xs
xsm
sm
md
lg

สื่อผสม คนผสาน

เผยแพร่:   โดย: อ.ดร.ฐิติรัตน์ ศิริบวรรัตนกุล

อ.ดร.ฐิติรัตน์ ศิริบวรรัตนกุล
สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)


ในยุคที่บางคนเรียกว่าสังคมก้มหน้านี้ เทคโนโลยีสมัยใหม่มักถูกมองว่าเป็นหนึ่งในตัวการที่แทรกช่องว่างเข้ามาทำให้คนใกล้กลับต้องกลายเป็นคนที่เหมือนอยู่ห่างไกล แต่หากมองในอีกมิติหนึ่งยุคนี้ก็ถือเป็นยุคทองแห่งมัลติมีเดียหรือสื่อผสมเช่นกัน ซึ่งนอกจากความหมายตรงตัวว่าเป็นสื่อที่มีทั้งตัวหนังสือ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือ เสียงผสมกันอยู่แล้ว คำว่า “ผสม” ในที่นี้ ยังสามารถสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของเทคโนโลยียุคใหม่ที่ต้องการจะผสมผสานมนุษย์เข้ากับมนุษย์ มนุษย์เข้ากับเทคโนโลยี หรือ แม้แต่เทคโนโลยีเข้ากับเทคโนโลยีด้วยกันเองอีกด้วย

หากคุณผู้อ่านเป็นคนชอบเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก้าวล้ำนำหน้าใคร ๆ ก็คงจะเคยได้ยินชื่อของ Oculus Rift, Google Cardboard และ Google Glass ผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง ตัว Oculus Rift นั้นเป็นอุปกรณ์สวมหัวขนาดใหญ่คล้ายแว่นตาที่เมื่อสวมแล้วผู้สวมจะไม่เห็นภาพหรือแม้แต่แสงจากภายนอกเลย เห็นแต่ภาพสามมิติที่ Oculus Rift แสดงให้เห็นเท่านั้น ส่วน Google Cardboard นั้นผู้เขียนขอเรียกว่าเป็น Oculus Rift เวอร์ชั่นทำเองได้ที่บ้านราคาย่อมเยาว์ สามารถพิมพ์แบบฟรีจากอินเทอร์เน็ตออกมาตัดประกอบเองด้วยกระดาษลัง ใช้คู่กับสมาร์ทโฟนที่มีอยู่แล้วได้ ซึ่งทั้งสองอุปกรณ์นี้เป็นหนึ่งในศาสตร์ที่เรียกว่าโลกเสมือนจริง (Virtual Reality) ที่พยายามจะดึงมนุษย์ให้ก้าวพ้นออกจากโลกแห่งความเป็นจริง ให้หลุดเข้าไปผสมผสานและสัมผัสประสบการณ์ในโลกดิจิทัล ซึ่งในที่นี้ก็คือโลกสามมิติเสมือนจริงที่สร้างขึ้นมาด้วยคอมพิวเตอร์ได้อย่างแนบเนียนสมจริงมากที่สุด
Oculus Rift (รูปภาพจาก www.thalmic.com)
Google Cardboard (รูปภาพจาก www.cnet.com และ www.knoxlabs.com)
ในส่วนของ Google Glass หรือแว่นตาอัจฉริยะจากกูเกิ้ลนั้นจะต่างออกไปเล็กน้อย คือ เป็นความพยายามที่จะดึงเอาข้อมูลดิจิทัลที่ปกติแล้วจะอยู่เฉพาะแต่ในจอคอมพิวเตอร์เท่านั้น ให้หลุดออกจากโลกในคอมพิวเตอร์ แล้วออกมาทับซ้อนอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริงของมนุษย์เราให้ได้ในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งนี่เป็นอีกศาสตร์ที่เรียกว่า ความเป็นจริงเสริม (Augmented Reality) หรือความเป็นจริงผสม (Mixed Reality) โดยสำหรับแว่นตาอัจฉริยะนี้ ก็คือ ให้ผู้สวมแว่นเห็นภาพสิ่งแวดล้อมข้างหน้าตามที่เป็นจริงผ่านเลนส์ใส และในขณะเดียวกันก็แสดงภาพข้อมูลดิจิทัลต่าง ๆ บนเลนส์ใสนั้นให้ผู้สวมเห็นซ้อนไปพร้อม ๆ กันด้วย
Google Glass (รูปภาพจาก http://phandroid.com/)
ที่กล่าวถึงไปนี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามของผู้คิดค้นเทคโนโลยีที่อยากจะผสมผสานรวมมนุษย์และเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ไม่ใช่การเข้ามาแทนที่แต่เป็นการหาส่วนผสมที่ดี สูตรผสมที่เหมาะ ที่จะคงเหลือไว้แต่ข้อดีของทุกส่วนประกอบ สามารถรักษาสมดุลระหว่างสองสิ่งหรือสองโลก ที่เมื่อก่อนเป็นเหมือนโลกคู่ขนานที่อยู่ห่างกันเพียงแค่หน้าจอสี่เหลี่ยมคั่นกลางได้

เพราะยุคนี้เป็นยุคแห่งการผสมผสาน ไม่เพียงแค่สื่อที่มีการผสมผสานแต่มนุษย์เราเองก็เช่นกัน เห็นได้จากศาสตร์ผสมผสานในลักษณะสหวิทยาการ (Interdisciplinary) พหุวิทยาการ (Multidisciplinary) หรือ การบูรณาการในสาขาและข้ามสาขา (Intradisciplinary และ Interdisciplinary) ที่มีเกิดขึ้นอย่างมากมายในระยะหลัง โดยทั้งหมดต่างมุ่งหวังจะสร้างบุคลากรหรือผลิตภัณฑ์ที่มีความผสมผสานอยู่ในตัว จะไม่ใช่แค่วิทย์หรือแค่ศิลป์ ไม่ใช่แค่ตามใจผู้ผลิตแต่ไม่ตอบสนองผู้บริโภค และ ไม่ใช่แค่เก่งฉกาจแต่ขาดซึ่งจินตนาการ ดังประโยคที่ผู้เขียนจำได้ไม่เคยลืมจากการพูดคุยกับ Pranav Mistry ผู้เสนอระบบ SixthSense นักวิจัยคนดังจากมหาวิทยาลัยชื่อดังที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่สมัยที่พวกเราทั้งคู่ยังเป็นนักศึกษาปริญญาเอกอยู่พูดไว้ว่า “ตัวเขาไม่ใช่วิศวกรนะ แต่เป็นทั้งวิศวกรและดีไซเนอร์ต่างหาก” โดยคนคนนี้ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการทีมทำงานระดับมันสมอง (Think Tank Team) และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยของบริษัทซัมซุง (Samsung Research) ประจำสหรัฐอเมริกา

สุดท้ายนี้คำถามที่ว่าเพราะสื่อนั้นผสมก่อน คนจึงต้องผสานและบูรณาการความรู้ตามไป หรือ เพราะคนต่างหากที่ต้องการผสานก่อน สื่อจึงต้องผสมตามไปด้วย คำถามไก่กับไข่นี้คุณผู้อ่านล่ะคิดว่าอะไรเกิดก่อนกัน?
กำลังโหลดความคิดเห็น