xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินของไทยปัญหาของคนไทย (7) : เรื่องปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้ของไทย ตอน (7.4) ความขัดแย้งที่ไม่รู้จบ (Endless Conflict)-IV

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

1. เรื่องที่เกี่ยวกับผู้อ่าน : ตอบคำถามและความเห็นของผู้อ่าน

1.1 คำถามแรกได้มีอาจารย์ท่านหนึ่งถามว่า การโจมตีหลายๆ เป้าหมายในเวลาพร้อมๆ กัน (Simultaneous Multiple Targets Strikes- ผู้เขียนผสมคำขึ้นเอง) หมายถึงอะไร และเพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านได้เข้าใจรูปแบบกลยุทธ์นี้ไปในทางเดียวกัน ผู้เขียนจึงได้จัดทำภาพที่ 1 พร้อมคำบรรยายดังนี้

ภาพที่ 1 การโจมตีหลายๆ เป้าหมายในเวลาพร้อมๆ กัน

แนวความคิดที่แสดงในภาพที่ 1ได้พัฒนามาจากเทคนิคการบริหารโครงการPERT/CPM และข้อความบางข้อความจากหนังสือ The Art of War ของ Sun Tzu ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

(1) เทคนิคการบริหารโครงการที่เรียกว่า PERT/CPM

คำว่า PERT ย่อมาจาก Program Evaluation Review Technique และ CPM ย่อมาจาก Critical Path Method ซึ่งมักนิยมนำ PERT/CPM มาใช้ในการบริหารงานโครงการด้านวิศวกรรมกันเป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น โครงการก่อสร้างอาคารหลังหนึ่ง เราจะต้องแยกงานออกตามประเภท เช่น งานตอกเสาเข็ม งานผูกเหล็กเทปูน งานไม้ต่างๆ งานไฟฟ้า งานประปา และงานทาสี เป็นต้น ต่อจากนั้นก็จะต้องจัดแบ่งงานในแต่ละประเภทออกเป็นงานย่อยๆ เพื่อจะได้จัดลำดับงานว่า จะต้องทำอะไรก่อนและจะทำอะไรภายหลัง หลังจากนั้นก็จะจัดทำตารางการทำงานต่างๆ (ตามประเภทและลำดับของงาน)ของโครงการ แต่จะมีงานบางช่วงบางงานที่สามารถทำพร้อมกันได้ ซึ่งจะทำให้วิศวกรไม่เพียงสามารถควบคุมโครงการได้เสร็จตามกำหนดเวลาเท่านั้น แต่ยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายของโครงการให้เป็นไปตามงบประมาณที่วางแผนไว้ได้อีกด้วย

ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้นำเทคนิคการบริหารโครงการดังกล่าวมาพัฒนาเป็นกลยุทธ์ในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายซึ่งผู้เขียนขอให้ชื่อเรียกว่า การโจมตีหลายๆ เป้าหมายในเวลาพร้อมๆ กัน (หรือเรียกย่อๆ ว่า SMTS) เพราะการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด ก็จะมีขั้นตอนการปฏิบัติงานต่างๆ และก็มีงานบางอย่างที่สามารถกระทำไปพร้อมๆ กันได้ เช่นเดียวกับการบริหารโครงการก่อสร้างเหมือนกัน แต่จะต่างกันก็คือ การต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรมร้ายแรงจะมีลักษณะต่อเนื่อง และจะไม่มีวันสิ้นสุดแม้จะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายจนสิ้นสุดแล้วก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้เพราะมนุษย์ (ส่วนใหญ่) ยังมีความต้องการที่จะบริโภคทุกสิ่งที่ร่างกายและจิตใจของตนต้องการโดยไม่มีขอบเขตจำกัด มนุษย์ (ส่วนใหญ่) จึงทำได้ทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการต่างๆ รวมทั้งความต้องการที่มาจากความเชื่อหรืออุดมการณ์ทางศาสนาและทางการเมืองของตนด้วย

