สอดแนมการเมือง
โดย...ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย
ความดี-คนดี กับ ความชั่ว-คนชั่ว ต่อสู้กันมาแต่โบราณกาลแล้ว!
เริ่มจากมนุษย์เกิดละโมบโลภมาก จนละทิ้งคุณธรรม-จริยธรรม-ศีลธรรม-ความซื่อสัตย์ กลุ่มคนชั่วจะใช้ทุกวิถีทาง ยึดครองและใช้อำนาจอย่างอยุติธรรม เพื่อหาประโยชน์ใส่ตนกับพวกพ้อง
ยุค “อีสป” ที่ผ่านมากว่า 2,800 ปี ก็มีนักการเมืองชั่วขึ้นครองอำนาจรัฐ มีการโกงชาติกันแล้ว อีกทั้งมีประชาชนต่อสู้-ขับไล่ผู้นำชั่วมิขาดสาย จนถูกปราบ-ถูกจำคุก-ถูกฆ่า ทำให้ปราชญ์ของโลกหลายคน ต้องพลีชีพอันทรงค่าไปพร้อมกับประชาชน
แม้ “อีสป” จะตายไปกว่า 2,800 ปี แต่หลายชาติในโลกยุคนี้ ยังมีคนชั่วครองอำนาจรัฐและโกงชาติมิหยุดหย่อน และดูเหมือนผู้นำยุคนี้จะชั่วช้ากว่าในอดีตด้วยซ้ำไป
ทีนี้มาอ่านนิทานที่ “อีสป” สอนคนในยุคนั้น ที่สอดคล้องใช้ได้กับคนในยุคนี้กันหน่อยดีไหม..
เรื่อง “เต่า กับ นกอินทรี” : เต่าตัวหนึ่งเบื่อหน่าย ที่ได้แต่คลานหรือใช้ชีวิตกับพื้นดิน เต่าแหงนมองฟ้าเห็นนกโบยบิน ก็อยากบินได้บ้าง วันหนึ่งเต่าจึงขอให้นกอินทรีสอนบิน นกอินทรีได้ทักท้วงว่า “เจ้าจะบินได้ยังไงในเมื่อไม่มีปีก” แต่เจ้าเต่าก็ไม่ฟัง ยืนยันจะต้องหัดบินให้ได้
นกอินทรีทนรบเร้าไม่ไหว จึงใช้กรงเล็บจับเจ้าเต่าเหินขึ้นฟ้า เจ้าเต่าตื่นเต้นดีใจสุดชีวิต รีบบอกนกอินทรีว่า “เอาล่ะ ปล่อยข้าเลย ข้าจะได้หัดบินสักที” นกอินทรีจึงตัดใจทำตาม เจ้าเต่าพยายามตะกายขา ทำท่าบินอยู่กลางอากาศ แต่ก็บินไม่ได้ อนิจจา! ร่างเจ้าเต่าจึงร่วงลงมากระแทกพิ้นและขาดใจตายในที่สุด
นิทานเรื่องนี้ “อีสป” สอนคนยุคนั้นและตรงกับคนยุคนี้ว่า “ความทะเยอทะยาน ใฝ่สูงเกินตัว มักนำความเดือดร้อนมาให้”
เรื่อง “หมาป่า กับ นกกา”: หมาป่าตัวหนึ่ง เห็นนกกาคาบเหยื่อเกาะอยู่บนกิ่งไม้ ด้วยความอยากได้เหยื่อนั้น จึงออกอุบายโดยกล่าวว่า “โอ้! ท่านนกผู้วิเศษ ท่านช่างสง่างาม ขนท่านสวยกว่านกทั้งปวง หากท่านเพียงเปล่งเสียงอันไพเราะ และคุณสมบัติอื่นของท่าน ดวงตะวันก็ไม่อาจส่องแสงให้ได้เห็นถึงสัตว์อื่น”
นกกาได้ยินก็พอใจอย่างยิ่ง อ้าปากเพื่ออวดเสียงแก่หมาป่า เหยื่อในปากจึงหล่นลง หมาป่าจึงตะครุบเหยื่อชิ้นนั้น และบอกแก่นกกาว่า “ในบรรดาสิ่งที่ข้ากล่าวแก่ท่านนั้น ยังมิได้เอ่ยถึงความฉลาด“
นิทานเรื่องนี้ “อีสป” สอนคนยุคนั้นและตรงกับคนยุคนี้ว่า “สำหรับผู้โง่เขลาเบาปัญญา คำสรรเสริญเยินยอจะยิ่งเพิ่มความโง่เขลาให้มากขึ้น”
