xs
xsm
sm
md
lg

ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีกระดูกสันหลัง

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

เมื่อหลายปีก่อนประเทศไทยเราเคยชูคำขวัญเชิงเปรียบเทียบว่า “ชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ” เพราะนอกจากชาวนาคือคนส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว ข้าวก็เป็นอาหารหลักที่มีความสำคัญของชาติและยังเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศอีกด้วย

มาบัดนี้แม้สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปมากแล้ว แต่ก็สะท้อนว่า ถ้าย่อความเป็นชาติลงมาเหลือแค่ร่างกายมนุษย์คนหนึ่ง ชาวนาก็เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก กระดูกสันหลังนอกจากจะทำหน้าที่พยุงร่างกายให้เป็นรูปเป็นร่าง (ถ้าไม่เป็นรูปเป็นร่างแล้วคงไม่ต้องกล่าวถึงความสวยความหล่อที่คนเราให้ความสำคัญกันอย่างผิวเผิน) แล้ว ยังเป็นที่ยึดของกระดูกซี่โครงเพื่อป้องกันอวัยวะภายในเช่น ตับ ไต ไส้พุง ไม่ให้ได้รับอันตรายอีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรวมของระบบประสาทรับรู้ รู้สึกและเป็นแหล่งผลิตเม็ดเลือดแดงเพื่อนำออกซิเจนไปเลี้ยงทุกส่วนของร่างกายอีกด้วย

กระดูกสันหลังของระบอบประชาธิปไตยทำหน้าที่อะไร?

คราวนี้ ถ้าเราเปรียบระบอบประชาธิปไตยว่าเหมือนกับระบบร่างกายของมนุษย์บ้างละ แล้วถามว่าอะไรคือ “กระดูกสันหลัง” ของระบอบประชาธิปไตย? ซึ่งคำตอบที่ได้รับควรจะทำหน้าที่สำคัญ คือ (1) ช่วยพยุงระบอบประชาธิปไตยไว้ให้เป็นรูปเป็นร่างตามอุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตย (2) ช่วยป้องกันไม่ให้อุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยถูกทำลายจากภายนอก (3) เป็นแหล่งรับรู้ความผิดปกติและ (4) เป็นแหล่งผลิต “เม็ดเลือดแดง” หรือ “พลังงาน” ให้กับทุกภาคส่วนของระบอบประชาธิปไตยของเราได้หล่อเลี้ยงให้ทำหน้าที่ตามกลไกที่ควรจะเป็น ไม่ถูกทำให้ผิดปกติหรือพิกลพิการนั่นเอง

อ่านมาถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านคงจะเห็นแล้วนะครับว่า “กระดูกสันหลังของระบอบประชาธิปไตย” นั้นมีความสำคัญจริงๆ แต่คำถามก็คือ แล้วอะไรละที่ทำหน้าที่เป็นกระดูกสันหลังของระบอบนี้?

ทุกวันนี้ โลกเรามีความโน้มเอียงที่จะวัดความเป็นประชาธิปไตยด้วยเรื่องการได้ออกเสียงเลือกตั้งและเลือกว่าใครจะได้เป็นรัฐบาลมาปกครองเราเพียงอย่างเดียว เรื่องนี้มีความชัดเจนมากจากบทบาทประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาที่ได้เรียกร้องให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่การเลือกตั้งหรือระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว โดยไม่สนใจในรายละเอียดนอกเหนือจากการเลือกตั้งเลย

ถึงแม้ว่าการออกเสียงเลือกตั้งมีความสำคัญมากจนได้กลายเป็น “เครื่องหมายการค้า” ของสังคมประชาธิปไตย แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่เป็นเครื่องหมายและเป็นเงื่อนไขเริ่มต้นที่สำคัญมาก ซึ่งควรจะมีก่อนและเป็นเงื่อนไขที่น่าจะสำคัญที่สุดสำหรับสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

