xs
xsm
sm
md
lg

เยี่ยมบ้านประหยัดพลังงานของ “หมอขันนอต”

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดเวทีสัมมนาเรื่อง “สิทธิชุมชนในการใช้ประโยชน์จากพลังงานหมุนเวียนในภาคไฟฟ้า” ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่

ในช่วงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผู้ร่วมสัมมนาท่านหนึ่งซึ่งเป็นนายแพทย์ได้เชิญผู้มีประสบการณ์ตรงในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเพื่อผลิตไฟฟ้ามาเล่าให้ผู้ร่วมสัมมนาฟัง ท่านนี้มีอาชีพเป็นนายแพทย์เช่นเดียวกัน หลังการพูดคุยผมได้ขอให้ท่านเขียนชื่อและเบอร์ติดต่อ พบว่าท่านมีชื่อออกเสียงเป็นภาษาจีน แต่นามสกุลเป็นภาษาไทย

ในวันรุ่งขึ้นผมขออนุญาตไปเยี่ยมบ้านและชมแผงโซลาร์เซลล์พร้อมกับคณะอีกจำนวนหนึ่ง “ถ้ามาจริงผมมีของเล่นให้ดูเยอะเลย”

“ผมเป็นหมอกระดูก หมอขันนอตนั่นแหละ บ้านผมไปทางอำเภอหางดงประมาณ 11 กิโลเมตรจากทางแยกสนามบิน”

ท่านได้บอกผมในภายหลังว่า “เดิมนามสกุลแซ่ด่าน แต่พอจะเข้ามหาวิทยาลัย ทางราชการเขาบังคับให้เปลี่ยนนามสกุล แต่เขาบังคับเฉพาะนามสกุล ไม่บังคับให้เปลี่ยนชื่อ ผมก็เลยเปลี่ยนเฉพาะนามสกุล และยังคงใช้ชื่อเดิมซึ่งเป็นภาษาจีนจนถึงทุกวันนี้” นี่คือความน่าสนใจที่เป็นตัวของตัวเองที่อยู่ในส่วนลึกของคุณหมอที่ผมซึ่งเป็นคนรุ่นเดียวกันสัมผัสได้

“ทำไมบ้านเย็นดีจัง ทั้งๆ ที่ไม่ได้ติดเครื่องปรับอากาศ” หนึ่งในผู้มาเยือนตั้งคำถามทันทีที่เข้าไปในบ้านในช่วงบ่ายของวันที่มีแดดจัดมาก

“อ๋อ ผนังบ้านชั้นล่างก่อด้วยอิฐสองชั้นครับ ทำให้อุณหภูมิภายในบ้านเปลี่ยนแปลงไม่มาก ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้อนหรือหน้าหนาว” เจ้าของบ้านตอบอย่างภูมิใจ

“บ้านหลังนี้ผมออกแบบเอง เป็นบ้านสามชั้น ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2543 การก่อสร้างได้เตรียมโครงเหล็กไว้เหนือดาดฟ้าหลังคาไว้เพื่อติดแผงโซลาร์เซลล์ตั้งแต่ขั้นออกแบบแล้ว แต่ไม่ได้ติดเพราะตอนนั้นแผงราคาแพงมาก เพิ่งมาติดได้จริงเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้เอง”

ระหว่างทางที่กำลังเดินไปดูแผงโซลาร์เซลล์บนดาดฟ้า เราได้พบ “ของเล่น” ของคุณหมอขันนอตจำนวนหลายชิ้น ทั้งที่ทำเสร็จแล้วและยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งที่ใช้งานได้จริง ทั้งที่เป็นงานประดิษฐ์เล่นๆ

ในจำนวนนี้คุณหมอ (ท่านไม่อนุญาตให้ผมเปิดเผยชื่อและรูปถ่าย) ได้ติดตั้งเครื่องทำน้ำร้อนด้วยแสงแดดไว้ใช้ด้วยซึ่งก็คงจะประหยัดพลังงานไปได้เยอะ

“ผมสนใจงานประดิษฐ์เกี่ยวกับไฟฟ้าและวิทยุมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่อายุ 13 ปี โดยได้แนวคิดมาจากการได้อ่านหนังสือของอาจารย์บุญถึง แน่นหนา”

