งออกจีนและยุโรปจะชะลอตัว และรายได้ ได้ถูกชดเชยจากการท่องเที่ยว เมื่อประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสแรก คาดว่าขยายตัวได้ 3% และจะเติบโตดีต่อเนื่องในไตรมาสต่อไป หลังจากการลงทุนภาครัฐเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลยังเชื่อมั่นจีดีพีตามกรอบขยายตัว 3.5-4.5% ในปีนี้"นายอาคมกล่าว

ทั้งนี้ ในที่ประชุมครม.เศรษฐกิจ นายกฯ ยังได้กำชับเรื่องให้เร่งรัดการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการก่อสร้างถนนทั้งทางหลวงชนบท โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการรถไฟรางคู่ที่จะต้องดำเนินการเซ็นสัญญาให้เกิดขึ้นให้ได้ภายในไตรมาสที่ 2 การก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา และการแก้ไขปัญหาสายการบินกลุ่มเช่าเหมาลำ เป็นต้น

ด้านนายอำพล กล่าวเสริมว่า การประชุมครม.เศรษฐกิจครั้งนี้ นายกฯ ได้นัดหมายก่อนช่วงหยุดสงกรานต์ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานตัวเลขเศรษฐกิจและการคาดการณ์ในไตรมาสแรกพร้อมกับคาดการณ์สถานการณ์สภาวะเศรษฐกิจที่มีตัวชี้วัดบ่งบอกว่าสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นจากเดิมที่มีการเป็นห่วง โดยเฉพาะตัวชี้วัดเศรษฐกิจในระดับมหภาค เช่น การส่งออก การลงทุนภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน การจัดเก็บรายได้ การท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศ ล้วนเริ่มฟื้นตัว เพราะจากการปรับตัวภายในประเทศ และเป็นไปตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนายกฯ จึงส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และในที่ประชุม นายกฯ ได้กำชับให้ติดตามความคืบหน้าของนโยบายการลงทุนภาครัฐ เพื่อรายงานให้รับทราบเป็นรายสัปดาห์ด้วย

นอกจากนี้ ในที่ประชุม นายกฯ ยังได้กำชับอย่างมากให้ดูแลเศรษฐกิจในระดับล่าง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) รวมถึงผู้ค้าปลีกรายย่อยที่อยู่ในระดับตลาด เช่น ตลาดนัดจตุจักร ซึ่งนายกฯ ได้กำชับให้ ธปท. และกระทรวงการคลังเข้าไปดูแลให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงแหล่งทุน ถือเป็นการเข้าไปช่วยประคับประคองประชาชนระดับล่างให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ และยังกำชับเกี่ยวกับโครงการเครื่องจักรชุมชน ที่เป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องการเข้าไปช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร โดยการให้เกษตรกรรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์ เช่น การอบข้าว โรงสีข้าว เครื่องจักรไถหว่าน โดยทางภาครัฐจะเป็นฝ่ายลงทุน รวมถึงนายกฯ ได้กำชับให้มีการตั้งหน่วยบริการดูแลให้เกิดการขยายตัวการค้าในจุดที่เป็นจุดเชื่อมต่อ การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้านจะต้องไม่มีปัญหาและอุปสรรค

วันเดียวกันนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้จัดแถลงข่าว "สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจไทย ไตรมาส 1 และแนวโน้มปี 2558"

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกยังไม่ดีขึ้น เพราะธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ยังมีปัญหาด้านการเงิน ขณะที่สินค้าภาคการเกษตรยังตกต่ำ การส่งออกชะลอตัว คนจึงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย แต่ก็ได้รับผลดีจากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตค่อนข้างดี โดยศูนย์ฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 และดีขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3 และ 4 แต่ก็ยังไม่ดีขึ้นตามที่เคยคาดการณ์เอาไว้ จึงได้ปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งปี 2558 ใหม่เป็น 3.2% จากเดิม 3.5-4% และยังมีความเสี่ยงที่จะเติบโตได้ต่ำกว่า 3% เพราะการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลล่าช้ากว่าที่กำหนด ราคาสินค้าเกษตรยังคงตกต่ำ ปัญหาค่าครองชีพทรงตัวในระดับสูง เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ทำให้กระทบต่อการส่งออกของไทย

"ไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อที่สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย หากรัฐบาลเร่งโครงการลงทุน มีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ก็จะกระตุ้นให้เกิดการบริโภค และกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนให้มาตาม ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัว และหากต่อไปเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ก็จะทำให้การส่งออกของไทยกลับมาดีขึ้น"นายธนวรรธน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น