xs
xsm
sm
md
lg

"ประจิน"แขวน5บิ๊กบินไทย เดินหน้าล้างบางขั้วผลประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บอร์ดการบินไทยโยก 5 ผู้บริหารระดับสูง "ประจิน"เดินแผนสลายอำนาจ ล้างบางกลุ่มผลประโยชน์ในบริษัทพร้อมกับผลักดันแผนฟื้นฟูกอบกู้วิกฤติ พนักงานหวังแก้ปัญหาแก้งค์กินหัวคิวจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด ตั้งข้อสังเกตุตั้งระดับผู้อำนวยการใหญ่ทำหน้าที่แทน ยังผิดหวังระบบเส้นสายพรรคพวกยังแก้ไม่หมด

จากการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ครั้งพิเศษ ที่ 3/2557 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2557 ซึ่ง พล.อ.อ.ศิวเกียรติ์ ชเยมะ กรรมการในฐานะรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย ได้ชี้แจงว่า ที่ประชุมได้แต่งตั้งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 5 คน ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นทีมที่ปรึกษารักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) โดยมีหน้าที่หลักคือ ผลักดันการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟู ประกอบด้วย นายโชคชัย ปัญญายงค์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน นายปานฑิต ชนะภัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่หน่วยธุรกิจบริการการบิน นายธีรพล โชติชนาภิบาล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการพาณิชย์ นายนิรุฒ มณีพันธ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายพัฒนาทรัพยากรบุคคลและกำกับกิจกรรมองค์กร และนายดนุช บุนนาค รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายรายได้เสริมองค์กร

ต่อมาวันที่ 25 กรกฎาคม พล.อ.อ.ศิวเกียรติ์ ชเยมะ ได้ลงนามในคำสั่งบริษัทฯ ที่ 124/2557 เรื่อง มอบหมายการปฎิบัติหน้าที่ โดยยกเลิกคำสั่ง บริษัทฯ ที่ 118/2557 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 เรื่องจัดตั้งกลุ่มงานเฉพาะกิจสำหรับการแก้ไขภาวะวิกฤติเร่งด่วนของบริษัทฯ และมอบหมายการปฎิบัติหน้าที่รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 3 คน ประกอบด้วย 1.นายโชคชัย ปัญญายงค์ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาอาวุโสรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 2. นายปานฑิต ชนะภัย ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษา รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 3.นายธีรพล โชติชนาภิบาล ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ โดยให้จัดทำแผนเร่งด่วนในการเร่งรัดการหารายได้และแผนฟื้นฟูบริษัทฯ โดยครอบคลุมงานด้านการขายและการตลาดของการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ การหารายได้เสริมอื่นๆ , เร่งรัดการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามแผนที่จัดทำขึ้นรวมถึงการติดตามผลและปรับปรุงแก้ไข ,จัดหาคณะทำงานเพื่อช่วยปฎิบัติงานได้ตามความเหมาะสมรวมทั้งถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในเรื่องที่เชี่ยวชาญ โดยให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานที่ปรึกษาเพื่อผลักดันแผนเร่งด่วนและแผนฟื้นฟูบริษัทให้สำเร็จลุล่วง

4. นายดนุช บุนนาค รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายรายได้เสริมองค์กร ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ โดยปฏิบัติหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านธรรมาภิบาลและการบริการ 5. นายนิรุฒ มณีพันธ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายทรัพยากรบุคคลและกำกับกิจกรรมองค์กร ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ โดยปฏิบัติหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย 6. เรืออากาศเอกมนตรี จำเรียง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่าง รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมอบหมาย 7. เรืออากาศโทเฉลิมพล อินทรวงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายซ่อมบำรุงอากาศยาน ปฏิบัติหน้าที่รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่าง อีกตำแหน่งหนึ่ง 8. ร้อยตรีอนุสสรณ์ นาคศรีชุ่ม กรรมการผู้จัดการฝ่ายบริการอุปกรณ์ภาคพื้น รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่หน่วยธุรกิจบริการการบิน อีกตำแหน่งหนึ่ง 9. เรืออากาศเอกกนก ทองเผือก ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายพัฒนาและฝึกอบรมบุคลากร รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายทรัพยากรบุคคลและกำกับกิจกรรมองค์กร อีกตำแหน่งหนึ่ง

