xs
xsm
sm
md
lg

แสงเทียนปีใหม่ (3) : ความจริงของมนุษย์ที่ทุกคนอาจลืม

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

1. กล่าวนำ

หลังจากที่ได้เขียนบทความเกี่ยวกับกลอนแสงเทียน ได้มีท่านที่สงสัยถามมาว่า มีอะไรที่อยู่ในกลอนแสงเทียนหรือไม่ ที่ท่านถามมาเช่นนี้คงอยากทราบเจตนาที่แท้จริงของผู้เขียนในการแต่งกลอนแสงเทียน ก็ขอตอบให้ผู้อ่านทุกท่านได้ทราบว่า ผู้เขียนมีเจตนาที่จะเผยแพร่ความจริงที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คือ การสิ้นสุดของการมีชีวิต ซึ่งอาจเปรียบได้กับการสิ้นสุดหรือดับลงของแสงเทียน เพื่อให้เราทุกคนมุ่งมั่นทำสิ่งที่ดีให้เป็นมรดกแก่คนรุ่นหลังนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายเดือนมกราคมขณะที่นั่งมองแสงเทียนก่อนนอน ผู้เขียนได้พบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจประการหนึ่งที่ได้บ่งบอกถึงความจริงที่ว่า สังขารหรือร่างกายของมนุษย์ (และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย) ย่อมไม่เที่ยงแท้แน่นอน หมายถึง จะไม่สามารถคงอยู่ในรูปเดิมได้ตลอดไป และจะเปลี่ยนแปรไปตามช่วงเวลาของชีวิต ซึ่งจะกล่าวต่อไปในบทความนี้

2. ผลจากการมองเปลวเทียนเพื่อเขียนกลอนแสงเทียน

เนื่องจากผู้เขียนไม่เคยมีประสบการณ์ในการแต่งกลอนมาก่อน จึงคิดหาอุปกรณ์มาช่วยโดยนำเทียนมาจุดในห้องทำงานเพื่อสร้างบรรยากาศในการแต่งกลอน โดยได้ดำเนินการต่างๆ ดังนี้

2.1 นำเทียนหอมมาจุดในห้องทำงาน และพยายามไม่นึกไม่คิดในเรื่องอื่นใด

2.2 พยายามควบคุมจิตใจให้สงบและนั่งมองเปลวเทียนที่กำลังลุกไหม้อยู่ตลอดเวลา

2.3 พยายามควบคุมการหายใจเข้า-ออก โดยให้ลมหายใจเข้า-ออกอย่างสม่ำเสอม

2.4 นั่งบนเก้าอี้ทำงานในท่านั่งที่สบายที่สุด

ผู้เขียนได้ปฏิบัติเช่นนี้อยู่หลายวันจนรู้สึกว่า จิตใจมีความสงบมากขึ้นและสามารถเขียนกลอนแสงเทียนในรูปแบบต่างๆ ดังที่นำเสนอในบทความกลอนแสงเทียนปีใหม่(2) ไปแล้ว

หลังจากนั้นประมาณปลายเดือนมกราคม 2558 ในช่วงก่อนนอนผู้เขียนได้ถือโอกาสนั่งมองเปลวเทียนในห้องนอน (ไม่ใช่ห้องทำงาน) อีกครั้งหนึ่งเพื่อต้องการให้จิตใจเกิดความสงบ แต่การนั่งมองเปลวเทียนในครั้งมีบานกระจกตู้เสื้อผ้าอยู่ฝั่งตรงข้ามกับผู้เขียน ดังแสดงในภาพที่ 1

ภาพที่ 1 ผลจากการมองแสงเทียนผ่านไปที่กระจก

ภาพจำลองกะโหลกศีรษะในกระจกมาจากhttp://abaphysicaltherapy.com/index.php?page=blog&wp=p=25

