xs
xsm
sm
md
lg

ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีกระดูกสันหลัง / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

  
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
เมื่อหลายปีก่อนประเทศไทยเราเคยชูคำขวัญเชิงเปรียบเทียบว่า “ชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ” เพราะนอกจากชาวนาคือคนส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว ข้าวก็เป็นอาหารหลักที่มีความสำคัญของชาติ และยังเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศอีกด้วย

มาบัดนี้แม้สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปมากแล้ว แต่ก็สะท้อนว่า ถ้าย่อความเป็นชาติลงมาเหลือแค่ร่างกายมนุษย์คนหนึ่ง ชาวนาก็เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก กระดูกสันหลังนอกจากจะทำหน้าที่พยุงร่างกายให้เป็นรูปเป็นร่าง (ถ้าไม่เป็นรูปเป็นร่างแล้วคงไม่ต้องกล่าวถึงความสวยความหล่อที่คนเราให้ความสำคัญกันอย่างผิวเผิน) แล้ว ยังเป็นที่ยึดของกระดูกซี่โครงเพื่อป้องกันอวัยวะภายในเช่น ตับ ไต ไส้พุง ไม่ให้ได้รับอันตรายอีกด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งรวมของระบบประสาทรับรู้ รู้สึก และเป็นแหล่งผลิตเม็ดเลือดแดงเพื่อนำออกซิเจนไปเลี้ยงทุกส่วนของร่างกายอีกด้วย

กระดูกสันหลังของระบอบประชาธิปไตยทำหน้าที่อะไร

คราวนี้ถ้าเราเปรียบระบอบประชาธิปไตยว่าเหมือนกับระบบร่างกายของมนุษย์บ้างล่ะ แล้วถามว่าอะไรคือ “กระดูกสันหลัง” ของระบอบประชาธิปไตย? ซึ่งคำตอบที่ได้รับควรจะทำหน้าที่สำคัญ คือ (1) ช่วยพยุงระบอบประชาธิปไตยไว้ให้เป็นรูปเป็นร่างตามอุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตย (2) ช่วยป้องกันไม่ให้อุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยถูกทำลายจากภายนอก (3) เป็นแหล่งรับรู้ความผิดปกติ และ (4) เป็นแหล่งผลิต“เม็ดเลือดแดง” หรือ “พลังงาน” ให้แก่ทุกภาคส่วนของระบอบประชาธิปไตยของเราได้หล่อเลี้ยงให้ทำหน้าที่ตามกลไกที่ควรจะเป็น ไม่ถูกทำให้ผิดปกติ หรือพิกลพิการนั่นเอง

อ่านมาถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านคงจะเห็นแล้วนะครับว่า “กระดูกสันหลังของระบอบประชาธิปไตย” นั้นมีความสำคัญจริงๆ แต่คำถามก็คือ แล้วอะไรล่ะที่ทำหน้าที่เป็นกระดูกสันหลังของระบอบนี้?

ทุกวันนี้ โลกเรามีความโน้มเอียงที่จะวัดความเป็นประชาธิปไตยด้วยเรื่องการได้ออกเสียงเลือกตั้งและเลือกว่าใครจะได้เป็นรัฐบาลมาปกครองเราเพียงอย่างเดียว เรื่องนี้มีความชัดเจนมากจากบทบาทประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ได้เรียกร้องให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่การเลือกตั้ง หรือระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว โดยไม่สนใจในรายละเอียดนอกเหนือจากการเลือกตั้งเลย

ถึงแม้ว่าการออกเสียงเลือกตั้งมีความสำคัญมากจนได้กลายเป็น “เครื่องหมายการค้า” ของสังคมประชาธิปไตย แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่เป็นเครื่องหมายและเป็นเงื่อนไขเริ่มต้นที่สำคัญมาก ซึ่งควรจะมีก่อน และเป็นเงื่อนไขที่น่าจะสำคัญที่สุดสำหรับสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

