xs
xsm
sm
md
lg

ขานรับช่อง3จอดำ คุยไม่จบเรียงช่องทีวี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ผู้ให้บริการโครงข่ายดาวเทียม-เคเบิล ไม่ขัดขืน ยันพร้อมงดออกอากาศช่อง 3 หลังได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ พร้อมขอ กสทช. เตรียมแผนตอบข้อสงสัยผู้บริโภค เมื่อถึงวันจอดำ ส่วนเรื่องเรียงช่อง ป้องกันประชาชนสับสน ผู้ให้บริการเสียงแตก มีทั้งหนุนและค้าน ด้านอาร์เอสย้ำ ต้องบังคับใช้กฎมัสต์แอฟอย่างเคร่งครัดกรณีเอเชี่ยนเกมส์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น. วานนี้ (10 ก.ย.) ผู้ให้บริการโครงข่ายดาวเทียมและเคเบิลทีวี ได้เข้ามาหารือเรื่องการงดออกอากาศช่อง 3 ระบบอนาล็อกบนโครงข่ายดาวเทียมและเคเบิล ร่วมกับตัวแทนกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) คือ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ และน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ โดยผู้ประกอบการทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันว่าจะปฏิบัติตามหนังสือที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้ง นับจากวันที่ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการ

ตัวแทนจากจานเหลืองดีทีวี กล่าวว่า ตอนนี้มีสิ่งที่น่าเป็นห่วงอยู่ 2 ประการ คือ ประการแรกเรื่องการทำอักษรวิ่งแจ้งให้ผู้บริโภคทราบ เพราะทางผู้ให้บริการคงไม่สามารถทำตัววิ่งไปทับในรายการใดรายการหนึ่งของผู้อื่นได้ และประการที่สอง คือ ถ้าถึงวันที่ช่อง 3 จอดำ จะเกิดคำถามกับประชาชน ซึ่งทางผู้ให้บริการต้องรับศึกหนักกับการตอบคำถามผ่านคอลเซ็นเตอร์ เพราะผู้ให้บริการไม่สามารถรับเรื่องร้องเรียนได้ทั้งหมด สุดท้ายก็จะถูกผู้บริโภคต่อว่า จึงต้องการให้ทาง กสทช.ดูแลเรื่องนี้ด้วย

น.ส.สุภิญญากล่าวว่า ขณะนี้ กสทช. พร้อมส่งหนังสือแจ้งผู้ประกอบการโครงข่ายแล้ว โดยจะส่งทางไปรษณีย์แบบตอบรับ คาดว่าจะถึงผู้ให้บริการโครงข่ายที่มีอยู่จำนวนกว่า 400 ผู้ให้บริการภายใน 1-2 วัน ส่วนเรื่องข้อความที่จะวิ่งบนรายการ ทาง กสทช. จะเป็นผู้คิดข้อความให้ ขณะที่เรื่องคอลเซ็นเตอร์ กสทช. ก็จะทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคโทรเข้ามาสอบถามที่คอลเซ็นเตอร์ หมายเลข 1200 ของ กสทช. แทน

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการโครงข่ายยังได้หารือร่วมกับกรรมการ กสท. เพิ่มเติมถึงปัญหาเรื่องการเรียงช่องใหม่ โดยในการหารือดังกล่าว นอกจากชมรมผู้ประกอบการโทรทัศน์โครงข่ายดาวเทียมและเคเบิลที่ไม่เห็นด้วยกับการเรียงช่องแล้ว ยังมีตัวแทนจากสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยเข้าร่วมหารือด้วยความเห็นที่แตกต่างกัน

นายณัฏฐชัย อักษรดิษฐ นายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมขอสนับสนุนเรื่องการเรียงช่อง เพราะจะช่วยให้คนดูไม่สับสน หากจะดำเนินการเรื่องเรียงช่องใหม่ ก็ควรรีบดำเนินการเลย โดยผู้ให้บริการที่เป็นสมาชิกของสมาคมกว่า 350 ราย ทุกอำเภอ ทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมเรื่องนี้แล้ว

"เราขอบอกว่าเราเป็นคนละกลุ่มกับชมรมฯ ที่เขาคัดค้าน ชมรมฯ ที่คัดค้าน เขาเพิ่งรวมตัวกันได้ไม่ถึงเดือน เขาก็มาชวนพวกผม แต่ผมไม่เห็นด้วย ผมจึงต้องยื่นหนังสือสนับสนุน ผมเป็นผู้ให้บริการเคเบิล ผมเก็บเงินกับผู้ชมเป็นรายเดือน เราไม่มีรายได้จากการเก็บค่าเรียงช่อง ส่วนคนอื่นจะเก็บหรือไม่ผมไม่รู้"

ขณะที่ตัวแทนจากชมรมผู้ประกอบการโทรทัศน์โครงข่ายดาวเทียมและเคเบิล ยังคงยืนยันตามหนังสือคัดค้านที่ได้ยื่นไปแล้วเมื่อวันที่ 9 ก.ย.2557 โดยนายมานพ โตการค้า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอพีเอ็ม จำกัด และประธานชมรมฯ กล่าวว่า ชมรมฯ ยังคงต้องการเรียกร้องขอความเป็นธรรม ให้เอกชนแข่งขันกันอย่างแท้จริง โดยเฉพาะผู้กำกับอย่าง กสทช. ต้องดูแลผู้ให้บริการทั้งหมดอย่างทั่วถึง

