xs
xsm
sm
md
lg

ในภาวะเลือดเข้าตา ระวังปีศาจประชานิยม

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

ในขณะที่ร่างบทความนี้ การชุมนุมของกลุ่มชนชั้นผู้นำและมันสมองของโลก ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น การชุมนุมรายปีซึ่งมีติดต่อกันมาหลายทศวรรษนั้นเป็นที่รับรู้กันในนามของ World Economic Forum แม้ชื่อของการชุมนุมจะบ่งชี้ว่าเนื้อหาเป็นเรื่องเศรษฐกิจ แต่วาระการพูดคุยกันมิได้จำกัดอยู่แค่ด้านเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว หากจะเป็นอะไรก็ได้ที่ผู้ขับเคลื่อนการชุมนุมมองว่าน่าจะนำมาเสนอให้ชนชั้นมันสมองของโลกพูดกัน เช่น ปีนี้มีเรื่องเหตุการณ์ในย่านตะวันออกกลางในยูเครน เกี่ยวกับการก่อการร้ายข้ามชาติและเรื่องการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทำจารกรรมทางด้านการเมืองและด้านเศรษฐกิจ นอกจากนั้น ยังมีการติดต่อพูดคุยกันทางด้านธุรกิจระหว่างบุคคลและองค์กรต่างๆ เพื่อหาทางเพิ่มผลได้ให้แก่ฝ่ายตนและองค์กรอีกด้วย

ก่อนเปิดการชุมนุมเมื่อวันพุธและในระหว่างการชุมนุม มีการคาดการณ์ ข้อมูลและแถลงการณ์ของบางองค์กรเผยแพร่ออกมา เช่น การคาดการณ์ของธนาคารโลก ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) องค์การการค้าโลก และของผู้จัดชุมนุมเองที่มองตรงกันว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกจะไม่สดใสดังที่เคยคาดไว้ซึ่งก็ใช่ว่าจะสดใสสักเท่าไรนัก ธนาคารกลางของสหภาพยุโรปแถลงว่าจะทุ่มเงินเข้าไปในระบบจำนวน 1.1 ล้านล้านยูโรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อเมริกาแถลงว่าเศรษฐกิจของตนเริ่มขยายตัวในอัตราน่าพอใจ องค์กรเอกชนออกซ์แฟมแถลงว่า ปีนี้คนรวย 1% ของโลกจะครอบครองทรัพย์สินของโลกเกินครึ่ง และบิล เกตส์ แถลงว่ามูลนิธิของเขาจะขยายกรอบการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้กว้างออกไปอีก

ปัจจัยที่ทำให้องค์กรต่างๆ มองว่าภาวะเศรษฐกิจในช่วงต่อไปจะไม่สดใสมีหลายอย่างด้วยกัน ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคงเป็นเรื่องความต่อเนื่องของพิษทางเศรษฐกิจที่เกิดจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในอเมริกาแตกเมื่อกลางปี 2551 ส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ ในขณะที่เศรษฐกิจส่วนมากยังไม่ทันจะฟื้นจนแข็งแกร่งก็ถูกซ้ำเติมด้วยภาวะทางการเมืองระหว่างประเทศและความผันผวนของราคาพลังงาน

ภาวะทางการเมืองระหว่างประเทศที่มองกันว่าจะมีผลกระทบร้ายแรงได้แก่การสู้รบกันระหว่างกลุ่มประเทศก้าวหน้าที่มีอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่กับกลุ่มต่อต้านที่มีศูนย์กลางอยู่ในย่านตะวันออกกลาง ภายในฝ่ายต่อต้านนี้มีสองกลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน นั่นคือ กลุ่มอัลกออิดะห์และกลุ่มที่เรียกกันว่ารัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย การสู้รบกันมีทั้งในรูปของสงครามในสมรภูมิต่างๆ อย่างเปิดเผยในย่านตะวันออกกลางซึ่งรวมทั้งสงครามกลางเมืองด้วย และในรูปของการก่อการร้ายในประเทศก้าวหน้าดังที่เพิ่งเกิดในฝรั่งเศสและเบลเยียม