สำหรับความต้องการทางร่างกายหรือ Physiological Needs มาจากแนวความคิดของ A.H. Maslow ส่วนความต้องการทางจิตใจหรือ Mental Needs ผู้เขียนได้พัฒนามาจากแนวความคิดหรือความเชื่อทางศาสนาและทางการเมือง ตัวอย่างเช่น ผู้ที่นับถือศาสนาต้องการจะปฏิบัติตนตามความเชื่อทางศาสนาเพื่อตอบสนองความต้องการทางจิตใจซึ่งเชื่อว่าถ้าได้ปฏิบัติแล้วจะทำให้ตนมีความสุข (Do what he believe can make him feel happy-ผู้เขียน) และเนื่องจากยังหาคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่เหมาะสมไม่ได้ ผู้เขียนจึงขอใช้คำว่า Mental แทนภาษาไทยว่า “จิตใจ” ไปพลางก่อน

(2) ข้อเขียนของ Sun Tzu จากหนังสือ The Art of War

ข้อความจากหนังสือ The Art of War (Translated by Samuel B. Griffith) ที่ผู้เขียนได้นำมาพัฒนาเป็นกลยุทธ์ในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายคือ

1) ข้อความแรก อยู่ในบทที่ 1: Keep him under a strain and wear him down. ซึ่งผู้เขียนขอขยายความว่า Keep him runninguntil he runs out of energyand hunt him down. นั่นคือเราต้องกดดันให้ศัตรูอยู่ในภาวะตึงเครียดตลอดเวลาหลังจากนั้นจึงทำให้ศัตรูยอมจำนน เช่น การตามล่ากลุ่มก่อการร้ายอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการหยุดพัก จะทำให้กลุ่มก่อการร้ายต้องเตรียมหนีอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถจะพักหรือหลับนอนได้อย่างเป็นปกติ และจะอยู่ในป่าหรือในหมู่บ้านก็ไม่ได้เพราะฝ่ายต่อต้านการก่อการร้ายจะคอยตามติดและเข้าโจมตีในทุกขณะที่มีโอกาส

2) ข้อความที่สอง อยู่ในบทที่ 3 : Thus, what is of supreme importance in war is to attack the enemy’s strategy. ซึ่งผู้เขียนขอสรุปสั้นๆ ว่า Stuck him on the head.หมายความว่า สิ่งสำคัญสูงสุดในการทำสงครามคือ การทำลาย(โจมตี)หัวใจของศัตรู ซึ่งได้แก่ กลยุทธ์, จุดศูนย์ดุล (Center of Gravity), บุคคลสำคัญของศัตรูให้สูญสลายไปหรือใช้การไม่ได้ เช่น การจับกุมหรือทำลายหัวหน้ากลุ่มก่อการร้าย หรือการทำลายโครงข่ายที่ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายซึ่งอยู่ในต่างประเทศ จะทำให้หัวหน้าชุดต่างๆ (Cells) และรวมทั้งฝ่ายกองกำลังของกลุ่มก่อการร้ายไม่สามารถจะปฏิบัติงานได้เพราะไม่มีผู้นำและขาดการสนับสนุน (ถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ ตีหัวก่อนแล้วค่อยตีหาง นั่นเอง)

(3) สรุป: เรื่องการโจมตีหลายๆ เป้าหมายในเวลาพร้อมๆ กัน (ดูภาพที่ 1 ประกอบ)

จากข้อความในหนังสือ The Art of War ของ Sun Tzu และเทคนิคการบริหารโครงการ PERT/CPMซึ่งผู้เขียนได้นำมาพัฒนาเป็นกลยุทธ์การโจมตีกลุ่มก่อการร้ายแบบ SMTS โดยมีหลักการสำคัญคือ 1) การโจมตีทางความคิดความเชื่อโดยการปฏิบัติการด้านข่าวสารและข้อมูล, 2) การโจมตีทางความรู้สึกโดยการผูกมิตรสร้างความเป็นธรรมและมีสวัสดิการ, 3) การโจมตีหรือขจัดผู้สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายโดยการแยกมิตรแยกศัตรู และ 4) การทำลายการปฏิบัติของกลุ่มก่อการร้าย โดยการใช้กลยุทธ์ “มันมาข้าอัด มันมุดข้าแหย่ มันหยุดข้าตี มันหนีข้าตาม” ซึ่งมีความหมายว่า เราจะต้องตามกัดผู้ก่อการร้ายโดยไม่ปล่อย คือ ต้องเกาะติดและทำลายเป้าหมายทุกระดับในทุกพื้นที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศพร้อมๆ กันโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาสถานที่ และต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าผู้ก่อการร้ายจะสูญสิ้นไปหรือยอมยุติการต่อสู้ที่ใช้อาวุธโดยไม่มีเงื่อนไข (ถึงแม้จะมีการเจรจา แต่การดำเนินกลยุทธ์นี้ก็ต้องกระทำต่อไปไม่ควรหยุด-ผู้เขียน)

