xs
xsm
sm
md
lg

หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาคือการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้

เผยแพร่:   โดย: อ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ประเทศไทยเราผ่านการปฏิรูปการศึกษามาไม่รู้กี่ครั้ง พยายามสร้างกฎเกณฑ์มาตรฐานมากมาย และมีการสร้างหน่วยงานที่ประเมินคุณภาพและมาตรฐานทางการศึกษา สิ่งที่ผมเห็นคือคุณภาพการศึกษาไทยแย่ลง ผมได้เห็นว่าครูมีวุฒิสูงขึ้น ได้ดำรงตำแหน่ง ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ เชี่ยวชาญพิเศษ กันเพิ่มขึ้นมากมาย นอกจากนี้มีการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการที่เดิมก็ใหญ่โตมโหฬารอยู่แล้วให้ใหญ่โตมากขึ้นโดยรวมทบวงมหาวิทยาลัยเข้าไปด้วย และจากเดิมมีข้าราชการระดับ 11 คนเดียวก็กลายเป็นมีข้าราชการระดับ 11 อีกหลายตำแหน่งในกระทรวงศึกษาธิการ เพราะมีหลายแท่ง และผู้บริหารสูงสุดของแต่ละแท่งเป็นข้าราชการระดับ 11 ทั้งนั้น อันที่จริงตำแหน่งสูงๆ ไม่ใช่สิ่งที่น่าจะต้องหวงแต่อย่างใดถ้าการศึกษาไทยจะดีขึ้น ปัญหาใหญ่สุดของการปฏิรูปการศึกษาไทยที่เคยทำมาล้วนแล้วแต่เป็นการปฏิรูปการศึกษาแค่เปลือก แค่กระพี้ ไม่ได้เข้าถึงแก่นของการศึกษา เราปฏิรูปการศึกษากันที่โครงสร้าง เปลี่ยนหลักสูตร แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงครูให้เปลี่ยนวิธีคิดเพื่อไปปฏิรูปวิธีการเรียนรู้ซึ่งเป็นแก่นแท้หัวใจของการปฏิรูปการศึกษา เราเน้นการทำเอกสารเพื่อมายืนยันว่าการศึกษามีคุณภาพ เลยเป็นกระบวนการบ้ากระดาษสร้างเอกสารที่ไม่สะท้อนการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่อย่างใดและเป็นเช่นนี้ในทุกระดับถึงระดับมหาวิทยาลัยด้วย เช่น เอกสาร มคอ เป็นต้น

วันก่อนมีผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถือเป็นการส่วนตัวส่งสิ่งที่ท่านเขียนมาให้ผมอ่านทาง Facebook ท่านคือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร. อภิวัฒน์ มุทิรางกูร แห่งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมธีวิจัยอาวุโส สกว นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ อาจารย์อภิวัฒน์ที่ผมรู้จักเป็นคนคิดนอกกรอบ มีความสามารถในการสร้างองค์ความรู้ การทำวิจัยสูงมาก และมีความเป็นครูสูง ท่านมีความเป็นห่วงการศึกษาไทยเป็นอย่างยิ่ง ผมได้อ่านสิ่งที่อาจารย์เขียนแล้วรู้สึกเห็นด้วยกับอาจารย์เป็นที่สุดว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้ ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้แบบที่อาจารย์อภิวัฒน์ ได้เสนอมานั้นน่าจะนำมาใช้เป็นแก่นในการปฏิรูปการศึกษามากกว่าจะไปสนใจโครงสร้าง ตำแหน่ง และเอกสารบ้าๆ บอๆ ที่ให้ครูสร้างกระดาษเพื่อให้ได้กระดาษว่ามีคุณภาพ อาจารย์อภิวัฒน์กำลังบอกพวกเราว่าการศึกษาคือการเรียนรู้เพื่อจะฝ่าข้ามความมืดมิดอวิชชาที่ต้องอาศัยความกล้าหาญเป็นอย่างยิ่ง ผมอ่านสิ่งที่อาจารย์อภิวัฒน์เขียนหลายรอบ แล้วก็คิดว่าหากตัวเองเขียนเองก็คงไม่สามารถถ่ายทอดให้ได้ดีพอเลยขออนุญาตอาจารย์นำสิ่งที่อาจารย์เขียนมาเผยแพร่ต่อให้กว้างขวางขึ้น อาจารย์อภิวัฒน์แสดงทัศนะที่น่ารับฟังในบทความชื่อ “ความกล้าที่จะเรียนในสิ่งที่ไม่รู้คือหัวใจของการเรียนรู้ สิ่งที่มิอาจรู้ได้ สามารถรู้ได้ด้วยปัญญา” ไว้ดังนี้