ในการมองเปลวเทียน (แสงเทียน) ในครั้งนี้ ผู้เขียนได้นั่งเก้าอี้ในท่าที่ผ่อนคลายมากที่สุด โดยได้เปิดเครื่องปรับอากาศและตั้งอุณหภูมิคงที่ และพยายามนับลมหายใจเข้า-ออกให้ได้ปริมาณ (จำนวน) ที่ใกล้เคียงกันและเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ โดยได้กำหนดให้ลมหายใจสัมผัสที่ปลายรูจมูกทั้งสองข้าง หลังจากที่นั่งมองเปลวเทียนผ่านไปที่บานกระจกตู้โดยไม่ได้ตั้งใจพักใหญ่ ผู้เขียนก็ได้เห็นภาพลางๆ และค่อยๆ ปรากฏชัดขึ้นในกระจก ซึ่งก็คือ ภาพกะโหลกศีรษะของคน ดังที่จำลองมาในภาพที่ 1

ผู้เขียนต้องขอยอมรับว่า รู้สึกประหลาดใจและตกใจมาก แต่ก็พยายามควบคุมการผ่อนลมหายใจให้คงที่และเป็นปกติ เพื่อควบคุมอารมณ์ไม่ให้มีความรู้สึกตกใจกลัวจนไม่สามารถควบคุมไว้ได้ หลังจากนั้นผู้เขียนจึงค่อยๆ หลับตาลง แต่ก็ยังพยายามรักษาการผ่อนลมหายใจให้คงที่จนกระทั่งความรู้สึกตกใจตื่นเต้นที่ได้เห็นภาพ (กะโหลกศีรษะ) ได้ลดลงเป็นปกติ ผู้เขียนจึงได้ลุกขึ้นไปดับเทียนและเข้านอน (ผู้เขียนไม่แนะนำให้ผู้อ่านไปทดลองปฏิบัติเช่นที่กล่าวมา เพราะภาพที่เห็นอาจทำให้ท่านเกิดความตกใจจนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ให้เป็นปกติได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี)

3. การวิเคราะห์ภาพกะโหลกศีรษะที่ปรากฏขึ้นในบานกระจกตู้เสื้อผ้าขณะมองเปลวเทียน

3.1 ภาพกะโหลกศีรษะที่ปรากฏขึ้นอาจเป็นภาพกะโหลกของผู้เขียนเองก็ได้ แต่ภาพที่ปรากฏขึ้นได้แสดงให้เห็นว่า ร่างกายของมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะมีรูปลักษณ์สวยงาม หรือน่าเกลียดอย่างใด เมื่อชีวิตสิ้นสุดลงก็จะเหลืออยู่แต่เพียงโครงกระดูก ซึ่งอาจคงสภาพอยู่ได้หลายร้อยหลายพันปี ถ้าไม่ถูกทำลายและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ดังแสดงในภาพที่ 2

ภาพที่ 2 ภาพโครงกระดูกชายหญิงมีอายุ 5,800 ปี*

*ภาพโครงกระดูกที่ถูกขุดพบเมื่อปี 2013 ที่ประเทศกรีซ และรูปภาพมาจาก http://www.nbcnews.com/science/weird-science/5-800-year-old- skeletons-found-locked-embrace-near-greek-n306071

คำบรรยายภาพที่ 2 : สำหรับโครงกระดูกในรูปภาพนี้ได้ถูกขุดพบที่ประเทศกรีซ ตั้งแต่ปี 2013 แต่เพิ่งมีการเปิดเผยเมื่อสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เพราะต้องรอผลการตรวจสอบ DNA จนทราบแน่ชัดแล้วว่า เป็นโครงกระดูกของชายหญิงนอนกอดกันในขณะสิ้นชีวิต มีอายุประมาณ 5,800 ปี