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือกลยุทธ์การต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายหรือกลุ่มอาชญากรรมต่างๆ ในรูปแบบหนึ่ง สำหรับรายละเอียดในการใช้หน่วยผู้เขียนคงไม่ต้องกล่าวในที่นี้ เพราะกองทัพบก, กอ.รมน., เหล่าทัพต่างๆ, กระทรวงกลาโหม และรวมทั้งบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบคงจะรู้ดีอยู่แล้ว

1.2 เรื่องความเห็น ได้มีผู้อ่านท่านหนึ่งแสดงความคิดเห็นมายังผู้เขียน โดยอ้างข้อความบางตอนจากบทความที่ (7.2) ของผู้เขียน ดังนี้

ข้อความจากบทความที่ (7.2) ที่ผู้อ่านได้อ้างมีดังนี้

“จากกรณีตัวอย่างที่กล่าว ได้นำไปสู่คำถามที่ว่าทำไมคนเม็กซิกัน คนเอเชีย หรือแม้กระทั่งคนไทย จึงต้องการที่อพยพเข้าไปทำงานและตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกา และทำไม Tiger Woods (ซึ่งมีแม่เป็นคนไทยและพ่อเป็นคนอเมริกัน) ไม่เลือกที่จะเป็นคนไทย แต่เลือกที่จะเป็นคนอเมริกัน หลายท่านคงคิดว่า เพราะมีพ่อเป็นชาวอเมริกัน แต่ผู้เขียนเชื่อว่า Tiger Woods ก็เหมือนกับมนุษย์ทุกคนที่ต้องการโอกาสที่จะดำรงชีวิตในสังคมที่ดีกว่า และมั่นคงปลอดภัยกว่า (มีรายได้ สวัสดิการที่ดีกว่าและที่สำคัญคือ ความรู้สึกมีเกียรติที่ได้เป็นคนอเมริกัน) สังคมที่เป็นอยู่ในประเทศไทย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐบาลและสังคมอเมริกันสามารถตอบสนองความต้องการของ Tiger Woods (Tiger Woods’ Needs) ได้มากกว่าที่รัฐบาลและสังคมไทยจะสนองตอบให้แก่ Tiger Woods นั่นเอง

ความเห็นของผู้อ่าน

Tiger เป็นคนในสังคมอเมริกันหรือคนอื่นๆ ที่คุ้นเคยชื่นชอบวัตถุนิยมเป็นหลักพวกเขาจึงเลือกอเมริกา หรือคนทั่วไปก็ต้องเลือกสิ่งที่เป็นวัตถุนิยมตอบสนองความต้องการในชีวิตบนโลกนี้ สังคมสามจังหวัดภาคใต้ เป็นสังคมที่คนมีความคิดความรู้สึกความต้องการแตกต่างออกไปจากส่วนอื่นๆ ของไทยและของโลกที่อยู่ในกระแสวัตถุนิยมแม้ว่าบางความคิดจะมองข้ามสิ่งนี้เพราะขาดประสบการณ์แต่ความจริงมองง่ายจากคนข้างใน เพราะควรรู้ว่าศาสนาอิสลามซึ่งคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ศรัทธานั้นไม่สามารถเดินเคียงข้างไปกับลัทธิวัตถุนิยมได้อย่างเต็มใจและอย่างพึงพอใจนัก ซึ่งอิสลามได้ให้ความสำคัญการขัดเกลาตนเองและจิตวิญญาณให้สะอาดเพื่อความพึงพอพระทัยของพระเจ้ามากกว่าการสวาปามวัตถุนิยมเพียงมุ่งตอบสนองความต้องการของร่างกายมนุษย์อิสลามปฏิเสธผลพวงวัตถุนิยมที่ผลิตทุกสิ่งเพื่อสนองความต้องการตั้งแต่ในระดับต่ำจนถึงระดับสูงของมนุษย์ โดยส่วนมากไม่คำนึงถึงศีลธรรม คุณธรรมจริยธรรมในระดับที่ดี คนมุสลิมปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ซึ่งอยู่ภายใต้จิตสำนึกเสมอ แม้ว่าบางส่วนจะยอมรับวัตถุนิยมผิวๆ ที่ไม่ขัดกับหลักศาสนาบ้างก็ตาม และประเทศไทยคือเมืองพุทธ ดังนั้นความแตกต่างของแนวทางการพัฒนาประเทศตามแนวทางผู้ปกครอง กับ แนวความคิดของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ไปคนละทาง..................................................................

