xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มถอดถอน 38 อดีตส.ว. 25ก.พ.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (18 ก.พ.) นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ วิปสนช. กล่าวถึง การพิจารณาถอดถอนอดีต 38 ส.ว. กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาส.ว.โดยมิชอบ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งเรื่องให้สนช.ดำเนินการ ว่า ในวันที่ 25 ก.พ.นี้ จะมีการประชุมสนช.เพื่อพิจารณากระบวนการถอดถอนนัดแรก เพื่อกำหนดวันแถลงเปิดสำนวน รวมทั้งการพิจารณาขออนุญาต ยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติมของผู้ถูกกล่าวหา เบื้องต้น ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 38 คน ระบุว่าจะส่งตัวแทนมาแถลงเปิดคดี แต่ล่าสุดอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิ ซึ่งสนช.ก็เปิดโอกาสให้กับทุกคน
ส่วนการประชุม สนช.ในวันนี้ (19 ก.พ.) เวลา 09.30-10.00 น. คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นำโดย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะรายงานความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญให้ที่ประชุม สนช.ทราบว่า มีความคืบหน้าอย่างไร นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการรวบรวมความคิดเห็นของสมาชิกสนช. ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะรายงานให้ที่ประชุม สนช. รับทราบเป็นครั้งที่สอง โดยนายกล้านรงค์ จันทิก ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการฯ จะรายงานให้ที่ประชุม สนช.รับทราบ ในสามส่วนคือ
1. ส่วนที่สมาชิกเสนอความเห็น 2. ส่วนที่ได้สังเคราะห์แล้ว 3. เนื้อหาที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้พิจารณา
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการดังกล่าวจะขอเพิ่มภารกิจให้มีหน้าที่ติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย ไม่ใช่แค่การรวบรวมความเห็นเท่านั้น และขอขยายเวลาการทำงานออกไปอีก 90 วัน โดยเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรมีมาตราให้น้อย ไม่เกิน 400 มาตรา โดยเขียนเนื้อหาให้สั้น ส่วนรายละเอียด ให้ไปกำหนดในกฎหมายลูกแทน

**เร่งส่วนราชการส่งก.ม.ให้สนช.

นพ.เจตน์ ยังกล่าวถึงผลการประชุมวิป สนช.ว่า กรณีที่การประชุมแม่น้ำ 5 สาย มีการพูดถึงกรณีที่ สนช.ให้ความเห็นชอบกฎหมาย ต่างๆ ออกมาน้อยเกินไปนั้น จากการหารือในวิปรัฐบาล สนช. และ ครม. เห็นตรงกันว่า หลังจากนี้การพิจารณากฎหมายที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งไปยังส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายแต่ละฉบับ ขอให้ส่วนราชการเร่งให้ความเห็นกลับมา โดยหากหน่วยงานต่างๆ ไม่แจ้งความเห็นกลับมาภายในเวลา 2 สัปดาห์ ให้ถือว่าหน่วยงานนั้น เห็นชอบร่างกฎหมายที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแล้ว ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าว ก็จะส่งให้ สนช.พิจารณาต่อไป เพื่อให้กฎหมายต่างๆ ออกมาเร็วขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
ส่วนการพิจารณาแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่... พ.ศ.... ซึ่งกรรมาธิการวิสามัญ ได้นำไปพิจารณาก่อนรับหลักการ โดยร่างดังกล่าวมี 19 ประเด็น แยกเป็นสองส่วนคือ 1. การอนุวัติตามอนุสัญญาการต่อต้านการทุจริตของสหประชาติ 10 ประเด็น 2. การพัฒนาปรับปรุงวิธีพิจารณากฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งวิปสนช. เห็นว่า ให้พิจารณาในส่วนแรกไปก่อน ขณะที่ส่วนที่สองให้รอการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เรียบร้อยก่อน จึงค่อยนำมาพิจารณา จะได้มีเนื้อหาสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นอกจากนี้ ยังมีวาระการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ ... พ.ศ.... ที่เสนอโดย น.ส.จินตนันท์ ชญาตร์ ศุภมิตร สมาชิก สนช. เป็นผู้เสนอ ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกที่เสนอโดยสมาชิกสนช. แม้ไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน ที่ผู้เสนอจะต้องให้นายกรัฐมนตรี และ ครม.ให้ความเห็นชอบก่อน แต่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการต่างๆ ว่า จะมีความพร้อมในการปฏิบัติ เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ดังนั้นจึงให้ส่งร่างดังกล่าวกลับให้ไปครม. เพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบความพร้อมของหน่วยงานต่างๆ ภายใน 30 วัน ซึ่งโดยธรรมเนียมปฏิบัติ ครม.ต้องเสนอร่างกฎหมายในลักษณะเดียวกันมาประกบ เพื่อพิจารณาไปในคราวเดียวกัน
ส่วนร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ จำนวน 35 มาตรา คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สนช. ยังไม่เห็นด้วย และเสนอให้มีการแก้ไขบางประเด็น จึงขอให้สนช.ชะลอการพิจารณาไปก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น