xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯกฟผ.เบี้ยวปฏิรูป อัดเละโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดเวทีสัมมนา "ปฏิรูปพลังงาน:ปฏิรูปแล้วกระบี่ได้อะไร?" ชาวบ้านหวั่นเส้นทางถ่านหินกระทบแหล่งดำน้ำระดับโลก ระบุภาคใต้ใช้ไฟฟ้าเพียง 9 เปอร์เซ็นต์ ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม เผยพิจารณาแล้วชาวบ้านไม่ได้อะไรจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขณะที่ผู้ว่าฯกฟผ.เบี้ยวตอบรับแล้วไม่มา

วานนี้ (22 ก.ย.) เครือข่ายภาคประชาชนใน จ.กระบี่ได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ "ปฏิรูปพลังงาน : ปฏิรูปแล้วกระบี่ได้อะไร?" ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมกระบี่มาริไทม์ ปาร์ค แอนด์ สปา รีสอร์ท เขตเทศบาลเมืองกระบี่ โดยมีตัวแทนสาขาอาชีพต่างๆ เข้าร่วมประมาณ 200 คน

ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากแผนงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหิน กำลังการผลิต 870 เมกะวัตต์ และจะขยายเป็น 3,200 เมกะวัตต์ในอนาคต ทำให้ภาคประชาชนในพื้นที่กังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดต่อเมืองท่องเที่ยวและเกษตรกรรมอย่าง จ.กระบี่ ซึ่งขณะนี้สร้างรายได้เข้าประเทศจากการท่องเที่ยวอยู่ในอันดับที่ 5 ของประเทศ

**หวั่นถูกถอดออกจากบัญชีพื้นที่ชุ่มน้ำโลก

นายกิตติชัย เอ่งฉ้วน รอง อบจ.กระบี่ กล่าวในเวทีสัมมนาว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินจะส่งผลกระทบต่อ จ.กระบี่ ในหลายๆ ด้านและขัดแย้งต่อยุทธศาสตร์ Krabi Green City ที่หลายองค์กรใน จ.กระบี่ร่วมกันผลักดันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

"สิ่งที่เรามีอยู่แล้วคือการพัฒนาด้านพลังงานทดแทน ไม่ยากเลยที่กระบี่จะมีพลังงานทดแทน 100% เพราะที่นี่ผลิตปาล์มน้ำมันได้เยอะ นอกจากนี้ หากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินจะทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำของกระบี่ที่ได้รับการคุ้มครองจากสนธิสัญญาแรมซาร์ อาจถูกถอดออกจากบัญชีพื้นที่ชุ่มน้ำโลกไปในที่สุด"

**เส้นทางถ่านหินกระทบแหล่งดำน้ำระดับโลก

นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา จ.กระบี่ กล่าวว่า ปัจจุบัน จ.กระบี่ มีแหล่งท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่นิยมของนักดำน้ำทั่วโลกอยู่หลายแห่ง เช่น เกาะจำ เกาะไหง ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้อาจไม่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทย แต่กลับเป็นจุดหมายปลายทางของนักดำน้ำจากทั่วโลก ที่ต้องการมาชมความสวยงามของโลกใต้ท้องทะเล จ.กระบี่

"แหล่งดำน้ำดังกล่าวเป็นหนึ่งในสินค้าทางการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ โดยในปี 2555 ที่ผ่านมา จ.กระบี่ มีรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 4,200 ล้านบาทและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็น 7,000 ล้านบาทภายในปี 2 ปีนี้ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใน จ.กระบี่ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 3 รองจาก จ.สงขลา และ จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดที่สร้างรายได้เข้าประเทศสูงเป็นอันดับที่ 5 กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อมลพิษในสภาพอากาศ หากที่นี่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น ตัวเลขที่กล่าวมาก็จะต้องหายไปอย่างแน่นอน"

**ใต้ใช้ไฟเพียง 9%ไม่จำเป็นต้องสร้างเพิ่ม

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา สมาคมคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลประมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศพบว่า ในพื้นที่ภาคใต้มีการใช้ไฟฟ้ารวมกันคิดเป็นร้อยละ 9 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าของทั้งประเทศ ในขณะที่พื้นที่ภาคกลางมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 64 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น หากดูจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าแล้วพบว่าไม่ยุติธรรมหากภาครัฐจะเข้ามาสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มในพื้นที่ โดยให้คนในพื้นที่แบกรับผลกระทบที่จะตามมา

"เมื่อพิจารณาในเรื่องกลุ่มคนที่พยายามผลักดันเรื่องนี้เมื่อนับจำนวนดูแล้วมีอยู่ไม่เกิน 20 คนซึ่งมีบทบาทมาวางแผนกำหนดอนาคตของประชาชน ในขณะที่ประชาชนนับแสนนับล้านคน กลับถูกกีดกันไม่ให้มีส่วนร่วมรับรู้ และกำหนดแผนอนาคตของตัวเองซึ่งมองว่าไม่ยุติธรรม"

