xs
xsm
sm
md
lg

โซเชียลเน็ตเวิร์กกับชีวิตจริง

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

โดย...อภินันท์ สิริรัตนจิตต์
คณะศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

เมื่อไม่อาจปฏิเสธเทคโนโลยีโซเชียลเน็ตเวิร์กในโลกออนไลน์ ที่เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมากได้ ผู้ใช้สื่อควรทำอย่างไรให้การใช้เทคโนโลยี ซึ่งจะเข้ามาแทนที่การปฏิสัมพันธ์กันในชีวิตจริงเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

ภาพที่พบเห็นในปัจจุบัน คือไม่ว่าจะไปทำอะไร ที่ไหน ปรากฏภาพผู้คนในสังคมไทย คือต่างยกโทรศัพท์มือถือมาถ่ายรูปแล้วโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย หรือแต่ละคนกลายเป็นสังคมก้มหน้า สนใจแต่ความเคลื่อนไหวในหน้าจอเทคโนโลยีในมือ มากกว่าจะสนใจผู้คนหรือสิ่งรอบข้าง จนเสมือนว่า แต่ละคนมีโลกส่วนตัวและเรื่องราวต้องทำมากมายในโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้น จนทำให้ผู้เขียนเกิดความรู้สึกกลัวไปเองว่า ในเวลาไม่นานนี้ การปฏิสัมพันธ์หรือพูดคุยระหว่างผู้คน คงเปลี่ยนรูปแบบไปสู่การเขียนบนหน้าจอเทคโนโลยีในมือ แทนการพูดด้วยปากที่ได้ยินเสียง อันแสดงถึงอารมณ์ ความรู้สึกและการรับรู้ระหว่างกัน จนในที่สุด ความเพิกเฉยต่อการรับรู้ ความรู้สึกระหว่างกัน จะลดน้อยลงไปตามลำดับ ถึงขั้นลืมวิธีการปฏิสัมพันธ์กันในชีวิตจริง

ผลการวิจัยของเชอร์รี ทัคเกิล ศาสตราจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) ระบุว่า ความสัมพันธ์บนโลกออนไลน์นั้น อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในโลกแห่งความเป็นจริง โดยอาจทำให้รู้สึกเพิกเฉยต่อบุคคลอื่นหรือเรื่องใดๆ ก็ตามที่รู้สึกเบื่อ จนสร้างกำแพงขึ้นในการสนทนาจริง ขณะเดียวกัน การแชตออนไลน์ ยังมีเวลาคิดที่จะพิมพ์ตอบโต้นานกว่าการสนทนาต่อหน้า ซึ่งอาจทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารในชีวิตจริงตามมา และในไม่ช้าก็อาจทำให้ถึงกับลืมวิธีที่จะจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ในสังคมแห่งความเป็นจริงไป นอกจากนี้ผลการวิจัยของ ได้สรุปว่า คนที่ชอบสนทนาออนไลน์อย่างไม่รู้สึกเบื่อหน่ายนั้น จะไม่สามารถสื่อสารได้เหมือนอย่างที่ใจคิดในโลกแห่งความเป็นจริง จนอาจทำให้บางคนต้องเรียนรู้วิธีที่จะคุยกันต่อหน้าแบบปกติอีกครั้ง (มติชนออนไลน์, 10 ตุลาคม 2556)

ผู้เขียนรู้สึกห่วงใยถึงมาตรการดูแล ป้องกันและควบคุมการใช้เทคโนโลยีโซเชียลเน็ตเวิร์กในโลกออนไลน์ ในเด็กและเยาวชน ซึ่งหากไร้ผู้ปกครอง พ่อแม่ หรือผู้ใหญ่คอยดูแลเอาใจใส่ อาจทำให้เกิดผลเสียตามมามากกว่าผลลัพธ์ที่จะได้จากการใช้เทคโนโลยี เพราะปัจจุบันนี้ มีข่าวอาชญากรรมและความรุนแรงในครอบครัว เด็กและวัยรุ่นอันเกิดจากการใช้เทคโนโลยีโซเชียลเน็ตเวิร์กมากเกินไป เช่น ข่าวชายหนุ่มฆ่าหญิงสาวเพราะหึงหวงกลัวเอาใจออกห่างจากการเล่นเฟซบุ๊ก เป็นต้น

ข้อความห่วงใยนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อเขียนในหนังสือเรื่อง อโลน ทูเกเตอร์ ของเชอร์รี ทัคเกิล ศาสตราจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) ที่ย้ำถึงความกังวล เรื่องโซเชียลเน็ตเวิร์กซึ่งจะทำให้คนกลับโดดเดี่ยวมากขึ้น และมีความเป็นมนุษย์น้อยลง ถึงกับเรียกโซเชียลมีเดียว่าเป็น “ความบ้าคลั่งของยุคสมัยใหม่” เนื่องจากเป็นโลกเสมือนจริง ที่ทำให้คนหนีห่างออกจากโลกของความเป็นจริงกันมากขึ้น และทำให้คนมีปัญหาพฤติกรรม เช่น การเช็กไอโฟนระหว่างที่กำลังร่วมพิธีศพ เป็นต้น

ข้อเสนอแนะที่คิดว่า น่าจะทดแทนการใช้เทคโนโลยีและโซเชียลเน็ตเวิร์กในโลกออนไลน์ได้ คือควรหันหลังให้สิ่งเหล่านั้นบ้าง แล้วหันหน้าไปพบปะกับผู้คน สังคมในโลกแห่งความเป็นจริง อย่างน้อยก็ทำกิจกรรมอดิเรกโดยมีปฏิสัมพันธ์สื่อสารระหว่างผู้คน เพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ หรือไม่ก็อ่านหนังสือแล้วแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสิ่งที่อ่านกับผู้อื่น หรือว่าใช้เวลาทำกิจกรรมหาความรู้ สร้างความสามารถพิเศษและพัฒนาทักษะสำคัญ เพื่อจะได้เป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไปในวันหน้า

ผู้เขียนขอฝากข้อความห่วงใยเหล่านี้ไปถึงผู้ใหญ่ เด็กและเยาวชน ให้รู้จักใช้เทคโนโลยีและโซเชียลเน็ตเวิร์กในโลกออนไลน์อย่างเหมาะสมกับวัย มีสติสัมปชัญญะ คือความระลึกได้รู้สึกตัวอยู่เสมอ ในการควบคุมความรู้สึกอยากเล่นให้พอประมาณ และมีปัญญา คิดถึงผลดี-เสีย ที่จะตามมาจากการใช้เทคโนโลยีและโซเชียลเน็ตเวิร์กในโลกออนไลน์อย่างรู้เท่าทัน อย่าตกเป็นทาสของเทคโนโลยี
กำลังโหลดความคิดเห็น