“ลองคิดดูสิ ถ้ากรุงเทพฯ ของเรา มีสวนสาธารณะกับพิพิธภัณฑ์ให้เช็คอินเพิ่มอีกแห่ง. จะรู้สึกดีมั๊ย ?”
แม้จะยังเป็นภาพคลุมเครือ ทว่า นาทีนี้ “มักกะสัน สวนสร้างสรรค์ เพื่อเปลี่ยนกรุงเทพฯ” ก็ได้เริ่มวางโครงการกันแล้ว ภายใต้การลงมือลงแรงของคนจากหลากหลาย องค์กร โดยใช้ชื่อว่า “เครือข่ายมักกะสัน” และสวนดังกล่าวจะมีอะไรดี มาดูกัน!
เติมเต็มสุขภาพให้กับเมือง
แน่นอนบนพื้นที่สีเขียวกว่า 700 ไร่ ของสวนมักกะสัน ย่อมเป็นเสมือนเครื่องฟอกอากาศขนาดยักษ์ให้กับคนกรุงเทพฯ ได้ดีทีเดียว เพราะจะนอกจากจะช่วยสกัดกั้นมลภาวะทางอากาศ อย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสม ได้ถึง 604 ตันต่อปีแล้ว ยังช่วยเพิ่มก๊าซออกซิเจนบริสุทธิ์ให้เราได้หายใจกันถึง 441 ตัน ต่อปีอีกด้วย
ชุบชีวิตเมืองด้วยมักกะสัน
จากวิกฤติน้ำท่วมเมือง เมื่อปลายปี 2554 เชื่อว่าชาวกรุงเทพฯ ยังคงขยาดมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ถ้าลองคิดดูดีๆ จะพบว่า สาเหตุที่ทำเกิดให้น้ำท่วมในวันนั้น ประเด็นสำคัญ เป็นเพราะกรุงเทพฯ ขาดพื้นที่เก็บกักน้ำใช่ไหม ? ซึ่งตรงนี้ สวนกักน้ำ ในบึงมักกะสันที่กำลังจะดำเนินโครงการ สามารถรองรับปริมาณน้ำได้มากถึง 216,528 ลบ.ม. เลยทีเดียว ถือเป็นการสร้างโล่กำบังให้กับเมืองหลวงได้ดีทีเดียว
เราขาดพื้นที่สร้างสรรค์
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการไม่มีพื้นที่ทำกิจกรรม จะไม่ใช่ปัญหาชวนวิตกของชาวกรุงเทพฯ เพราะทุกวันนี้ เรามีห้างสรรพสินค้า มีตึกสูงใหญ่ มีพื้นที่อยู่อาศัยมากเพียงพอต่อคนทั้ง 10 ล้านชีวิตที่อยู่อาศัย แต่เรากลับไม่เคยรู้เลยว่า อีกด้านหนึ่ง เมืองหลวงของเรา แทบจะไม่มีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมอะไรใดๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์เลย และนั่นถือเป็นการตัดโอกาสสำคัญของใครหลายๆ คนไป ซึ่งข้อนี้ น้องโสภณ นามทองใบ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาราชภัฏสวนดุสิต หนึ่งในตัวแทนนักเรียนผู้พิการทางสายตา ขอการันตี
“ผมอยากมีพื้นที่ไว้แสดงละครเวที อยากมีพื้นที่ให้แสดงความสามารถของผม ทุกวันนี้ ผมและเพื่อนๆ ต้องไปเล่นดนตรีเปิดหมวกตามอนุสาวรีย์ ตามตลาด บางวันก็โดนเทศกิจจับ โดนเทศกิจไล่ อีกอย่างคนที่เขาผ่านไปผ่านมา ส่วนใหญ่ก็มองว่า พวกผมเป็นเหมือนขอทานมากกว่าคนมีความสามารถ”
และแน่นอนว่า โมเดลของโครงการ สวนมักกะสัน สร้างสรรค์ แห่งนี้ ก็มีโปรแกรมเปิดพื้นที่ เป็นโรงละคร รวมถึงลานแสดงความสามารถ เพื่อคนพิการโดยเฉพาะอีกด้วย
กระตุ้นเศรษฐกิจ
อาจฟังดูขัดๆ ที่สวนสาธารณะจะมีผลต่อเม็ดเงินในประเทศ แต่ถ้าลองบวกลบคูณหาร ด้านธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งภายในสวนจะเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ และเปิดเป็นโซนช็อปปิ้งมอล์ ที่มีชาวบ้านในละแวกนั้น รวมถึงผู้ที่สนใจมาวางขายสินค้าอีกแห่งล่ะ ? คงช่วยลดปัญหาเรื่องการว่างงาน และการสร้างอาชีพได้ดีไม่น้อยทีเดียว หนำซ้ำ ภายในพื้นที่ยังมีแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งตรงนี้ จะช่วยลดค่าจำนวนเงินในการสร้างเขื่อนได้มหาศาลขนาดไหน ลองคิดดูสิ!