เซอร์ ไอแซค นิวตัน เปรียบเทียบความรู้ที่คนรู้แล้วเท่ากับเม็ดทรายเพียงหนึ่งเม็ด แต่สิ่งที่ไม่รู้นั้นเปรียบประดุจทรายที่เหลือในมหาสมุทร ดังนั้นการศึกษาที่เน้นแต่จะให้คนรู้ในสิ่งที่รู้แล้วจึงมีความหมายเพียงน้อยนิด

คำถาม คือ รู้เท่าที่รู้อยู่แล้วพอหรือไม่ และเมื่อไหร่ที่คนเราจะต้องใช้ความรู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อน

คำตอบ คือ เมื่อเราไม่สามารถเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน เราก็จะเอาตัวไม่รอดเมื่อเกิดปัญหาที่ไม่เคยเผชิญ และเราก็จะไม่สามารถพัฒนาไปสู่สิ่งใหม่ๆที่ดีกว่าได้ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับใครๆได้ ถ้าเราเป็นลูกน้องเราก็ทำได้เหมือนหุ่นยนต์ ทำตามคำสั่ง มีฝรั่งเป็นนาย ไม่มีส่วนในการแก้ปัญหาและพัฒนางานในที่ๆทำงานอยู่เลย
ความรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนเกิดได้ด้วยปัญญา พุทธศาสนาได้แบ่ง การทำให้เกิดปัญญา เป็น ๓ วิธี คือ

๑. โดยการฟังหรือการอ่าน (สุตมยปัญญา)
๒. โดยการคิดค้น วิเคราะห์ (จินตามยปัญญา) และ
๓. โดยจิต (ภาวนามยปัญญา)

ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ผมได้ศึกษาประวัติของนักวิทยาศาสตร์ระดับตำนานในอดีต และจากประสบการณ์ตรง สามารถยืนยันได้ว่า การจะรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน หรือการจะรู้ในสิ่งที่ไม่อาจรู้ได้นั้น ใช้ จินตามยปัญญา และ ภาวนามยปัญญา เป็นหลัก ยิ่งความรู้นั้นๆเป็นระดับความรู้ที่ไม่อาจรู้ได้มากเท่าไหร่ยิ่งต้องใช้ ภาวนามยปัญญา มากเท่านั้น หลายๆท่านคงเคยได้ยินเรื่องการตะโกนคำว่า ยูเรก้า ของ อาจารย์ อาคีมิดิส หลังจากที่ท่านคิดค้นวิธีวัดส่วนผสมของทองใน มงกุฎได้ หรือ การค้นพบทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของ อาจารย์เซอร์นิวตัน จากการเห็นลูกแอปเปิ้ลตกลงบนพื้น การต้นพบยาปฏิชีวนะเพนนิซิลินของอาจารย์เซอร์อเลกซานเดอเฟลมมิง หรือแม้แต่ การตรัสรู้ของพระพุทธองค์ เป็นต้น ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเป็นการรู้สิ่งไม่เคยรู้มาก่อน และไม่อาจรู้ได้ด้วยวิธีการเดิมๆ เหล่านี้รู้ได้ด้วย ภาวนามยปัญญา เป็นองค์ประกอบหลักทั้งสิ้น