3.2 เมื่อชีวิตของมนุษย์สิ้นสุดลง จิตก็จะไม่ได้อยู่ในร่างนั้นแล้ว ดูได้จากร่างกายส่วนที่เป็นโครงกระดูกจะไม่มีการตอบสนองใดๆ เมื่อถูกฝัง ถูกเผา หรือถูกขุดขึ้นมา (ดังที่แสดงในภาพที่ 2) แต่ผู้เขียนยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า จิตของมนุษย์แต่ละคนจะยังคงอยู่ต่อไปหรือไม่ หรือดับสูญไปเลย และถ้าจิตของแต่ละคนยังไม่ดับลงพร้อมกับร่างกาย จิตของคนคนนั้นจะไปอยู่ที่ไหน และจะอยู่อย่างไร ในเรื่องนี้ต้องขอรบกวนให้ผู้อ่านและผู้รู้ทุกท่านช่วยกันค้นคว้าให้ได้ข้อเท็จจริงต่อไป

3.3 อย่างไรก็ดี สำหรับภาพกะโหลกศีรษะที่เห็นในบานกระจกในข้อ 2 และโครงกระดูกที่ขุดพบที่ประเทศกรีซในข้อ 3.1 ได้แสดงให้เราได้รู้ว่า กาย และจิต เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของความเป็นมนุษย์ และมีความสัมพันธ์ต่อกัน (Interrelationship) ในขณะที่มนุษย์ยังมีชีวิตอยู่

3.3.1 สำหรับกายหรือร่างกายของมนุษย์อาจแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ 1) ส่วนร่างภายนอกหรือส่วนภายนอก คือ อวัยวะต่างๆ, เนื้อหนัง (ที่ห่อหุ้มโครงกระดูกของมนุษย์), ประสาทสัมผัสต่างๆ ที่เป็นช่องทางรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และสมองซึ่งบันทึกข้อมูลและสั่งการไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย และ2) ส่วนโครงร่างหรือส่วนภายใน ซึ่งก็คือ โครงกระดูกของมนุษย์แต่ละคนนั่นเอง ดูในภาพที่ 3 จะพบว่า ด้านซ้ายมือ คือ ส่วนร่างภายนอก และด้านขวามือ คือ ส่วนโครงร่าง

ภาพที่ 3 แสดงส่วนร่างภายนอกและส่วนโครงร่างของมนุษย์

ภาพที่ 3 มาจาก http://www.faqs.org/health/Body-by-Design-V2/The-Skeletal-System-Design-parts-of-the-skeletal-system.html

3.3.2 สำหรับส่วนที่เป็นร่างภายนอกจะมีประสาทสัมผัสสำคัญที่เป็นช่องทางรับรู้ข้อมูลข่าวสารส่งต่อไปยังสมองของมนุษย์ และจะมีผลกระทบต่อจิตใจและพฤติกรรมของมนุษย์ในด้านต่างๆ โดยผู้เขียนได้พัฒนามาจากผัสสะ 6 (หรือสัมผัสทั้ง 6 ของศาสนาพุทธ)* ซึ่งได้แก่

1) ประสาทสัมผัสทางตา หรือ จักขุสัมผัส

2) ประสาทสัมผัสทางหู หรือ โสตสัมผัส

3) ประสาทสัมผัสทางจมูก หรือ ฆานสัมผัส

4) ประสาทสัมผัสทางลิ้น หรือ ชิวหาสัมผัส

5) ประสาทสัมผัสทางผิวกาย* หรือ กายสัมผัส (โผฏฐัพพะ คือ สิ่งที่กายสัมผัสแตะต้องได้)

6) ประสาทสัมผัสทางความคิด* หรือ มโนสัมผัส (ผู้เขียนดัดแปลงจาก ความกระทบทางใจ ดูเรื่องจิตของมนุษย์ ที่ผู้เขียนนำเสนอในบทความนี้ประกอบ)

*พัฒนาจาก http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%AA%E0%B8%B0

3.3.3 ส่วนจิตหรือจิตใจ (Mind) ของมนุษย์ ผู้เขียนขอจัดแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ความคิด (Thought) กับ อารมณ์ (Emotion) ซึ่งเป็นความรู้สึกขั้นต้น (Feeling) ที่เกิดขึ้นจากสิ่งเร้าต่างๆ ที่มากระทบต่อจิตของมนุษย์

