xs
xsm
sm
md
lg

สังคมก้มหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

มีสำนวนไทยอยู่หลายคำ อาทิ “ก้มหน้า” หมายถึง จำทน เช่น ก้มหน้ากัดก้อนเกลือกิน “ก้มหน้าก้มตา” หมายถึง ไม่สนใจเรื่องอื่นใด เช่น ก้มหน้าเขียนหนังสือจนสำเร็จ “ก้มหัวให้” หมายถึง ยอมรับในอำนาจหรือในความสามารถ เช่น เขาทำงานดีจนทุกคนยอมก้มหัวให้

“หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน” หมายถึง ชาวไร่ชาวนาที่ตรากตรำทำงานหนัก เวลาทำไร่ทำนาหลังต้องสู้กับแดด และหน้าต้องก้มลงดิน ปัจจุบันกำลังจะหายไป เอาเครื่องจักรมาแทน

“เงยหน้าไม่อายฟ้า ก้มหน้าไม่อายดิน” หมายถึง คนไม่มีมลทิน ฟ้าดินไม่อับอาย คนคิดดี พูดดี ทำดี เพราะจิตใจดี ทำอะไรมีศักดิ์ศรี สง่าผ่าเผย ทำในที่แจ้ง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่เกรงกลัวอะไร ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ความดีย่อมรักษาคนทำดี

สังคมก้มหน้า

บางข้อความที่กล่าวมาข้างต้น ก็เอามาจากอาการ “ก้มหน้า” ดูในมือถือนั่นแหละ จะไปว่าแต่เด็กๆ คนหนุ่มคนสาวก็ไม่ถูก เพราะอาการของโรค “ก้มหน้า” นี้มันระบาดไปทั่ว ไม่เว้นคนเฒ่าคนแก่ แม้พระสงฆ์องค์เณร ก็เฟซแอนด์ไลน์ กดไลค์กดแชร์ไปทั่ว มีทุกรส สดก็มี เก่าก็มี ทั้งสาระ และอสาระ ทั้งดีและชั่ว ทั้งเหนือดีเหนือชั่ว ฯลฯ

โอ...พระเจ้า ท่านไม่ได้ประทับอยู่ห่างไกลเราเลย ท่านประทับอยู่กับเราทุกคนนี่เอง

สังคมก้มหน้า โลกแห่งสมานฉันท์

สรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลง เราก็เป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่ง ไยเล่าจะไปฝืนสัจธรรมนั้นได้ ดังนั้น เราก็เปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา... “กดไลค์กดแชร์ กดแคร์กันหน่อย รักกันมากน้อย อร่อยเบิกบาน”

ก้มหาอะไร

การหาสิ่งที่อยากรู้อยากเห็น หรือสิ่งที่หายไป ถามใจตัวเองซิว่า...หาอะไร?

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต สมัยที่ท่านปลีกวิเวกไปอยู่ที่สงัดบนภูเขาทางภาคเหนือ ปักกลดแล้วก็เดินจงกรม เดินไปเดินมา สลับการทำสมาธิเกือบทั้งวันทั้งคืน ชาวเขาที่อาศัยอยู่แถวนั้น แปลกใจ สงสัยพระองค์นี้

เดินทำไม เดินไปเดินมา เดินหาอะไร อดรนทนไม่ได้จึงถามหลวงปู่ หลวงปู่บอกว่า เดินหาพุทโธ แล้วชาวบ้านก็มาช่วยเดินหา หลวงปู่ก็บอกวิธีเดินหาพุทโธ ชาวบ้านชาวเขาพอเข้าใจ ออกมาเดินทั้งหมู่บ้าน และช่วยสร้างที่พักให้หลวงปู่ด้วย หลวงปู่เลยได้โอกาสสอนธรรมะ จากการหาพุทโธเพียงคำเดียว ทำให้ชาวเขาเข้าใจธรรมะขึ้นมาบ้าง และเกิดศรัทธาในตัวหลวงปู่อย่างมาก

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เป็นศิษย์อีกท่านหนึ่งของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านสอนว่า... “พุทโธคำเดียวเป็นธรรมหมด เข้าได้ทุกศาสนา ให้พากันระลึกถึงเสมอ”

