xs
xsm
sm
md
lg

ภาษีรถยนต์ฉุดรายได้คลังเผยเดือนแรกปีงบ58หด3%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ฐานะการคลังตามกระแสเงินสดเพบดือนแรกปีงบ 58 รัฐนำส่งรายได้ 1.74 แสนล้านบาท ลดลง 3% เป็นผลมาจากฐานการเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ช่วงก่อนหน้าที่ที่สูง ด้านเบิกจ่าย 3.67 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 42.3% ผลจากการสนองนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือนของรัฐบาล

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดเดือนตุลาคม 2557 ว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 174,146 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 5,378 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.0 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในปีที่แล้วที่ยังมีแรงหนุนจากโครงการรถยนต์คันแรก ประกอบกับอุปสงค์รถยนต์ในปีนี้ยังไม่ฟื้นตัว และผลจากฐานการชำระภาษีสรรพสามิตสุราสูงในปีที่แล้ว

ในขณะที่ การเบิกจ่ายเงินงบประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 367,598 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 109,326 ล้านบาท หรือร้อยละ 42.3 ทำให้ดุลเงินงบประมาณขาดดุล 193,452 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 7,788 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดรวม 185,664 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 15,850 ล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดหลังกู้ขาดดุลทั้งสิ้น 169,814 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 325,932 ล้านบาท

“การเบิกจ่ายงบประมาณในระดับสูงตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือนของรัฐบาล จะส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบและจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง” นายกฤษฎากล่าวและว่า คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 57 สศค.มองว่าโต 1.4% แตกต่างกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่คาดการณ์ไว้ที่ 1% เพราะสภาพัฒน์ประเมินการขยายตัวของภาคส่งออกปีนี้ไว้ค่อนข้างต่ำที่ 0% ต่างจากที่ สศค.ประเมินไว้เล็กน้อยที่ 0.1% โดยขณะนี้มองแนวโน้มส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยตัวเลขการส่งออกในเดือน ต.ค.ขยายตัวดีกว่าที่คาดการณ์มาที่ 4%

วันเดียวกัน นายกฤษฎาเปิดเผยว่า เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 171,498 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 8,352 ล้านบาท หรือ 5.1% แต่ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 4% โดยการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังสูงกว่าเป้าหมาย 1,320 ล้านบาท หรือ 0.9% สาเหตุสำคัญมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษียาสูบ และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงขยายตัว

กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 111,345 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,186 ล้านบาท หรือ 2% ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 0.9% โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 2,707 ล้านบาท ทั้งที่จัดเก็บจากการบริโภคในประเทศและจากการนำเข้า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 1,038 ล้านบาท แต่ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 1,541 ล้านบาท เนื่องจากภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากการจำหน่ายกำไร (ภ.ง.ด. 54) จัดเก็บได้ต่ำ สอดคล้องกับการลดลงของผลประกอบการของนิติบุคคลในปีก่อน

กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 33,934 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 513 ล้านบาท หรือ 1.5% (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 7.3% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ภาษีสุรา ภาษีเบียร์ ส่วนภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษียาสูบ และ ภาษีน้ำมัน จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 594 ล้านบาท สาเหตุสำคัญมาจากการปรับอัตราภาษีน้ำมัน ด้านกรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 8,947 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 353 ล้านบาท หรือ 3.8% ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 6.2% สาเหตุสำคัญมาจากอากรขาเข้าที่จัดเก็บได้ต่ำ โดยเฉพาะ เครื่องจักรกล เหล็กและเหล็กกล้า ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า เครื่องมือของใช้ชนิดมีคม และผลไม้.
กำลังโหลดความคิดเห็น