“แล้วทำไมไม่เรียนวิศวะฯ เสียเลย” ผมถาม

“ตอนนั้นไม่มีคณะวิศวะฯ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมจึงเรียนแพทย์ แล้วจึงมาเป็นหมอขันนอตตามที่ชอบ ผมเข้ามหาวิทยาลัยปี 2510 ผมเรียนเร็วกว่าคนอื่น 2 ปี”
ถังเก็บน้ำร้อนจากพลังงานแสงแดด และโครงหลังคาบนดาดฟ้า แผ่นโซลาร์เซลล์อยู่ด้านบนของกระเบื้อง
แบบจำลองเครื่องยนต์ที่สันดาปภายนอก (ประดิษฐ์ตามแนวคิดของนักคิดต้นแบบ) ใช้พลังงานจากการขยายตัวของอากาศที่เกิดจากแผ่นทองแดงด้านบนถูกแดดเผามากกว่าแผ่นล่าง ประสิทธิภาพการแปลงพลังงาน 39% (ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับโซลาร์เซลล์ที่ 15-16%)
กลับมาที่รายละเอียดของเรื่องโซลาร์เซลล์ตามคำบอกเล่าของคุณหมอนักประดิษฐ์อีกครั้งครับ

ด้านการลงทุน

คุณหมอเริ่มต้นด้วยการค้นคว้าข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต แล้วสั่งซื้อจากประเทศจีน โดยเลือกชนิดโพลีคริสตัลไลน์ขนาดแผ่นละ 280 วัตต์ จำนวน 24 แผ่น ในราคาแผ่นละ 6,500 บาท รวมเป็นเงิน 156,000 บาท (ราคายังไม่รวมภาษี 7% และค่านำสินค้าออกอีกจำนวนหนึ่ง) คิดเป็นพื้นที่ 48 ตารางเมตร ถ้าเป็นแผ่นเก่าราคาจะถูกกว่าคือแผ่นละ 4,500 บาท

วินเวิตส์เตอร์ขนาด 3.3 ถึง 8.0 กิโลวัตต์ (สินค้าเยอรมนี ซื้อในประเทศไทย) ราคา 8 หมื่นบาท (คุณหมอบอกว่าถ้าขนาด 3.0 ราคาประมาณ 4-5 หมื่นบาท)

เซอร์กิตเบรกเกอร์และอุปกรณ์ป้องกันฟ้าผ่าประมาณ 2 พันบาท

รวม 3 รายการและภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วประมาณ 249,000 บาท

คุณหมอไม่ได้คิดค่าโครงเหล็กที่ใช้ยึดแผ่นโซลาร์เซลล์กับหลังคา(ซึ่งราคาไม่แพง) ไม่ได้คิดค่าสายไฟและไม่ได้คิดค่าแรงเพราะคุณหมอทำเองหมด

หมายเหตุ ผมค้นจากอินเทอร์เน็ต พบว่าบริษัทรายหนึ่งเสนอราคาทั้งระบบขนาด 6.0 กิโลวัตต์ ในราคา 4.82 แสนบาท (ไม่รวม VAT 7%) โดยรับประกัน 3 ปี ในขณะที่ขนาด 3.42 กิโลวัตต์ราคา 3.12 แสนบาท เราจะเห็นราคาที่คุณหมอทำเองประมาณ 60% ของราคาที่บริษัทเสนอ

ขั้นตอนการดำเนินการ แบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ

(1) คือการยื่นแบบโครงสร้างหลังคาอาคารและอุปกรณ์การติดตั้งพร้อมคำรับรองของวิศวกร ต่อสำนักงานการไฟฟ้าภูมิภาคเขต ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 เดือนก็ได้รับการอนุญาต โดยไม่มีการจ่ายใต้โต๊ะ

(2) ยื่นความประสงค์เพื่อจะขายไฟฟ้าต่อคณะกรรมการกำกับกิจการตั้งแต่พลังงานเมื่อเดือนมีนาคม 2557 ปัจจุบันยังไม่ได้รับการอนุญาต

ด้านการผลิตไฟฟ้า

อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แปลงกระแสไฟฟ้ากระแสตรงเป็นกระแสสลับ (อินเวิตส์เตอร์) จะทำหน้าที่บันทึกการผลิตไฟฟ้า ดังรูป

ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา แผงโซลาร์เซลล์ขนาด 6.72 กิโลวัตต์สามารถผลิตไฟฟ้าได้จำนวน 2,872 หน่วย (kwh) หมายเหตุ ผมไม่แน่ใจว่าได้รวม 7 วันแรกของเดือนที่ 9 หรือกันยายนด้วยหรือไม่

แต่ในที่นี้ ขอสมมติว่าไม่ได้รวม ดังนั้นโดยเฉลี่ยแล้วสามารถผลิตได้เดือนละ 574 หน่วย ถ้าราคาไฟฟ้าหน่วยละ 4.50 บาท คิดเป็นเงินเดือนละ 2,584 บาท (หมายเหตุเดือนที่อากาศหนาวหรือเมฆมากอาจจะได้น้อยกว่านี้)

