xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (2) : เรื่อง การปฏิรูปการเมืองของไทย ตอน การตรวจสอบและทดสอบบุคคลผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

1. กล่าวนำ

สืบเนื่องจากการนำเสนอบทความเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองที่ผ่านมา และได้มีผู้อ่านบางท่านสอบถามมาว่า เราจะหาคนดีและมีความรู้มาปฏิบัติงานให้รัฐได้อย่างไรก่อนที่จะตอบคำถามนี้ ผู้เขียนขอทำความเข้าใจในคำจำกัดความของคำว่า “คนดี” และ “มีความรู้” เสียก่อนเพื่อให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้เข้าใจความหมายของคำศัพท์ทั้งสองไปในแนวทางเดียวกัน

คำว่า “คนดี” พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายว่า คนดี คือคนที่มีความดี คนที่มีคุณธรรมและคำว่า “คุณธรรม” หมายถึง สภาพของคุณงามความดี ส่วนคำว่า “มีความรู้” ก็คือ มีความรอบรู้หรือมีความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งทั้งในด้านทฤษฎีและการปฏิบัติอย่างแท้จริง (ให้ความหมายโดยผู้เขียน) เมื่อรวมคำว่า คนดี กับมีความรู้เข้าด้วยกันเป็น คนดีมีความรู้ จึงมีความหมายโดยสรุปว่า เป็นคนที่กระทำแต่เรื่องที่ดีงามและมีความรอบรู้เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น แพทย์ที่มีความประพฤติดีและมีความรู้เชี่ยวชาญโรคกระดูก เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในเรื่อง มีความรู้เราอาจดูได้จากวุฒิบัตรหรือปริญญาบัตรซึ่งอาจถือเป็นหลักฐานที่ชี้ให้สาธารณชนได้รับรู้ว่า คนคนนี้จบการศึกษาในระดับใด มีความรู้ความถนัดในด้านใด จบการศึกษาจากสถาบันที่ได้รับการรับรองถูกต้องตามหลักมาตรฐานสากลหรือไม่ และที่สำคัญก็คือ มีผลการปฏิบัติงาน ผลงานเขียน และผลงานวิจัยต่างๆ เป็นอย่างไรที่กล่าวมานี้เพราะได้รับทราบข้อมูลจากหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 15ก.ย. 2557 หน้าแรกระบุว่า มีผู้เข้ารับการสรรหาเป็น สปช. (สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ)ที่จบปริญญาเอกเป็นจำนวน 1,152 คนและจบปริญญาโทมีจำนวนถึง 3,286 คนจากจำนวนทั้งหมด 7,370 คนซึ่งหมายความว่า มีผู้ที่จบปริญญาเอกและปริญญาโทรวมกันแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดผู้เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิก สปช.

เมื่อเห็นตัวเลขดังกล่าว ก็น่าเชื่อว่า ประเทศไทยคงจะเจริญก้าวหน้ากว่าประเทศใดในภูมิภาคเพราะประชาชนส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับที่สูงมาก แต่ผลกลับไม่เป็นเช่นนั้นเพราะรายได้ประชาชาติต่อประชากรของไทยอยู่ในอันดับที่ 118 ของโลก นั่นหมายถึง ความรู้และขีดความสามารถของคนไทยยังต่ำกว่า สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และมาเลเซียอยู่มาก (ดูตารางที่ 1) กล่าวโดยสรุปก็คือ แม้คนไทยที่จบปริญญาเอกและปริญญาโทจะมีจำนวนมากขึ้นก็จริง แต่คุณภาพทางการศึกษาโดยรวมอาจยังไม่ได้มาตรฐานสากลเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียด้วยกัน
*Adapted by W. Nathasiri (จากแผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (6) : เรื่อง มีอะไรบ้างที่ควรทำ What should be done.-II)
สำหรับในเรื่อง คนดี อาจเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่าเรื่อง มีความรู้ ดังมีคำกล่าวที่ว่า รู้หน้าไม่รู้ใจเพราะเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล การที่ใครคนใดคนหนึ่งมีความรู้สูงก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่า บุคคลนั้นจะเป็นคนที่มีการกระทำที่ดีงาม มีความซื่อสัตย์สุจริต สมควรนับถือเป็นแบบอย่าง ซึ่งก็คงจะเป็นความจริงเพราะประเทศไทยได้รับการจัดอันดับความโปร่งใส (หรือมีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นน้อย) อยู่ในลำดับที่ 102 จากจำนวน 117ประเทศทั่วโลก ซึ่งรายงานของมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย โดย ดร.จุรี วิจิตรวาทการเลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย (Transparency Thailand) ได้เปิดเผยว่า

“ผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันประจำปี พ.ศ. 2556 พบว่า ประเทศไทยได้ 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 102 จากการจัดอันดับทั้งหมด 177 ประเทศทั่วโลก เท่ากับประเทศเอกวาดอร์ มอลโดวา และปานามา และอยู่อันดับที่ 16 จาก 28 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” (จากhttp://www.transparency.org ดูตารางที่ 3 ประกอบ)

ในขณะที่ดัชนีชี้วัดการพัฒนามนุษย์ในตารางที่ 2 ไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 89 ของโลก และเป็นอันดับที่ 4 ของอาเซียน ซึ่งสรุปได้ว่า การพัฒนามนุษย์ของไทยยังอยู่ในอันดับต่ำมาก
*Adapted by W. Nathasiri (จาก United Nations Development Programme, Table 1:Human Development Index and its components, 2014.)
โดยสรุปก็คือ ไม่เพียงการพัฒนามนุษย์ของไทย (ซึ่งรวมข้อมูลทางการศึกษาแล้ว)จะอยู่ในลำดับที่ค่อนข้างต่ำกว่าประเทศอื่นๆ แต่ข้าราชการและนักการเมืองของไทยก็ยังไม่ซื่อสัตย์สุจริตอีกด้วย คือ มีการคอร์รัปชันในรูปแบบต่างๆ มากที่สุดประเทศหนึ่ง(อันดับที่ 102 ของโลก-ดูตารางที่ 3) จึงเป็นเรื่องที่ยากที่สุดที่เราจะได้บุคลากรที่ทั้งดีและมีความรู้มาปฏิบัติงานให้รัฐ
*Adapted by W. Nathasiri (จากTransparency International : The Global CoalitionAgainst Corruption, 2013. อันดับที่สูงมีคอร์รัปชันน้อย : สิงคโปร์  มาเลเซีย มีการคอร์รัปชันน้อยกว่าไทย)
อย่างไรก็ดีเพื่อให้ได้บุคลากรที่มีความรู้มีความสามารถ และมีความประพฤติที่ดี มาปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ให้รัฐผู้เขียนจึงขอเสนอให้ (1) จัดตั้งสำนักทะเบียนประวัติและจริยธรรมของผู้ปฏิบัติงานให้รัฐเพื่อให้มีหน้าที่ในการจัดทำทะเบียนประวัติ ตรวจสอบ ทดสอบ บุคคลที่ต้องการจะปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรต่างๆ ของรัฐ ซึ่งได้แก่ องค์กรฝ่ายบริหาร และองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ (ข้าราชการการเมืองทุกตำแหน่ง) องค์กรอิสระ และรวมทั้งรัฐวิสาหกิจต่างๆ (ซึ่งได้แก่ คณะกรรมการและผู้บริหาร) และ (2) ควรกำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้สูงขึ้น

2. การจัดตั้งสำนักทะเบียนประวัติและจริยธรรมของผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ

สำนักทะเบียนประวัติและจริยธรรมของผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ ควรมีฐานะเป็นองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญและควรให้มีหน่วยงานในสังกัดที่สำคัญคือฝ่ายทะเบียนประวัติของผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ, ฝ่ายทดสอบความรู้และความสามารถของผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ และฝ่ายวิจัยและตรวจสอบจริยธรรมของผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ ซึ่งหน่วยงานทั้งสามควรมีบทบาท และหน้าที่โดยสังเขปดังนี้

2.1 ฝ่ายทะเบียนประวัติของผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ (ดูรูปที่ 1)

หน่วยงานนี้ควรมีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบและจัดทำทะเบียนประวัติผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ ซึ่งได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ และองค์กรอิสระต่างๆ เช่น กกต., คตง., ผู้พิพากษาศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา, สมาชิกสภานิติบัญญัติ, วุฒิสภาสมาชิก, คณะรัฐมนตรี และตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่งให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล

2.2 ฝ่ายทดสอบความรู้และความสามารถของผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ

หน่วยงานนี้ควรมีหน้าที่ในการจัดการทดสอบความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงานในทุกระดับ (ดัชนี HDI ของไทยอยู่ในลำดับที่ 89 ซึ่งค่อนข้างต่ำมาก)นอกจากนี้จะต้องทำการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย (Physical Test) และทดสอบสภาพทางจิต (Psychological Test) ของบุคคลที่ต้องการสมัครเข้ารับการเลือกตั้งหรือเข้ารับการสรรหาและคัดเลือกเป็นผู้ปฏิบัติงานให้รัฐอีกด้วย

2.3 ฝ่ายวิจัยและตรวจสอบจริยธรรมของผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ

หน่วยงานนี้ควรมีหน้าที่ในการศึกษาวิจัยและตรวจสอบประวัติและจริยธรรมของบุคคลที่ต้องการสมัครเข้ารับเลือกตั้งหรือสมัครเข้ารับการสรรหาและคัดเลือก เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลที่ได้กระทำการทุจริตฉ้อโกงหรือกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกระทำผิดกฎหมายอาญาต่างๆ ที่ไม่ได้เกิดจากความประมาท เข้ามาสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครเข้ารับการสรรหาและคัดเลือก

เมื่อทราบผลการทดสอบและตรวจสอบต่างๆ แล้ว สำนักทะเบียนประวัติและจริยธรรมของผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ จะต้องส่งผลการทดสอบและตรวจสอบดังกล่าวพร้อมประวัติของบุคคลให้คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือคณะกรรมการสรรหาและคัดเลือกได้พิจารณาดำเนินการต่อไป

3. ขั้นตอนการตรวจสอบและทดสอบบุคคลที่ต้องการสมัครเข้ารับเลือกตั้งหรือเข้ารับการสรรหาและคัดเลือก (ตัวอย่างแสดงในรูปที่ 1)

สำหรับการตรวจสอบและทดสอบบุคคลมีขั้นตอนที่แสดงในรูปที่ 1 สรุปได้ดังนี้

3.1 ผู้ที่ต้องการสมัครรับเลือกตั้งหรือเข้ารับการสรรหาหรือคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งต่างๆ ในองค์กรอิสระ, สภานิติบัญญัติ, วุฒิสภา, ศาลปกครอง, ศาลรัฐธรรมนูญ, คณะรัฐบาล หรือตำแหน่งทางการเมือง) ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งใด พื้นที่ใด จะต้องลงทะเบียนก่อนวันรับสมัคร (เพื่อลงเลือกตั้งหรือเพื่อเข้ารับการสรรหาหรือคัดเลือก) ไม่น้อยกว่า 1-3 เดือนเพื่อให้สำนักทะเบียนประวัติฯ ดำเนินการตรวจสอบประวัติและจริยธรรมของผู้สมัคร

3.2 หลังจากการตรวจสอบประวัติและจริยธรรมแล้ว ผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งหรือเข้ารับการสรรหาและคัดเลือกจะต้องเข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย(Physical Test) และการทดสอบสภาพจิตใจ (Psychological Test) ซึ่งจะทำให้ทราบว่า ผลการทดสอบที่ได้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือต่ำกว่าเกณฑ์ และที่สำคัญคือ ป่วยเป็นโรคร้ายแรงหรือมีอาการป่วยทางจิตหรือไม่

3.3 ถ้าผลการตรวจสอบประวัติและการทดสอบไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ผู้สมัครผู้นั้นจะไม่มีสิทธิสมัครเข้ารับเลือกตั้งหรือเข้ารับการสรรหาและคัดเลือก หรือไม่มีสิทธิที่จะดำรงตำแหน่งต่างๆ (ดูรูปที่ 1) ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งอีกต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ดี ถ้ามีการตรวจพบในภายหลัง (ในขณะดำรงตำแหน่ง) ว่ามีประวัติไม่เป็นไปตามที่กำหนด ก็ให้บุคคลนั้นสิ้นสภาพการดำรงตำแหน่งในทันที และต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้แก่รัฐ

4. การกำหนดบทลงโทษผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้สูงขึ้น

สำหรับการกำหนดบทลงโทษผู้ที่กระทำความผิดในเรื่องนี้ ผู้เขียนมีความเห็นดังนี้ 4.1 จะต้องกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่กระทำผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้รุนแรงและเด็ดขาดมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ซื้อสิทธิ์ขายเสียงและร่วมกันโกงการเลือกตั้งหรือการสรรหาและคัดเลือกจะต้องได้รับโทษเทียบเท่าคดีอาญา โดยไม่ให้มีการลดหย่อนโทษและไม่มีการรอลงอาญา

4.2 ควรกำหนดระดับความรุนแรงของบทลงโทษให้รุนแรงขึ้น โดยให้มีอัตราโทษต่างๆ เช่น การจำคุกตามลักษณะความผิดและระดับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสังคม(Social Damages) ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป, การยึดทรัพย์ของผู้กระทำผิดและเครือญาติที่เกี่ยวข้องเพื่อชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สังคมและประเทศชาติ, การให้ทำงานหรือใช้แรงงานของตนชดใช้ความเสียหายให้แก่สังคมและผู้ที่ได้รับความเสียหาย, การตัดสิทธิการสมัครเข้ารับเลือกตั้งหรือเข้ารับการสรรหาและคัดเลือก รวมทั้งการใช้สิทธิเลือกตั้งของบุคคลที่กระทำผิดชั่วชีวิต เป็นต้น

5. บทสรุป

แนวความคิดที่เสนอให้มีการจัดตั้งสำนักทะเบียนประวัติและจริยธรรมของผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ รวมทั้งการกำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ก็เพื่อให้ท่านที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกสภาปฏิรูปได้มีตัวอย่างรูปแบบของการตรวจสอบและทดสอบบุคคลที่ต้องการปฏิบัติงานให้รัฐ และนำไปพัฒนาให้เป็นรูปแบบที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในอนาคต

ท้ายบทความ : ความคิดเห็นของผู้เขียน

เนื่องจากสถาบันการศึกษาในแต่ละแห่งมีมาตรฐานการศึกษาในแต่ละสาขาวิชา และรวมทั้งผลงานทางวิชาการที่ได้มาตรฐานมากน้อยไม่เท่ากัน ดังนั้นผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากสถาบันการศึกษาต่างๆ แม้ในสาขาเดียวกัน ก็อาจมีความรู้ความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน มีบางท่านได้ให้ความเห็นว่า มีผู้ที่จบการศึกษาปริญญาเอกจากสถาบันบางแห่งอาจมีความรู้เทียบเท่าเพียงระดับปริญญาตรีของอีกสถาบันหนึ่งก็ได้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการให้คะแนนในเรื่องการศึกษาของผู้สมัคร จึงควรนำการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของโลก (World Ranking) ในสาขาวิชาของสถาบันการศึกษาที่ผู้สมัครจบการศึกษามาเป็นปัจจัยหนึ่งในการคำนวณคะแนนทางด้านการศึกษาของผู้สมัครแต่ละคนด้วย

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการป้องกันการความสับสนในเรื่องสถาบันการศึกษา จึงขอเสนอให้กระทรวงศึกษาและรัฐบาลปัจจุบัน (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับผู้ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาโท และปริญญาเอกทุกคน จะต้องระบุชื่อสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยที่บุคคลผู้นั้นจบการศึกษามา โดยเขียนชื่อมหาวิทยาลัยใส่วงเล็บไว้ท้ายตัวย่อของปริญญาที่จบการศึกษาเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบด้วยเพราะมีคนไทยบางคนชอบอวดอ้างวุฒิการศึกษาแต่ไม่มีความรู้ในระดับคุณวุฒิที่ได้จริงๆ และถ้าไม่มีการตรวจสอบและทดสอบที่มีประสิทธิภาพ ก็อาจหลุดลอดขึ้นไปดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ ของรัฐ ซึ่งไม่เพียงไม่ได้สร้างประโยชน์ใดๆ แต่ยังอาจก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อหน่วยงานและประเทศชาติของเราอีกด้วย

*ถ้าท่านต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กรุณาส่งข้อความที่ udomdee@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น