โดยโครงการดังกล่าว มีการออกแบบผ่านโมเดล แบ่งออกเป็น 14 ส่วน ไว้ดังนี้
1.พื้นที่พัฒนาร้อยละ 20 และพื้นที่เปิดโล่งร้อยละ 80
2.พื้นที่รับน้ำและบำบัดน้ำด้วยพืชขนาดใหญ่ เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมและน้ำเสียงของเมือง
3.หอชมวิว เพื่อผลิตพลังงานลมไว้ใช้ในสวนและพื้นที่โดยรอบ
4.พื้นที่สวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่และโดมพันธุ์ไม้จัดแสดง เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ไม้ไทย
5.พื้นที่สวนสาธารณะระดับย่าน เพื่อการพักผ่อนทางกีฬาและศิลปวัฒนธรรม เป็นการส่งเสริมสุขภาพทุกเพศและวัย
6.สวนหลังคาขนาดใหญ่ เพื่อเป็นที่พักผ่อน ชมวิวทิวทัศน์เมือง และ Urban Farming เชื่อมต่ออาคารและพื้นที่สวนไว้ด้วยกัน
7.พื้นที่กิจกรรมใต้หลังคาที่มีลมผ่านสบาย กันแดดและฝน เพื่อใช้เป็นพื้นที่กิจกรรมเมืองได้ทั้งปี
8.ทางเดินลอยฟ้า เพื่อเชื่อมการเข้าถึงจากย่านโดยรอบ
9.อาคารโกดังและโรงงาน ที่มีการปรับเปลี่ยนสู่กิจกรรมสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมและศิลปะ
10.สนามหญ้าขนาดใหญ่รองรับเทศกาลงานเมือง
11.อาคารกิจกรรมใต้หลังคาขนาดใหญ่ สำหรับพิพธภัณฑ์ศิลปะระดับโลก อาคารแสดงนิทรรศการและสินค้าแบบร่วมประโยชน์ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมไทย ร้านอาหาร ร้านค้า สนามกีฬาในร่ม และศูนย์การเรียนรู้ของเด็ก
12.พื้นที่ป่าในเมืองและพื้นที่ชายน้ำ เพื่อเป็นแหล่งพักพิงของนกและแมลง
13.ถนนและที่จอดรถลงใต้ดิน เพื่อลดมลภาวะและเน้นการจราจรสีเขียว
14.สวนเพื่อการเรียนรู้นอกห้องเรียน ผนวกทางรถไฟเดิม เพื่อสะท้อนความเป็นย่านและสื่อสร้างสรรค์ต่าง ๆ
พร้อมกันนี้ เครือข่ายมักกะสัน ยังมี 3 เป้าหมายในการผลักดันให้โมเดล ‘มักกะสัน สวนสร้างสรรค์’ ได้เกิดขึ้นจริง คือ เป้าหมายเบื้องต้น เป็นการทำงานในช่วง 3 เดือนแรก โดยจะสร้างความตระหนักให้คนในกรุงเทพฯ รู้ว่าเหลือพื้นที่สีเขียวผืนสุดท้ายอยู่ใจกลางเมืองหลวง และคนกรุงเทพฯ รวมทั้งคนไทยทั้งประเทศควรพิจารณาร่วมกันว่าอยากให้พื้นที่แห่งนี้เป็นอะไร
เป้าหมายระยะกลาง เป็นการทำงานหลังจากผ่านในช่วง 3 เดือนแรกไปแล้ว โดยจะผลักดันให้รัฐบาลเปิดเวที เพื่อให้คนกรุงเทพฯ ลงประชามติว่าต้องการให้พื้นที่มักกะสันเป็นอะไร และ เป้าหมายสูงสุด คือพื้นที่มักกะสันกลายเป็นปอดของคนกรุงเทพฯ ส่วนรายละเอียดการบริหารจัดการพื้นที่ จะมาจากการตัดสินใจร่วมกันของคนไทย
ซึ่งข้อเสนอหรือโมเดล ‘มักกะสัน สวนสร้างสรรค์’ นี้ จะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่! ก็คงอยู่ในกำมือของทุกคนแล้ว ซึ่งหากท่านใดสนใจ ก็สามารถมาร่วมออกเสียงโหวด และรับชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บริเวณชั้น 3 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ไปจนถึงวันที่ 29 มีนาคม 2558 ณ ก่อนจะสรุปและผลักดันโมเดลดังกล่าวส่งเป็นข้อเสนอไปยังคณะรัฐบาลต่อไป