สำหรับในเรื่อง “จิต” ได้มีผู้ให้คำอธิบายและความหมายต่างๆไว้ ดังนี้

1) จากเอกสารการบรรยายเรื่อง จิต ของมหาวิทยาลัยมหิดล(www.crs.mahidol.ac.th /.../CittaLecton26Novem.ppt )ได้ให้คำจำกัดความว่า

จิต คือ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ หรือธรรมชาติที่ทำหน้าที่ เห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สึก ต่อการสัมผัสถูก ต้องทางกาย และรู้สึกนึกคิดทางใจ”

2) ในบทความเรื่องปรีชาเชิงอารมณ์ตามแนวพุทธศาสนาเรื่อง ปรีชาเชิงอารมณ์ตามแนวพุทธศาสนา ใน มศว.โลกทัศน์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 เมษายน - มิถุนายน 2547 ได้บรรยายว่า

จิต เป็นสภาพรู้สิ่งต่างๆ หรือสภาพที่นึกคิด เมื่อ “จิต” เกิดขึ้นรับรู้สิ่งใด “สภาพของจิต” หรือ “เจตสิก” ย่อมเกิดขึ้นควบคู่ไปด้วยเสมอ เช่น จิตเกิดขึ้นรับรู้ (เห็น) ภาพทางตา ขณะนั้นสภาพของจิตที่เกิดขึ้นควบคู่กับจิตเห็นอาจเป็นความรู้สึกดีใจ เสียใจ หรือเฉย ๆ...........”

3) พจนานุกรม Oxford ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า จิตใจ หรือ Mind (จาก
http://www.oxforddictionaries.com/definition/english/mind) เป็น 2 ความหมาย คือ 1) หมายถึง องค์ประกอบของคนที่ทำให้สามารถรับรู้เกี่ยวกับโลกและประสบการณ์ที่ทำให้มีความคิดและมีความรู้สึกต่างๆ และ 2) หมายถึง ศักยภาพของจิตสำนึก (ภาวะที่จิตตื่นและรู้สึกตัวสามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากประสาทสัมผัส) และความคิด

“the element of a person that enables them to be aware of the world and their experiences, to think, and to feel; the faculty of consciousness and thought.”

กล่าวโดยสรุป จิต มีลักษณะและความหมาย ดังนี้

จิต มีลักษณะเป็นนามธรรมที่ไม่มีรูปร่างและไม่ปรากฏให้เห็นเช่นเดียวกับร่างกายหรือวัตถุใดๆ โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ส่วนได้แก่ ส่วนที่ 1 คือ “ความคิด” ซึ่งแม้จะไม่มีข้อจำกัดในการคิด แต่จะได้รับอิทธิพลจากการมีจิตสำนึก (Consciousness), ประสบการณ์ (Experience) และรวมถึงสัญชาตญาณที่มีมาตั้งแต่เกิดของแต่ละคน(Instinct - เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน) กับส่วน ที่ 2 คือ “อารมณ์” ซึ่งเป็น ความรู้สึกขั้นต้น หรือความรู้สึกแรกเริ่มที่เกิดจากสิ่งเร้าต่างๆที่ผ่านประสาทสัมผัสและความคิดมากระทบต่อจิตของมนุษย์

นอกจากนี้ จิต ยังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ที่ทำให้สามารถรับรู้ธรรมชาติ (ความเป็นโลก) วัตถุ และข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมักเรียกว่า สิ่งเร้า (Stimuli) ผ่านทางประสาทสัมผัสต่างๆ (ในพุทธศาสนา เรียกว่า ผัสสะทั้ง 6) ซึ่งจะทำให้เกิดความคิด (Thought) กับอารมณ์ (Emotion) และความรู้สึก (Feeling) ต่างๆ ตามมา ดังแสดงในภาพที่ 4