เรื่อง “ม้า กับ ลา”: ม้าตัวหนึ่ง แต่งตัวด้วยเครื่องอานและบังเหียนงามหรู เดินไปพบลาตัวหนึ่ง ซึ่งบรรทุกสัมภาระหนักอึ้งบนหลัง ม้าบอกให้ลาหลีกทางว่า “เจ้าไม่เห็นหรือว่า ข้าแต่งตัวเช่นนี้ เพราะมีความ
สำคัญ น้ำหนักของอาณาจักรทั้งหมดอยู่บนหลังข้า ถ้าไม่หลีกทางให้ข้าโดยด่วน เจ้าจะถูกเหยียบแบนติดดิน” ลาน่าสงสารรีบหลีกทางให้
อยู่มาไม่นาน ลาได้พบม้าตัวนั้น ลากเกวียนบรรทุกสิ่งโสโครก จึงถามม้าว่า “เพื่อนรัก เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ไปได้เล่า” ม้าตอบว่า “ข้าเป็นม้าทหาร ถูกยิงในสงครามจนพิการ และเจ้าคงเห็นแล้วสินะว่า โชคชะตานั้นเปลี่ยนแปลงได้”
นิทานเรื่องนี้ “อีสป” สอนคนยุคนั้นและคนยุคนี้ว่า “อำนาจวาสนา หาใช่สิ่งจีรังยั่งยืนไม่ และจงอย่าลำพองใจไปเลย”
เรื่อง “ราชสีห์เฒ่า” : ราชสีห์ตัวหนึ่ง เมื่อยามหนุ่มมีเรี่ยวแรงและดุร้ายยิ่งนัก เมื่อแก่เฒ่าลง เรี่ยวแรงก็หมดสิ้นไป ต้องทนทุกข์ต่อคำเหยียดหยามจากสัตว์ทั้งหลาย บ้างแสดงความหยาบคาย บ้างก็อาฆาตมาดร้าย ราชสีห์เฒ่าระทมทุกข์ในการกระทำของสัตว์เหล่านั้น แต่ไม่มีสิ่งใดที่ทำให้ราชสีห์เจ็บช้ำใจมากไปกว่า การที่ลาตัวหนึ่งกระโดดเตะอย่างแรง
นิทานเรื่องนี้ “อีสป” สอนคนยุคนั้นและคนยุคนี้ว่า “เมื่อมีอำนาจวาสนา จะมีมิตรมากมาย และถ้าปฏิบัติต่อผู้ใดอย่างไรในยามมีอำนาจวาสนา ก็จะได้รับผลตอบแทนเช่นนั้น เมื่อสูญสิ้นอำนาจวาสนาแล้ว”
เรื่อง “หมาจิ้งจอก กับ ราชสีห์”: หมาจิ้งจอกตัวหนึ่ง ลากแกะที่จับได้มาตามทาง หวังจะเอาไปเป็นอาหารในรังตน ขณะนั้น ราชสีห์เดินออกจากถ้ำมาเห็นเข้า จึงตรงไปแย่งแกะ หมาจิ้งจอกจึงถามว่า “ท่านไม่นึกละอายแก่ใจบ้างหรือ ที่แย่งสมบัติของผู้อื่นเช่นนี้”
ราชสีห์หัวเราะชอบใจ แล้วกล่าวว่า “ที่เจ้าพูดเช่นนี้ จะให้ข้าเข้าใจว่า แกะตัวนี้ คนเลี้ยงแกะมอบให้แก่เจ้า โดยที่เจ้ามิได้ขโมยจากเขามาอย่างนั้นหรือ”
นิทานเรื่องนี้ “อีสป” สอนคนในยุคนั้นและคนยุคนี้ว่า “ผู้ทำความผิดความชั่ว จะกล่าวร้ายผู้อื่นได้อย่างไร แม้ผู้ที่ถูกกล่าวร้ายนั้น จะทำผิดทำชั่วเช่นตนก็ตาม”
เรื่อง “กวางหลงเงา”: กวางเขางามตัวหนึ่ง มองเงาตัวเองในน้ำใส พลางคิดว่า “เขาข้านี้งามเหลือเกิน แต่ขายาวเก้งก้างนี่สิ ช่างน่าเกลียดยิ่งนัก” ทันใดนั้น กวางได้ยินหมาล่าเนื้อเห่าคำรามมาแต่ไกล จึงวิ่งหนีเข้าไปในป่า เขางามของมันได้เกี่ยวกับกิ่งไม้ กวางจึงติดอยู่ตรงนั้น จนฝูงหมาล่าเนื้อวิ่งมาถึง และช่วยกันรุมกัดทันที
