xs
xsm
sm
md
lg

จับตากสท.ถกSLCถือหุ้นเนชั่น ลงมติเข้าเกณฑ์ทีวีดิจิตอล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จับตา กสท.ถกวันนี้ วาระเพื่อพิจารณากรณีบริษัทโซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC เป็นผู้มีอำนาจควบคุม บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ เข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป หรือ NMG ว่าเข้าข่ายผู้มีผลประโยชน์ร่วมเกินกำหนดหรือไม่

จากกรณี บริษัทโซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC เป็นผู้มีอำนาจควบคุม บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ เข้าซื้อหุ้นสามัญของ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์วิชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล ในหมวดหมู่ข่าวสาระและสาระเช่นเดียวกัน ในสัดส่วนร้อยละ 12.27 ซึ่ง กสท. ยังไม่ตัดสินว่า การเข้าซื้อหุ้น NMG ของ SLC ถือว่าเข้าข่ายผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นการถือครองใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอลในหมวดหมู่เดียวกันเกินสัดส่วนที่ประกาศกำหนดหรือไม่

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กสท. วันนี้ (2มี.ค.) สำนักส่งเสริมการแข่งขัน และกำกับดูแลกันเอง และสำนักกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ เสนอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว หลังจากที่ได้เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน และได้วิเคราะห์ผลเสนอให้บอร์ด กสท. พิจารณา โดยเห็นว่า จะเข้าข่ายขัดประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์เพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจ พ.ศ. 2556 ข้อ 7.2 ที่กำหนดว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตที่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูล จะต้องไม่เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกันโดยการพิจารณาให้เป็นไปตามภาคผนวก ก และ ข แล้วแต่กรณี โดยในภาคผนวก ข ได้บัญญัตินิยาม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ ผู้ถือหุ้นในผู้เข้าร่วมการประมูลเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้เข้าร่วมการประมูลนั้น การถือหุ้นดังกล่าวให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย และยังส่งผลต่อข้อ 8.4 และ 8.5 ตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556 ซึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตมีสิทธิยื่นคำขอรับใบอนุญาตไม่เกินรายละหนึ่งใบอนุญาตของแต่ละหมวดหมู่ และผู้ขอรับใบอนุญาต มีสิทธิยื่นคำของรับใบอนุญาตหมวดหมู่ทั่วไป แบบความคมขัดสูง หรือหมวดหมู่ข่าวสารและสาระ หมวดหมู่ใดหมวดหมู่หนึ่งเท่านั้น

ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตในหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง และหมวดหมู่ข่าวสารและสาระที่จะมีสิทธิเข้าร่วมการประมูลต้องไม่เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ตามข้อ 7.2 ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ที่ให้ความเห็นว่า ประกาศนี้เกี่ยวข้องกับการป้องกันการครอบงำกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ตาม มาตรา 31 ใน พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551

"กรณีนี้ผลการตัดสินสุดท้ายขึ้นอยู่กับลงมติของ กสท. ทั้ง 5 คน วันจันทร์นี้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีความเห็นแย้งกันอยู่ ทำให้ไม่แน่ใจว่าผลสรุปเรื่องนี้จะออกมาเป็นอย่างไร แต่โดยความเห็นส่วนตัว คิดว่ากรณีนี้จะเป็นบรรทัดฐานในการกำกับดูแลเรื่องของความเป็นเจ้าของ สัดส่วนการถือครองโทรทัศน์ในอนาคต หากตัดสินกรณีนี้เป็นอย่างไร จะส่งผลต่อการตัดสินกรณีในลักษณะเดียวกันต่อไปด้วย" น.ส.สุภิญญา กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น