ภาพที่ 4 องค์ประกอบของจิต (ความคิดกับอารมณ์) กับความรู้สึกและพฤติกรรม

ผู้เขียนได้นำความหมายต่างๆ ของ จิต ที่กล่าวในข้างต้น มาสังเคราะห์เป็นรูปภาพที่ 4 โดยได้แบ่งจิตของมนุษย์ออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) ความคิด และ 2) อารมณ์ซึ่งอารมณ์จะมีส่วนอย่างสำคัญต่อ พฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์ เพราะอารมณ์เป็นความรู้สึกที่เกิดจากสิ่งเร้าต่างๆ ที่ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 6 และผ่านความคิดมากระทบต่อจิตของมนุษย์ (ดูรูปภาพที่ 5) และได้ทำให้มนุษย์มีความรู้สึกต่างๆ (เช่น รัก โกรธ กลัว ดีใจ เป็นต้น) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพฤติกรรมของมนุษย์ทุกคน

ภาพที่ 5 อารมณ์เกิดจากสิ่งเร้าที่มากระทบต่อจิต : ตัวอย่าง การได้พบเห็นดาราสาวสวย

การได้พบดาราหนังสาวสวย Emma Watson ซึ่งเป็นสิ่งเร้าที่ผ่านทางประสาทสัมผัสทางตา (จักขุสัมผัส) และทางความคิด (มโนสัมผัส) ของชายหนุ่มคนหนึ่ง และ ถ้าให้สิ่งอื่นๆ หรือเงื่อนไขอื่นๆ ไม่เปลี่ยนแปลง (Ceteris paribus) การได้พบเห็น Emma Watson ก็จะก่อให้เกิดอารมณ์และความรู้สึกที่ทำให้ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีการหายใจเร็ว ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น และจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมหรือการกระทำต่างๆของชายหนุ่มในภาพที่ 5 เช่น ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวของ Emma Watson หรือการเป็นแฟนคลับของดาราสาว ดังแสดงในภาพที่ 6

ภาพที่ 6 อารมณ์ (ที่เกิดจากสิ่งเร้าที่มากระทบต่อจิต) ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคล

ภาพที่ 6 เป็นการจำลองสถานการณ์โดยผู้เขียนตั้งสมมติฐานให้ทุกอย่างคงที่หรือไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อพิจารณาศึกษาถึงอิทธิพลของอารมณ์และความรู้สึกที่มีต่อพฤติกรรมของบุคคล และถ้าสิ่งแวดล้อมต่างๆ เปลี่ยนไปจากสภาพปกติ พฤติกรรมของบุคคลที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าเดิมก็อาจเปลี่ยนไปเช่นกัน ในกรณีนี้บุคคลแต่ละคนอาจมีพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่แตกต่างกันออกไปเนื่องจากมนุษย์แต่ละคนจะมีความแตกต่างกันในด้านสรีระร่างกาย (เช่น ขนาดของสมอง เป็นต้น) ประสบการณ์ (รวมทั้งการเลี้ยงดูและอบรมในวัยเด็กด้วย) ความรู้ และสัญชาตญาณ

4. การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมของมนุษย์กับระบบประสาท

แม้พฤติกรรมของมนุษย์ส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลจากอารมณ์และความรู้สึก ดังที่กล่าวในข้อ 3 และในภาพที่ 5 - 6 แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่า ทำไมมนุษย์ยังหายใจได้เอง และหัวใจก็ยังทำงานได้เอง ไม่ว่าจะนอนหลับหรือตื่นอยู่ โดยจิตของมนุษย์ไม่ได้สั่งให้หัวใจเต้น สั่งให้หายใจ และสั่งให้ย่อยอาหาร ซึ่งพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ไม่ต้องผ่านประสาทสัมผัส และไม่ต้องผ่านการคิด การมีอารมณ์และความรู้สึก แต่พฤติกรรมเหล่านี้ (การกระทำของระบบอวัยวะต่างๆ) จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติเนื่องจากเป็นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติหรือประสาทอัตบาล (Autonomic Nervous System หรือเรียกย่อๆ ว่า ANS) ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบประสาทของร่างกายมนุษย์