10. เรืออากาศโทสุรพล อิศรางกูร ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการฝ่ายครัวการบิน รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการพาณิชย์ โดยให้มอบหมายการปฏิบัติหน้าที่กรรมการผู้จัดการฝ่ายครัวการบิน ให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน 11. นายพูนศักดิ์ ชุมช่วย กรรมการผู้จัดการฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ ปฏิบัติหน้าที่ กรรมการผู้จัดการฝ่ายครัวการบิน อีกตำแหน่งหนึ่ง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นไป

แหล่งข่าวจากบริษัทการบินไทยได้ข้อสังเกตุว่า ผู้บริหารที่มีการโยกย้ายออกจากตำแหน่งและให้ไปทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษารักษาการดีดีนั้น ล้วนเติบโตมาในยุคที่นายอำพน กิตติอำพน เป็นประธานบอร์ดทั้งสิ้น ซึ่งพนักงานมองว่าเป็นการเริ่มต้นในการสลายกลุ่มผลประโยชน์ภายในบริษัทฯ ที่อาศัยอำนาจของฝ่ายบริหาร ทั้งเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ที่แต่ละปีมีการรั่วไหลมหาศาล ทำให้การบินไทยขึ้นชื่อเรื่องซื้อของแพง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้ยังมีระบบกินหัวคิวพนักงานจ้าง (Outsource) ทำให้บริษัทเสียหายปีหนึ่งๆ เป็นเงินหลักพันล้านบาท เนื่องจากบริษัทการบินไทยถือหุ้น 100% ในบริษัท วิงสแปน โดยให้วิสแปน ทำหน้าที่ดูแลพนักงาน Outsource มีนายโชคชัย เป็นประธานบริษัท โดยการบินไทยจ่ายค่าจ้างให้พนักงาน Outsource วิงสแปน 500-800 บาทต่อหัวต่อวัน ตัดค่าดำเนินการ 34% ถึงพนักงาน วิงสแปน ประมาณ 300-500 บาทต่อหัวต่อวัน ขณะเดียวกันบริษัท แพลนไทย ซึ่งเป็นบริษัท Outsource อีกรายซึ่งการบินไทยไม่ได้ถือหุุ้น แต่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แพลนไทยที่ 1,200-1,500 บาทต่อหัวต่อวัน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ประธานบริษัท แพลนไทยเป็นคนมีสีระดับบิ๊ก และยังมีอดีตผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยร่วมรับผลประโยชน์มายาวนานแล้ว

แหล่งข่าวกล่าวว่า การที่มีกลุ่มผู้บริหารปัจจุบันใช้อำนาจหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์ จนทำให้มีการรั่วไหลอย่างมหาศาล ในขณะที่ธุรกิจการบินในปัจจุบันมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้นทุกสายกาคบินต้องปรับตัว พยายามลดค่าใช้จ่ายและหารายได้เพิ่มในทุกช่องทาง แต่การบินไทยยังอยู่บริหารงานกันแบบเดิมๆ ด้วยระบบผลประโยชน์ที่ฝั่งรากลึก ส่งผลให้ขาดทุนต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากพล.อ.อ.ประจินได้รับแต่งตั้งเป็นประธานบอร์ดได้ค่อยๆ แก้ปัญหาซึ่งการปรับโครงสร้างโดยเน้นไปที่ตัวบุคคลน่าจะเป็นหนึ่งในแนวทางแก้วิกฤติ นอกเหนือจากแผนฟื้นฟูบริษัท

อย่างไรก็ตาม หลังมีคำสั่งโยกย้ายล่าสุดออกมา ได้เกิดคำถามในหมู่พนักงานในส่วนของผู้ปฎิบัติหน้าที่แทนรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บางตำแหน่งว่าไม่เหมาะสม เช่น สายการพาณิชย์และธุรกิจบริการการบิน โดยเฉพาะสายการพาณิชย์ซึ่งเป็นส่วนงานหลักในการสร้างรายได้ของบริษัท ควรให้ผู้บริหารระดับรองในสายงานนั้น ขึ้นมาทำหน้าที่จะดีกว่าเพราจะมีความเชี่ยวชาญในสายงานมากกว่า ซึ่งต้องดูกันต่อไปว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งไหนอีกหรือไม่.
กำลังโหลดความคิดเห็น