xs
xsm
sm
md
lg

ข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ประชาธิปไตยมี 3 ฐานะหรือ 3 มิติคือ

1. มิติที่เป็นอุดมการณ์หรืออุดมคติ

2. มิติที่เป็นระบอบการเมือง-การปกครอง

3. มิติที่เป็นวิถีชีวิตของพลเมือง

การปฏิรูปทางการเมือง คือ การพัฒนาประชาธิปไตยแบบองค์รวมคือ ต้องพัฒนาทั้ง 3 มิติ

อาจกล่าวได้ว่าตลอดระยะเวลา 80 ปีที่ผ่านมานี้ ไทยเรามีการพัฒนาประชาธิปไตยโดยที่มิติที่ 1 เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป จะเห็นได้จากการยืนหยัดต่อสู้เพื่ออุดมการณ์นี้ และต้องการให้มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักประกันรองรับอุดมคติประชาธิปไตย แต่เรายังมีปัญหาในการนำประชาธิปไตยมาเป็นระบอบการเมืองการปกครอง ดังเห็นได้จากการล้มล้างและปรับปรุงรัฐธรรมนูญหลายฉบับ เราจึงต้องมีการปฏิรูปการเมืองในแง่ของการจัดทำรัฐธรรรมนูญ และพัฒนาระบอบการเมืองให้เหมาะสม สามารถแก้ไขปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และกิจการด้านต่างๆ ตามที่สภาปฏิรูปได้มีการแบ่งเป็นหลายๆ ด้านด้วย

ที่สำคัญก็คือ การปฏิรูปเป็นการสร้างอาณาบริเวณให้ประชาธิปไตยมิติที่ 3 ให้มีพื้นที่กว้างขวางขึ้นและมีความแข็งแกร่ง

ดังนั้น ภารกิจของการปฏิรูปจึงจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ หากไม่มีการพัฒนาประชาธิปไตยในมิตินี้

ในการนี้ ควรจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อการนี้โดยเฉพาะ จึงจะทำให้เกิดความสมบูรณ์เป็นองค์รวมดังภาพ

การพัฒนาประชาธิปไตยในมิติที่ 3 เป็นการพัฒนาและส่งเสริมวิถีชีวิต และคุณค่าทัศนคติของประชาชน เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองที่มีวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ ที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ (มิติที่ 1) และระบอบการเมือง (มิติที่ 2) ของประชาธิปไตย และกระทำได้ด้วยการจัดให้มีการศึกษาเพื่อพลเมือง (Civic Education) ควบคู่ไปกับการศึกษาในโรงเรียน ตลอดจนนอกโรงเรียนในครอบครัว สถานที่ทำงาน

การศึกษาเพื่อพลเมืองหรือเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย

1. เน้นการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเหนือประโยชน์ส่วนตัว

2. เน้นการร่วมมือร่วมใจกันพึ่งพิงอิงกัน ประนีประนอมกันมากกว่าการแข่งขัน

3. เน้นความผาสุก ความเจริญของชุมชนมากกว่าความสุขของปัจเจกบุคคล

4. เน้นสันติสุข ความสงบ อหิงสามากกว่าความขัดแย้ง การทะเลาะเบาะแว้ง และความรุนแรง

5 .เน้นการมีความแตกต่างหลากหลาย โดยไม่มีความแตกแยก

6 .เน้นสมานฉันท์ ความปรองดอง การแสวงหาความเห็นพ้องต้องกัน

7. เน้นความพอเพียง พอดีมากกว่าการแสวงหากำไรอย่างปราศจากขอบเขตความพอดี

8. เน้นความเป็นอิสระ และการกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ และยอมรับผลแห่งการกระทำของตน

จะเห็นได้ว่า การจัดการศึกษาของพลเมืองมี 2 ส่วนคือ ส่วนแรกการสร้างคุณค่าดังกล่าว ส่วนที่สองคือ การทำความเข้าใจและติดตามการปฏิบัติงานของระบอบการเมือง การปกครองโดยมีส่วนร่วม

ในการจัดหลักสูตรการศึกษาควรเน้นการเรียนรู้ที่มีกิจกรรมเป็นพื้นฐาน โดยจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กและบุคคลทั่วไปมีการกระทำตามคุณค่าต่างๆ ควรมีการจัดตั้งลูกสือ และยุวนารีประชาธิปไตย
กำลังโหลดความคิดเห็น