โดยทั่วไประบบประสาทของมนุษย์จะทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย และตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มาจากภายนอกและภายในร่างกาย ซึ่งระบบประสาทจะแบ่งออกได้ดังนี้* (ดูภาพที่ 7)

“1. ระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System or CNS) ประกอบด้วย สมอง (Brain) และไขสันหลัง (Spinal cord) จะทำหน้าที่ในการรวบรวมและแปลผลข้อมูล

2. ระบบเส้นประสาท หรือระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nervous System or PNS) ได้แก่ เส้นประสาทที่ออกมาจากระบบประสาทส่วนกลางคือ เส้นประสาทสมอง (Cranial nerves), เส้นประสาทไขสันหลัง (Spinal nerves) และปมประสาท โดยจะทำหน้าที่นำสัญญาณเข้า-ออกระหว่างอวัยวะกับ CNS และควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมภายในร่างกาย

(* พัฒนาจากhttp://file.snru.ac.th/download.aspx?NFILE=TEACHER_305_26072012222656906.pdfและ www.neuroscience.mahidol.ac.th เรื่องการทำงานของสมองและระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาและสารเสพย์ติด โดย นายนัยพินิจ คชภักดี โครงการวิจัยและพัฒนาศาลายาสเต็มเซลล์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา)

ภาพที่ 7 ระบบประสาทของมนุษย์*

http://www.urmc.rochester.edu/Encyclopedia/Content.aspx?ContentTypeID=85& ContentID=P00799

สำหรับโครงสร้างของระบบเส้นประสาทหรือระบบประสาทส่วนปลาย(Peripheral Nervous System or PNS) จะประกอบด้วย 1) ระบบประสาทโซมาติก (Somatic Nervous System) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการทำงานโดยผ่านสมอง และ 2) ระบบประสาทอัตบาลหรืออัตโนมัติ ( Autonomic Nervous System) ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ผ่านไขสันหลัง และเป็นการทำงานโดยอัตโนมัติ(Reflex Action)-พัฒนาจาก http://www.ps.si.mahidol.ac.th/pdf/pns2-3.pdf

ดังนั้น ถ้าระบบประสาทอัตบาลหรืออัตโนมัติ (Autonomic Nervous System หรือ ANS) เป็นระบบประสาทที่ทำหน้าที่ในการควบคุมอวัยวะต่างๆ ให้ทำงานด้วยตัวเองแล้ว ดังเช่น การทำงานของต่อมต่างๆ และกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น เราก็อาจจัดแบ่งพฤติกรรมของมนุษย์ออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแรก เป็นพฤติกรรมของมนุษย์ที่มาจากการทำงานด้วยตัวเองของระบบอวัยวะต่างๆ (อาจเรียกว่า อยู่นอกเหนืออำนาจจิต) และกลุ่มที่สอง จะเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ที่มาจากความคิด และอารมณ์ (ซึ่งเป็นความรู้สึกที่มาจากสิ่งเร้าที่ผ่านประสาทสัมผัส ทั้ง 6 มากระทบต่อจิต ซึ่งน่าจะผ่านสมองของมนุษย์และอาจเรียกว่า อยู่ในอำนาจจิต- เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน )

5. บทสรุป: การพัฒนาการฝึกทางจิตของมนุษย์

แม้การสร้างร่างกายของมนุษย์และระบบประสาทที่มีความละเอียดสูง และมีความสลับซับซ้อนมากกว่าสัตว์อื่นใดบนโลกใบนี้จะเป็นเรื่องที่น่าศึกษาก็จริง แต่ความมุ่งมั่นของมนุษย์ที่จะศึกษาและพัฒนาจิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมร่างกายและพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์เองก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาด้วยเช่นกัน