นั่นคือ การมีกลุ่มพลเมืองที่มีความเข้าใจอย่างแท้จริง ที่สามารถตัดสินใจทางการเมืองได้อย่างอิสระ ไม่ขึ้นต่ออำนาจสั่งการของใคร บนพื้นฐานความเชื่อของตนเองว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขา และสังคมโดยรวมของพวกเขา

ถ้าเรามีกลุ่มพลเมืองที่มีความตื่นรู้ (Enlightened Citizenry) รู้เท่าทัน กระตือรือร้นแบบเชิงรุกและเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง และมีจำนวนมากพอแล้ว การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ และยุติธรรมบนโครงสร้างที่ยึดโยงกับ“กระดูกสันหลังของประชาธิปไตย” ก็น่าจะเป็นคำตอบที่สนองต่อความเชื่อของผู้ออกเสียงเลือกตั้งได้ หรืออาจเรียกว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ทำงานได้จริงตามอุดมการณ์

นักวิชาการทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ อาจจะมองว่าหลักการของระบอบประชาธิปไตยที่อยู่นอกเหนือการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ และยุติธรรมแล้ว ยังต้องมีหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแข็งขัน มีการเคารพหลักสิทธิมนุษยชนที่สากลรับรองไม่ว่าจะมีกฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ก็ตาม แต่ในสายตาของผมแล้ว ผมเห็นว่าการมีประชาธิปไตยพลังงาน (Energy Democracy) คือตัวชี้วัดที่จับต้องได้ของความสมบูรณ์ของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผมจะค่อยๆ กล่าวถึงเป็นลำดับต่อไป

สังคมไทยเข้าสู่สังคมการใช้พลังงานที่เข้มข้น และรวมศูนย์ผูกขาด
       
        ทำไมระบบพลังงานจึงมีความสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย เหตุผลง่ายๆ ก็คือ ทุกคน ทุกชุมชน และรวมทั้งประเทศต้องใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง

เมื่อประมาณปี 2504 ซึ่งเป็นปีที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม คนไทยใช้พลังงานคิดเป็นร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เท่านั้น แต่ได้เพิ่มเป็นร้อยละ 7 และร้อยละ 18 ในปี 2529 และปี 2556 ตามลำดับ

สัดส่วนของรายจ่ายด้านพลังงานร้อยละ 18 ของจีดีพีนั้น เป็นการวัดค่าเฉลี่ยทั้งประเทศเท่านั้น แต่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยแล้ว สัดส่วนรายจ่ายด้านพลังงานอาจจะมากกว่าร้อยละ 30 ของรายได้ที่ตนหามาได้ก็เป็นได้ ส่งผลให้ชีวิตของพวกเขาแร้นแค้น

แหล่งพลังงานที่เคยกระจายอยู่ทั่วไป เช่น ไม้ฟืน ถ่านไม้ และโรงไฟฟ้าชุมชน ก็ได้ถูกรวมศูนย์ให้มาอยู่ในมือของกลุ่มคนจำนวนน้อยรายที่ใช้ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งของรัฐ และเอกชนรายใหญ่

สังคมไทยโดยรวมที่เคยหาแหล่งพลังงานใกล้บ้านเพื่อใช้เองก็ได้กลายมาเป็นสังคมที่ “คอยจ่ายเงินตามใบเสร็จ” เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ไม่ต่างอะไรกับระบอบประชาธิปไตยที่ถูกหลอกให้ “คอยหย่อนบัตรเลือกตั้ง” เพียงอย่างเดียวเมื่อฤดูกาลเลือกตั้งมาถึง

บทบาทของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย และระบบพลังงานของคนไทยจึงคล้ายกันราวกับคู่แฝดคือ ไม่มีอำนาจอะไรเลย นอกจากการคอยจ่ายเงิน หรือหย่อนบัตรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น


