xs
xsm
sm
md
lg

“ลอตเตอรี่”เกินราคา แก้ยากหรือไม่อยากแก้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**ดูเหมือน 3 เดือนกว่าที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ความเด็ดขาดจะเป็นเหมือนโลโก้ของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ”มาโดยตลอด ยิ่งพูดถึงปัญหาสังคมต่างๆ ที่ คสช.เข้าจัดระเบียบแบบได้ดอกไม้เสียงเชียร์กลับมากระหึ่ม ส่งผลให้เรตติ้งดีไม่มีตกจนถึงตอนนี้
อิทธิพลมืด การพนัน ยาเสพติด อาวุธสงคราม วินมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ รถตู้ ชายหาด บาทวิถี ตลอดจนไปถึงการจัดระเบียบที่ดิน รุกที่ป่าสงวน อุทยาน ที่สาธารณะ เจอท๊อปบูตงัดไม้แข็งเคลียร์คัทกันทั่วทุกหัวระแหง
** ทว่าปัญหาเรื่องสลากกินแบ่งรัฐบาลขายเกินราคา กลับไม่สะทกสะท้านแม้แต่น้อยในยุคคสช.
เพราะแม้ในช่วงแรกจะถูกจับจ้องว่า คสช. จะเอาจริงเอาจัง และคนไทยจะได้ซื้อล็อตเตอรี่กันในราคา 80 บาท ตามที่หน้าสลากระบุไว้ได้ แต่ก็ต้องหงายเงิบเมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”หัวหน้า คสช. ที่ออกปากถึงปัญหานี้หลายต่อหลายครั้ง ผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ กลับพูดว่า เป็นเพียงการขอความร่วมมือจากผู้ค้าไม่ให้ขายเอากำไรจนเกินไป ขอไม่ให้เกิน 92 บาท ส่วนใครที่จะซื้อใบละ 80 บาท จะจัดจุดขายไว้ให้
กลายเป็นว่ายักษ์ที่มีกระบองอยู่ในมือหวดปัญหาทุกเรื่อง กลับยอมถอยให้เรื่องล็อตเตอรี่แพงอย่างน่าสงสัยไม่ใช่น้อย
ใจหนึ่งคนไทยก็อาจดีใจ ที่ได้ซื้อลอตเตอรี่ถูกลงหน่อย จากราคาตามท้องตลาด 100-120 บาท แต่ก็ดีใจไม่สุด เพราะหวังว่าจะได้ซื้อลอตเตอรี่ใบละ 80 บาทจริงๆเสียที
สะท้อนได้จากผล “กรุงเทพโพลล์”ที่ได้ให้คะแนน การบริหารงานของ คสช. 6.9 เต็ม 10 คะแนน การแก้ปัญหาหลายๆ ด้านคะแนนเกือบเต็มร้อย แต่คะแนนการดูแลเรื่องการขายลอตเตอรี่เกินราคาที่ร้อยละ 56.4 สอบผ่านแบบฉิวเฉียด
**ถือเป็นด้านที่ประชาชนพึงพอใจน้อยที่สุดในนโยบายของ คสช.
ไม่เท่านั้น คนไทยดีใจได้ไม่ทันไร ผ่านไปเพียง 2-3 งวดไม่กี่อึดใจ ตอนนี้ราคาล็อตเตอรี่กลับเข้าวังวนเดิมในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะงวดล่าสุด 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่เลขเด็ดซึ่งเกี่ยวกับ “นายกฯประยุทธ์”ถูกเหมาจนเกลี้ยงแผง ราคาตามท้องตลาดก็พุ่งขึ้นไปแตะเพดานเดิมที่ 100-120 บาทอีกแล้ว
เหตุผลที่ “พล.อ.ประยุทธ์”เคยให้ไว้ในเรื่องนี้ ถึงการที่ไม่สามารถจัดการได้อย่างเด็ดขาด“เนื่องจากหลายอย่างติดอยู่ในสัญญาเดิม หลายอย่างต้องหมดสัญญาในเร็ววันนี้”
ล่าสุดหลาย “สัญญาเดิม”บางส่วนก็ได้หมดลงตามวาจาของ นายกฯประยุทธ์ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ผู้รับผิดชอบ ก็ได้เปิดให้ผู้ค้ารายย่อยลงทะเบียนเพื่อแสดงความจำนงค์ที่จะขอโควตาสลาก 45 ล้านฉบับ
ที่น่าสนใจก็เป็นคำพูดของ "บิ๊กปุ๋ย" พล.ต.ฉลองรัฐ นาคอาทิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลป้ายแดง ที่ “บิ๊กตู่”ส่งเข้ามาสะสางปัญหาในกองสลาก พูดให้นโยบายเมื่อครั้งเปิดการลงทะเบียน และแสดงตัวของผู้ค้าสลากรายย่อยเอาไว้ว่า “ผู้มาแสดงตนจากการรับโควตา 45 ล้านฉบับ และลงทะเบียนจะต้องขายสลากราคาแนะนำ 80-90 บาท เพราะมีต้นทุน 74.40 บาท จึงขอให้ผู้ซื้อสังเกตสลากจากผู้ค้ารายย่อยที่รับโควตา หลังจากนี้จะส่งสายตรวจออกตรวจการขายสลากอย่างเข้มงวด ทั้งผู้ขายจริง และสลากไม่เกินราคา หากไม่ดำเนินการตามเงื่อนไขจะยึดสลากคืนเพื่อจัดสรรให้รายอื่นทันที”
ถอดรหัสคำพูดของ“บิ๊กปุ๋ย”ก็ต้องบอกตรงๆว่า เป็นคำพูดที่ขัดกันในตัวเอง โดยระบุว่า ต้นทุน 74.40 บาท ราคาแนะนำ 80-90 บาท โดยเฉพาะประโยคเข้มๆที่ว่า “หากไม่ดำเนินการตามเงื่อนไข จะยึดสลากคืนเพื่อจัดสรรให้รายอื่นทันที”
คำถามมีว่า ผู้ค้าที่ขาย 90 บาทต่อใบ ถือว่าจำหน่ายเกินราคาหรือไม่ เพราะราคาที่ระบุหน้าสลากเขียนไว้ตัวเข้มๆ ว่า 80 บาท การที่ปล่อยให้ผู้ค้าจำหน่ายในราคา 90 บาท ถือเป็นการ “เปิดช่อง”เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ค้าหรือไม่ เพราะรู้อยู่เต็มอกว่า สลากที่ผ่านมือรายย่อย ท้ายที่สุดก็ถูก “ยี่ปั๊วรายใหญ่”รวบโควต้าไว้ในมือ
**กระทั่งวันลงทะเบียน ก็มี“ยี่ปั๊วรายใหญ่” มาตั้งโต๊ะรวบรวมสลากกันอย่างโจ๋งครึ้ม
ดูเหมือนว่าจะหืดจับทีเดียว สำหรับ คสช.ที่จะเข้ามาล้มกระดาน-รื้อระบบปัญหาการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา
