อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
หัวหน้าสาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
หัวหน้าสาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
เดือนนี้เป็นเดือนมหามงคลเพราะมีวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมเลยอยากจะเขียนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีต่อวงวิชาการทางด้านสถิติ โดยเฉพาะความเข้าพระทัยอย่างถ่องแท้ถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงของวิชาสถิติกับวิชารัฐศาสตร์และพัฒนบริหารศาสตร์ ตลอดจนพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อหน่วยงานที่ผมทำงานอยู่คือคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ให้ทุกท่านได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น
ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจำนวนมากเรียนวิชาสถิติกันมาแทบทั้งนั้น เนื่องจากเป็นวิชาบังคับของแทบทุกคณะในระดับปริญญาตรี แม้แต่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายก็เริ่มมีวิชาสถิติแทรกในวิชาคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นวิชาบังคับในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ส่วนใหญ่เรียนด้วยความไม่เข้าใจว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร จะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ได้แต่เรียนสถิติแบบเดียวกับที่เรียนคณิตศาสตร์
ผมเองโชคดีได้ไปเรียนปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา แล้วมีโอกาสได้ไปนั่งฟัง Professor Andrew Gelman ซึ่งเป็น Professor of statistical science and political science ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นครนิวยอร์ก Andy นั้นสอนทั้งทางรัฐศาสตร์และเป็นนักสถิติชื่อดังก้องโลก ทางรัฐศาสตร์นั้น Andy สอนวิชาวิทยาวิทยาการวิจัยเชิงสำรวจสำหรับความคิดเห็นสาธารณะและประชามติ (Poll and public opinion survey methodology) เข้าไปเรียน Andy ก็อธิบายเลยว่าสถิติหรือ statistics นี่เป็นวิชาที่ว่าด้วยรัฐ คำว่า statistics มีรากมาจากคำเดียวกับคำว่า state เพราะดั้งเดิมสถิตินั้นเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับรัฐในการวางแผน/พัฒนา/ประเมิน นโยบายหรือโครงการของรัฐ Andy นี่แหละครับผมที่เป็นคนเขียนหนังสือเล่มดังชื่อ Red State, Blue State, Rich State, Poor State: Why Americans Vote the Way They Do ซึ่งอธิบายพฤติกรรมการเลือกตั้งของอเมริกันชนไว้อย่างละเอียดลออลึกซึ้งด้วยวิธีการวิจัยและสถิติ
ผมเกิดความสงสัยเลยไปลองค้นหนังสือทางนิรุกติศาสตร์ (Etymology) ซึ่งเป็นวิชาที่ว่าด้วยที่มาของคำ ทำให้ทราบว่าคำนี้เริ่มใช้ในภาษาเยอรมันในปี 1770 ซึ่งมาจากคำว่า Statistik และเริ่มมีการใช้แพร่หลายจากหนังสือที่เขียนโดยนักรัฐศาสตร์ชาวเยอรมัน Gottfried Aschenwall ในหนังสือชื่อ Vorbereitung zur Staatswissenschaft (Preparing for political science) ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษาลาตินว่า “status” อันแปลว่ารัฐหรือ state นั่นเอง ศัพท์ Statistik ในภาษาเยอรมันนั้นนำมาใช้แพร่หลายในภาษาอังกฤษในเวลาต่อมาโดย Sir John Sinclair ซึ่งเป็นนักการเมืองชาวสก็อตแลนด์และได้เขียนหนังสือชื่อ “Statistical Account of Scotland” แม้ว่าในภายหลังวิชาสถิติจะไม่ได้จำกัดเฉพาะรัฐอีกต่อไป หากแต่ขยายกว้างขวางไปแทบทุกสาขาวิชาที่นำเอาสถิติไปใช้เป็นเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐมิติ จิตมิติ ชีวสถิติ สถิติอุตสาหกรรม สถิติธุรกิจ และอื่นๆ แต่รากของวิชาสถิติก็ยังมาจากรัฐศาสตร์อยู่ดีนั่นเอง
เมื่อผมกลับมาประเทศไทย มาเป็นอาจารย์ที่นิด้า ผมได้มีโอกาสอ่านประวัติของคณะและสถาบันทำให้ผมรู้สึกประทับใจ ซาบซึ้งใจมากว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างวิชาสถิติในฐานะที่เป็นวิชาที่ว่าด้วยรัฐอย่างลึกซึ้ง โดยทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับวิชาสถิติเพื่อนำความรู้วิชาสถิติไปเป็นพื้นฐานในการวางแผนและการพัฒนาประเทศ ดังที่ศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ท่านแรกได้บันทึกไว้ว่า “เวลานั้นประเทศไทยกำลังตื่นตัวที่จะมีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานดำริแก่ประธานกรรมการบริหารสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ คือ ม.ล. เดช สนิทวงศ์ ม.ล. เดช ท่านก็บอกผมว่าในหลวงมีพระราชดำริ ในการพัฒนานั้นต้องใช้ข้อมูล ใช้สถิติมาก และถ้ามีการตั้งสถาบันขึ้นมาสอนวิชาเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เน้นการให้วิชาในการสร้างคนเตรียมไว้เพื่อจะส่งเสริมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การเมืองเป็นไปได้ดีเร็วขึ้น” และด้วยแนวพระราชดำรินี้จึงเปิดสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และเกิดการก่อตั้งคณะสถิติประยุกต์ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่คณะแรกของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จึงถึงทุกวันนี้
