xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี สูงสุดคืนสู่สามัญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เป็นเรื่องที่ต้องบอกว่า คนไทยทั้งประเทศเฝ้าติดตามกันอย่างใกล้ชิดเลยทีเดียว เมื่อ “พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ซึ่งความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทและพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว

ภายหลังการกราบบังคมทูลขอลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ เรื่องของอดีตพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ฯ ได้รับความสนใจจากคนไทยและสังคมไทยอย่างใกล้ชิดในทุกความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะการใช้ชีวิตหลังกลับคืนสู่ความเป็นสามัญชน และนำมาซึ่งกระแสข่าวปล่อย ข่าวลือ ฯลฯ ตามมามากมาย

ขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งข้อสงสัยสารพัดไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิต คำเรียกขานอันเต็มไปด้วยความสับสนว่าจะเรียกว่าอย่างไร เพราะภายหลังการกราบบังคมทูลลาออก อดีตพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ฯ ได้เดินทางไปทำบัตรประชาชนและปรากฏคำนำหน้าชื่อว่า “นางสาวศรีรัศมิ์ สุวะดี”

และที่เป็นประเด็นที่สุดก็คือกรณีปรากฏเอกสารจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เรื่องการพระราชทานเงินจำนวน 200 ล้านบาทให้อดีตพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ฯ

วันนี้ ข้อสงสัยต่างๆ ได้คลี่คลายลงไปในระดับหนึ่งแล้ว

กล่าวสำหรับเรื่องราวของอดีตพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์นั้น ต้องบอกว่า เต็มไปด้วยความน่าสนใจมากมาย ทั้งในช่วงก่อนได้รับการสถาปนาอิสริยยศและหลังได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ ตลอดรวมถึงพระกรณียกิจในระหว่างที่ดำรงอิสริยยศ

ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์เกิดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2514 ที่จังหวัดสมุทรสงคราม มีชื่อเล่นว่า “อี๊ด” เป็นธิดาคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 5 คน ของนายอภิรุจ และนางวันทนีย์ สุวะดี

ด้านการศึกษา จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนเทศบาลบ้านมหาชัย (อนุกูลราษฎร์) จังหวัดสมุทรสาคร ต่อมาสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพจาก โรงเรียนกรุงเทพการบัญชีวิทยาลัย ก่อนจะเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีที่ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการจัดการทั่วไป (หลักสูตร 4 ปี) เมื่อปี 2540 และได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2545 และทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาโท หลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (คหกรรมศาสตร์) ภาคพิเศษ สาขาวิชาการพัฒนาการครอบครัวและเด็ก คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.94

นอกจากนี้ยังได้รับปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการศึกษาปฐมวัย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์, ปริญญาครุศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ปริญญาสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกด้วย

ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์เข้าถวายการรับใช้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ตั้งแต่ปี 2536 ในฐานะข้าราชการพลเรือนในพระองค์ นอกจากนี้ยังได้ถวายงานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในด้านศิลปาชีพ และได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2544 เข้ารับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2547 เข้ารับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า ฝ่ายใน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาขึ้นเป็น “หม่อมศรีรัศมิ์ มหิดล ณ อยุธยา” ในเวลาต่อมา

หลังจากมีประสูติกาลพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2548 ได้รับการสถาปนาเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2548

ในระหว่างดำรงฐานันดรศักดิ์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานศูนย์ศิลปาชีพ 904 เป็นราชองครักษ์พิเศษ เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ และล่าสุด เป็นผู้อำนวยการสำนักเวชศาสตร์ครอบครัว กรมแพทย์ทหารบก

นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งโครงการแห่งพระองค์ไว้หลายโครงการ เพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ ได้แก่ โครงการสายใยรักแห่งครอบครัวในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร,ศูนย์ศรีทวีรัก,สตูดิโอศุโขโยคะ,ศิลปาชีพ 904 เฮาส์โชว์ คอลเลกชั่นออกแบบจากผ้าขาวม้า เป็นต้น

11 ธันวาคม 2557 ภายหลังวันหยุดเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2557 สังคมไทยก็ได้รับทราบข่าวที่สำคัญยิ่งเกี่ยวกับการกราบบังคมทูลขอลาออกจากพระราชวงศ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนที่ 29 ได้เผยแพร่เรื่องลาออกจากฐานันดรศักดิ์