ไม่ว่าจะเป็น “พุทโธ” หรือ “ธรรม” หรืออะไร ต่างก็เป็น “ใจ” ด้วยกันทั้งนั้น (ทุกสิ่งเกิดจากใจ) ที่ท่านผู้รู้พูดต่างกัน นั่นเป็น “อุบายธรรม” ของแต่ละท่าน

อุบายธรรม คือวิธีการต่างๆ ที่นำไปสู่จิตสงบ เช่น ภาวนาพุทโธ, ดูกายเคลื่อนไหว ดูใจนึกคิด เป็นต้น

ก้มหาอะไร ก็ก้มหาใจ คือใจที่สงบกับใจที่ไม่สงบแน่นอน คนที่หาใจไม่สงบนั้นมีมาก ส่วนคนที่หาใจสงบนั้นมีน้อย ซึ่งมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของแต่ละคน “สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี-สิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี”

หาเล็กหาใหญ่

ชอบใจคำสอนของหลวงพ่อชา สุภัทโท ที่ว่า... “ดูไม้ท่อนนี้ซิ สั้นหรือยาว? สมมติว่า คุณอยากได้ไม้ที่ยาวกว่านี้ ไม้ท่อนนี้มันก็สั้น แต่ถ้าคุณอยากได้ไม้สั้นกว่านี้ ไม้ท่อนนี้มันก็ยาว หมายความว่า “ตัณหา” ของคุณต่างหาก ที่ทำให้มีสั้นมียาว มีเล็กมีใหญ่ มีดีมีชั่ว มีทุกข์มีสุขขึ้นมา”

เราทั้งหลายทั้งปวง ต่างก็หาเล็กหาใหญ่ด้วยกันทั้งนั้น สมมติเล็กเป็นเรื่องไร้สาระ ใหญ่เป็นเรื่องสาระ เล็กเป็นเปลือก ใหญ่เป็นแก่น เล็กเป็นโลกียธรรม ใหญ่เป็นโลกุตรธรรม เล็กเป็นสมมติสัจจะ ใหญ่เป็นปรมัตถสัจจะ ฯลฯ

สมมติได้ไม่มีจุดจบ สมมติไปต่างๆ นานา เราก็เล่นหรือมีบทบาท มีหน้าที่ตามสมมตินั้น

ชีวิตคือสองด้านของเหรียญอันเดียวกัน ใครเล่นเพียงด้านเดียวมากเกิน มักจะเกิดปัญหา โดยเฉพาะด้านสมมติสัจจะ หรือด้านโลกียะ

การมองหาสิ่งต่างๆ หรือมองหาเล็กหาใหญ่ เพื่อเอามาเป็นประโยชน์ทั้งส่วนตัวและส่วนรวมนั้น นิยมกันมากในภาวะที่จิตใจยังไม่บริสุทธิ์

ถ้าจะให้การมองหาด้วยใจบริสุทธิ์ จะต้องพัฒนาให้ประณีตขึ้นไปอีกในภาวะ “ใจไร้ใจ” หรือภาวะ “ความว่าง” นั่นเอง

การมองหาผ่านความว่าง หรือมองผ่านภาวะจิตไร้จิต เราจะรับรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจะเห็นสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น แล้วความจริงจะเป็นอิสระจากสิ่งร้อยรัดทั้งปวง

ชั่วขณะที่เราอยู่ในภาวะไร้จิต ความจริงจะเริ่มทะลุผ่านเข้ามาภายในตัวเราดุจแสงสว่าง ยิ่งเราเบิกบานกับแสงสว่างนี้มากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งมีความสามารถ และมีความกล้าหาญที่จะละวางจิตที่ชอบคิด ไม่ช้าก็เร็ว เราจะมองโดยไร้ความคิด

เราไม่ได้มองหาอะไร เราเพียงแค่มอง สายตาของเราจึงบริสุทธิ์

ชั่วขณะนั้น เราจะกลายเป็นเหมือนพระอวโลกิเตศวร ผู้มีสายพระเนตรอันบริสุทธิ์

พระอวโลกิเตศวร เป็นอีกพระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า พระองค์ทอดพระเนตรโดยไร้ความคิด พระองค์เพียงแค่ทอดพระเนตรเท่านั้น

