xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนนิตยสารไทม์ : เมื่ออายุขัยของมนุษย์อาจยืนยาวได้ถึง 142 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

นิตยสารไทม์ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ได้ตีพิมพ์รายพิเศษว่าด้วยเรื่องการขยายอายุขัยของมนุษย์ในวันข้างหน้า โดยขึ้นหน้าปกเป็นเด็กคนหนึ่งแล้วมีข้อความว่าเด็กคนนี้จะสามารถมีอายุขัยได้ถึง 142 ปี

ความน่าสนใจในนิตยสารฉบับนี้แม้จะมีหลายเรื่องแต่ประเด็นที่ขึ้นหน้าปกนั้นก็มาจากการทดลองในหนูของมหาวิทยาลัยแห่งเทกซัส, ซาน อันโตนิโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่าจากการให้ยาปฏิชีวนะที่ชื่อ แรพพามัยซิน (Rapamycin) ให้กับหนูแล้วพบว่าหนูปกติมีอายุขัยได้ประมาณ 27 เดือน แต่การให้ยาดังกล่าวทำให้หนูมีอายุยืนยาวขึ้นเป็น 48 เดือน หรืออายุยืนเพิ่มขึ้น 1.77 เท่าตัว เมื่อค่าเฉลี่ยอายุขัยของมนุษย์อยู่ที่ 80 ปี ดังนั้นถ้ามนุษย์อายุยืนได้ยาวถึง 1.77 เท่าตัว เขาและเธอก็จะอายุยืนได้ถึง 142 ปี

แท้ที่จริงแล้ว แรพามัยซิน คือ ยาปฏิชีวนะ ซึ่งผลิตออกมาเพื่อใช้ในการรักษาการติดเชื้อรา ต่อมาพบว่ามันมีฤทธิ์ยับยั้งและกดภูมิต้านทาน ก็เลยมีการประยุกต์ในการเอาไปใช้รักษาผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนไต มิให้ภูมิต้านทางปฏิเสธเนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายอวัยวะ และต่อมาก็พบว่ายานี้ยังยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งได้ด้วย แต่ผลพลอยได้กลับทำให้หนูทดลองมีอายุยืนยาวขึ้นได้ด้วย

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ายานี้จะนำมาใช้กับคนทั่วไป เพราะหนูทดลองอยู่ในห้องทดลอง การใช้ยานี้มีผลต่อการกดภูมิต้านทานของร่างกาย ก็อาจจะเกิดผลข้างเคียงอื่นๆได้

การทำงานของ แรพพามัยซินนั้น จะเข้าไปยับยั้งการทำงานของยีนที่ชื่อว่า mTOR เป็นผลทำให้เกิดการยับยั้งการเจริญเติบโต ซึ่งคล้ายคลึงกันกับการทำงานในช่วงเวลาที่เราได้ทำการอดอาหารได้ด้วย

แม้ว่ายาแรพพามัยซิน จะเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจแต่ก็ยังไม่สามารถนำมาใช้เพื่อการยืดอายุขัยของมนุษย์ได้ แม้มนุษยชาติอาจจะต้องใช้เวลาเพื่อรอยาลักษณะนี้อีกพอสมควรเมื่อลดผลข้างเคียงทั้งหลายได้แล้ว แต่อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าการบริโภคน้อยมื้อ การบริโภคอาหารแคลอรี่ต่ำ รวมถึงการอดอาหารเป็นบางช่วงเวลา จะสามารถทำให้เซลล์เกิดการแบ่งตัวช้าลง เกิดการสังเคราะห์ฮอร์โมน IGF-1 น้อยลง และเป็นผลทำให้อายุขัยยืนยาวขึ้นได้ในหลักการที่คล้ายคลึงกัน

หลักการของผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญด้านการชะลอวัย และการขยายอายุขัย ต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันก็คือ การบริโภคอาหารที่มาจากพืชเป็นหลัก กินไม่ให้มากเกินไป ออกกำลังกายอย่างพอดี(ไม่หนักเกินไป) การทำจิตใจให้เบิกบาน ไม่เครียด และคิดในแง่บวก ปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ มีครอบครัวอบอุ่น และทำงานในสังคมไม่หยุดนิ่ง คือเคล็ดลับที่ทำให้อายุขัยยืนยาวขึ้นได้

ในหลายสิบปีมานี้มนุษย์ซึ่งอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น เพราะการอนามัย และ สาธารณสุขดีขึ้น ต่อมาเรามีวิวัฒนาการในการสร้างวัคซีนในการป้องกันการเสียชีวิตด้วยโรคติดต่อได้มากขึ้น มาถึงยุคนี้เรามีวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าและทันสมัยมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าอนาคตในการขยายอายุขัยอาจไม่ใช่เพียงแค่พัฒนาการของยาแต่เพียงอย่างเดียว แต่น่าจะหมายถึงการพัฒนาในองค์ความรู้ของมนุษย์ว่าอะไรควรบริโภค อะไรไม่ควรบริโภค อะไรไม่ควรทำ และอะไรควรทำ