จึงไม่มีโอกาสมากนักที่จะทำให้คนมุสลิมในพื้นที่จะมีความต้องการเหมือนกับTiger ที่ต้องการเอมริกา(อเมริกา) เช่นเดียวกันกับกรณีชาวอุยกูร์กับจีน และส่วนอื่นๆ ของโลก หากจะมีโอกาสบ้างก็คงต้องขัดเกลาประเทศไทยให้สะอาดปราศจากสิ่งที่ขัดกับศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ซึ่งอาจจะทำให้คนในพื้นที่นั้นเขารู้สึกว่าแผ่นดินนั้นมีเกียรติ น่าอยู่อาศัยและใกล้ชิดกับกับหลักการแห่งอิสลามที่ศรัทธาแม้ว่าจะไม่ทั้งหมดก็ตาม


ข้อความที่ต่อจากข้อความข้างต้นในบทความที่ (7.2) ซึ่งผู้อ่านไม่ได้นำมาอ้าง

“นอกจากกรณีตัวอย่างที่กล่าวแล้วขอให้พิจารณากรณีตัวอย่างที่สองเพื่อเป็นการเปรียบเทียบ

กรณีตัวอย่างที่สอง (ในภาพที่ 2-3) เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2557 คือ มีการลงประชามติ (Referendum) ถามประชาชนชาวสกอต ว่าต้องการแยกตัวเป็นประเทศที่เป็นอิสระจากสหราชอาณาจักร หรือยังต้องการเป็นส่วนหนึ่งในสหราชอาณาจักร (United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland) ผลปรากฏว่า ชาวสกอตส่วนใหญ่ประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์.................ไม่ต้องการให้แยก Scotland ออกเป็นอิสระ และยังต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรอีกต่อไป โดยมีเสียงที่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระประมาณ 45เปอร์เซ็นต์

กรณีนี้ได้บ่งชี้ว่า การที่ชาวสกอตส่วนใหญ่ได้เลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรซึ่งมีสถานะเป็นประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งของโลก ก็คงเป็นเพราะชาวสกอตส่วนใหญ่ยังคงมีความรู้สึกและต้องการที่จะเป็นประชาชนของประเทศมหาอำนาจของโลกซึ่งย่อมจะมีเกียรติและมีโอกาสที่ดีกว่าที่จะเป็นประชาชนของประเทศเล็กๆ (ถ้าแยกเป็นอิสระ) อย่างเช่น Scotland

จากการศึกษากรณีตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งสองกรณีได้ทำให้เราได้ทราบถึงปัจจัยสำคัญสองประการที่มีอิทธิพลต่อความคิด การตัดสินใจ และพฤติกรรมของบุคคลซึ่งก็คือความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และความเป็นมหาอำนาจของโลกของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ (UK) ได้สร้างความรู้สึกภาคภูมิใจและความต้องการที่จะเป็นประชาชนของประเทศมหาอำนาจของโลก (โดยนักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงชาวอเมริกันที่ชื่อ A.H. Maslowได้เรียกความต้องการในด้านนี้ว่า เป็นความต้องการความรักและต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม Love and Belonging Needs) ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า คงจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของทั้ง Tiger Woods และชาวสกอตส่วนใหญ่เป็นอย่างมาก”