ปัญหาคือ สังคมไทยและการศึกษาไทยใช้แต่ สุตมยปัญญา หมายความว่าเรียนรู้จากการ ฟังและการอ่านเท่านั้น การเรียนแบบนี้ได้เกิดและกำลังดำเนินไปในการศึกษาไทยอย่างเข้มข้น ในทุกระดับ ตั้งแต่ การศึกษาในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ทำงาน วัด และแม้กระทั่งการทำวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้การศึกษาของไทยเน้นการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์จนทำให้นักเรียนไทยเรียนด้วยการท่องจำเป็นนิสัย และคิดเองไม่เป็น เมื่อทำงานผู้จ้างก็หวังใช้แค่แรงงานและความสามารถตามแผนงานที่ระบุไว้อย่างจำเพาะเหมือนหุ่นยนต์ ส่วนการศึกษาธรรมะถ้าเข้าวัดไม่ดีเช่น ทำมะกลาย คนไทยก็จะถูกหลอกจนหมดตัวได้โดยง่าย แต่ต่อให้เข้าวัดที่ดีก็ไม่บรรลุธรรม เพราะเอาแต่ท่องพระไตรปิฏก ไม่สามารถรู้ความหมายที่แท้จริง หรือไม่สามารถเลือกธรรมะที่เหมาะสมแก่ตนเองได้ สำหรับนักวิจัยก็จะวิจัยเฉพาะหัวข้อที่ตนเองทำได้ ทำให้หัวข้อวิจัยในประเทศไทยมีลักษณะทำเพื่อต่อยอดความรู้เท่านั้น ไม่ได้ทำให้เกิดความรู้แบบก้าวกระโดด หรือ Paradigm jump ทำให้งานวิจัยในไทยยากที่จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ และคนไทยก็ต้องตามก้นฝรั่งต่อไปไม่รู้อีกนานเท่าไหร่

ความผิดพลาดนี้เกิดจากอะไร? เหตุใดคนไทยที่นับถือพุทธ ทั้งที่เป็นศาสนาแห่ง ปัญญา กลับไม่รู้วิธีการทำให้เกิดปัญญาเพื่อรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้

ปัญหาทั้งหมด สรุปสั้นๆเกิดจาก ๓ ข้อ ได้แก่

๑. การศึกษาของไทยในทุกระดับ เน้นการฟังหรือการอ่านหรือสุตมยปัญญา ไม่ฝึกการคิดค้น วิเคราะห์หรือจินตามยปัญญา และ เชื่ออย่างผิดๆว่า ภาวนามยปัญญา ใช้สำหรับการเรียน อภิธรรมเท่านั้น และไม่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
๒. เมื่อไม่ใช้ การคิดค้น วิเคราะห์ และ การปฏิบัติในการศึกษา นักเรียนก็จะไม่สามารถเข้าถึงคุณค่าที่แท้จริงของความรู้ได้
๓. การวัดผลการศึกษา เน้นการจำได้เป็นหลัก และมักจะวัดผลด้วยข้อสอบแบบ ปรนัย ทำให้หาคำตอบที่ไม่มีตัวเลือกไม่เป็น และหาคำตอบใหม่ๆที่ไม่เคยมีคำตอบมาก่อนไม่ได้