ยิ่งเวลาผ่านไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่ไร้ขีดจำกันในยุคปัจจุบัน มนุษย์มีความรู้มากขึ้นว่าปัจจัยใดทำให้เราแก่เร็ว หรือเป็นโรคมากขึ้น หรือบั่นทอนให้ชีวิตสั้นลง เช่น น้ำตาล ไขมันทรานส์ ไขมันไม่อิ่มตัว สารพิษและฮอร์โมนจากเนื้อสัตว์ ยาฆ่าแมลง มลพิษทางอากาศ น้ำดื่มที่มีพิษ ความเครียด การขาดการออกกำลังกาย การพักผ่อนที่น้อย รวมถึงยาเคมีหลายชนิดที่มีผลข้างเคียงในการทำร้ายร่างกายตัวเราเอง ดังนั้นเพียงแค่อายุไม่ควรสั้นกว่าที่ควรจะเป็นก็ทำให้อายุขัยยืนยาวขึ้นแล้ว

ในอนาคตเราอาจไปไกลมากว่านั้น เพราะมีความรู้มากขึ้นใน "วิถีชีวิต" การบริโภค และการประพฤติอย่างไร ให้อายุยืนยาว รวมถึงวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่จะช่วยขยายอายุขัยให้ยืนยาวขึ้นได้

แพทย์แผนอนาคตจึงอาจหมายถึงความก้าวหน้าใน "วิถีการดำเนินชีวิต" ที่มีความเข้าใจและความรู้ยิ่งกว่าเดิม และความสำคัญคงไม่ใช่เพียงแค่ว่าเราจะมีอายุยืนยาวได้อีกแค่ไหน แต่ยังรวมถึงว่าเราอยู่อย่างแข็งแรงดีและมีความสุขหรือไม่ นั่นน่าจะเป็นเป้าหมายที่ก้าวหน้ากว่าการมีอายุยืนหรือไม่เสียอีก

การที่เราเล็งเห็นอนาคตว่ามนุษย์ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยจะมีอายุยืนยาวขึ้น นั่นหมายถึงเราจะต้องเตรียมตัวรับมือกับสังคมโลกที่กำลังมีผู้สูงวัยมากขึ้น มีลูกน้อยลง อาจถึงขั้นวัยผู้ใช้แรงงานมีน้อยกว่าประชากรที่สูงวัย "การวางแผนการออม"ในระดับชาติเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และการวางแผนทางเศรษฐกิจและการรองรับสถานการณ์ดังกล่าวจำเป็นจะต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้

ถ้าเราจะมีผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น ก็ขอให้เป็นผู้สูงวัยที่แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ และยังสามารถทำงานต่อได้ แม้ไม่ทำงานก็ต้องทำให้เป็นภาระสังคมให้น้อยที่สุด นั่นหมายถึงจะต้องมีการเตรียมตัวให้ความรู้ในการปฏิวัติการสาธารณสุขตั้งแต่วันนี้เช่นเดียวกัน

สุดท้ายแล้วสิ่งที่น่าจะสำคัญที่สุดก็น่าจะอยู่ที่ "ความหมายในการมีชีวิต" ว่าอยู่เพื่ออะไร หากมีอายุยืนยาวหรือสั้น ก็คงไม่สำคัญว่าเรามีเป้าหมายเกิดมาและมีชีวิตเพื่อทำสิ่งใด เพราะไม่ว่าจะอายุยืนยาวอีกเท่าไร เราก็ต้องตายด้วยโรคใดโรคหนึ่งอยู่ดี ไม่สามารถเป็นอมตะนิรันดร์กาลได้

ดังนั้นการที่เรามาสนใจเรื่องการชะลอวัย และการขยายอายุขัย แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงกระพี้ของชีวิตเท่านั้น เพราะการยืดเวลาออกไปก็เพื้อให้ได้มีสติคิดได้ว่าเรามีเวลาที่ยืดยาวออกไปเพื่อทำสิ่งใด ถ้าคิดได้เร็วก็จะค้นพบแก่นของชีวิตได้เร็วว่าเราเกิดมาเพื่อทำสิ่งใดก่อนที่เราจะตายจากไป เมื่อมีเวลานานขึ้นก็ได้ทำในสิ่งที่เราควรทำได้มากขึ้นและนานขึ้นเท่านั้น

ความหมายในการมีชีวิต จึงสำคัญเสียยิ่งกว่า การมีชีวิตยืนยาวเท่าไหร่ จริงไหม?


กำลังโหลดความคิดเห็น