การที่มนุษย์ได้คิดค้น และศึกษาความเป็นไปของธรรมชาติและเรื่องที่เกี่ยวกับมนุษย์ในอดีต ได้นำไปสู่การจัดตั้งศาสนา ลัทธิ นิกาย และความเชื่อต่างๆ มากมายในพื้นที่ต่างๆ ของโลก สิ่งเหล่านี้ได้ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์มีความพยายามที่จะพัฒนาจิตของมนุษย์ก่อนที่จะพัฒนาความรู้ในด้านอื่นๆ เพราะมนุษย์ตระหนักดีว่า มนุษย์จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์หรือข้อปฏิบัติเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์ให้ มีความเชื่อ และปฏิบัติตนตามความเชื่อนั้น (ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็น ศาสนา ลัทธิ และนิกาย ต่างๆ) โดยหวังว่า การปฏิบัติตนตามความเชื่อดังกล่าวจะทำให้มนุษย์มีความเป็นคนมากขึ้น (คือ ไม่กระทำเยี่ยงสัตว์ นั่นเอง) และสามารถอยู่ร่วมกับมนุษย์อื่นในสังคมได้โดยไม่ต้องต่อสู้ทำร้ายกันเพื่อแย่งชิงในสิ่งที่ตนต้องการดังเช่นการต่อสู้และทำร้ายกันเพื่อแย่งชิงอาหารของสัตว์

ดังนั้น ในอดีตที่ผ่านมาหลายพันปี มนุษย์จึงได้พยายามแสวงหา แนวทาง คำสอน และกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมทั้งวิธีปฏิบัติตน เพื่อฝึกฝนจิตของมนุษย์ไปพร้อมๆ กับการฝึกฝนร่างกายของตน และได้พัฒนามาเป็นลัทธิความเชื่อ และศาสนาต่างๆ ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น การฝึกโยคะซึ่งได้เริ่มมีขึ้นในช่วงก่อนพุทธกาล โดยได้มีการคิดค้นวิธีการฝึกฝนร่างกายโดยการจัดระเบียบร่างกายของผู้ฝึกให้อยู่ในท่าต่างๆ และในขณะเดียวกันก็มีการฝึกฝนการหายใจในแบบต่างๆ เพื่อต้องการให้จิตอยู่ในสมาธิ และสามารถควบคุมการทำงานของร่างกายได้จนสามารถนั่งหรือนอนสมาธิได้เป็นเวลานานๆ ต่อมาในช่วงพุทธกาล ศาสนาพุทธก็ได้พัฒนารูปแบบการฝึกฝนทางด้านร่างกายและจิตใจให้มีประสิทธิภาพและง่ายต่อการปฏิบัติยิ่งขึ้น โดยการกำหนดรูปแบบวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งมีการเดินจงกลม (คือ การเดินด้วยสติ) การนั่งสมาธิ และการเจริญสติ ซึ่งมีเรื่องน่าสนใจที่จะขอกล่าวต่อไปในที่นี้ก็คือ การเจริญสติ

การเจริญสติ คือ การกำหนดรู้ทุกการเคลื่อนไหว (การปฏิบัติตน) ในขณะปัจจุบัน และรับรู้ความรู้สึกผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ คือ ผัสสะทั้ง 6 ซึ่งได้แก่ ตา, หู, จมูก, ลิ้น,กาย, ใจ (ความคิด-ผู้เขียนขอใช้คำนี้แทนคำว่า “ใจ”) อย่างสม่ำเสมอตลอดเวลาให้มากที่สุด การปฏิบัติเช่นนี้ก็เพื่อให้เรามีสติอยู่กับตัวตลอดเวลา หมายถึง เราต้องรู้ตัวในทุกขณะว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ในขณะนี้ เพื่อไม่ให้อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากสิ่งเร้ามาทำให้ จิตและพฤติกรรม ของเราเบี่ยงเบนไป คือ ออกนอกลู่นอกทางไป หรือสูญเสียการควบคุมไปนั่นเอง