ในทางตรงกันข้าม ด้วยนโยบายพลังงานของประเทศเยอรมนี ส่งผลให้หมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของประเทศ ชื่อหมู่บ้าน Wildpoldsried สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (โซลาร์เซลล์ 4.9 เมกะวัตต์ กังหันลม 12เมกะวัตต์ (11 ตัว) และโรงไฟฟ้าชีวมวลอีกจำนวนหนึ่ง) ได้มากกว่าที่ชาวชุมชนใช้ถึง 5 เท่าตัว ส่งผลให้ชุมชนนี้มีรายได้จากการขายไฟฟ้า (แทนที่จะต้องจ่ายเงินซื้ออย่างเดียวเหมือนคนไทย) ถึงปีละประมาณ 182 ล้านบาท หรือเฉลี่ยคนละ 7 หมื่นบาทต่อปี 
 

 
ชุมชนแห่งนี้ได้เริ่มต้นโครงการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองเมื่อ 17 ปีก่อน และพัฒนาเพิ่มขึ้นมาตามลำดับ ปัจจุบันมีความสามารถผลิตได้มากกว่านี้อีก แต่มีปัญหาเรื่องความสามารถของหม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งจะต้องลงทุนเพิ่มเพื่อให้สามารถขายไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นเป็น $7 ล้านต่อปี
 
ผมอยากจะชวนท่านผู้อ่านลองจินตนาการดูว่า ในช่วงเวลา 17 ปีที่ชาวหมู่บ้านนี้ได้เรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง (ภายใต้การนำของนายกเทศมนตรีท่านหนึ่ง และนโยบายของรัฐที่ถูกต้อง) จนมีรายได้เฉลี่ยคนละ 7 หมื่นบาทต่อปี จะทำให้พวกเขาเป็นกลุ่มพลเมืองผู้ตื่นรู้ (Enlightened Citizenry) ได้ขนาดไหน

บทเรียนของพวกเขาพอจะทำหน้าที่เหมือนซี่โครงที่ช่วยป้องกันอวัยวะภายในของร่างกายไม่ให้ถูกทำร้ายจากภายนอกไหม? พอจะเป็นเกราะคุ้มกันระบอบประชาธิปไตยไม่ให้บิดเบี้ยวได้ไหม?

การเปลี่ยนผ่านของระบบพลังงาน

ย้อนหลังไปในอดีตประมาณ 50 ปี ระบบพลังงานของโลก และของประเทศไทยด้วย เป็นระบบที่รวมศูนย์ และผูกขาดโดยธรรมชาติ ทั้งแหล่งเชื้อเพลิ งและขนาดของเทคโนโลยี กล่าวคือ ทั้งบ่อน้ำมัน และโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่มีอยู่จำนวนน้อยแห่ง แต่ให้บริการประชาชนจำนวนมากในวงกว้าง

แต่ในปัจจุบันแนวโน้มในอนาคตอันใกล้นี้ ระบบพลังงานของโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว จากระบบที่รวมศูนย์ หรือผูกขาด (หรือเป็นเผด็จการ) ไปสู่ระบบการกระจายศูนย์การผลิต ทั้งเทคโนโลยีที่มีขนาดเล็ก และแหล่งเชื้อเพลิงที่กระจายอยู่ทั่วไป และทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้อย่างเท่าเทียมกัน หรือเรียกว่าเป็นระบบที่เป็นประชาธิปไตย 

อย่างไรก็ตาม หากจำแนกชนิดของพลังงานที่คนไทยใช้ในปี 2557 ซึ่งมียอดรวมกันถึง 2.129 ล้านล้านบาท พบว่า เป็นค่าน้ำมันถึง 1.335 ล้านล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 62) และเป็นค่าไฟฟ้า 551,817 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 25) ที่เหลืออีก 13% เป็นค่าก๊าซหุงต้ม และถ่านไม้

ปัจจุบัน กลุ่มพลเมืองที่ตื่นรู้ด้านพลังงานของไทยกำลังใช้สิทธิของตนเองเรียกร้องให้รัฐบาลรับฟังเสียงของประชาชนในการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นระดับหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม การทำให้กิจการปิโตรเลียมทั้งระบบเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้น ยังค่อนข้างยาก 