กวางรำพึงกับตนเองก่อนสิ้นใจว่า “ข้าช่างโง่เขลาเบาปัญญาอะไรเช่นนี้ ที่คิดว่าเขางามนั้นมีค่าและขาไม่สวยงาม จนต้องมาจบชีวิตอย่างน่าเวทนา”
นิทานเรื่องนี้ “อีสป” สอนคนยุคนั้นและคนยุคนี้ว่า “ผู้ไม่รู้จักตนเองโดยถ่องแท้ ย่อมไม่อาจแยกผิดจากถูก แยกสิ่งชั่วจากสิ่งที่ดีได้”
เรื่อง “นกนางแอ่นและนกตัวอื่นๆ” : ชายคนหนึ่งกำลังหว่านเมล็ดพืชลงในทุ่ง ซึ่งเป็นที่ที่นกนางแอ่นและนกตัวอื่นๆ กำลังกระโดดไปมาเพื่อจิกกินอาหาร “ระวังชายคนนั้นให้ดี” นกนางแอ่นกล่าวขึ้น “ทำไมล่ะ? เขากำลังทำอะไรอยู่หรือ?” นกตัวอื่นๆ พูด
“เขากำลังหว่านเมล็ดป่าน จงจิกกินเมล็ดนั่นเสีย ไม่เช่นนั้นพวกเจ้าจะเสียใจ” แต่นกเหล่านั้นไม่สนใจคำเตือนของนกนางแอ่น ในที่สุดเมล็ดป่านก็งอกเป็นต้น และถูกนำมาถักเป็นเชือก และเชือกก็ถูกนำมาทำเป็นตาข่าย นกหลายตัวที่เคยดูถูกคำเตือนของนกนางแอ่น ก็ถูกจับด้วยตาข่ายที่ทำจากเชือกป่าน
นิทานเรื่องนี้ “อีสป” สอนคนยุคนั้นและคนยุคนี้ว่า “จงทำลายเมล็ดพันธุ์แห่งความชั่วร้าย มิฉะนั้นมันจะทำให้เราพินาศย่อยยับ”
เรื่อง “แมว กับ หนู”: หนูฝูงหนึ่ง เห็นแมวนั่งนิ่งอยู่บนหิ้งเหมือนไม่มีชีวิต หนูตัวหนึ่งพูดว่า “แมวที่มีหน้าตาใจดีและเฉยเมยอย่างนี้ ควรจะเข้าไปผูกมิตรด้วย” แมวนิ่งเฉยรออยู่ เมื่อหนูตัวนั้นเข้ามาใกล้ จึงตะปบกินเป็นอาหาร
นิทานเรื่องนี้ “อีสป” สอนคนยุคนั้นและคนยุคนี้ว่า “ผู้ไว้ใจศัตรูด้วยความซื่อ ย่อมนำภัยมาสู่ตน”
เรื่อง “พ่อไก่ กับ หมาจิ้งจอก” : หมาจิ้งจอกตัวหนึ่งถูกล่ามอยู่ พ่อไก่มาเห็นหมาจิ้งจอกเข้า รีบบินหนีอย่างรวดเร็ว นกทั้งหลายเห็นดังนั้นก็กล่าวเยาะเย้ยพ่อไก่ พ่อไก่ได้ฟังคำจึงกล่าวว่า “จงฟังก่อน ท่านทั้งหลาย หมาจิ้งจอกที่ตายแล้ว กับหมาจิ้งจอกที่มีชีวิตอยู่แตกต่างกัน เมื่อวันก่อนหมาจิ้งจอกตัวหนึ่ง ตะครุบตัวข้าได้ ทำให้บาดเจ็บ และเมื่อเป็นเช่นนี้ แม้แต่รอยตีนหมาจิ้งจอกก็ทำให้ข้าตกใจได้ อย่าว่าแต่หมาจิ้งจอกทั้งตัวโผล่มาเช่นนี้เลย หากท่านทั้งหลายโดนอย่างข้าบ้าง จึงจะรู้”
นิทานเรื่องนี้ “อีสป” สอนคนยุคนั้นและคนยุคนี้ว่า “หากถูกทำร้ายเพียงครั้งเดียว ก็พึงจดจำผู้ที่ทำร้ายนั้น แม้จะดูเหมือนว่า หมดเขี้ยวเล็บแล้วก็ตาม”
อยากรู้ว่า..ท่านอ่านนิทาน “อีสป” แล้ว จะประยุกต์ใช้กับปัจจุบันอย่างไร..โพสต์มานะครับ!