เรื่องราคาพลังงานมีราคาน้ำมันดิบเป็นตัวชี้วัดหลัก การที่ราคาน้ำมันลดลงมากว่าครึ่งในช่วงไม่กี่เดือนมานี้มีทั้งผู้ได้และผู้เสีย ผู้ใช้น้ำมันทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อมมักได้ประโยชน์ในขณะที่ประเทศที่ต้องอาศัยรายได้จากการขายน้ำมันเป็นหลักกำลังประสบปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเวเนซุเอลา รัสเซีย ไนจีเรีย หรืออิหร่าน ความผันผวนของราคาน้ำมันซึ่งแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญก็มองไม่ตรงกันว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปทำให้เกิดความไม่แน่นอนและความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เมื่อบวกลบคูณหารกันออกมา ผลจะเป็นอย่างไรจึงยากแก่การคาดเดา ความไม่แน่นอนเช่นนี้มีผลกระทบต่อการใช้จ่ายและการลงทุน

เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปกำลังมีปัญหามากขึ้น แม้แต่เยอรมนีเองซึ่งเป็นหัวจักรใหญ่ที่ดึงดันให้ประเทศในกลุ่มไม่ตกอับก็เริ่มประสบกับภาวะซบเซา กรีซจะเลือกตั้งใหม่ไปในวันอาทิตย์ การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนกำหนดเวลาและมองได้ว่าเป็นผลของพิษอันสืบเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรงจนประเทศล้มละลายต้องไปขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟและสมาชิกสหภาพยุโรป ความล้มละลายเป็นผลของนโยบายประชานิยมบวกกับการปกปิดและบิดเบือดตัวเลขงบประมาณของรัฐบาลกรีซด้วยการช่วยเหลือของธนาคารข้ามชาติ เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นขึ้นมาจากภาวะซบเซา ธนาคารกลางของสหภาพยุโรปจึงตัดสินใจทุ่มเงินเข้าไปในระบบจำนวน 1.1 ล้านล้านยูโรผ่านการซื้อตราสารหนี้ที่สถาบันการเงินต่างๆ ถืออยู่

มาตรการทุ่มเงินเข้าไปในระบบแบบนั้นธนาคารกลางอเมริกันทำมาก่อน นั่นคือ หลังจากฟองสบู่แตกในปี 2551 ทำให้เศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ ธนาคารกลางอเมริกันทุ่มเงินเข้าไปในระบบสามรุ่นด้วยกันรวมเป็นเงินทั้งหมด 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ รัฐบาลอเมริกันอ้างว่าเศรษฐกิจของตนหลีกเลี่ยงความเสียหายร้ายแรงกว่าที่น่าจะเกิดขึ้นได้และค่อยๆ ฟื้นคืนมาจนขยายตัวเต็มที่เมื่อตอนปลายปีที่แล้ว การฟื้นตัวเช่นนั้นพร้อมกับตัวเลขการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นทำให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แสดงท่าทีเยี่ยงไก่ตีปีกในการกล่าวรายงานต่อรัฐสภาเมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา แต่การตีปีกนั้นแฝงอะไรต่อมิอะไรไว้หลายอย่างที่จะมีผลกระทบเลวร้ายต่อไปในอนาคต เช่น การจ้างงานเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในภาคที่จ่ายค่าแรงต่ำจำพวกในร้านอาหารจานด่วน เงินที่ทุ่มเข้าไปและผลของการขยายตัวทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ไปตกอยู่ในมือคนรวยกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำเลวร้ายขึ้นไปอีก ผลของความเลวร้ายนั้นยืนยันด้วยข้อมูลที่เพิ่งแถลงออกมาเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ณ วันนี้ กว่าครึ่งของเด็กอเมริกันที่เรียนในโรงเรียนรัฐบาลตั้งแต่ชั้นปฐมวัยไปชนถึงชั้นมัธยมมาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำจนต้องขอความช่วยเหลือค่าอาหารกลางวันจากรัฐบาลกลาง นั่นหมายความว่า การมีงานทำของคนอเมริกันจำนวนมากไม่ส่งผลให้พวกเขาหลุดพ้นจากความยากจนได้