แต่สำหรับกิจการไฟฟ้าซึ่งมีมูลค่าถึงกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปีนั้น มีความเป็นไปได้สูงมากครับ (ดูหมู่บ้านในเยอรมนีเป็นตัวอย่าง) หากพลเมืองไทยมีความเข้าใจเรื่อง ประชาธิปไตยพลังงาน (Energy Democracy) อย่างถ่องแท้ ซึ่งคงไม่นานหรอกครับ

5 เสาหลักของประชาธิปไตยพลังงาน

เรื่องที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้มาจากเอกสารข้างล่างนี้ครับ ท่านที่สนใจสามารถดาวน์โหลดมาศึกษาได้ครับ
 

 
ประชาธิปไตยพลังงานก็คือ ระบบไฟฟ้าที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่ทั้งระดับปัจเจก และระดับชุมชน โดยใช้แหล่งพลังงาน และเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21 (คือแสงแดด และลม) เพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ และการใช้เอง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การนำเงินค่าไฟฟ้าจำนวนปีละกว่า 5 แสนล้านบาทที่เคยอยู่ในมือของพ่อค้าพลังงานน้อยราย กลับมาสู่เจ้าของบ้าน และชุมชนให้มากที่สุด

ในการนี้จะต้องมีหลักการสำคัญ 5 ประการ หรือ “5 เสาหลักของประชาธิปไตยพลังงาน” ดังนี้

1.ความยืดหยุ่นของระบบสายส่ง (Flexible Grid) เรื่องนี้อาจจะมีความซับซ้อนในเชิงเทคนิคซึ่งจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ แต่ในเชิงหลักการที่ได้นำประเทศเยอรมนีไปสู่ความสำเร็จระดับหนึ่งของโลกก็คือ  “ใครก็ตามที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ ให้สามารถส่งไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งได้ก่อน โดยไม่จำกัดจำนวน” 

2.มีประสิทธิภาพ (Efficient) เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ เป็นการรับพลังงานแสงอาทิตย์มาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยไม่ต้องซื้อเชื้อเพลิง ไม่มีการขนส่งเชื้อเพลิง ไม่ต้องใช้น้ำ มีการสูญเสียในระบบการผลิตประมาณ 8% จุดผลิตกับจุดที่ใช้อยู่ใกล้กันมาก ไม่ก่อมลพิษใดๆ ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมในระดับโลก ในขณะที่ระบบการผลิตอื่นๆ ล้วนมีลักษณะตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น เรื่องประสิทธิภาพจึงไม่มีปัญหา การลงทุนในปัจจุบันก็ต่ำลงมากด้วย

3.คาร์บอนต่ำ (Low-Carbon) คงไม่ต้องอธิบายนะครับ

4.มีความเป็นท้องถิ่น (Local) ควบคุมโดยคนท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ของคนท้องถิ่น ทราบว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญของไทยกำลังพิจารณาเรื่องรูปแบบการบริหารท้องถิ่น ผมอยากจะเสนอให้พิจารณาประเด็นนี้ไว้ด้วยครับ กล่าวคือ ตัวชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยที่จับต้องได้ คืออำนาจในการจัดการพลังงานไฟฟ้าควรเป็นของท้องถิ่นครับ

5.ความยุติธรรม (Equitable) เนื่องจากดวงอาทิตย์ และลมเป็นทรัพยากรของทุกคน ดังนั้น ทุกคนจึงควรต้องสามารถเข้าถึงระบบสายส่งไฟฟ้าได้โดยไม่ถูกกีดกันจากพ่อค้าพลังงานฟอสซิล