ทั้งนี้ เนื้อความของเรื่องดังกล่าวมีดังต่อไปนี้

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นลายลักษณ์อักษรว่า ขอพระราชทานกราบบังคมทูลลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วพระราชทานพระบรมราชานุญาต”

ประกาศ ณ วันที่ 11 ธันวาคม พุทธศักราช 2557 เป็นปีที่ 69 ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี”

นี่คือความจริงที่มีความชัดเจนในตัวเองโดยที่ไม่จำเป็นต้องการคำอธิบายใดๆ

ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ฯ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2548 ถึงวันที่ 11 ธันวาคม 2557 ซึ่งได้ลาออกจากฐานันดรศักดิ์กลับคืนสู่สามัญชน รวมแล้วเวลาที่อยู่ในฐานันดรศักดิ์ทั้งสิ้นประมาณ 9 ปี

โดยท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ได้ปฏิบัติพระกรณียกิจครั้งสุดท้ายในฐานะพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ในการเป็นประธานเปิดมหกรรม 9 ปีสายใยรักแห่งครอบครัวเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2557 ที่ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สังคมสับสนประการแรกก็คือ หลังการลาออกจากพระราชวงศ์แล้ว ศักดิ์และฐานะของอดีตพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ฯคืออะไร

ในเบื้องแรกเกิดกระแสข่าวลือเกิดขึ้นมากมาย บ้างก็ว่า อดีตพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ฯ เปลี่ยนไปใช้ชื่อว่า “บุษบา” นามสกุล “สุวะดี” ซึ่งเป็นนามสกุลดั้งเดิมก่อนได้รับพระราชทานนามสกุล “อัครพงศ์ปรีชา” แต่เมื่อปรากฏภาพและข่าวอดีตพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ฯ เดินทางไปทำบัตรประชาชนที่สำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร และใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาวศรีรัศมิ์ สุวะดี” ข่าวเรื่องชื่อก็หายไปในทันที เพราะมีความชัดเจนแล้วว่าชื่อ “ศรีรัศมิ์”

แต่สิ่งที่ชาวบ้านร้านตลาดสงสัยตามมาก็คือ ทำไมถึงใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว” เพราะก่อนหน้านี้เป็นที่รับรู้กันว่า ใช้คำนำหน้านามว่า “ท่านผู้หญิง” ซึ่งนั่นก็เนื่องเพราะเกิดจากทั้งความไม่รู้ในข้อเท็จจริงและความไม่รู้ในข้อกฎหมาย

ตามพระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิง ปี 2551 สตรีที่ผ่านการสมรศแล้วสามารถใช้คำนำหน้านามได้ทั้ง “นาง” หรือ “นางสาว” เพราะฉะนั้นโดยหลักของกฎหมายแล้วการใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาวศรีรัศมิ์” ในการทำบัตรประชาชนเป็นสิ่งที่สามารถทำได้

ส่วนการเรียกขาน “ท่านผู้หญิง” นั้น ได้รับคำชี้แจ้งเรื่องการใช้ “คำนำหน้านาม” จากสำนักราชกิจจานุเบกษา สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาลว่า แม้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลาออกจากฐานันดรศักดิ์แล้ว แต่เนื่องด้วยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2547 ในโอกาสวันฉัตรมงคล มิได้ขอพระราชทานโดยรัฐบาล และขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์แต่อย่างใด ดังนั้น คำนำหน้านามคือ “ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์”

ทั้งนี้ กล่าวสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าวเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้นเพื่อพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท โดยสำหรับฝ่ายใน มีทั้งหมด 5 ตรา คือ ปฐมจุลจอมเกล้า ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ทุติยจุลจอมเกล้า ตติยจุลจอมเกล้า และจตุถจุลจอมเกล้า

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับพระราชทานได้มีการกำหนดคำนำหน้านามสตรีไว้ดังนี้คือ

หนึ่ง-สตรีสามัญชนที่สมรสหรือเคยสมรส ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ตั้งแต่ชั้นจตุถจุลจอมเกล้า ขึ้นไปถึง ทุติยจุลจอมเกล้า มีคำนำหน้านามว่า “คุณหญิง”

สอง-สตรีสามัญชนที่สมรส หรือเคยสมรส ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ตั้งแต่ ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ถึงปฐมจุลจอมเกล้า มีคำนำหน้านามว่า “ท่านผู้หญิง”

สาม-สตรีสามัญชนที่มิได้สมรส หากได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นใดก็ตาม ก็จะมีคำหน้านามว่า “คุณ”

