xs
xsm
sm
md
lg

UAC จับมือพันธมิตรผุดโรงไฟฟ้าชีวมวล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-UAC ผนึกกำลังพันธมิตรกับ QTC และ AGE ลงขันเตรียมสร้างโรงไฟฟ้า 10 เมกกะวัตต์ คาดได้ข้อสรุปไตรมาส 3 ปีนี้ เล็งพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าแห่งแรกที่หัวเมืองใหญ่ภาคเหนือและอีสานจังหวัดติดประเทศเพื่อนบ้าน รับอานิสงส์เปิด AEC
นายกิตติ ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ยูเอซี โกลบอล หรือ UAC กล่าวว่า บริษัทฯได้มีการพูดคุยร่วมกันกับ บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ หรือ QTC และ บมจ.บริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี หรือ AGE ในการร่วมทุนทำโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังการผลิตที่ 10 MW จำนวน 1 โรง ในช่วงเริ่มแรก ซึ่งได้พิจารณาเลือกที่ตั้งโรงไฟฟ้าในเขตภาคเหนือ และภาคอีสาน เนื่องจากเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่มีแนวโน้มการเติบโตในอนาคตได้ดี และมีพื้นที่ติดกับประเทศ เพื่อนบ้านเช่น กัมพูชา และลาว โดยอนาคตอาจเข้าไปลงทุนทำกิจการโรงไฟฟ้าในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงอีกด้วย
อย่างไรก็ตามการร่วมทุนทำโรงไฟฟ้าของทั้ง 3 บริษัท คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน ไตรมาสที่ 3 ปีนี้ เพราะจะต้องพิจารณาดูหลักเกณฑ์ข้อกำหนดนโยบายพลังงานหมุนเวียนแบบใหม่จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ หรือ Feed-in Tariff (FIT) โดยอาจมีการตั้งบริษัทย่อยร่วมทุนขึ้นมาในการทำโรงไฟฟ้า

ขณะที่นายพนม ควรสถาพร กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอเชีย กรีน เอนเนอจี หรือ AGE กล่าวเพิ่มเติมว่าในปีนี้บริษัทฯยังมุ่งเน้นการลดต้นทุนด้านการขนส่งถ่านหินโดยตั้งเป้าหมายปริมาณการขายถ่านหินใกล้เคียงปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.45 ล้านตัน ขณะที่ราคาขายถ่านหินเริ่มปรับขึ้นเล็กน้อยแม้ว่าจีนและอินเดียจะมีการใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้น คาดปีนี้ราคาเฉลี่ยถ่านหินอยู่ที่ 65 เหรียญสหรัฐ/ตัน ทำให้ทั้งปีบริษัทฯจะมีรายได้ประมาณ 7 พันล้านบาทสูงกว่าปีก่อนเล็กน้อย และจะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิอีกครั้ง จากปี 2557 ที่ขาดทุนสุทธิ35 ล้านบาท
ส่วนนโยบายที่จะขยายธุรกิจสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำ โดยอุตสาหกรรมต้นน้ำ คือมีเหมืองถ่านหินเป็นของตนเองนั้น เนื่องจากราคาถ่านหินปรับตัวลดลงมาหลายปี ทำให้เหมืองถ่านหินปิดตัวไปหลายแห่ง ซึ่งบริษัทเห็นว่าการทำธุรกิจเทรดดิ้งถ่านหินปลอดภัยกว่า ไม่มีเหมืองก็ไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด ส่วนอุตสาหกรรมปลายน้ำคือโรงไฟฟ้าถ่านหิน เนื่องจากรัฐมีนโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทน บริษัทจึงหันมารุกธุรกิจไฟฟ้าชีวมวล โดยสิ้นเดือนมี.ค.นี้คาดว่ารัฐจะมีความชัดเจนในการรับซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าชีวมวลและขยะ
ทั้งนี้บริษัทมีแผนรุกธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล 10 โรง โดยดำเนินการประชาพิจารณ์ไปแล้ว 3 โรง โดยโรงแรกคือ โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 2 เมกะวัตต์ที่จังหวัดสุโขทัย คาดจ่ายไฟเข้าระบบในปลายปีนี้ ส่วนอีก 2โรงเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล กำลังผลิตโรงละ 9.9เมกะวัตต์อยู่ภาคใต้ อยู่ระหว่างรอกับประกาศรับซื้อไฟจากภาครัฐ รวมทั้งยังได้ร่วมกับพันธมิตรอย่าง บมจ. ยูเอซี โกลบอล(UAC๗ และบมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) ในการรุกธุรกิจไฟฟ้าด้วย โดยบริษัทมีความชำนาญด้านการจัดหาเชื้อเพลิง สำหรับแหล่งเงินทุนนั้นบริษัทมีเพียงพอที่จะสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล 3-4 โรงเนื่องจากออกหุ้นกู้ 1พันล้านบาทและมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานด้วย
ส่วนนายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ หรือ QTC กล่าวว่า การเข้าร่วมมือกับพันธมัตร 2 บริษัทฯเพื่อสร้างหลักประกันความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสในการพัฒนาธุรกิจร่วมกัน มากกว่าการทำธุรกิจประเภทเดียว อีกทั้งบริษัทพันธมิตรทั้ง 2 รายมีความได้เปรียบจากความเชี่ยวชาญด้านงานที่ทำอยู่ และยังมีโอกาสในการขยายกิจการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านลุ่มน้ำโขง มีการตื่นตัวในการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (AEC) เป็นอย่างมาก โดยเปิดโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนจากต่างประเทศเข้าไปตั้งโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม ทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเป็นปริมาณมาก และยังไม่มีเพียงพอต่อความต้องการ

ขณะเดียวกัน ภาพรวมของบริษัทฯในปีนี้มีการเติบโตดีขึ้น บริษัทฯมีการรับรู้รายได้จากงานในมือที่ตกค้างจากปีที่แล้วเข้ามา และมีงานด้านโซล่า ฟาร์ม จาก บมจ.เด็มโก้ (DEMCO) และงานของราชการบางส่วนเข้ามาด้วย ทำให้ยอดรวมรายได้ของบริษัทมีสัดส่วนในทิศทางบวกมากขึ้น อีกทั้งบริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นหม้อแปลงไฟฟ้าภายในอาคาร โดยมีการส่งออกไปขายยังประเทศญี่ปุ่นที่มียอดสั่งซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก ทำให้มั่นใจว่าในปีนี้บริษัทฯจะสามารถรักษาเป้ารายได้ทั้งปีไว้ที่ไม่น้อยกว่า1,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น