แนวทางการแก้ไข

๑. ควรเลิกความเชื่อผิดๆว่า ความฉลาดเป็นพันธุกรรมเท่านั้น จริงๆแล้ว ความฉลาดฝึกฝนได้ ในปัจจุบันการศึกษาไทยประสพความสำเร็จในการทำให้เด็กอัจฉริยะกลายเป็นคนธรรมดา ดังนั้นความโง่ก็ไม่ได้มีผลจากพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว ดังนั้นความฉลาดย่อมฝึกฝนได้ และคนธรรมดาถ้าได้รับการฝึกฝนก็สามารถพัฒนาสติปัญญาจนมีความสามารถที่เหลือเชื่อได้ (จากประสบการณ์ขอยืนยันว่าเป็นความจริง ลูกศิษย์ผมที่มีอาการสมาธิสั้นสามารถจบปริญญาโท มีผลการสอบวิทยานิพนธ์ในระดับดีเด่นและตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารระดับนานาชาติที่สำคัญๆได้)
๒. การเรียนการสอนควรให้คำถามที่ต้องหาคำตอบด้วยตนเอง โดยเฉพาะคำตอบที่เกิดจากการวิเคราะห์
๓. ควรเรียนด้วยการปฏิบัติก่อนจะเรียนรู้ทฤษฎี (เป็นวิธีลัดสั้นที่สุดที่ทำให้เกิด ภาวนามยปัญญา) (เช่น ในฐานะครูวิทยาศาสตร์ผมมักจะให้นิสิตทำการวิจัยเบื้องต้นก่อนจะเรียนรู้ทฤษฎี หรือในฐานะครูแพทย์ผมเห็นด้วยกับการให้รู้จักผู้ป่วยและโรคก่อนอ่านความรู้ในตำรา หรือในวิชาระดับปรีคลินิกควรเรียนภาคปฏิบัติก่อนทฤษฎี เป็นต้น)
๔. การวัดผลควรให้รางวัลแก่คนที่คิดเป็น ทำเป็น มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่คนที่จำได้
๕. ฝึกสร้าง ภาวนามยปัญญา ในชีวิตประจำวัน เช่น การสอนฝึกสมาธิในโรงเรียน แทนที่จะทำแต่ การท่อง พุทโธ หรือการกำหนดลมหายใจเข้าออก ควรแบ่งส่วนเวลาการทำสมาธิเพื่อวิปัสสนา หมายความว่า ใช้เวลาพิจารณาเรื่องต่างๆในขณะที่ใจสงบ เรื่องต่างๆที่พิจารณามีได้หลายหัวข้อ เช่น วิทยาศาสตร์ สังคม ธรรมชาติ จิต ในชีวิตประจำวัน (ธรรมะในชีวิตประจำวัน) เป็นต้น

ผมเขียนบันทึกนี้มีความมุ่งหวังเพื่อพัฒนา ปัญญาแก่สังคมไทย แต่ผมมีความรู้จำกัดจากประสบการณ์ของผมเท่านั้น ที่ผมแท็กท่านอาจารย์หลายๆท่าน ก็เพื่อขอความเห็นของทุกๆคนเพื่อปรับปรุง และขอความช่วยเหลือของทุกๆท่านที่เห็นความสำคัญช่วยพิจารณาเผยแพร่

ด้วยความเคารพ
อภิวัฒน์ มุทิรางกูร


ประชาชนชาวไทยจำนวนมากต่างคาดหวังกับการปฏิรูปประเทศกัน เรามีการตั้ง สปช. มาเพื่อทำหน้าที่และสปช. ด้านการศึกษามีคนสมัครกันมากที่สุด ถ้าเราจะปฏิรูปประเทศโดยไม่ปฏิรูปการศึกษาของประชาชน ให้ประชาชนมีคุณภาพและเป็นทรัพยากรที่ไม่รู้สิ้นในการพัฒนาประเทศแล้ว เราคงต้องปฏิรูปการศึกษาไทยที่ล้มเหลวไม่เป็นท่าเสียก่อน และถ้าจะปฏิรูปการศึกษากันแบบเดิมคือปฏิรูปโครงสร้างกับตำแหน่ง เปลี่ยนหลักสูตร ทำเอกสาร แต่ไม่ได้ไปเปลี่ยนหรือปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ก็คงทำให้การปฏิรูปการศึกษาล้มเหลวอย่างที่เคยทำมา และการปฏิรูปประเทศก็คงล้มเหลวเช่นเดียวกัน จึงขอฝากทัศนะอันพึงรับฟังในการปฏิรูปการเรียนรู้ของอาจารย์อภิวัฒน์นี้ไปยัง สปช ด้านการศึกษาทุกท่านด้วยครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น