นายณัฐเศรษฐ์ วิชิตะกุลได้อธิบายเพิ่มเติมว่าท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า(ป.จ.) เมื่อวันวันที่ 6 พฤษภาคม 2547 เนื่องในวันฉัตรมงคล ซึ่งเป็น “หม่อมห้ามพระราชวงศ์” ต่อมาได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าวงวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ มีลำดับโปเจียมเป็นที่หนึ่งของบรรดาพระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าทุกพระองค์

สำหรับคำว่าลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทยนั้นหมายถึงธรรมเนียมที่พระราชวงศ์ทรงดำเนินเป็นลำดับกัน เป็นลำดับการเสด็จพระราชดำเนินหรือพระดำเนินก่อนหลังกันตามฐานะในพระราชวงศ์

คำว่า "โปเจียม" สันนิษฐานว่ามาจากภาษาจีน แปลว่า ลำดับก่อนหลัง

ส่วนเรื่องเงินพระราชทานจำนวน 200 ล้านบาทตามที่ปรากฏตามเอกสารของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น ในครั้งแรกมีความสับสนไม่น้อย เนื่องเพราะไม่เป็นที่แน่ชัดว่า เอกสารที่นำมาเผยแพร่และตีพิมพ์นั้น เป็นเอกสารที่ถูกต้องหรือไม่ กระทั่งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 ความจริงก็เป็นที่ปรากฏเมื่อกระทรวงการคลังได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงข่าวถึงสื่อมวลชน เรื่อง การชี้แจงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะประธานกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กรณีการพระราชทานเงินให้ท่านผู้หญิง ศรีรัศมิ์ สุวะดี

เนื้อหาในเอกสารชี้แจงมีใจความว่า...

“ตามที่มีข่าวว่า ท่านผู้หญิง ศรีรัศมิ์ สุวะดี ได้รับเงินพระราชทานจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นั้น นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ชี้แจงว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ดำเนินการตามที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชประสงค์ขอรับเงินพระราชทานจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อพระราชทานให้ท่านผู้หญิง ศรีรัศมิ์ สุวะดี ใช้ในการดำรงชีพ และดูแลครอบครัวต่อไปแล้ว

“อนึ่ง ขอให้สื่อมวลชนทั้งหลายโปรดงดการนำเอกสารใดๆ ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะเผยแพร่ลงในสื่อทุกชนิดด้วย”

นั่นเป็นความชัดเจนที่ไม่ต้องการคำอธิบายใดๆ เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม นอกจากข่าวดังกล่าวข้างต้น หลังจากที่พล.ต.หญิงท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ได้กราบบังคมทูลลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ซึ่งได้รับพระบรมราชานุญาตแล้วนั้น ในโลกโซเชียลมีเดียได้มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิด “แฟนเพจ” ที่เกี่ยวข้องกับท่านผู้หญิง

ทำให้ในเวลาต่อมา แฟนเพจที่ใช้ชื่อว่า “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ” ซึ่งมีผู้ติดตาม 313,476 คน ต้องออกมาชี้แจงภายหลังการประกาศปิดแฟนเพจลง

โดยแอดมินผู้ดูแลเพจดังกล่าวได้โพสต์ข้อความว่า “ประกาศปิดแฟนเพจ เรียนสมาชิกแฟนเพจทุกท่าน ก่อนอื่นต้องขออภัยทุกท่านด้วยที่แฟนเพจนี้ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้เพราะทีมงานแอดมินอยู่ในช่วงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรต่อไป โดยเข้าไปหารือกับทางผู้ใหญ่จึงทำให้ล่าช้า และตอนนี้เป็นมติที่สรุปกันแล้วว่า แฟนเพจนี้จำเป็นต้องปิดตัวลงโดยแจ้งกับทาง www.facebook.com ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป (15 ธันวาคม 2557) และจะมีผลภายใน 14 วันตามขั้นตอนของเว็บไซต์ดังกล่าว ทั้งนี้ ทีมงานแอดมินทุกคนต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจในการติดตามข่าวสารที่ผ่านมาด้วยครับ และในช่วงนี้มีอีกหลายแฟนเพจที่จัดทำขึ้นมาโดยนำเสนอข่าวสารต่างๆ มากมายไม่ต่ำกว่า 10 แฟนเพจ ทำให้สมาชิกที่ติดตามอยู่เกิดความสับสนว่าควรจะติดตามที่ไหนดี เพราะบางแฟนเพจนำข่าวสารต่างๆ มาลงโดยไม่มีการกลั่นกรองให้เรียบร้อยเสียก่อน จึงเป็นที่น่ากังวลมาก เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แอดมินจะขออนุญาตปิดแฟนเพจนี้

“อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีการเปิดแฟนเพจ “ท่านผู้หญิงบุษบา สุวะดี” ขึ้นมา ไม่ต่ำกว่า 7-8 เพจ และมีผู้เข้าไปกดไลค์เป็นจำนวนมาก โดยมีการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ได้รับการกลั่นกรองทำให้ผู้คนหลงเชื่อว่าเป็นเพจจริง เช่น แฟนเพจท่านผู้หญิงบุษบา สุวะ หรือแฟนเพจท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี
แอดมิดเพจอย่างเป็นทางการได้ตัดสินใจเปิดเพจ “เรารักพลตรีหญิง ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี” ขึ้น เพื่อนำเสนอข้อมูลเพื่อป้องกันความสับสนที่เกิดขึ้นในเวลานี้”

ขณะเดียวกันด้วยความที่สังคมให้ความสนใจ ทำให้สื่อมวลชนทุกแขนงเกาะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมกับนำเสนอข่าวสาร ตลอดรวมถึงความเคลื่อนไหวต่างๆ ของ อดีตพระเจ้าวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ฯ เป็นระยะๆ โดยไม่คลาดสายตา

โดยเฉพาะการเกาะติดความเคลื่อนไหวที่บริเวณ “บ้านสุวะดี” ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 149 หมู่ 6 บ้านวัดเพลง อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี บ้านของนายภิรุจและนางวันทนีย์ สุวะดี ผู้เป็นบิดาและมารดา เนื่องเพราะเป็นสถานที่ที่อดีตพระวรชายาฯ พระองค์นี้ไปพำนักอาศัยหลังคืนสู่ความเป็นสามัญชน

ทั้งนี้ ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ยังคงเก็บตัวเงียบอยู่ภายในบ้านสุวะดีและนิมนต์พระ 9 รูปเข้ารับบิณฑบาตภายในบ้านเป็นเวลา 9 วัน ซึ่งพระลูกวัดประดู่ที่เข้าไปรับบิณฑบาตข้างในให้ข้อมูลว่า ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ออกมาใส่บาตรด้วยตัวเองทุกเช้า ใบหน้ายิ้มแย้มปกติดี และทักทายพูดคุยดีเป็นปกติ

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่มีสื่อมวลชนเฝ้าเกาะติดความเคลื่อนไหวของท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์อย่างใกล้ชิด ทำให้ในที่สุดเมื่อเวลา 17.00 น.ของวันที่ 17 ธันวาคม 2557 ได้มีหนังสือที่เขียนด้วยลายมือของท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ฝากออกมาพร้อมกับ พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ แก้วผลน้อย รักษาราชการแทน ผกก.สภ.วัดเพลง จ.ราชบุรี มีใจความว่า “เราขอขอบพระคุณผู้สื่อข่าวทุกท่าน ที่ให้ความเป็นห่วงเป็นใย คอยติดตามมาเสมอ เราขอความกรุณาผู้สื่อข่าวทุกท่านด้วย ช่วงนี้เราขออยู่ปฏิบัติธรรมเงียบๆในบ้านหลังนี้ พร้อมครอบครัวด้วยความสงบค่ะ”

ลงชื่อ ศรีรัศมิ์ 17 ธ.ค.57

ทั้งนี้ พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ได้นำหนังสือฉบับนี้ติดไว้ที่ประตูบ้าน เพื่อแจ้งให้สื่อมวลชนทุกแขนงทราบและปฏิบัติตามต่อไป

..ถึงวันนี้ อดีตพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ อดีตพระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้หวนกลับคืนมาเป็นสามัญชน กลายมาเป็น “ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี” และกลับไปพำนักพักอาศัยอยู่ที่บ้านของ “นายอภิรุจและนางวันทนีย์ สุวะดี” ผู้เป็นบิดาและมารดา ตามชาติกำเนิดดั้งเดิมของตัวเองเหมือนดังคำกล่าวที่ว่า “สูงสุดคืนสู่สามัญ”


บัตรประชาชนท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี
ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี ขณะเดินทางไปทำบัตรประชาชนที่สำนักงานเขตดุสิต
กำลังโหลดความคิดเห็น