นั่นคือ การมีกลุ่มพลเมืองที่มีความเข้าใจอย่างแท้จริง ที่สามารถตัดสินใจทางการเมืองได้อย่างอิสระไม่ขึ้นต่ออำนาจสั่งการของใคร บนพื้นฐานความเชื่อของตนเองว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขาและสังคมโดยรวมของพวกเขา

ถ้าเรามีกลุ่มพลเมืองที่มีความตื่นรู้ (Enlightened Citizenry) รู้เท่าทัน กระตือรือร้นแบบเชิงรุกและเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง และมีจำนวนมากพอแล้ว การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรมบนโครงสร้างที่ยึดโยงกับ “กระดูกสันหลังของประชาธิปไตย” ก็น่าจะเป็นคำตอบที่สนองต่อความเชื่อของผู้ออกเสียงเลือกตั้งได้หรืออาจเรียกว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ทำงานได้จริงตามอุดมการณ์

นักวิชาการทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์อาจจะมองว่าหลักการของระบอบประชาธิปไตยที่อยู่นอกเหนือการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรมแล้ว ยังต้องมีหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแข็งขัน มีการเคารพหลักสิทธิมนุษยชนที่สากลรับรองไม่ว่าจะมีกฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ก็ตาม แต่ในสายตาของผมแล้ว ผมเห็นว่าการมีประชาธิปไตยพลังงาน (Energy Democracy) คือตัวชี้วัดที่จับต้องได้ของความสมบูรณ์ของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผมจะค่อยๆ กล่าวถึงเป็นลำดับต่อไป

สังคมไทยเข้าสู่สังคมการใช้พลังงานที่เข้มข้นและรวมศูนย์ผูกขาด

ทำไมระบบพลังงานจึงมีความสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย เหตุผลง่ายๆ ก็คือทุกคน ทุกชุมชนและรวมทั้งประเทศต้องใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง

เมื่อประมาณปี 2504 ซึ่งเป็นปีที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม คนไทยใช้พลังงานคิดเป็นร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เท่านั้น แต่ได้เพิ่มเป็นร้อยละ 7 และร้อยละ 18 ในปี 2529 และปี 2556 ตามลำดับ

สัดส่วนของรายจ่ายด้านพลังงานร้อยละ 18 ของจีดีพีนั้นเป็นการวัดค่าเฉลี่ยทั้งประเทศเท่านั้น แต่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยแล้ว สัดส่วนรายจ่ายด้านพลังงานอาจจะมากกว่าร้อยละ 30 ของรายได้ที่ตนหามาได้ก็เป็นได้ ส่งผลให้ชีวิตของพวกเขาแร้นแค้น

แหล่งพลังงานที่เคยกระจายอยู่ทั่วไป เช่น ไม้ฟืน ถ่านไม้ และโรงไฟฟ้าชุมชน ก็ได้ถูกรวมศูนย์ให้มาอยู่ในมือของกลุ่มคนจำนวนน้อยรายที่ใช้ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งของรัฐและเอกชนรายใหญ่

สังคมไทยโดยรวมที่เคยหาแหล่งพลังงานใกล้บ้านเพื่อใช้เองก็ได้กลายมาเป็นสังคมที่ “คอยจ่ายเงินตามใบเสร็จ” เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ไม่ต่างอะไรกับระบอบประชาธิปไตยที่ถูกหลอกให้ “คอยหย่อนบัตรเลือกตั้ง” เพียงอย่างเดียวเมื่อฤดูกาลเลือกตั้งมาถึง

บทบาทของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย และระบบพลังงานของคนไทยจึงคล้ายกันราวกับคู่แฝดคือไม่มีอำนาจอะไรเลย นอกจากการคอยจ่ายเงินหรือหย่อนบัตรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ในทางตรงกันข้าม ด้วยนโยบายพลังงานของประเทศเยอรมนี ส่งผลให้หมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของประเทศชื่อหมู่บ้าน Wildpoldsried สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (โซลาร์เซลล์ 4.9 เมกะวัตต์ กังหันลม 12เมกะวัตต์ (11 ตัว) และโรงไฟฟ้าชีวมวลอีกจำนวนหนึ่ง) ได้มากกว่าที่ชาวชุมชนใช้ถึง 5 เท่าตัว ส่งผลให้ชุมชนนี้มีรายได้จากการขายไฟฟ้า(แทนที่จะต้องจ่ายเงินซื้ออย่างเดียวเหมือนคนไทย) ถึงปีละประมาณ 182 ล้านบาทหรือเฉลี่ยคนละ 7 หมื่นบาทต่อปี

ชุมชนแห่งนี้ได้เริ่มต้นโครงการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองเมื่อ 17 ปีก่อน และพัฒนาเพิ่มขึ้นมาตามลำดับ ปัจจุบันมีความสามารถผลิตได้มากกว่านี้อีก แต่มีปัญหาเรื่องความสามารถของหม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งจะต้องลงทุนเพิ่มเพื่อให้สามารถขายไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นเป็น $7 ล้านต่อปี

ผมอยากจะชวนท่านผู้อ่านลองจินตนาการดูว่า ในช่วงเวลา 17 ปีที่ชาวหมู่บ้านนี้ได้เรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง (ภายใต้การนำของนายกเทศมนตรีท่านหนึ่ง และนโยบายของรัฐที่ถูกต้อง) จนมีรายได้เฉลี่ยคนละ 7 หมื่นบาทต่อปี จะทำให้พวกเขาเป็นกลุ่มพลเมืองผู้ตื่นรู้ (Enlightened Citizenry) ได้ขนาดไหน

บทเรียนของพวกเขาพอจะทำหน้าที่เหมือนซี่โครงที่ช่วยป้องกันอวัยวะภายในของร่างกายไม่ให้ถูกทำร้ายจากภายนอกไหม? พอจะเป็นเกราะคุ้มกันระบอบประชาธิปไตยไม่ให้บิดเบี้ยวได้ไหม?

การเปลี่ยนผ่านของระบบพลังงาน

ย้อนหลังไปในอดีตประมาณ 50 ปีระบบพลังงานของโลกและของประเทศไทยด้วย เป็นระบบที่รวมศูนย์และผูกขาดโดยธรรมชาติ ทั้งแหล่งเชื้อเพลิงและขนาดของเทคโนโลยี กล่าวคือ ทั้งบ่อน้ำมัน และโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่มีอยู่จำนวนน้อยแห่ง แต่ให้บริการประชาชนจำนวนมากในวงกว้าง

แต่ในปัจจุบันแนวโน้มในอนาคตอันใกล้นี้ ระบบพลังงานของโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว จากระบบที่รวมศูนย์หรือผูกขาด (หรือเป็นเผด็จการ) ไปสู่ระบบการกระจายศูนย์การผลิต ทั้งเทคโนโลยีที่มีขนาดเล็ก และแหล่งเชื้อเพลิงที่กระจายอยู่ทั่วไปและทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้อย่างเท่าเทียมกัน หรือเรียกว่าเป็นระบบที่เป็นประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม หากจำแนกชนิดของพลังงานที่คนไทยใช้ในปี 2557 ซึ่งมียอดรวมกันถึง 2.129 ล้านล้านบาท พบว่าเป็นค่าน้ำมันถึง 1.335 ล้านล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 62) และเป็นค่าไฟฟ้า 551,817 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 25) ที่เหลืออีก 13% เป็นค่าก๊าซหุงต้มและถ่านไม้

ปัจจุบัน กลุ่มพลเมืองที่ตื่นรู้ด้านพลังงานของไทยกำลังใช้สิทธิของตนเองเรียกร้องให้รัฐบาลรับฟังเสียงของประชาชนในการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นระดับหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม การทำให้กิจการปิโตรเลียมทั้งระบบเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้น ยังค่อนข้างยาก

