สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ชี้ สคบ. ควรหารือกับทุกฝ่ายก่อนพิจารณาให้ธุรกิจรับสร้างบ้านเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา เพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ย้ำให้ความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคที่ใช้บริการบริษัทสมาชิก เผยสมาคมฯ มีระบบกลั่นกรองสมาชิกเข้มงวด
นายวิสิฐษ์ โมไนยพงศ์ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า จากกรณีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ที่มี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาเห็นชอบให้ธุรกิจรับจ้างก่อสร้างบ้านเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา ในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา สคบ.มักจะได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคเป็นอันดับต้นๆ โดยเรื่องที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ ผู้รับเหมาทิ้งงาน การก่อสร้างล่าช้า และเกิดการชำรุดภายหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ เพราะใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่มีคุณภาพ การก่อสร้างไม่เป็นไปตามรูปแบบ หรือสัญญาที่ระบุไว้ ซึ่งปัญหาทั้งหมดมีผลให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน และเกิดอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สิน
โดยในฐานะนายกสมาคมฯ เปรียบเสมือนตัวกลางของธุรกิจรับสร้างบ้าน ขอแยกออกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นความร่วมมือ และหารือแนวทางการแก้ไขร่วมกับสคบ. ซึ่งประเด็นการฟ้องร้องของผู้บริโภคเกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน และ สคบ.ได้เคยเปิดรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้ประกอบการมาแล้ว รวมถึงสมาคมฯ ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมหารือแนวทางแก้ไข พร้อมกับเสนอควรแก้ไขปรับปรุงแก้ไขในหลายประเด็น เพราะเกรงว่าหากใช้ร่างที่เสนอมานั้นไม่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย อีกทั้งไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง มิใช่ตั้งสมมติฐานมุมมองจากด้านใดด้านหนึ่ง อย่างไรก็ดี สำหรับข้อสัญญา (ฉบับปรับปรุงแก้ไข) ที่ทาง สคบ. เตรียมจะเสนอให้ทีประชุมคณะกรรมการ คคบ.พิจารณาในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ ตามที่เป็นข่าว ทางสมาคมฯ ยังไม่ทราบในรายละเอียด จึงอยากให้ทาง สคบ.ทบทวน และเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการอีกครั้ง
“ปัญหาที่ สคบ.กล่าวถึงนั้นได้หมายรวมถึงผู้ประกอบการรับจ้างสร้างบ้านมีหลายส่วน ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มบริษัทผู้รับเหมา และผู้รับเหมาสร้างบ้านที่ไม่ใช่สมาชิกของสมาคมฯ ประเด็นการร้องเรียนของผู้บริโภคเกิดขึ้นมานาน ซึ่งทาง สคบ. ได้เคยเชิญสมาคมฯ เข้าหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่เหมาะสม ซึ่งยังต้องใช้เวลาในการหาข้อสรุป อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ยินดีให้ความร่วมมือต่อทางภาครัฐ เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมฯ ก็ได้ให้ความร่วมมือทำงานร่วมกับ สคบ. ด้วยดีตลอดมา”
สำหรับประเด็นความเสียหายที่เกิดต่อผู้บริโภค นายวิสิฐษ์ กล่าวว่า ในส่วนของสมาคมฯ มีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนที่เปิดให้ผู้บริโภคได้แจ้งเข้ามา ซึ่งหากเป็นกรณีของสมาชิก ทางสมาคมก็เป็นตัวกลางประสานให้ ส่วนใหญ่ผลสรุปออกมาก็ค่อนข้างพอใจทั้ง 2 ฝ่าย แต่กรณีผู้รับเหมา หรือบริษัทรับสร้างบ้านที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ทางสมาคมก็ได้แต่บันทึกข้อมูล แต่ไม่สามารถเข้าช่วย หรือประสานได้ มีแต่ให้คำแนะนำเบื้องต้นเป็นกรณีๆ ไป อยากให้ผู้บริโภคที่ใช้บริการกับบริษัทสมาชิกสมาคมฯ มีความเชื่อมั่นได้ว่า จะได้รับการบริการที่ได้คุณภาพ มีมาตรฐาน เนื่องจากสมาคมฯ มีการกลั่นกรองผู้ที่จะเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นระบบ และยังมีระบบการจัดการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมฯ สามารถเป็นตัวกลางเจรจาคู่ขัดแย้งให้พอใจ และยุติได้เกือบ 100% และเรื่องส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นในเรื่องความพึงพอใจมากกว่าประเด็นขัดแย้งในข้อสัญญา
นอกจากนั้น สมาคมฯ ได้ดำเนินนโยบายตามภารกิจที่มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าและยกระดับมาตรฐานคุณภาพบริการธุรกิจรับสร้างบ้านให้เป็นที่เชื่อถือ และยอมรับทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งกลยุทธ์หนึ่งคือ มุ่งสนับสนุนบริษัทสมาชิกให้มีความก้าวหน้า และยกระดับการให้บริการสู่มาตรฐานสากล ISO9001:2008 โดยได้ร่วมกับสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร จัดทำโครงการ “ระดับการให้บริการลูกค้าสู่มาตรฐานสากล ISO9001:2008” โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุน FTA กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ดังนั้น ผู้บริโภคที่ใช้บริการบริษัทสมาชิกสมาคมฯ สามารถไว้วางใจ และเชื่อมั่นใจในคุณภาพการบริการที่ได้มาตฐานอย่างแน่นอน