คิดเป็นผลตอบแทนรายปีก็ประมาณ 12% ของเงินลงทุนแม้ไม่ได้รับการสนับสนุนด้านราคาเลย

เปรียบเทียบราคากับประเทศออสเตรเลีย

ผมได้เปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างต้นทุนของคุณหมอนักประดิษฐ์ซึ่งนำเข้าเองบางส่วนและใช้แรงงานของตนเอง ความรู้ความสามารถของตนเอง พบว่ามีต้นทุนประมาณ 60% ของที่ให้บริษัทติดตั้งให้ (แบบ turn key) ต่อไปนี้ผมจะนำเสนอต้นทุนในประเทศออสเตรเลียให้ดูกันบ้าง

ผมขอเลือกเอาระบบขนาด 3 กิโลวัตต์

ข้อมูลจาก solarchoice.net.au พบว่า ราคาเฉลี่ยทั่วทุกรัฐอยู่ที่ 1.89 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัตต์

หรือ 1.81 แสนบาท หรือประมาณ 2 ใน 3 ของราคาที่บริษัทในประเทศไทยเสนอราคา

ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายของประเทศออสเตรเลีย (ภายใต้โครงการ Small-scale Technology Certificate, STC) ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนระหว่าง 0.66 ถึง 0.69 ดอลลาร์ต่อวัตต์ หรือประมาณ 6.3 ถึง 6.6 หมื่นบาทต่อ 3 กิโลวัตต์

หรือประมาณครึ่งหนึ่งของโครงการรถคันแรกรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จำนวนประมาณ 1.2 ล้านคัน ลองย้อนคิดดูนะครับว่า ถ้าเรากระจายการผลิตไฟฟ้าไปให้เจ้าของบ้านจำนวน 1.2 ล้านหลังแล้วจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจสักขนาดไหน ทั้งการกระจายแรงงานและรายได้จากการขายไฟฟ้า

นอกจากนี้ จากข้อมูลแหล่งเดียวกันพบว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม 2555 ถึง สิงหาคม 2557 ราคาระบบโซลาร์เซลล์ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 2.3 ดอลลาร์ต่อวัตต์ เป็น 1.9 ดอลลาร์ต่อวัตต์

เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้บอกผมว่า “ในเวียดนาม ถ้าใครติดโซลาร์เซลล์รัฐบาลจะอุดหนุนจำนวน 150 ดอลลาร์สหรัฐ” (แต่ไม่ได้ระบุขนาด) ข้อมูลเหล่านี้คงพอให้เราเห็นความแตกต่างเชิงนโยบายของรัฐบาลประเทศต่างๆ ได้ไม่มากก็น้อย

ในการแถลงนโยบายของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (12 กันยายน 2557) ได้พูดเชิงสงสัยและต่อว่าผู้ที่เชื่อว่าประเทศไทยมีแหล่งพลังงานมาก ถ้าผมจำไม่ผิดท่านพูดว่า “ใครว่ามีพลังงานเยอะบอกมาซิ”

ผมขอเรียนท่านนายกฯ ด้วยความเคารพด้วย 2 ภาพง่ายๆ ว่ แหล่งพลังงานที่มากที่สุดอยู่บนหัวเรานี่เอง ไม่ต้องไปหลงหาที่ไหนให้เสียเวลา มันคือดวงอาทิตย์

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า พลังงานที่มนุษย์ทั้งโลกใช้ทั้งปีรวมกันเท่ากับพลังงานที่พระอาทิตย์ส่องมาถึงผิวโลกเพียง 8 นาทีเท่านั้น

ที่คนไม่เห็นคุณค่าของความจริงนี้ก็เพราะพวกพ่อค้าพลังงานฟอสซิลมันหลอกลวงเรา

และภาพที่สอง ถ้ารัฐบาลส่งเสริมให้คนติดโซลาร์เซลล์ขนาด 10 กิโลวัตต์ 1 หลัง จะได้พลังงานเท่ากับถ่านหิน (หรือไม่ต้องนำเข้าถ่านหิน) จำนวน 264 ตันตลอด 25 ปี ดังภาพ

ผมไม่แปลกใจในความเห็นที่แตกต่างกันของคนที่คิดและพูดอย่างบริสุทธิ์ใจ

ครั้งหนึ่งแม้แต่ ศาสตราจารย์พอล ครุกแมน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ยังมีความคิดเกี่ยวกับพลังงานลมและแสงอาทิตย์ว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันของพวกฮิปปี้ แต่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ เขาได้ออกมาสารภาพแล้วว่า “แต่ผมผิดไปแล้ว” (I thought of the idea that wind and sun could be major players as hippie-dippy wishful thinking. But I was wrong.)

ถ้าสนใจ หาอ่านบทความนี้ได้ที่ http://www.nytimes.com/2014/04/18/opinion/krugman-salvation-gets-cheap.html?_r=0

แต่กับคนที่ไม่บริสุทธิ์ใจและหากมีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลังด้วยแล้ว ท่านนายกฯโปรดคิดให้มากหน่อยครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น