แต่สำหรับกิจการไฟฟ้าซึ่งมีมูลค่าถึงกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปีนั้น มีความเป็นไปได้สูงมากครับ (ดูหมู่บ้านในเยอรมนีเป็นตัวอย่าง) หากพลเมืองไทยมีความเข้าใจเรื่อง ประชาธิปไตยพลังงาน (Energy Democracy) อย่างถ่องแท้ ซึ่งคงไม่นานหรอกครับ

5 เสาหลักของประชาธิปไตยพลังงาน

เรื่องที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้มาจากเอกสารข้างล่างนี้ครับ ท่านที่สนใจสามารถดาวน์โหลดมาศึกษาได้ครับ

ประชาธิปไตยพลังงานก็คือระบบไฟฟ้าที่สร้างความเข้มแข็งให้กับทั้งระดับปัจเจกและระดับชุมชน โดยใช้แหล่งพลังงานและเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21 (คือแสงแดดและลม) เพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและการใช้เอง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การนำเงินค่าไฟฟ้าจำนวนปีละกว่า 5 แสนล้านบาทที่เคยอยู่ในมือของพ่อค้าพลังงานน้อยราย กลับมาสู่เจ้าของบ้านและชุมชนให้มากที่สุด

ในการนี้จะต้องมีหลักการสำคัญ 5 ประการ หรือ “5 เสาหลักของประชาธิปไตยพลังงาน” ดังนี้

1. ความยืดหยุ่นของระบบสายส่ง (Flexible Grid) เรื่องนี้อาจจะมีความซับซ้อนในเชิงเทคนิคซึ่งจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ แต่ในเชิงหลักการที่ได้นำประเทศเยอรมนีไปสู่ความสำเร็จระดับหนึ่งของโลกก็คือ “ใครก็ตามที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ ให้สามารถส่งไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งได้ก่อน โดยไม่จำกัดจำนวน”

2. มีประสิทธิภาพ (Efficient) เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ เป็นการรับพลังงานแสงอาทิตย์มาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยไม่ต้องซื้อเชื้อเพลิง ไม่มีการขนส่งเชื้อเพลิง ไม่ต้องใช้น้ำ มีการสูญเสียในระบบการผลิตประมาณ 8% จุดผลิตกับจุดที่ใช้อยู่ใกล้กันมาก ไม่ก่อมลพิษใดๆ ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมในระดับโลก ในขณะที่ระบบการผลิตอื่นๆ ล้วนมีลักษณะตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น เรื่องประสิทธิภาพจึงไม่มีปัญหา การลงทุนในปัจจุบันก็ต่ำลงมากด้วย

3. คาร์บอนต่ำ (Low-Carbon) คงไม่ต้องอธิบายนะครับ

4. มีความเป็นท้องถิ่น (Local) ควบคุมโดยคนท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ของคนท้องถิ่น ทราบว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญของไทยกำลังพิจารณาเรื่องรูปแบบการบริหารท้องถิ่น ผมอยากจะเสนอให้พิจารณาประเด็นนี้ไว้ด้วยครับ กล่าวคือ ตัวชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยที่จับต้องได้ คืออำนาจในการจัดการพลังงานไฟฟ้าควรเป็นของท้องถิ่นครับ

5. ความยุติธรรม (Equitable) เนื่องจากดวงอาทิตย์และลมเป็นทรัพยากรของทุกคน ดังนั้น ทุกคนจึงควรต้องสามารถเข้าถึงระบบสายส่งไฟฟ้าได้โดยไม่ถูกกีดกันจากพ่อค้าพลังงานฟอสซิล

