xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กตู่"ฉุนสื่อ บี้กม.ไซเบอร์ เฮ้ย!จะทำไม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (20 ม.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมร่วม ครม.-คสช. โดยช่วงหนึ่งที่ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวอิศรา ถามถึงการจัดซื้อเรือท้องแบนของกองทัพบก เป็นเงิน 39 ล้านบาท มีกรณีที่บริษัทที่ชนะการประกวดราคา และบริษัทที่เสนอราคาทั้ง 2 บริษัทนั้นมีความเชื่อมโยงกัน และมีผู้ถือหุ้นเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน พล.อ.ประยุทธ์ ตอบเพียงสั้นๆ โดยไม่หันไปมองหน้าผู้สื่อข่าวที่ถามคำถามดังกล่าว ก่อนกล่าวว่า "ไปแจ้งความมา" เมื่อถูกถามย้อนกลับว่า ผู้สื่อข่าวไม่มีหน้าที่ในการฟ้องร้อง พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า "ได้สิ ทุกคนแจ้งได้ ไปหามา"
เมื่อผู้สื่อข่าวคนเดิมพยายามถามถึงกรณีที่ครม. มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่ามีความจำเป็นอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า "เป็นการเข้าไปหาคณะกรรมาธิการ เพราะเราเป็นผู้เริ่มต้น แล้วคณะกรรมาธิการเข้ามาเสนอต่อครม. ทุกคนต้องรู้จักกติกาบ้าง รู้ว่าทำงานกันอย่างไร สิ่งที่ผมกลัว และเป็นห่วงทุกคนมัวแต่มองอย่างเดียวว่า จะถูกจำกัดสิทธิ วันนี้จำกัดสิทธิอะไรบ้างหรือยัง จำกัดอะไรบ้างรึยัง"
เมื่อถามอีกว่า แต่ว่ามีการให้อำนาจหน้าที่เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลทุกรูปแบบ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบอย่างมีอารมณ์ขึ้นมาทันทีว่า " แล้วเขาจบหรือยังล่ะ กฎหมายออกมาหรือยัง" เมื่อถามว่า ประเด็นคือ ทำไมถึงผ่านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบแบบขึงขังด้วยสีหน้าแดงก่ำว่า "ไม่ต้องมาทำไม ทำไมล่ะ จะผ่าน ทำไม เฮ้ยแล้วจะเป็นทำไมวะ นายกฯ จะเป็นทำไม" จากนั้น ผู้สื่อข่าวคนอื่นพยายามจะถามประเด็นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ เดินเลี่ยงไปก่อนกล่าวว่า "ไม่เอา ไปแล้ว" พร้อมเดินไปบ่นเสียงดังว่า "อารมณ์เสีย ๆ" ก่อนเดินขึ้นห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี ครม.รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ที่จะให้เจ้าหน้าที่รัฐ เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร จะถือเป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ ว่า เมื่อครม.รับหลักการแล้ว ยังต้องส่งไปยังกฤษฎีกา เพื่อให้ตรวจ แล้วจะมีข้อสังเกตของแต่ละกระทรวงติติงเข้ามาในแต่ละเรื่อง ส่วนเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็มีเข้ามาเช่นกัน อยู่ที่ว่ากฤษฎีกาจะพิจารณาอย่างไร จึงจะเข้ามา ครม.อีกครั้ง เพราะการที่ครม. ดูหลักการ ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด เพียงแต่ดูว่าโดยทั่วไปจะต้องดูว่าจำเป็นต้องทำเรื่องนั้นๆ หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น