xs
xsm
sm
md
lg

จ้างหญิงไทยอุ้มบุญทำพิษ เด็กเชื้อสายอิสราเอลตกค้างอื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-กระทรวงการต่างประเทศแฉชาวอิสราเอลจ้างหญิงไทยอุ้มบุญกว่า 50 ราย ชี้ผิดกฎหมายชัด ระบุเกิดปัญหาเด็กตกค้างในประเทศไทยเพียบ เหตุข้อกฎหมายเรื่องการอุ้มบุญไม่ชัดเจน จี้ผลักดันร่างกฎหมายการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์

วานนี้ (30 ก.ค.) ที่โรงแรมริชมอนด์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้จัดสัมมนา เรื่อง "มาตรการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ของสถานพยาบาล" โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แพทยสภา สถานพยาบาลเฉพาะทางด้านสูติกรรม ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และกระทรวงการต่างประเทศ มาร่วมแก้ไขปัญหาการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ผิดกฎหมาย ทั้งการเลือกเพศ การซื้อขายไข่ และการอุ้มบุญ

นายธาตรี เชาวชตา ผู้อำนวยการกองสัญชาติและนิติกร กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ผิดกฎหมายกำลังเป็นปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะการรับจ้างอุ้มบุญจากชาวต่างชาติ ซึ่งการอุ้มบุญโดยที่ไม่ใช่สายเลือดเดียวกันนั้นถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย โดยตั้งแต่ปลายปี 2556 ถึงขณะนี้พบเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญเชื้อสายอิสราเอล แต่มีแม่สัญชาติไทยเป็นคนอุ้มบุญ ตกค้างในประเทศไทยถึง 50 ราย เนื่องจากเด็กที่เกิดขึ้นถือเป็นคนไทย ทำให้พ่อแม่ชาวอิสราเอลไม่สามารถนำตัวเด็กกลับประเทศเพื่อไปใช้สัญชาติอิสราเอลได้ เพราะติดขัดในข้อกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจน

นอกจากนี้ ยังพบว่า บางรายพ่อแม่ที่ต้องการเด็กเป็นคู่ชายรักชาย ขณะนี้ได้ประสานกับทางตำรวจว่าลักษณะนี้เข้าข่ายผิดกฎหมายค้ามนุษย์หรือไม่ เพราะมีมาติดต่อขอสัญชาติ โดยบางรายพ่อแม่มาติดต่อขอนำเด็กกลับเอง แต่เมื่อนำเด็กกลับไม่ได้ ก็จะให้กลุ่มนายหน้ามาขอทำเรื่องเด็กออกจากไทยแทน แต่ขณะนี้ทั้ง 50 ราย ยังไม่มีการออกหนังสืออนุญาตให้ออกนอกประเทศ

นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา อธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ กล่าวว่า กรณีอุ้มบุญให้ชาวอิสราเอลทั้ง 50 รายนั้น หากเป็นการกระทำเพราะมีบุตรยาก มีแพทย์ที่ชำนาญการมาดูแล และมีญาติเป็นผู้อุ้มบุญ ไม่ได้ทำเพื่อการซื้อขายหวังผลกำไรถือว่าไม่ใช่การค้ามนุษย์ แต่ถ้าทำเพื่อต้องการกำไร มีการจ้างหรือเสนอตัวโดยขอค่าจ้างถือว่าเป็นการค้ามนุษย์แน่นอน ส่วนเด็กทั้ง 50 รายนั้น ควรได้ไปอยู่กับผู้ที่เป็นเจ้าของเชื้อจริงๆ เนื่องจากเรื่องนี้กว่าจะตีความได้ต้องใช้เวลานาน การแก้ไขที่ดีที่สุด คือ การให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาเป็นประเด็นเร่งด่วน

ทั้งนี้ จะต้องรีบออก พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ... ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาแล้ว เพราะหากยังไม่มีกฎหมาย ก็จะมีความพยายามทำให้การอุ้มบุญเป็นธุรกิจ โดยใช้ช่องว่างทางกฎหมายหาเงิน และอาจเป็นปัญหากับสังคมอีกด้วย

นายณัฐจักรกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวกำหนดชัดว่า 1.บุตรที่เกิดขึ้นมาจะต้องเป็นบุตรของคู่สามีภรรยาที่มาฝากอุ้มบุญ ซึ่งจะเป็นการรับรองโดยไม่ต้องจดทะเบียนรับรองบุตร 2.ตัวสัญญาที่เกิดขึ้นมาต้องมีลักษณะ เช่น การอุ้มบุญต้องเป็นการทำเฉพาะกรณีจำเป็นเท่านั้น 3.ทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 4.มีการรับรองว่าเด็กที่เกิดมาจะได้รับการอุปการะเลี้ยงดู และ 5.แพทย์ที่ทำต้องชำนาญการและผ่านการรับรองด้านสูตินรีแพทย์ทั้งหมด รวมถึงต้องไม่ทำเพื่อการซื้อขาย และห้ามไม่ให้สถานพยาบาลออกการโฆษณา ซึ่งขณะนี้สถานพยาบาลใช้ช่องว่างทางกฎหมายออกมาโฆษณาเพื่อหวังกำไร

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า กลางเดือนส.ค.นี้ แพทยสภาเตรียมจัดประชุมคณะกรรมการแพทยสภา เพื่อทบทวนเรื่องประกาศและมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ซึ่งจัดทำโดยราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ เพื่อป้องกันการใช้เทคโนโลยีช่วยอนามัยเจริญพันธุ์ที่ผิด ทั้งการรับจ้าง เลือกเพศ อุ้มบุญที่ผิดกฎหมาย เบื้องต้นได้มีการปรับร่างกฎหมายใหม่ให้มีความชัดเจนขึ้น เช่น ไม่ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ในกลุ่มชายรักชาย หญิงรักหญิง หญิงโสด รวมถึงห้ามประชาสัมพันธ์เชิญชวนบริจาคไข่ และผู้ที่จะทำได้ต้องมีความเกี่ยวข้องทางสายเลือด เคยผ่านการมีบุญมาแล้ว 1 คน เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น