**ติงภาครัฐอย่าดึงดัน ฟังเสียงปชช.ก่อน

นายอาหลี ชาญน้ำ ชาวบ้าน ต.ปกาสัย อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ กล่าวว่า กรณีการสร้างท่าเรือขนถ่านหิน และโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินใน จ.กระบี่ที่ผ่านมา ชาวบ้านไม่ได้ขัดขวางการพัฒนาของภาครัฐ แต่การพัฒนาของภาครัฐต้องไม่ไปทำร้าย หรือทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้าน หากจะมีการพัฒนาจะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องต่อวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ด้วย

"เมื่อเร็วๆ นี้มีเรือบรรทุกปูนซีเมนต์จมลงในทะเล พอชาวบ้านถามว่ากรณีแบบนี้ใครรับผิดชอบ ได้รับคำตอบมาว่า บริษัทประกันรับผิดชอบ แต่เขารับผิดชอบเฉพาะสินค้ากับเรือที่จม เขาไม่ได้มารับผิดชอบเรื่องสภาพแวดล้อมที่มันเสียไป ตอนนี้หลายคนเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบอย่างไร นี่แค่ปูนซีเมนต์ หากเป็นถ่านหินจะส่งผลเสียหายใหญ่โตอย่างแน่นอน"

นายสมนึก กรดเสือ ชาวบ้าน ต.ปกาสัย อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ กล่าวว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านใน ต.ปกาสัย ต้องได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ในพื้นที่ โดยมีประชาชนเสียชีวิตจากโรคมะเร็งกว่า 30 คน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสงสัย เพราะไม่เคยปรากฏมาก่อน

"เราพบว่ามีการนำขี้เถ้าถ่านหินไปกองไว้ในพื้นที่บ้านคลองขนาน เมื่อมีฝนตกถูกน้ำชะล้างเกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำธรรมชาติ และยังกระจายไปสู่ทะเล เป็นไปไม่ได้ที่มันจะไม่กระทบต่อชีวิตสัตว์ และคน นอกจากนี้ น้ำร้อนจากโรงไฟฟ้ายังทำให้สัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนมากล้มตายไปไม่สามารถแพร่กระจายพันธุ์ได้ สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยพึ่งพาทะเลเป็นแหล่งหากิน ส่วนกระแสไฟฟ้าที่ได้ก็เกินความจำต่อการใช้ของคนกระบี่ทั้งจังหวัด ฉะนั้นประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน"

**ผู้ว่าฯ กฟผ.เบี้ยวตอบรับแล้วไม่มา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเสวนาในช่วงบ่ายซึ่งตามกำหนดการ นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะมาร่วมเวทีเสวนาด้วย แต่เมื่อถึงเวลาปรากฏว่านายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ไม่ได้เดินทางมาร่วมที่เวทีเสวนา โดยไม่ชี้แจงเหตุผล ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มประชาชนที่มาร่วมฟังการเสวนา เนื่องจากหลายคนต้องการฟังคำตอบจาก กฟผ.ว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไปหลังจากได้รับทราบความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่ผู้ว่าฯ กฟผ.ไม่เดินทางมาร่วมเสวนาเนื่องจากไม่สามารถตอบคำถามในประเด็นที่ชาวบ้านสงสัย โดยเฉพาะความจำเป็น และการป้องกันผลกระทบกับระบบนิเวศทางทะเลได้

**แนะเดินหน้าอนุรักษ์พลังงาน

นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะอนุกรรมการจัดทำแผน PDP กล่าวว่า ตามแผนของ กฟผ.กำหนดให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 5 โรง ทั้งที่ในปัจจุบันพบว่า นโยบายการอนุรักษ์พลังงานของกระทรวงพลังงาน สามารถช่วยลดการใช้พลังงานลงได้เกือบ 30,000 ล้านหน่วย เท่ากับสามารถลดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินลงได้ถึง 6 โรง ในขณะที่แผนการของปี 2573 กระทรวงพลังงาน ตั้งเป้าอนุรักษ์พลังงานให้ได้ 116,813 ล้านหน่วย ตามแผนนี้จะช่วยลดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ 25 โรง แต่พบว่า แผน PDP ยังคงแนวคิดในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไว้ที่ 25 เปอร์เซ็นต์เสมอ ทั้งที่แผนการอนุรักษ์พลังงานมีคำตอบชี้ชัดว่าไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ต้องหันมาเอาจริงต่อการอนุรักษ์พลังงานต่อไป

"นอกจากนี้ ยังมีกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จ่ายเข้าระบบได้ถึงเกือบ 5,000 เมกะวัตต์ ขณะที่อีก 8,000 เมกะวัตต์ กำลังรอทำสัญญาขายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แสดงให้เห็นว่าเรามีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพียงพอจากพลังงานหมุนเวียน และการอนุรักษ์พลังงาน ในขณะที่หากสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะก่อให้เกิดมลพิษอยู่ในอากาศไม่ต่ำกว่า 150 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อฐานรายได้ของชาวกระบี่ที่มีรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว ประมง และการเกษตร ซึ่งรายได้เกือบครึ่งหนึ่งของกระบี่มาจากส่วนนี้ ประชาชนในพื้นที่จำเป็นต้องรักษาไว้ให้ได้"
กำลังโหลดความคิดเห็น