ก่อนเริ่มการชุมนุมที่ดาวอสเล็กน้อย องค์กรเอกชนออกซ์แฟมซึ่งรณรงค์หาทางช่วยเหลือผู้อยู่ในภาวะยากจนและด้อยโอกาสทั่วโลกมานานนำข้อมูลชิ้นสำคัญออกมาเผยแพร่ นั่นคือ กลุ่มคนรวยเพียง 1% ของชาวโลกครอบครองทรัพย์สินสูงถึงเกือบครึ่งพร้อมกับคาดการณ์ว่าภายในปีนี้ คนรวยกลุ่มนั้นจะเพิ่มการครอบครองทรัพย์สินมากขึ้นจนถึงกว่าครึ่งของทรัพย์สินทั้งหมด ตัวเลขนี้ไม่เป็นที่แปลกใจของผู้ติดตามเรื่องการกระจายรายได้และความเหลื่อมล้ำมาเป็นเวลานาน สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้นเพราะคนรวยกลุ่มเล็กๆ มีทั้งอำนาจเงิน การศึกษา โอกาสและอิทธิพลทางการเมืองที่ทำให้พวกเขาช่วงชิงส่วนแบ่งของการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปได้เกือบหมด

หากมองดูว่าอะไรเกิดขึ้นในอเมริกาหลังการทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเข้าไปในระบบ การทุ่มเงินของสหภาพยุโรปจำนวน 1.1 ล้านล้านยูโรก็จะมีผลคล้ายกัน นั่นคือ เศรษฐกิจอาจจะฟื้นขึ้นชั่วคราว แต่คนรวยจะช่วงชิงเอาไปจนเกือบหมดส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำร้ายแรงขึ้น ความเหลือมล้ำยิ่งสูงเท่าไร โอกาสที่สังคมจะแตกแยกจนขาดเสถียรภาพก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น ปรากฏการณ์ “ยึดครองถนนวอลล์” ในมหานครนิวยอร์กเมื่อปีก่อนเป็นอาการอย่างหนึ่งซึ่งชี้ให้เห็นความแตกร้าวของสังคมอันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำ

ออกซ์แฟมนำตัวเลขมาเผยแพร่เพื่อต้องการให้ชนชั้นผู้นำและมันสมองของโลกถกกันว่าจะทำอะไรต่อไปทั้งทางฝ่ายเอกชนและฝ่ายรัฐ

เป็นที่ทราบกันดีว่าบิล เกตส์ เป็นมหาเศรษฐีหมายเลขหนึ่งของโลกและได้บริจาคทรัพย์นับหมื่นล้านดอลลาร์ช่วยเหลือชาวโลกมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะทางด้านการศึกษาและด้านการกำจัดโรคร้ายหลายอย่าง ก่อนเดินทางไปเมืองดาวอส เขาประกาศออกมาว่าเขาจะขยายความช่วยเหลือออกไปให้ครอบคลุมด้านการเกษตรและการเข้าถึงสถาบันการเงินของคนยากจนโดยเฉพาะในแอฟริกา เขาเชื่อว่าในวันหนึ่งข้างหน้าชาวแอฟริกาจะผลิตอาหารได้พอเลี้ยงตัวเอง ในวันนั้น เขามิได้ประกาศตัวเลขออกมา แต่แน่ใจได้ว่าถ้าวัดกันด้วยแนวที่เขาทำมาแล้ว เข้าจะต้องทุ่มเงินของตัวเองเข้าไปในหลักพันล้านดอลลาร์พร้อมกับแสวงหาความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนพร้อมกันไปด้วย

อาจเป็นที่ทราบกันบ้างแล้วว่า เรื่องการบริจาคทรัพย์สินกองมหาศาลเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์นี้ บิล เกตส์ ได้คู่หู วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นเพื่อนร่วมทาง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งรวยเป็นอันสองของโลกและตอนนี้มีทรัพย์สินกว่า 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์ประกาศว่าจะบริจาค 99.9% ของทรัพย์สินทั้งหมดนั้นเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ การบริจาคนั้นส่วนใหญ่จะทำผ่านมูลนิธิและโครงการของบิล เกตส์