สรุป

กรุณาอย่าหาว่าผมชอบแขวะท่านนายกรัฐมนตรีเพื่อความอยากดังเลยครับ แต่ผมว่าในบางมุมท่านก็อยู่ในสภาพที่น่าเห็นใจนะครับ เพราะท่านรับฟังข้อมูลด้านเดียว ข่าวในแวดวงที่ประชุม “แม่น้ำ 5 สาย” เล่าว่า ท่านนายกฯ ได้ตอบสวนกลับต่อผู้ที่เตือนท่านในทำนองว่า อย่าฟังแต่ข้าราชการว่า “ถ้าไม่ให้ผมฟังจากข้าราชการแล้วจะให้ผมฟังจากใคร” 

ท่านนายกรัฐมนตรี กล่าวอยู่เสมอๆ ว่า ต้องรีบเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นแล้วจะทำให้ไม่มีเชื้อเพลิงมาผลิตไฟฟ้า แต่ความจริงจากประเทศเยอรมนีได้พิสูจน์แล้วว่า แหล่งพลังงานที่สำคัญอยู่บนหลังคาบ้านเราทุกคน

ผมได้เขียนเล่ามาหลายครั้งแล้วว่า ทั้งๆ ที่เยอรมนีมีความเข้มของแสงแดดต่อตารางเมตรน้อยกว่าประเทศไทย แต่เขาสามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้มากกว่าที่คนไทยชาวอีสาน 20 จังหวัด และ 17 จังหวัดภาคเหนือรวมกันเสียอีก

การผลิตไฟฟ้าจากหลังคาสามารถทำได้เร็วภายใน 1-2 ปี ถ้ามีการส่งเสริมกันจริงๆ จังๆ เราสามารถลดการใช้ก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้าได้เยอะเลยครับ จึงไม่ต้องรีบเปิดสัมปทาน ควรใช้เวลานี้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลังเสียก่อนครับ

ท่านนายกฯ กำลังติดกับดักความคิดที่ผลิตโดยพ่อค้าพลังงานฟอสซิลว่า “ดวงอาทิตย์ไม่ใช่ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่แหล่งพลังงาน” เพราะ “อะไรที่พ่อค้าไม่ได้เป็นเจ้าของ หรืออะไรที่พวกเขาควบคุมไม่ได้ สิ่งนั้นไม่ใช่ทรัพยากร” (หมายเหตุ แปลมาจากคำพูดของ Karl Rabago ในเอกสารที่อ้างแล้ว)

ในช่วงที่เรากำลังปฏิรูปประเทศไทยให้เข้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่ในทัศนะของผมแล้ว ถ้ายังไม่ทำระบบพลังงานซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อวิถีชีวิต และเศรษฐกิจให้เป็นประชาธิปไตยแล้ว ถึงจะได้สิ่งที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยมาก็ตาม ก็เป็นแค่ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ไม่มีซี่โครงที่คอยคุ้มกันอันตรายจากภายนอก ไม่มีระบบประสาทรับรู้ความผิดปกติ ไม่สามารถผลิตเม็ดเลือดแดงของตนเอง ก็ต้องถือว่าน่าเป็นห่วงมากครับ

ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีกระดูกสันหลัง!

หมายเหตุ : การขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในหลายพื้นที่ของภาคอีสานซึ่งอยู่ติดกับชุมชน ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ทำให้แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว เป็นลม และการเกษตรของชาวบ้าน เช่น ผลผลิตยางพาราลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง แก้วมังกรเสียหายขายไม่ได้

แต่เมื่อชาวบ้านลุกขึ้นมาคัดค้าน แทนที่หน่วยงานของรัฐจะช่วยกันแก้ไข เยียวยา และวิจัยเพื่อค้นหาสาเหตุที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างถาวร แต่กลับส่งกองกำลังมาคุ้มกันให้แก่บริษัทต่างชาติผู้รับสัมปทานดังที่เห็นในภาพ ที่บ้านนามูล ต.ดูนสาด อ.กระนวน จังหวัดขอนแก่น การกระทำดังกล่าวไม่เพียงแต่ได้สร้างบาดแผลในใจให้แก่ชาวบ้านเท่านั้น แต่กับพลเมืองไทยที่ตื่นรู้ทั่วประเทศไปอีกยาวนาน
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น