xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ของบ187ล.สกัดอีโบลาเพิ่มแล็บอีก6แห่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บอร์ดโรคติดต่อชาติเห็นชอบงบ 187 ล้านบาท รับมือ "โรคอีโบลา" จ่อถกสำนักงบประมาณพิจารณาความจำเป็นก่อนเสนอ ครม. เผยยังไร้ข่าวดีไฟเขียวสร้างห้องแล็บชีวนิรภัยระดับ 4 แต่เตรียมเพิ่มห้องแล็บตรวจเชื้ออีโบลาใน ร.ร.แพทย์อีก 6 แห่งทั้งใน กทม.และภูมิภาค "ยงยุทธ" สั่งจับตาพื้นที่ชาวแอฟริกันอาศัยหนาแน่น

วันนี้ (10 พ.ย.) นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการฯ ร่วมกับ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวม 56 คน ว่า สถานการณ์โรคอีโบลาขณะนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานถึงวันที่ 4 พ.ย.2557 มีผู้ป่วยอีโบลารวม 13,268 ราย เสียชีวิต 4,960 ราย แม้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาจะยังไม่แพร่ระบาดในไทยก็ตาม แต่ก็มีความเสี่ยงจากผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด จึงต้องมีมาตรการเฝ้าระวังป้องกัน ซึ่งการประชุมในวันนี้เป็นการติดตามการดำเนินงานและเร่งรัดบูรณาการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 4 มาตรการป้องกันโรคอีโบลาคือ 1.จัดทำโครงการรวมพลังปันน้ำใจ ต้านภัยอีโบลา ร่วมกับสภากาชาดไทยในการระดมทุนส่งไปช่วยเหลือประเทศแอฟริกาตะวันตกที่กำลังประสบปัญหาการระบาดของอีโบลาอย่างหนัก

นายยงยุทธ กล่าวว่า 2.ให้ สธ.ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศจัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกสาม เพื่อประสานความร่วมมือเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมโรคอีโบลาในภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในวันที่ 14-15 ธ.ค.นี้ เพื่อดูว่าประเทศไหนมีระบบในการเฝ้าระวังที่ดี และหาแนวทางการควบคุมโรคร่วมกัน 3.เห็นชอบกรอบงบประมาณ 3,000 ล้านบาทในการเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคติดเชื้อทุกชนิดในระยะยาว แต่สำหรับงบประมาณเร่งด่วนในการรับมือโรคติดเชื้ออีโบลานั้น วงเงินอยู่ที่ 187 ล้านบาท แต่ยังต้องให้สำนักงบประมาณกลั่นกรองก่อนเสนอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ 4.ให้ สธ.ร่วมกับมหาวิทยาลัยเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลของมหาวิทยาลัยในการค้นหาและดูแลผู้ป่วยสงสัยโรคอีโบลาในระบบเดียวกับ สธ. โดยจะเพิ่มห้องแล็บในการตรวจเชื้ออีโบลาได้จาก 2 แห่งคือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทยื และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็น 8 แห่ง

"งบประมาณ 3 พันล้านบาทถือว่าเป้นจำนวนที่มาก แต่ก็มีความสำคัญเมื่อเทียบกับปัญหาโรคติดเชื้อที่จะเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่โรคอีโบลาเพียงโรคเดียว แต่ยังรวมถึงโรคติดเชื้อทั้งหมด โดยเฉพาะโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่มักเกิดขึ้นทุก 2-3 ปี จึงจำเป็นที่จะต้องมีการเฝ้าระวัง ซึ่งการมีงบประมาณจะทำให้เราสามารถเตรียมตัวได้ นอกจากนี้ ยังควรเฝ้าระวังพื้นที่ที่มีชาวแอฟริกันอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น จ.จันทบุรี และเขตบางรัก กทม. มีชาวกินีเดินทางเข้ามาค้าพลอยเป็นจำนวนมาก" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ด้าน ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า นอกจากความร่วมมือกับสภากาชาดไทยในโครงการปันพลังน้ำใจ ต้านภัยอีโบลา ที่จะระดมทุนไปช่วยเหลือการรณรงค์ควบคุมโคอีโบลาในกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันตกแล้ว สิ่งที่ สธ.ดำเนินการยังมีอีก 3 เรื่องคือ 1.ประสานการอบรมบุคลากรโรงพยาบาลทุกสังกัด ทั้ง สธ. กลาโหม โรงเรียนแพทย์ กทม. และเอกชน ให้มีความพร้อมรองรับในการดูแลรักษาผู้สงสัยติดเชื้ออีโบลา เพื่อป้องกันการติดเชื้อในบุคลากร และการส่งตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจในห้องแล็บ 2.ให้ความรู้อีโบลาแก่ประชาชน และ 3.เตรียมความพร้อมท่าอากาศยาน โดยจะให้ติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกนเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิผู้เดินทางเข้าประเทศไปตลอด ไม่ว่าจะมีโรคระบาดใดหรือไม่ก็ตาม เพื่อเป็นหลักประกันในการคัดกรองผู้เดินทาง

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า งบประมาณระยะเร่งด่วนที่คณะกรรมการเห็นชอบในหลักการคือ 187 ล้านบาท ซึ่งยังต้องรอการพิจารณาจากสำนักงบอีกก่อนเสนอ ครม. โดยส่วนใหญ่จะเป็นงบที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินงาน ทั้งการปรับปรุงห้องแล็บ ค่าเสี่ยงภัยบุคลากร ชุดป้องกันที่ต้องขอเพิ่มเติม รวมไปถึงน้ำยาต่างๆ ในห้องแล็บที่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งงบประมาณนี้ยังไม่รวมงบประมาณในการก่อสร้างห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 4 (BSL4) ซึ่งจากการประชุมก็เห็นชอบว่าควรมีห้อง BSL4 แต่ยังต้องคุยในหลักการว่าหากจะสร้างใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ และจะสร้างขึ้นในพื้นที่ใด ยังต้องมีการหารือกันอีก

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับการเพิ่มห้องตรวจเชื้ออีโบลาเป็น 8 แห่งนั้น อีก 6 แห่งที่จะเพิ่มเติมนั้นจะเป็นโรงเรียนแพทย์ โดยอยู่ใน กทม. 3 แห่งคือ คือ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยายาล และ รพ.พระมงกุฏเกล้า และกระจายอยู่ในภูมิภาค 3 แห่ง คือ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น และ คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ส่วนแนวทางการชันสูตรศพ รวมถึงการใช้วาสลีนทาที่เล็บเพื่อป้องกันการติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายนั้น ยังต้องให้ผู้เชี่ยวชาญศึกษาแนวทางอยู่ เพื่อประกาศให้เป็นแนวทางปฏิบัติเดียวทั้งหมดในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น