แม้จะมีวิธีการฝึกจิตและร่างกายมากมาย หลายรูปแบบ แต่ความเจริญทางด้านวัตถุและเทคโนโลยีต่างๆ ได้ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมของการแข่งขันแย่งชิงเพื่อมุ่งเอาชนะหรือเพื่อให้ได้สิ่งที่ตนต้องการ (ไม่ใช่การแข่งขันด้วยความรู้ความดีมีคุณธรรม) มนุษย์ส่วนใหญ่จึงไม่มีเวลาเพียงพอที่จะศึกษา จึงไม่เข้าใจ และไม่รู้ถึงคุณประโยชน์ของการฝึกจิตแต่อย่างใด เมื่อมนุษย์ไม่สามารถควบคุมจิตใจและพฤติกรรมของตนได้ เราจึงได้พบเห็นพฤติกรรมที่เลวร้ายต่างๆ ของมนุษย์ที่ไม่ต่างไปจากพฤติกรรมของสัตว์ป่า เช่น การคอร์รัปชัน การขโมย ปล้น ฆ่าตัดคอ สังหารโดยการเผาหรือชำแหละ ข่มขืนเด็กและผู้หญิง และรวมทั้งการเผาทำลายต่างๆ เกิดขึ้นอย่างมากมายในสังคมโลกของเราในปัจจุบัน

ท้ายบทความ

ผู้เขียนต้องขออภัยที่ห่างหายจากผู้อ่านไปหลายวัน เนื่องจากจิตใจยังไม่มีสมาธิเมื่อได้อ่านข่าวเกี่ยวกับการคอร์รัปชันในสถานศึกษาและองค์กรต่างๆ ที่มีความเกี่ยวพันกับวัดแห่งหนึ่งซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกระบวนการฟอกเงิน ในเรื่องนี้ผู้เขียนขอเสนอให้ห้ามพระภิกษุทุกรูปถือครองทรัพย์สินใดๆ โดยจะต้องให้พระภิกษุและเครือญาติต้องยื่นแบบแสดงรายการทรัพย์สินทุกปี และต้องกำหนดอัตราโทษสูงสุดคือ ประหารชีวิต เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้อีกต่อไป

ข่าวต่อมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการตั้งบุตรภรรยาดำรงตำแหน่งในสภานิติบัญญัติฯ และในสภาปฏิรูปฯ กรณีนี้ผู้เขียนขอเสนอให้สมาชิกสภานิติบัญญัติฯ และสมาชิกสภาปฏิรูปฯ ที่เกี่ยวข้องลาออกทั้งหมดทุกคนเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของสภาฯ ทั้งสอง และเพื่อเป็นบรรทัดฐานให้แก่ผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ให้บ้านเมืองในอนาคตอีกด้วย

ข่าวสุดท้ายเป็นข่าวเกี่ยวกับการข่มขืนหญิงสาวโดยผู้ชาย 4 คน ที่ชลบุรี ในเรื่องนี้ผู้เขียนได้เคยเสนอแนวทางในการแก้ไขและลงโทษผู้กระทำผิดไว้แล้วในบทความที่ 4 และ 4.2 แต่ก็ขอนำมากล่าวสรุปในที่นี้อีกครั้ง ก็คือ ต้องตัดอวัยวะเพศและหูหนึ่งข้างของผู้กระทำการข่มขืนหญิงสาวทุกคน และให้ทำงานหนักชดเชยความเสียหายของหญิงสาวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ผู้เขียนเชื่อว่า การลงโทษเช่นนี้จะทำให้กรณีการข่มขืนเด็ก และผู้หญิงหมดไปจากสังคมไทยได้อย่างแน่นอน

*สอบถามปัญหา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือส่งข้อมูล กรุณาส่งที่ udomdee@gmail.com ขอบคุณครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น