สรุป

กรุณาอย่าหาว่าผมชอบแขวะท่านนายกรัฐมนตรีเพื่อความอยากดังเลยครับ แต่ผมว่าในบางมุมท่านก็อยู่ในสภาพที่น่าเห็นใจนะครับ เพราะท่านรับฟังข้อมูลด้านเดียว ข่าวในแวดวงที่ประชุม “แม่น้ำ 5 สาย” เล่าว่า ท่านนายกฯ ได้ตอบสวนกลับต่อผู้ที่เตือนท่านในทำนองว่า อย่าฟังแต่ข้าราชการว่า “ถ้าไม่ให้ผมฟังจากข้าราชการแล้วจะให้ผมฟังจากใคร”

ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวอยู่เสมอๆ ว่า ต้องรีบเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นแล้วจะทำให้ไม่มีเชื้อเพลิงมาผลิตไฟฟ้า แต่ความจริงจากประเทศเยอรมนีได้พิสูจน์แล้วว่า แหล่งพลังงานที่สำคัญอยู่บนหลังคาบ้านเราทุกคน

ผมได้เขียนเล่ามาหลายครั้งแล้วว่า ทั้งๆ ที่เยอรมนีมีความเข้มของแสงแดดต่อตารางเมตรน้อยกว่าประเทศไทย แต่เขาสามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้มากกว่าที่คนไทยชาวอีสาน 20 จังหวัด และ 17 จังหวัดภาคเหนือรวมกันเสียอีก

การผลิตไฟฟ้าจากหลังคาสามารถทำได้เร็วภายใน 1-2 ปี ถ้ามีการส่งเสริมกันจริงๆ จังๆ เราสามารถลดการใช้ก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้าได้เยอะเลยครับ จึงไม่ต้องรีบเปิดสัมปทาน ควรใช้เวลานี้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลังเสียก่อนครับ

ท่านนายกฯ กำลังติดกับดักความคิดที่ผลิตโดยพ่อค้าพลังงานฟอสซิลว่า “ดวงอาทิตย์ไม่ใช่ทรัพยากรธรรมชาติไม่ใช่แหล่งพลังงาน” เพราะ “อะไรที่พ่อค้าไม่ได้เป็นเจ้าของหรืออะไรที่พวกเขาควบคุมไม่ได้ สิ่งนั้นไม่ใช่ทรัพยากร” (หมายเหตุ แปลมาจากคำพูดของ Karl Rabagoในเอกสารที่อ้างแล้ว)

ในช่วงที่เรากำลังปฏิรูปประเทศไทยให้เข้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่ในทัศนะของผมแล้ว ถ้ายังไม่ทำระบบพลังงานซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจให้เป็นประชาธิปไตยแล้วถึงจะได้สิ่งที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยมาก็ตาม ก็เป็นแค่ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ไม่มีซี่โครงที่คอยคุ้มกันอันตรายจากภายนอก ไม่มีระบบประสาทรับรู้ความผิดปกติไม่สามารถผลิตเม็ดเลือดแดงของตนเอง ก็ต้องถือว่าน่าเป็นห่วงมากครับ

ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีกระดูกสันหลัง!

หมายเหตุ :
การขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในหลายพื้นที่ของภาคอีสานซึ่งอยู่ติดกับชุมชน ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ทำให้แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว เป็นลม และการเกษตรของชาวบ้าน เช่น ผลผลิตยางพาราลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง แก้วมังกรเสียหายขายไม่ได้

แต่เมื่อชาวบ้านลุกขึ้นมาคัดค้าน แทนที่หน่วยงานของรัฐจะช่วยกันแก้ไข เยียวยาและวิจัยเพื่อค้นหาสาเหตุที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างถาวร แต่กลับส่งกองกำลังมาคุ้มกันให้กับบริษัทต่างชาติผู้รับสัมปทานดังที่เห็นในภาพ ที่บ้านนามูล ต.ดูนสาด อ.กระนวน จังหวัดขอนแก่น การกระทำดังกล่าวไม่เพียงแต่ได้สร้างบาดแผลในใจให้กับชาวบ้านเท่านั้น แต่กับพลเมืองไทยที่ตื่นรู้ทั่วประเทศไปอีกยาวนาน

กำลังโหลดความคิดเห็น