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียนบทความ

เพื่อให้ผู้อ่านท่านอื่นๆ ได้รับทราบความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอแนะของผู้เขียนในบทความที่ (7.2) ชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้เขียนจึงขอให้ข้อมูลและความคิดเห็นเพิ่มเติมดังนี้

(1) ช่วงเวลาของการเกิดศาสนาที่สำคัญ (ข้อมูลจาก wikipedia)

ขอให้ย้อนเวลากลับไปในอดีตจะพบว่า ช่วงเวลาการเกิดศาสนาสำคัญของโลก 4 ศาสนาที่จะกล่าวในที่นี้คือ ศาสนายูดาห์ ศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม จะมีลำดับการเกิดขึ้นตามเวลาดังนี้

1) ศาสนายูดาห์ ได้เกิดขึ้นในช่วงประมาณ 2000 – 1850 BCE เป็นช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ของAbraham (ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำสารจากพระเจ้า)

2) ศาสนาพุทธ ได้เกิดขึ้นในช่วงประมาณ 563 –483 BCE เป็นช่วงชีวิตของพระพุทธเจ้า

3) ศาสนาคริสต์ ได้เกิดขึ้นในช่วงประมาณ 7 BCE – 36 CE เป็นช่วงอายุของพระเยซู(ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำสารจากพระเจ้า)

4) ศาสนาอิสลาม ได้เกิดขึ้นในช่วงประมาณ 570 – 632 CE เป็นช่วงชีวิตของ Muhammad Ibn Abdullah (ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำสารจากพระเจ้า)

การที่ผู้เขียนนำข้อมูลช่วงเวลาการเกิดศาสนามาให้ผู้อ่านได้รับทราบก็เพราะต้องการชี้ให้เห็นว่า แม้จะมีศาสนาที่สำคัญเกิดขึ้นแล้ว เช่น ศาสนายูดาห์ และศาสนาฮินดู แต่ในเวลาต่อมาก็ยังมีศาสนาใหม่ๆ เกิดขึ้นตามมาอีก เช่น ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ที่มีความเป็นมาจากศาสนายูดาห์และต่อมาในปี 1844 -1852 ก็ได้เกิดศาสนา Babismขึ้น (ต่อมาได้พัฒนาเป็นศาสนา Baha’I) ซึ่งได้พัฒนามาจากศาสนาอิสลาม นิกายชีอะห์ ในอิหร่าน แต่ผู้ก่อตั้งและผู้นับถือศาสนานี้ได้ถูกรัฐบาลสังหารไปเป็นจำนวนมากจนในปัจจุบันมีผู้นับถือศาสนาBabism เหลืออยู่ไม่มากนัก (ดูภาพที่ 2)

ภาพที่ 2 ห้องที่ Báb ประกาศพันธกิจในปี 1844 ในเมือง Shiraz*
*จาก Wikipedia (Báb คือ ผู้ที่ติดต่อกับพระเจ้า)
ส่วนศาสนาพุทธ ก็มีความเป็นมาจากศาสนาฮินดู และพราหมณ์ ซึ่งเป็นศาสนาเก่าแก่ในอินเดีย

ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่า ตราบใดที่ยังมีมนุษย์อยู่ในโลกนี้ ในอนาคตก็จะมีศาสนาใหม่ๆเกิดขึ้นมาอีก ถ้าผู้ที่ก่อตั้งศาสนาไม่ถูกสังหารหรือวัตถุสำคัญไม่ถูกทำลายเสียก่อนเช่นที่ศาสนา Babism ได้ถูกทำลายที่อิหร่าน และศาสนาพุทธ ได้ถูกทำลายที่อัฟกานิสถานดังที่แสดงในภาพที่ 3 เป็นต้น

