xs
xsm
sm
md
lg

ฟันธง!หุ้นเล็กแรงถึงปี58 จับตาเฟด-ลงทุนภาครัฐหนุนดัชนี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน – โค้งสุดท้ายหุ้นไทย นักวิเคราะห์ระบุยังคงเป็นเวทีหุ้นเล็ก ขณะที่ปีหน้าปัจจัยภายนอกกดดันบรรยากาศการลงทุน ส่วนปัจจัยในประเทศยังคงต้องจับตาการใช้จ่ายภาครัฐ ด้านนักวิเคราะห์มองสกัดหุ้นร้อนมีผลชัดปีหน้า แต่หุ้นติดเกณฑ์Cash Balanceอาจผันผวนรุนแรงต่อ พร้อมแนะดูความเสี่ยงก่อนผลตอบแทน และเลือกหุ้นพื้นฐานดี หวังปันผลได้มากขึ้น

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เอเชียพลัส ระบุตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันมีสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนรายบุคคลขึ้นแตะระดับ 70% ของมูลค่าการซื้อขายรวม มากกว่าปกติที่จะอยู่ในระดับ 50-55% โดยมูลค่าการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้น โดยเป็นการเพิ่มสัดส่วนเข้าไปในหุ้นขนาดเล็กถึงเล็กมาก
“สิ่งที่น่าใจคือ ในช่วงปี 2552-2556 ที่มูลค่าการซื้อขายใน Non-SET50 และ Non-SET100 มีเพียง 25% และ 12% ดัชนี Non-SET50 เทรดกันบนฐาน PER 16 – 20 เท่า และ Non-SET100 เทรดกันบนฐาน PER 12 – 20 ใกล้เคียง SET ที่ 13 – 18 เท่า แต่ในปัจจุบัน Non-SET50 และ Non-SET100 ที่เทรดกันสนั่นจนมีสัดส่วนถึง 60% ของมูลค่าซื้อขายรวม กลับเทรดกันที่ PER แพงกว่า 22 เท่า สูงกว่าตลาดที่ 17 เท่าแบบต่างกันมาก”
ความผิดปกตินี้มีมาตั้งแต่ต้นปี 2557 และมาแรงมากๆก็ในเดือน พ.ย.57 สัดส่วนของมูลค่าการซื้อขายของหุ้นในกลุ่ม Non-SET50 และ Non-SET100 พุ่งถึง 65% และ 51% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งตลาด สูงกว่าเฉลี่ยปี 2557 ที่ 44% และ 28% ค่อนข้างมาก โดยเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมาแบบผิดผิดปกติเมื่อเทียบปี 2552-2556 ที่ Non-SET50 และ Non-SET100 จะเทรดกันด้วยสัดส่วนเฉลี่ยเพียง 25% และ 12% ของมูลค่าการซื้อขายรวม
“ภาพเหล่านี้นี้เป็นการสะท้อนว่า ยิ่งหุ้นเล็กแพงเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีคนแห่เข้าไปเล่นกันมากเท่านั้น ตลาดที่อยู่ภายใต้สภาวะดังกล่าว จะมีโอกาสเกิดฟองสบู่ได้ง่ายมาก และมันมักจะเป็นฟองสบู่ที่อยู่ได้ไม่นาน ซึ่งจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มักจบลงไม่สวยทุกครั้ง”
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ MBKET ระบุปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบการลทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปี 2558 ยังคงเป็น การยุติมาตราการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ มาตรการ QE และการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของฑนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด เนื่องจากส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถานการณ์การเงินและการลงทุนทั่วโลก
“ต้องยอมรับว่าสหรัฐมีอิทธิพลต่อตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกระแสที่ธนาคารกลางสหรัฐได้ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ว่าจะหยุดมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือ QE ภายในปี 2558 จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญต่อภาพรวมตลาดการลงทุนทั่วโลก เพราะมีแนวโน้มกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างชัดเจน แต่ก็คาดว่าจะเป็นไปในลักษณะค่อยๆขยับขึ้นไม่มากนัก”
