xs
xsm
sm
md
lg

การศึกษาคือการลงทุน : ข้อความถึงผู้เรียนและผู้ปกครอง

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

สองสามวันที่ผ่านมา ได้ติดตามข่าวการเตรียมตัวปรับขึ้นราคาแก๊สแอลพีจี ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคขนส่ง ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการเดินรถโดยสารกำลังหารือจะขยับค่าโดยสารเพิ่มขึ้น แล้วจะทำให้คนไทยอีกหลายล้านคนที่จะต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากการเดินทางโดยมิได้คาดการณ์ล่วงหน้าไว้ แต่ว่าไปแล้ว หากมีการใช้พลังงานทดแทนอื่น มาช่วยแก้ปัญหาราคาน้ำมัน ราคาแก๊ส อันไม่มีที่ท่าว่าจะลดต่ำลง มีแต่จะสูงขึ้น เหมือนกับราคาที่ดิน คงต้องเป็นเรื่องราวให้หารือกันต่อไปตามแนวคิดการปฏิรูปพลังงานของชาติ

ผู้เขียนได้อารัมภบทเกี่ยวกับสถานการณ์ราคาแก๊สแอลพีจี ด้วยต้องการเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของผู้เรียนในยุคดิจิตอล ในระดับอุดมศึกษาขณะนี้ ว่า มีข้อมูลเล็กๆ ชุดหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนได้ทำการศึกษาวิจัยกับนักศึกษากลุ่มตัวอย่างของสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่งในภาคใต้ เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่อเดือนต่อคนของนักศึกษาที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 306 คน เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2556-2557 (ระหว่างเดือน ต.ค. 2556 -ม.ค. 2557) ปรากฏตามตาราง 1 เฉลี่ยค่าใช้จ่ายของนักศึกษาต่อคนต่อเดือนดังนี้

จากตารางดังกล่าว จะเห็นได้ว่า การให้ข้อมูลของนักศึกษากลุ่มตัวอย่าง มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนต่อนักศึกษาหนึ่งคน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่ง นักศึกษาที่ใช้จ่ายเฉลี่ยน้อยกว่า 5,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 17.6 กลุ่มสอง ใช้จ่ายระหว่าง 5,001-10,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 28.8 กลุ่มสาม ใช้จ่ายระหว่าง 10,001-15,000 บาท ต่อเดือน กลุ่มสี่ คิดเป็นร้อยละ 38.2 ใช้จ่าย 15,001-20,000 บาท ต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 14.1 และกลุ่มห้า ค่าใช้จ่ายมากกว่า 20,001 บาทต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ .14

คำถามที่เกิดขึ้นแก่ของผู้เขียน คือ นักศึกษาซึ่งอยู่ในกลุ่มสาม กลุ่มสี่ และกลุ่มห้านั้น ใช้จ่ายอะไรบ้าง ถึงใช้จ่ายสูงระหว่าง 10,001 ขึ้นไป จนถึงเลย 20,001 บาท ได้ใช้ไปในภารกิจใดบ้าง

ข้อมูลชุดที่สอง ซึ่งผูกพันกับค่าใช้จ่ายรายเดือนของนักศึกษา คือ สถานที่พักอาศัย โดยส่วนใหญ่นักศึกษามาจากต่างถิ่น จะต้องมีค่าใช้จ่ายด้านที่พักอาศัย ซึ่งแสดงข้อมูลของนักศึกษาผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 306 คน ตามตาราง 2 จำแนกตามสถานที่พักอาศัย ดังนี้

จากตาราง 2 จะเห็นได้ว่า นักศึกษาที่พักในหอพักภายในมหาวิทยาลัย คิดเป็นร้อยละ 10.1 หอพักนอกมหาวิทยาลัย คิดเป็นร้อยละ 60.1 บ้านตนเอง (อาศัยอยู่กับพ่อแม่) คิดเป็นร้อยละ 21.2 บ้านญาติ คิดเป็นร้อยละ 7.8 และอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ .7 ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า นักศึกษาจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสถานที่พักอาศัย ซึ่งมีราคาแตกต่างกันออกไปตามความสะดวกสบาย

ข้อมูล 2 ชุดเล็กๆ นี้ แม้จะเป็นข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในหัวเมืองสำคัญที่ไม่ใช่เมืองหลวงของประเทศ แต่พอฉายภาพให้เห็นว่า หากการศึกษา คือการลงทุน นักศึกษาคือผู้ใช้ทุน ผู้ปกครองคือ ผู้ลงทุน เพื่อสร้างดอกออกผลกำไรในอนาคต ซึ่งข้อมูลนี้ พอบ่งบอกและทำนายความเป็นไปของสถานการณ์ทางการเงินในการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ทั้งด้านนักศึกษา ผู้ปกครอง สถาบันการศึกษาและหน่วยงานผู้ดูแลการศึกษาทุกระดับในอนาคตกาลได้ด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับความผันผวนทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงต่างๆ ที่ควรได้พิจารณาไว้ด้วย

ข้อความที่อยากฝากถึงผู้เรียนจากข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 ในหัวเมืองใหญ่ของประเทศ คือ ถ้ารู้สึกตัวว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 15,000 บาทต่อคน (ไม่รวมค่าเทอม) สิ่งที่เราจะต้องคิดใคร่ครวญและให้น้ำหนักคือ ความคุ้มทุนของการลงทุนในเม็ดเงินต่อหน่วยความรู้ที่ได้ศึกษาเรียนรู้ ว่า บรรลุจุดคุ้มทุนระหว่างเงินกับผลการเรียนรู้แล้วหรือไม่ และจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตนเองอย่างไรในระหว่างการศึกษาอยู่ ส่วนข้อความที่อยากฝากถึงผู้ปกครอง (ที่ไม่ใช่หน่วยงานหรือสถาบันการเงินที่ให้กู้ยืมเงินเพื่อการเรียน) คือ ควรวางแผนและบริหารการเงิน เพื่อการลงทุนทางการศึกษาในลูกหลานจากข้อมูลดังกล่าวไว้ด้วย เพราะอนาคต ค่าใช้จ่ายย่อมสูงขึ้นแน่...ขอบคุณครับ...สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น