ภาพที่ 3 พระพุทธรูปที่ถูกทำลายที่ Bamyan, Afganistan*
 *ภาพจากwww.kabulpress.org/my/spip.php?article58235
ในกรณีนี้ผู้เขียนเห็นว่า ถ้าทุกคนต้องการที่จะทำให้ตนและสังคมสะอาดขึ้นตามความเชื่อทางศาสนาของตนแล้ว ก็ไม่ควรไปทำร้ายหรือทำลายผู้ที่นับถือศาสนาอื่น และสิ่งที่เขาเชื่อถือนอกจากนี้ยังมีบางกลุ่มได้บิดเบือนหลักการของศาสนาไปในแนวทางที่ไม่ถูกต้องเพราะต้องการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือเพื่อควบคุมประชาชน และแสวงหาอำนาจการปกครองได้ง่ายขึ้น ด้วยเหตุนี้โลกของเราจึงมีแต่ความวุ่นวายและรบราฆ่าฟันกันอย่างที่ปรากฏอยู่ในทุกวันนี้ ดูภาพที่ 4, 5 และ 6

ภาพที่ 4 กองกำลัง ISIS จะใส่ชุดดำเช่นในสมัยโบราณ*
*ISIS kidnaps, kills Iraqi Sunni tribesmen(CNN November 2, 2014.)
ภาพที่ 5 เมือง Mosul ของIraq ได้ถูกกลุ่ม Islamic State (ISหรือISIS) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน

Mosul เปรียบเสมือนบ้านของชุมชนคริสเตียนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก หลังจากกลุ่ม Islamic State (IS) ได้เข้ายึดเมือง Mosul กลุ่ม IS ได้สั่งให้ชาวเมืองที่เหลืออยู่เปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลาม และจ่ายภาษีศาสนา หรือมิฉะนั้นก็จะถูกฆ่า (จากบทบรรณาธิการ BBC : 5 Nov 2014)

ภาพที่ 6 ระเบิดที่ปากีสถานได้สังหารประชาชนประมาณ 50 คน บริเวณชายแดนติดกับอินเดีย
At least three jihadi militant groups have claimed responsibility for the attack,                                         ShahzebJillani reports. (BBC November 3, 2014)
(2) สรุปแนวความคิดที่เกี่ยวกับความต้องการของมนุษย์ Human’s Needs
ผู้เขียนจะขอนำแนวความคิดพื้นฐานที่กล่าวถึงความต้องการของมนุษย์ทั้งในด้านเศรษฐศาสตร์ (Economics) และด้านจิตวิทยามนุษย์ (Humanistic Psychology) มาสรุปเพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านได้เข้าใจถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในฐานะที่เป็นผู้บริโภค (Consumers) ได้ดียิ่งขึ้น ดังนี้

1) แนวความคิดพื้นฐานทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่ผู้เขียนจะนำมากล่าวในที่นี้คือ กฎการลดลงของอรรถประโยชน์ Law of diminishing utility ซึ่งผู้เขียนขอสรุปไว้ดังนี้

ยิ่งบริโภคสินค้า (สิ่งใดสิ่งหนึ่ง) มากขึ้น ความต้องการ (อรรถประโยชน์) ที่จะได้จากการบริโภคสินค้านั้นก็จะลดลง ตัวอย่างเช่น ยิ่งบริโภคทุเรียนมากขึ้น ความต้องการหรืออรรถประโยชน์ที่จะได้จากการบริโภคทุเรียนก็จะลดลง (The more durians we consume, the less desirable we are for durians.- W. Nathasiri)