เท่านั้นยังไม่พอ สองอภิมหาเศรษฐีได้พยายามชักชวนเพื่อนเศรษฐีพันล้านทั้งหลายให้เข้าร่วมกับพวกเขาโดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะบริจาคทรัพย์สินอย่างน้อยกึ่งหนึ่งเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน คำมั่นสัญญานั้นให้เขียนไว้ในเว็บไซต์ชื่อ www.givingpledge.org การบริจาคจะทำในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ หรือหลังจากนั้นก็ได้ ณ วันนี้ มีมหาเศรษฐีอเมริกัน 128 คน/ครอบครัวให้คำมั่นสัญญาไว้แล้วรวมทั้งเศรษฐีหมื่นล้านหนุ่มมาร์ค ซักเคอร์เบิร์กด้วย เรื่องราวและแนวคิดของเพื่อนซี้คูนี้หาอ่านได้ในหนังสือชื่อ มหาเศรษฐีขี้ไม่เหนียว สำหรับผู้ที่ต้องการรู้เรื่องราวการสร้างเนื้อสร้างตัวของบิล เกตส์ อาจไปอ่านเรื่อง เสือ สิงห์ กระทิง แรด ซึ่งดาวโหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com

เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีโอกาสตกอยู่ในภาวะซบเซาอีกนาน เมืองไทยจะได้รับผลกระทบทั้งทางด้านการขยายตัวซึ่งจะทำได้ยากและด้านปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน ภาคเอกชนและรัฐบาลจะทำอย่างไรเป็นประเด็นน่าสนใจและมีความสำคัญยิ่ง

เท่าที่ผ่านมา ไม่มีทีท่าว่าอภิมหาเศรษฐีไทยคนไหนจะมีจิตใจในแนวของบิล เกตส์และวอร์เรน บัฟเฟตต์ ทุกคนดูจะมุ่งไปที่การทวีความร่ำรวยของตัวเองโดยการกอบโกยทุกวิถีทางเพียงอย่างเดียว ในหลายๆ กรณีพวกเขาหาวิธีเข้าถึงผู้มีอำนาจเพื่อกอบโกยต่อไม่ว่าอำนานนั้นจะกุมโดยคนดีหรือคนชั่ว ด้วยเหตุนี้ เมืองไทยจะหวังอะไรจากพวกอภิมหาเศรษฐีไม่ได้และฝ่ายรัฐจะต้องดำเนินนโยบายอย่างรัดกุมยิ่งขึ้นโดยไม่ยอมให้ใครจูงจมูก

เท่าที่ผ่านมา ภาพรวมนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันยังไม่กระจ่างนักนอกจากประกาศว่าจะปราบความฉ้อฉลและนำความสุขมาให้คนไทยอย่างถ้วนหน้า ส่วนจะทำอย่างไรยังไม่เป็นที่ประจักษ์นอกจากออกคำขวัญจำพวกเปลี่ยนค่านิยมและสานต่อนโยบายประชานิยมที่มีมาก่อนแล้ว เช่น เรื่องรถโดยสารฟรีและการจ่ายเงินให้ชาวนาและชาวสวนยางเป็นครั้งคราว ส่วนเงินที่จ่ายไปจะถึงเป้าเท่าไร หรือจะไปลงขวดเหล้าและเข้าร้านสะดวกซื้อเป็นส่วนใหญ่หรือไม่ยังไม่มีการวิจัยออกมา รัฐบาลอาจรอผลงานของสภาปฏิรูปว่าจะเสนออะไรบ้างก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะเดินไปทางไหน ในระหว่างที่รออยู่นี้ มีความกดดันทั้งทางด้านการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในภาวะที่เศรษฐกิจโลกซบเซาและทางด้านการทำให้ประชาชนมีความสุขอย่างต่อเนื่องตามคำขวัญของรัฐบาลเอง ท่ามกลางความกดดันนี้ โอกาสที่จะเกิดมาตรการประชานิยมมีสูงมาก หวังว่ารัฐบาลคงไม่มักง่ายนำมาตรการประชานิยมแบบเลวร้ายมาใช้เพิ่ม เพราะนั่นจะเป็นการวางยาพิษเพิ่มขึ้นจากที่ถูกวางไว้แล้วจนส่งผลให้เมืองไทยล้มละลายในเร็ววัน
กำลังโหลดความคิดเห็น