ถ้าจะพูดตามสำเนียงอีสาน อย่างหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ ก็ว่า “รู้ซื่อๆ มองซื่อๆ” หรือ “เห็นแต่ไม่เป็น” ประมาณนั้น

หาไปไม่หยุด

ตอนที่องคุลีมาลวิ่งไล่พระพุทธเจ้า ตะโกนเรียกพระองค์ให้ “หยุดก่อนๆๆ” แล้วพระองค์ตอบว่า “เราหยุดแล้ว แต่ท่านยังไม่หยุด” แค่นั้นแหละ องคุลีมาล “ซาโตริ” หรือ “บรรลุธรรม” เลย อะไรมันจะง่ายปานนั้น?

คำว่า “หยุด” ขององคุลีมาลเป็นภาษาคนหมายถึง ไม่แล่น ไม่เคลื่อนไหว คำว่า “หยุด” ของพระพุทธเจ้าเป็นภาษาธรรม หมายถึง “ความว่าง” เมื่อไม่มีตัวตนแล้ว จะเอาอะไรไปวิ่ง เมื่อไม่มีตัวตนแล้ว ความอยากจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

คนส่วนมากที่ยังมีความอยากอยู่ ก็เที่ยววิ่งหาบาปหาอกุศล หาบุญหากุศล หาความชั่วหาความดี หานรกหาสวรรค์ หาอะไรไปสารพัดอย่าง ที่นั่น ที่นี่ เที่ยวแห่กันไป เที่ยวแห่กันมา อย่างนี้เรียกว่าวิ่ง เรียกว่าหาไปไม่หยุด

แต่ถ้าหยุดความต้องการเสียได้ หยุดความมีตัวตนเสียได้ แม้จะขึ้นเรือบินอยู่ ก็เรียกว่าหยุด

ขณะเขียนบทความนี้อยู่ บุญเลิศเพื่อนไลน์ จากขอนแก่น กริ๊งๆ ส่งไลน์พระอรหันต์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์มาให้ ใต้ภาพพระอรหันต์มีข้อความว่า “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ” แปลว่า “ความสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี” นี่คือความดีของสังคมก้มหน้า ที่รู้จักแชร์แบ่งปันกันไป แล้วก็คอมเมนต์ไปว่า... “ทำอย่างไรจึงจะเกิดความสงบ” (เมื่อถามก็ตอบว่า) “หยุดคิดจิตว่าง หรือหยุดคิดจิตสงบ” เช่นนั้นเอง

“สังคมก้มหน้า

ก้มหาอะไร

หาเล็กหาใหญ่

หาไปไม่หยุด”


ชอบสำนวนไทยที่ว่า... “เส้นผมบังภูเขา” คือเรื่องง่ายๆ แต่คิดไม่ออก อย่างองคุลีมาล ตอนแรกเข้าใจคำว่าหยุด อย่างภาษาคน พอพระพุทธเจ้าตอบมา เลยเข้าใจคำว่าหยุดอย่างภาษาธรรม เหมือนเราเดินหาหมวก หาไปทั่ว ทั้งก้มหน้าหา เงยหน้าหา ก็ไม่เจอ แต่พอมีคนบอกว่า หมวกก็อยู่บนหัวของท่านไง อ๋อ...ตอนนี้ถึงบางอ้อเลย ฉันใด ก็ฉันนั้น

เราทุกคนมีของดีอยู่กับตัวแท้ๆ แต่เที่ยวหาไปทั่วเกือบชั่วชีวิต เพราะเส้นผมบังภูเขาแท้ๆ แต่พอท่านผู้รู้ชี้บอก อ๋อ...ของดีอยู่กับตัวเรานี่เอง ไม่เคยหนีไปไหน มีแต่เราหนีของดีไป อนิจจา

นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม เอกการท่องเที่ยว ก้มหน้าก้มตาหาข้อมูลหลักฐานด้านวัดวาอารามอายุร้อยปีขึ้นไป เพื่อประโยชน์แก่มหาชน

นักศึกษาเอกประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก้มหน้าก้มตาหาข้อมูลหลักฐานด้านประวัติศาสตร์ เพื่อเรียนรู้เทือกเถาเหล่ากอประเทศชาติบ้านเมืองของตน
กำลังโหลดความคิดเห็น