xs
xsm
sm
md
lg

รับฟังความเห็นค่าไฟฐานใหม่29ต.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - เรกูเลเตอร์เตรียมเปิดรับฟังความเห็นโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าฐานใหม่ปี 58-60 วันที่ 29 ต.ค.นี้ก่อนเดินหน้าประกาศใช้ภายในต้นม.ค. 58 แย้มลดค่าบริการบิลค่าไฟ ปรับโฉมใหม่บิลค่าไฟแจงต้นทุนต่างๆให้ชัดขึ้น Ft เริ่มจากศูนย์ พร้อมเตรียมเปิดรับซื้อไฟโซล่าร์รูฟท็อปประเภทบ้านที่อยู่อาศัยเพิ่มสิ้นเดือนนี้ จับมือก.อุตฯปลดล็อครง. 4 การันตีไม่มีเตะถ่วง

นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือเรกูเลเตอร์ เปิดเผยว่า วันที่ 29 ต.ค.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าฐานใหม่ระหว่างปี 2558-2560 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปข้อมูลต่างๆ อยู่โดยหลักการการจัดทำจะปรับปรุงการคำนวณและอัตราค่าไฟและการบริการที่ยกระดับการดูแลผู้บให้กับผู้บริโภค คาดว่าจะสามารถประกาศใช้โครงสร้างใหม่นี้ได้ประมาณต้นปี 2558

“เราจะจัดทำโครงสร้างใหม่ให้ทันสมัยดูในเรื่องของเม็ดเงินลงทุนของ 3 การไฟฟ้าว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ซึ่งของเดิมได้มีการศึกษาไว้แล้วเราก็มาดูให้รอบคอบละเอียดขึ้น กรณีค่าบริการที่เรียกเก็บในบิลค่าไฟที่มีการศึกษาไว้เดิมมีแนวโน้มจะปรับลดลงได้ 21 บาทต่อบิลจากที่เก็บอยู่ 38 บาทต่อบิล ก็ยังคงยึดกรอบนี้อยู่ “นายพรเทพกล่าว

นอกจากนี้ภายในสิ้นเดือนต.ค.นี้จะทำการเปิดการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาหรือ โซล่าร์รูฟท็อป ประเภทที่อยู่อาศัย ในส่วนเพิ่มเติมจากเดิมที่เปิดรับซื้อก่อนหน้า 100 เมกะวัตต์แต่ยื่นมาไม่ครบโดยสัดส่วนจะเปิดเพิ่มขอดูปริมาณที่ชัดเจนอีกครั้ง

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการเรกูเลเตอร์ กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าฐานปัจจุบันอยู่ที่ 3.27 บาทต่อหน่วย ขณะที่ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือ Ft ที่จะคิดตามต้นทุนผันแปรทุก 4 เดือนอยู่ที่ 69 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งโครงสร้างใหม่จะโยก Ft เดิมมารวมกับค่าไฟฐานเป็น 3.96 บาทต่อหน่วยแล้วเริ่มใช้ Ft ใหม่เป็นศูนย์โดยในบิลค่าไฟใหม่จะเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ที่ประกอบเป็นค่าไฟในบิลค่าไฟอย่างชัดเจนเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบมากขึ้น เช่น กองทุนพัฒนาระบบไฟฟ้า เป็นต้น

“ ค่าไฟฟ้าฐานเราจะพยายามดูต้นทุนต่างๆ ให้ละเอียดอีกครั้งว่าการลงทุนมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด และของใหม่จะนำเอาค่าไฟที่ซื้อจากพลังงานทดแทนไปบวกไว้ในค่าไฟฐานเลย 3 ปีประมาณ 14 สตางค์ ส่วนนี้ก็ยังบอกไม่ได้ว่าที่สุดแล้วค่าไฟฐานจะแพงขึ้นหรือถูกลงก็ต้องดูภาพรวมก่อนคงสรุปเร็วๆนี้”นายวีระพลกล่าว

นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงอุตฯได้ลงนามร่วมกับเรกูเลเตอร์ ขยายขอบเขตการอนุญาต ฃประกอบกิจการโรงงานหรือรง.4 ในส่วนของโรงงานผลิตไฟฟ้าให้ครอบคลุมทุกด้านลดซ้ำซ้อนโดยยื่นเอกสารทั้งหมดแล้ว เรกูเลเตอร์ในฐานะเป็นวันสต็อปเซอร์วิส จะขอความเห็นจากกระทรวงอุตสาหกรรมตามกฎหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรม และกระทรวงอุตสาหกรรมจะให้คำตอบภายใน 30 วัน หากมีเอกสารสมบูรณ์ก็จะได้ใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าและ รง.4 ภายใน 60 วันเท่านั้น

อย่างไรก็ตามล่าสุดมติครม.เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ได้อนุมัติหลักการที่จะมอบอำนาจให้ทางเรกูเลเตอร์เพิ่มเติมคือ โซล่าร์รูฟท็อปที่ไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ก็ไม่ต้องขอรง.4 ซึ่งคาดว่า 1-2 วันนี้จะเสนอให้รมว.อุตสาหกรรมลงนามได้ นอกจากนี้ยังมีส่วนของพลังงานลม น้ำท้ายเขื่อน สถานประกอบการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) สถานประกอบการแอลพีจี ก็จะเสนอร่างกฏกระทรวงเข้าสู่กระบวนการให้กฤษฎีกาเห็นชอบเพื่อเสนอรมว.พลังงานประกาศต่อไป ซึ่งจากนี้ไปธุรกิจไฟฟ้าก็คงจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างสะดวกยืนยันปัญหาการเตะถ่วงจะไม่มีอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น