ทางด้าน พล.ท.พีระพงษ์ กล่าวว่า สิ่งที่ชมรมฯ เสนอมาทำให้รู้สึกหนักใจ และต้องกลับไปคิดว่า กสทช. ต้องดูแลพวกท่านด้วย แต่สิ่งที่เราตัดสินใจไป แม้ว่าจะต้องเจอกับก้อนหิน เหมือนอย่างกรณีเรื่องช่อง 3 เราก็ยินดี เพราะก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งโยนดอกไม้ตามมา

ทางด้านนางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์โลก 2014 ซึ่งถือเป็น 1 ใน 7 รายการโทรทัศน์สำคัญที่เผยแพร่ได้เฉพาะในฟรีทีวีเท่านั้นตามหลักประกาศมัสต์ แฮฟ (Must Have) กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ที่ผ่านมาบริษัทไม่เคยเห็นด้วยกับประกาศมัสต์ แฮฟ เพราะมองว่าจะทำให้กลไกทางการตลาดเสีย แต่เนื่องจากมีการประกาศออกมาบังคับใช้แล้ว ทางบริษัทจึงยอมรับตามประกาศ โดยมีการยื่นขอความเป็นธรรมฟ้องร้องศาลปกครองแค่ไม่ให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง

สำหรับกรณีที่โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) มีหนังสือขออนุญาต กสทช. เพื่อขออนุญาตเผยแพร่การแข่งขันเอเชียนเกมส์ผ่านบริการโทรทัศน์ช่องทางอื่น ที่ไม่ใช่บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป (ฟรีทีวี) นั้น บริษัทมีความคิดเห็นดังนี้ 1.การแข่งขันเอเชียนเกมส์ถือเป็นรายการโทรทัศน์สำคัญที่เผยแพร่ได้เฉพาะในฟรีทีวีเท่านั้น ตามหลักประกาศมัสต์แฮฟ ซึ่งนิยามของฟรีทีวีในปัจจุบันหมายถึงช่องดิจิตอล รวมถึงช่องอนาล็อกที่ออกอากาศคู่ขนานกับช่องดิจิตอล อันได้แก่ ช่อง 5. ช่อง 7, ช่อง 9, ช่อง NBT และช่องไทยพีบีเอส

2.การขออนุญาตถ่ายทอดสดผ่านบริการโทรทัศน์ช่องทางอื่นที่ไม่ใช่ฟรีทีวี อันได้แก่ ช่องดาวเทียม รวมถึงช่องอนาล็อกที่ไม่ได้ออกอากาศคู่ขนานกับดิจิตอล ต้องเป็นการถ่ายทอดสดแบบคู่ขนานกับฟรีทีวีเท่านั้น หาก กสท. จะพิจารณาอนุญาตต้องใช้ดุลยพินิจในการอนุญาตอย่างรอบคอบ มีเหตุผลชัดเจน และเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และความเสมอภาคในการประกอบกิจการ ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานในการใช้ดุลยพินิจต่อไปในอนาคต

3.หากจะขออนุญาตถ่ายทอดสดถ่ายบริการโทรทัศน์ช่องทางอื่นที่ไม่ใช่ฟรีทีวี อันได้แก่ ช่องดาวเทียม รวมถึงช่องอนาล็อกที่ไม่ได้ออกอากาศคู่ขนานกับดิจิตอล โดยนำการแข่งขันในส่วนที่ไม่ได้ถ่ายทอดสดทางฟรีทีวี แต่จะนำมาถ่ายทอดสดทางบริการโทรทัศน์ช่องทางอื่น กสท. ไม่สามารถใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาอนุญาตได้ เพราะขัดกับหลักประกาศมัสต์แฮฟ ซึ่งกสท. เป็นผู้กำกับดูแลพึงจะต้องปฎิบัติตามกฎ ระเบียบที่ตนเองสร้างขึ้นอย่างเคร่งครัด หากฝืนใช้ดุลยพินิจอนุญาตย่อมเป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา

"ถ้าจะบอกว่าไม่มีใครจะรู้ซึ้งกับปัญหาของประกาศมัสต์แฮฟเท่ากับอาร์เอสก็คงไม่ผิด มาวันนี้ กสทช. ซึ่งเป็นผู้ออกประกาศฉบับนี้ ก็จะได้ตระหนักด้วยตนเอง ที่ผ่านมา เราไม่เคยเห็นด้วยกับประกาศมัสต์แฮฟ แต่เมื่อท่านประกาศมาบังคับใช้แล้ว เราก็ยอมรับมัน ตอนที่ฟ้องศาลปกครอง ก็แค่ฟ้องว่าไม่ควรบังคับใช้ย้อนหลัง ดังนั้น ในฐานะผู้ออกกฎและบังคับใช้ วันนี้ กสทช. จะได้เข้าใจว่าแก่นของปัญหาของประกาศมัสต์แฮฟมันคืออะไร” นางพรพรรณกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น