2) แนวความคิดพื้นฐานทางด้านจิตวิทยามนุษย์ที่ผู้เขียนจะนำมากล่าวในบทความนี้คือ ทฤษฎีความต้องการตามลำดับขั้น Hierarchy of Needs ของ A.H. Maslow ซึ่ง Maslow ได้กล่าวว่า ความต้องการของมนุษย์จะเป็นไปตามลำดับขั้น เมื่อความต้องการในลำดับแรกได้รับการตอบสนองแล้ว ต่อจากนั้นมนุษย์ก็จะมีความต้องการในลำดับที่สูงขึ้นต่อไป โดยเริ่มจาก I. ความต้องการสิ่งที่ร่างกายมนุษย์ต้องการ, II. ความต้องการที่จะได้รับความปลอดภัยมั่นคง (Safety Needs), III. ความต้องการความรักและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (Love and Belonging Needs), IV. ความต้องการที่จะได้รับเกียรติหรือการยกย่อง (Esteem Needs) และ V. ความต้องการที่จะบรรลุความสำเร็จตามที่มุ่งหวังในชีวิต (Self Actualization Needs) ในเรื่องนี้ถ้าพิจารณาดูจะพบว่า แนวความคิดของ Maslow มีความใกล้เคียงกับธรรมชาติของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ เพียงแต่อาจมีการเปลี่ยนจากปริมาณไปสู่คุณภาพถ้าสังคมอยู่ในสภาพปกติ แต่ถ้าสังคมอยู่ในสภาพที่ไม่ปกติเช่นอยู่ในสภาพที่มีการต่อสู้ทางการเมืองหรือมีการสู้รบกันความต้องการของมนุษย์ก็อาจไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตามที่กล่าวข้างต้น เช่น อาจมีความต้องการที่จะได้รับการยกย่องพร้อมๆ กับมีความต้องการที่จะบรรลุผลสำเร็จตามที่มุ่งหวังในชีวิตของตน เป็นต้น ดังกรณีตัวอย่าง นายมะรอโซจันทรวดี ในภาพที่ 7

ภาพที่ 7 นายมะรอโซ จันทรวดี*หนึ่งในกลุ่มอาร์เคเค

*ภาพจาก www.matichon.co.th (14 ก.พ. 2556)

(3) กรณีตัวอย่าง: Tiger Woods และชาวสกอต

ผู้อ่านบทความที่ (7.2)ได้แสดงความเห็นว่า Tiger เป็นคนในสังคมอเมริกันหรือคนอื่นๆ ที่คุ้นเคยชื่นชอบวัตถุนิยมเป็นหลักพวกเขาจึงเลือกอเมริกา (คงหมายความว่า เลือกที่จะเป็นคนอเมริกัน) ผู้อ่านท่านนี้อาจไม่ได้อ่านข้อความต่อมาของบทความที่ (7.2) ที่อยู่ในกรอบเส้นประสีแดง และขีดเส้นใต้สีแดงซึ่งผู้เขียนได้นำมาอ้างในช่วงต้นของบทความนี้ โดยผู้เขียนได้ระบุว่า

“...ปัจจัยสำคัญสองประการที่มีอิทธิพลต่อความคิด การตัดสินใจ และพฤติกรรมของบุคคลซึ่งก็คือ ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและความเป็นมหาอำนาจของโลกของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ (UK) ได้สร้างความรู้สึกภาคภูมิใจ และความต้องการที่จะเป็นประชาชนของประเทศมหาอำนาจของโลก.........

โดยปัจจัยสำคัญสองประการที่กล่าวถึงก็คือ 1) ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ที่จับต้องหรือสัมผัสได้หรือเห็นได้จากวัตถุหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ (เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาล และอาคารสถานที่ต่างๆ), ระบบสาธารณูปโภค (เช่น ถนนหนทาง ระบบประปา-ไฟฟ้า และการสื่อสารต่างๆ), อัตราการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น, ระบบการรักษาความปลอดภัยและการรักษาความมั่นคงของชาติ (เช่น การมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีประสิทธิภาพ และมีกำลังทหารที่เข้มแข็ง) และรวมทั้งการบริการต่างๆ ที่รัฐจัดให้แก่ประชาชน เป็นต้นและ 2) ความเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกซึ่งเป็นสิ่งที่สัมผัสไม่ได้แต่ได้รับการยอมรับในสังคมโลก และมีผลที่ทำให้เกิดความรู้สึกถึงเกียรติภูมิของการเป็นประชาชนของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อการเลือกเป็นคนอเมริกันของ Tiger Woods และการเลือกเป็นประชาชนสหราชอาณาจักร ของชาวสกอต