ส่วนปัจจัยในประเทศไทยจะเป็นปัจจัยสนับสนุนจิตวิทยาการลงทุนที่ดี โดยเฉพาะการที่หลายหน่วยงานวิเคราะห์แนวโน้มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP ว่าจะขยายตัวที่ประมาณ 3.5% - 4% จะช่วยผลักดันให้กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนเติบโตสูงขึ้น 17% มากกว่าปี 2556 ซึ่งมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 6% เท่า เทียบดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปี 2558 น่าจะเคลื่อนใหวอยู่ที่ระดับ 1,650 จุด ซึ่งเหมาะสมกับค่า P/E ในระดับ 14 เท่า
**ชี้สกัดหุ้นร้อน
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่าหากมีการบังคับใช้มาตรการควบคุมหุ้นร้อนแรงเพิ่มเติมอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปรับตัวลดลงพอสมควรแต่ประเมินว่าส่วนใหญ่เป็นหุ้นขนาดกลางขนาดเล็กที่เน้นการเก็งกำไรเท่านั้นแต่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังเลือกลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่มากกว่า ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นว่าภาวะตลาดปีหน้ามูลค่าการซื้อขายจะเป็นมูลค่าที่มีคุณภาพมากขึ้น
ทั้งนี้นักลงทุนควรจะเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกซื้อหุ้นที่ร้อนแรงเหล่านี้ โดยในการตัดสินใจลงทุนควรให้พิจารณาความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญ ก่อนที่จะคาดหวังผลตอบแทน ทั้งนี้นักลงทุนควรสลับเข้ามาลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ มี EPS Growth สูงและคาดหวังเงินปันผลได้
ขณะที่นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เอเชียพลัส วิเคราะห์ผลกระทบหากมีการประกาศใช้ 3 มาตรการดังกล่าว ดังนี้ สำหรับข้อ 1 คาดว่าจะทำให้มีหุ้นที่เข้าเกณฑ์ Cash Balance เยอะและเร็วมากขึ้น ซึ่งไม่น่าจะกระทบต่อกระแสการลงทุนมากนัก เพราะที่ผ่านมา หุ้นที่ติดเกณฑ์ Cash Balance ส่วนใหญ่ก็ยังคงเคลื่อนไหวผันผวนรุนแรงต่อได้
ส่วนข้อ 2 การถูกห้ามเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็ไม่น่าส่งผลต่อ Sentiment การลงทุนมากนัก เนื่องจาก บางบริษัทหลักทรัพย์ ก็ไม่อนุญาตให้ใช้หุ้นที่ติด Cash Balance เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันอยู่แล้ว (บาง บล. ถึงขนาดไม่อนุญาต หุ้นติด Trading Alert ด้วย)
นายประกิตวิเคราะห์ ว่า มาตรการข้อ 3 ถือว่าค่อนข้างหนัก สำหรับนักลงทุนที่นิยมซื้อขายภายในวัน เนื่องจากการห้ามทำ Net Settlement หมายถึง นักลงทุนจะไม่สามารถ รับหรือจ่ายแค่ส่วนต่าง แต่ต้องมีการชำระเงินเต็มจำนวนในวันที่ T+3 และรับเงินจากการขายในอีก 1 วันถัดไป
“มาตรการดังกล่าวกว่านักลงทุนจะได้รับเงินจากการขายอาจต้องรอถึงวันที่ T+4 เท่ากับว่านักลงทุนต้องมีเงินสดอยู่ในบัญชีเป็นจำนวนมาก หากต้องการซื้อ หุ้นเก็งกำไรตัวที่ 2 หรือตัวที่ 3 ที่ติด Cash Balance ในวันเดียวกัน ดังนั้นมาตรการที่ 3 ถือเป็นการลดอำนาจของผู้ซื้อลง และเป็นการตัดผู้ที่ไม่พร้อมในการวางเงินสดเต็มจำนวนออกจากการซื้อขายหุ้นนั้นๆ ถือเป็นการลดความร้อนแรงลงได้ระดับหนึ่ง คนที่คิดจะซื้อขายภายในวันกับหุ้นหลายๆตัวที่ติด Cash Balance จะลำบากมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 มาตรการจะไม่ส่งผลต่อการลงทุนโค้งสุดท้ายปี 2557 เนื่องจากหาก ก.ล.ต.จะประกาศใช้เกณฑ์ดังกล่าว คงเป็นต้นปี 2558 โดยนักวิเคราะห์ระบุอาจช่วยลดความผันผวนของตลาดหุ้นลง และสร้างกระแสให้นักลงทุนบางส่วนอาจหันกลับไปลงทุนหุ้นขนาดกลางและใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น