พระราชดำริเรื่องการเรียนการสอนวิชาสถิติเพื่อใช้ในการจัดทำ/ประเมินโครงการเพื่อการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจและประเทศชาตินั้นคงฝังแน่นในพระราชหฤทัยดังที่ได้ทรงมีพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน 2513 ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ความว่า “…เดิมทีเดียวข้าพเจ้าตั้งข้อคิดเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศไว้ว่า ในการทำโครงการพัฒนาเศรษฐกิจต่างๆ จะต้องอาศัยใช้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นหลัก และจะต้องใช้นักสถิติที่มีความรู้ความสามารถชั้นสูงเป็นผู้ปฏิบัติ…”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงวิชาการด้านสถิติในประเทศไทยมาโดยเสมอมา ทรงตราพระราชบัญญัติสถิติ พุทธศักราช 2495 และทรงติดต่อกับ Rockefeller foundations โดยมีพระราชปรารภขอความช่วยเหลือจาก Dr. David Rockefeller ด้วยทรงเล็งเห็นว่างานสถิติเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยในขณะนั้นและจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน ทาง Rockefeller foundations ได้ส่ง Dr. Stacy May ผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติมาช่วยประเทศไทยในราชการสถิติเพื่อการพัฒนาประเทศ และมีการตั้งสำนักงานสถิติแห่งชาติขึ้น และนำมาสู่การตราพระราชบัญญัติสถิติ พุทธศักราช 2508 ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มีการเรียนการสอนวิชาสถิติและจัดตั้งคณะสถิติประยุกต์ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในเดือนมิถุนายน 2509 โดยโอนงานสอนและนักศึกษาของวิทยาลัยการสถิติปฏิบัติและงานอบรมทางด้านสถิติศาสตร์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติมาสังกัด คณะสถิติประยุกต์ และเริ่มมีการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทและเอกต่อเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนใจเรื่องสำมะโนประชากรเป็นอย่างยิ่ง และโปรดให้ข้าราชการสำนักงานสถิติแห่งชาติเข้าเฝ้าเพื่อรับพระราชทานพระราชดำริและคำแนะนำต่างๆ ในการสำมะโนประชากร และโปรดให้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลรายงานผลการสำมะโนประชากร อยู่หลายครั้ง เช่น วันที่ 14 เมษายน 2523 โปรดให้เข้าเฝ้ารายงานผลการสำมะโนครั้งที่ 8 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ 20 มีนาคม 2533 โปรดให้เข้าเฝ้ารายงานผลการสำมะโนครั้งที่ 9 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และวันพุธที่ 19 เมษายน 2543 โปรดให้เข้าเฝ้ารายงานผลการสำมะโนครั้งที่ 10 ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น
จากแนวพระราชดำริและพระราชดำรัสข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าใจและตระหนักดีถึงความสัมพันธ์ระหว่างวิชาสถิติศาสตร์และวิชารัฐศาสตร์ น่าเสียดายอยู่ที่วงวิชาการรัฐศาสตร์ในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่ ไม่ค่อยตระหนักถึงความสำคัญในข้อนี้ เช่นคุณภาพและความถูกต้องของผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะและประชามติ (Poll and public opinion survey) ในประเทศไทยนั้นต่ำมากอย่างน่าใจหาย เพราะความรู้ความเข้าใจทางด้านสถิติและระเบียบวิธีวิจัยของผู้ดำเนินการอาจจะมีไม่พอ หรือมีแรงจูงใจอย่างอื่นที่ทำให้ผลการศึกษาไม่น่าเชื่อถือเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไม่สามารถนำผลสำรวจที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนนโยบาย/ประเมินผล เพื่อการพัฒนาประเทศ/สังคมได้มากนัก แต่ก็เริ่มมีนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ที่สนใจเรื่องระบบสารสนเทศทางสถิติที่เกี่ยวข้องกับการเมือง การพัฒนาประเทศ เช่น เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย ซึ่งนำโดยศาสตราจารย์ ดร. จรัส สุวรรณมาลา แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ลองเข้าไปชมได้ที่ http://www.tpd.in.th/)
ในอีกด้านหนึ่งนักวิชาการทางสถิติศาสตร์ในประเทศไทยก็ไม่ค่อยสนใจวิชาทางด้านรัฐศาสตร์เท่าที่ควรด้วยเช่นกัน เนื้อหาของวิชาสถิตินั้นมีแนวโน้มที่จะแปลกแยกเป็นเอกเทศ เพราะนั่งคิดคำนวณเงียบๆ คนเดียวกับสามารถพัฒนางานวิจัยทางสถิติใหม่ๆ ได้ แต่การนำไปประยุกต์ใช้งานในโลกของความเป็นจริงนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้นสิ่งที่ผมเองอยากจะเห็นมากขึ้นคือประเทศไทยมีนักสถิติที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาประยุกต์ใช้ความรู้ทางสถิติเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศตามแนวพระราชปณิธาณมากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ส่วนตัวผมเองก็จะพยายามทำหน้าที่และผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านดังกล่าวตามแนวพระราชดำริว่าด้วยรัฐ การพัฒนา และวิชาสถิติ เท่าที่ตัวเองจะพอมีความรู้ความสามารถทำได้