ผู้เขียนเชื่อว่า ความภาคภูมิใจในความเป็นประชากรของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งตอบสนองความต้องการที่จะได้รับเกียรติและการยกย่อง (Esteem Needs) และความรักและความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอเมริกัน (Love and Belonging Needs) จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจที่จะเลือกสัญชาติของ Tiger Woods มากกว่าความชื่นชอบในวัตถุนิยมตามที่ผู้อ่านได้อ้างมา เพราะคนอย่าง Tiger Woods คงมีขีดความสามารถที่จะแสวงหาทุกสิ่งที่ต้องการได้โดยง่ายเพียงแต่ Tiger Woods ยังมีความเป็นมนุษย์ เมื่อบริโภคสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการความต้องการหรืออรรถประโยชน์ที่จะได้จากการบริโภคสินค้านั้นๆ ก็จะลดต่ำลงจนอยู่ในระดับที่ไม่ต้องการบริโภคสินค้านั้นในช่วงเวลาหนึ่ง (Law of diminishing utility) ซึ่งหมายความว่า ความต้องการทางด้านวัตถุนิยมของ Tiger Woods หรือมนุษย์ทุกคน (ซึ่งรวมทั้ง มะรอโซ จันทรวดี) ย่อมมีขีดจำกัดตามอรรถประโยชน์ที่แต่ละคนจะได้รับ คือ เมื่อได้บริโภคจนรู้สึกพอใจแล้วก็จะมีความต้องการในด้านอื่นๆ อีกต่อไปจึงสรุปได้ว่า ความต้องการด้านวัตถุนิยมคงไม่มีอิทธิพลใดๆ ที่จะทำให้ Tiger Woods ตัดสินใจเลือกเป็นคนอเมริกันมากกว่าที่จะเลือกเป็นคนไทยอย่างแน่นอน และเพื่อความเข้าใจดียิ่งขึ้นก็ขอให้ท่านกรุณาอ่านบทความลำดับที่ (5) ประกอบไปด้วย

2. บทสรุป

ในอดีตที่ยังไม่มีการสื่อสาร หรือไม่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ หรือไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเช่นในปัจจุบัน มนุษย์ส่วนใหญ่ก็จะไม่รู้ว่าจะไปค้นคว้าหรือสืบหาข้อเท็จจริงจากที่ใด มนุษย์จึงต้องเชื่อหรือจำเป็นต้องเชื่อในสิ่งที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ในขณะนั้น แต่ในปัจจุบันมีหลายเรื่องในอดีตที่เราสามารถตรวจสอบและพิสูจน์ได้โดยใช้หลักเหตุผลและหลักการทางวิทยาศาสตร์ว่า ไม่ได้เป็นจริงตามที่เคยเชื่อ ดังนั้น มนุษย์ซึ่งมีความเจริญกว่าสัตว์ใดบนโลกจึงควรมีอิสระและเสรีที่จะเชื่อในสิ่งใดๆ ก็ได้ตามหลักเหตุผลและความรู้ของแต่ละคน และก็ไม่ควรมีการบีบบังคับให้บุคคลอื่นต้องเชื่อถือตามที่ตนเองเชื่อหรือนับถือ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าทุกคนที่นับถือศาสนาต่างๆ ยังไม่หยุดพฤติกรรมรุกราน ก้าวร้าว หรือทำร้ายผู้อื่นที่ไม่ได้นับถือศาสนาเดียวกับตน และเมื่อฝ่ายที่ถูกบีบบังคับถูกทำร้ายจนทนไม่ไหวแล้วการลุกขึ้นตอบโต้มนุษย์ผู้ก้าวร้าวแบบตาต่อตาฟันต่อฟันก็คงจะมาถึงในอีกไม่นาน ดังนั้น ทุกคนในฐานะที่เป็นสมาชิกสังคมโลกก็ควรที่จะช่วยกันหยุดหรือกำจัดพฤติกรรมเหล่านี้ให้จงได้

ท้ายบทความ

เนื่องจากคุณสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี ในคณะกรรมาธิการสังคมกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มาชวนผู้เขียนให้ไปช่วยงานในคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี เลยต้องใช้เวลาเตรียมตัวบ้างเพราะเป็นเรื่องไม่เคยทำมาก่อน จึงต้องขออภัยที่ตอบคำถามผู้อ่านล่าช้าไปหลายวัน อย่างไรก็ดี ต้องขอขอบคุณในทุกๆ คำถามและทุกๆ ความคิดเห็นของผู้อ่านทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วย

*ส่งข้อมูล มีคำถามหรือมีความคิดเห็น กรุณาส่งที่ udomdee@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น