**ยากเกินแก้ หรือไม่อยากแก้ คือคำถามที่หลายคนฝากไปถึง คสช.
ที่ผ่านมามีการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหานี้มาหลายต่อหลายรัฐบาล แต่ก็ไม่มีการตอบรับใดๆ โดยเฉพาะในยุคที่นักการเมืองเรืองอำนาจอยู่ เพราะรู้กันอยู่ว่า สำนักงานสลากฯ ก็ไม่ต่างจาก “ขุมทรัพย์”ของทุกๆรัฐบาล ทั้งที่การแก้ไขปัญหา
ตัดวงจรไม่ให้ “ยี่ปั๊วรายใหญ่”เข้ามาสอดแทรกแสวงผลประโยชน์ หรือเอารัดเอาเปรียบผู้ค้ารายย่อยได้ ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องยอมรับว่า ปัญหานี้อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน การออกมาตรการที่เข้มงวดในการห้ามขายสลากฯ เกินราคาก็ไม่อาจแก้ปัญหาได้ เนื่องจากบทลงโทษที่เบา ทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัว ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจ เจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง ไม่ให้ความสำคัญในการจับกุมดำเนินคดี
พลิกตำรากฎหมายดูก็พบว่า โทษของการจำหน่ายสลากฯ เกินราคามีอัตราโทษที่ “เบาหวิว”อย่าง พระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 มาตรา 39 ที่ระบุว่า ผู้ใดเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ และยังไม่ได้ออกรางวัลเกินราคาที่กำหนดในสลากกินแบ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
หรือการขายสลากพิเศษหรือสลากการกุศลอื่นๆ เกินราคา ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 9 ทวิ ห้ามมิให้ผู้ใดเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งที่ออกจำหน่ายตาม มาตรา 9 และที่ยังมิได้ออกรางวัลเกินกว่าราคาที่กำหนดในสลาก มาตรา 9 ตรี ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 9 ทวิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับ ไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
**โทษข้างต้นเทียบไม่ได้เลยกับผลประโยชน์ของวงจรอุบาทว์นี้
และไปๆมาๆการแก้ปัญหาโดยบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด กลับส่งผลกระทบเฉพาะ “ผู้ค้ารายย่อย”ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้พิการ มากกว่า “ยี่ปั๊ว”หรือ “พ่อค้าคนกลาง”รวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาที่ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
ที่น่าเป็นห่วงคือ แนวทางแก้ปัญหาเรื่องราคาสลากฯแพงในระยะสั้นของ คสช. และสำนักงานสลากฯ ที่กำหนดให้ขายได้ใน “ราคาแนะนำ” ที่ 90-92 บาท นอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ยังสุ่มเสี่ยงที่จะทำผิดต่อกฎหมายเองอีกด้วย เอาง่ายๆ ก็คงเป็น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ที่เปิดช่องให้มีการจำหน่ายสลากฯใน“ราคาแนะนำ”ซึ่งเกินจากราคาที่กำหนด
เพราะสำนักงานสลากฯมีหน้าที่มีหน้าที่ “กำหนดราคา วิธีการจำหน่าย และการคัดเลือกตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล” ตามมาตรา 13(7) ของ พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 ส่วนมาตรา 39 ก็เป็นข้อห้ามในการขายเกินราคา ตามที่อ้างไปไม่กี่บรรทัดก่อนหน้านี้
เมื่อ สักนักงานสลากฯ กำหนดราคาลอตเตอรี่ออกมาแล้วที่ 80 บาท แต่ปล่อยให้มีการขายเกินราคา ย่อมเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ยิ่งมีการให้ข่าวกำหนด“ราคาแนะนำ”ก็ย่อมเป็นพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่า สำนักงานสลากฯ กำลังละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
**ตามหลักคิดนี้ คสช. ในฐานะกำกับดูแลทุกหน่วยงานก่อนหน้านี้ ก็ถือว่าร่วมยุยงส่งเสริมการกระทำผิดไปด้วยหรือไม่ ??
กำลังโหลดความคิดเห็น