xs
xsm
sm
md
lg

ใครจะหยุด “โมเมนตัมเพื่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม” ได้!

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

คนที่ชอบดูการแข่งขันเทนนิสคงจะเคยได้ยินผู้บรรยายพูดว่า “อย่าทำให้คู่ต่อสู้ได้ใจเดี๋ยวโมเมนตัมจะเปลี่ยน” ซึ่งหมายถึงเป็นสถานการณ์ที่ผู้ตกเป็นรองจะพลิกกลับมาเป็นผู้ได้เปรียบด้วยผลงานและกำลังใจที่สะสมมาได้ในช่วงสั้นๆ นั้นจนสามารถชนะเกมการแข่งขันในที่สุด

จริงๆ แล้วคำว่า “โมเมนตัม (Momentum)” เป็นศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ แล้วมันมาเกี่ยวอะไรกับสถานการณ์ในการแข่งขันจนนำไปสู่แนวโน้มของผลการแข่งขัน

ในทางวิทยาศาสตร์สาขาย่อยที่เรียกว่าฟิสิกส์ โมเมนตัมหมายถึงปริมาณที่เป็นผลคูณระหว่างมวลกับความเร็วของวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่หรือเรียกว่าประกอบด้วยสองปัจจัยคูณกันคือมวลกับความเร็ว

โมเมนตัมไม่ใช่แรง แต่เป็นผลโดยตรงมาจากแรงที่มากระทำกับวัตถุนั้นให้เคลื่อนที่ และจริงๆ แล้ว “มวล” ของวัตถุไม่ใช่น้ำหนักตามที่คนส่วนมากข้าใจ แต่ถ้าคูณมวลด้วยค่าแรงโน้มถ่วงของโลกซึ่งเป็นค่าคงที่ก็จะหมายถึงน้ำหนักของวัตถุ ดังนั้นเราจึงนิยมพูดให้เข้าใจกันง่ายๆ ว่า วัตถุใดมีน้ำหนักมาก (ซึ่งหมายถึงมีมวลมากด้วย) ถ้าเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงก็จะมีโมเมนตัมมาก

ถ้ารถสิบล้อกับรถจักรยานยนต์มีความเร็วเท่ากัน เราพบว่าโมเมนตัมของรถสิบล้อจะสูงกว่าโมเมนตัมของรถจักรยานยนต์เพราะว่ารถสิบล้อมีน้ำหนักมากกว่ารถจักรยานยนต์ ดังนั้นการจะหยุดรถสิบล้อจึงต้องใช้แรงภายนอกมากระทำ (ซึ่งมักหมายถึงแรงเสียดทานบนถนน) มากกว่าการหยุดรถจักรยานยนต์เราสามารถสรุปได้ว่า โมเมนตัมเป็นปริมาณที่บอกถึงความยากง่ายของการทำให้วัตถุหยุดการเคลื่อนที่ก็ได้ การหยุดรถสิบล้อย่อมยากกว่าการหยุดรถจักรยานยนต์หลายสิบเท่าแน่นอน

อย่างไรก็ตาม วัตถุที่มีมวลน้อยนิดแต่มีความเร็วสูงมากๆ เช่น ลูกปืน แต่โมเมนตัมของลูกปืนก็มากและอันตรายมาก ใครก็หยุดมันได้ยากเช่นเดียวกัน

ที่กล่าวมาแล้วมันเกี่ยวอะไรกับชื่อบทความนี้ที่มีคำว่า “โมเมนตัมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม”

ผมอยากให้เราย้อนคิดไปถึงสถานการณ์บ้านเมืองก่อนที่จะเกิด คสช.เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ในช่วงนั้นไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดปรากฏการณ์ “มวลมหาประชาชน” จำนวนมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศไทยในหลายๆ ด้าน

“มวลมหาประชาชน” ดังกล่าวก็คือ “มวล” ในความหมายของวิชาฟิสิกส์ดังที่กล่าวข้างต้นนั่นเอง ข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศไทยก็คือ ความต้องการ “การเปลี่ยนแปลงสังคม” ซึ่งก็คือ “ความเร็วของวัตถุ” นั่นเอง

ดังนั้นข้อเรียกร้องของมวลมหาประชาชนดังกล่าวก็คือ “โมเมนตัมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” โมเมนตัมดังกล่าวไม่ใช่แรงก็จริง แต่เป็นผลมาจากแรงที่เกิดจากอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมและกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายด้วยพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้นักการเมืองแบบเหมาเข่งและ “ลักหลับ”

โมเมนตัมมีลักษณะพิเศษคือสามารถถ่ายทอดและส่งผ่านให้กันและกันได้ เมื่อลูกบอลลูกแรกมีโมเมนตัมก็สามารถส่งต่อไปยังลูกอื่นๆที่อยู่ถัดไปได้ ดังรูปประกอบ

ถ้าเราดึงลูกบอลทางซ้ายมือสุดออกมา 2 ลูกแล้วปล่อยพร้อมกัน ซึ่งหมายถึงการเพิ่ม “มวล” ของวัตถุ โมเมนตัมและผลการกระแทกก็จะเปลี่ยนไป ใครมีของเล่นชิ้นนี้อยู่ก็ลองดูครับ สนุกดี

สังคมไทยได้เริ่มสะสมโมเมนตัมของการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่ามาเป็นลำดับ เหตุการณ์ที่สำคัญก็คือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ตลอดเวลาที่ผ่านมา โมเมนตัมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมก็ขึ้นๆ ลงๆ ด้วยสาเหตุต่างๆ กัน รวมทั้งการถูก “หยุด” ด้วยแรงของการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ได้สะสมโมเมนตัมทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพเรื่อยมา

ในขณะนี้ ดูผิวเผินก็เหมือนว่าโมเมนตัมเพื่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยถูกทำให้หยุดลงด้วย “แรง” ของ คสช. แต่นั่นเป็นแค่ภาพที่ปรากฏ หรือเป็นการ “หยุด” ในเชิงปรากฏการณ์และชั่วคราวเท่านั้น

เท่าที่ผมประเมินจากคนที่ผมสัมพันธ์ด้วย ส่วนใหญ่เข้าใจถึงความจำเป็นว่าจะต้องมีใครมาหยุดไม่ให้คนจำนวนหนึ่งเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ศพแล้วศพเล่าและบาดเจ็บร่วมพันคน โดยที่กลไกของรัฐโดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงประชาชนเห็นด้วยว่าจะต้องมีใครมาหยุดอำนาจของนักการเมืองที่สามานย์รวมทั้งการคอร์รัปชันที่เพิ่มขึ้นจนลุกลามเหมือนไฟลามทุ่ง

เรื่องดังกล่าวผมคิดว่า คสช.กำลังพยายามแก้ไขปัญหาอยู่นะ ผมเชื่อ ผมเห็น ใครๆ ก็เห็น แต่ประเด็นที่กำลังเป็นแนวโน้มของปัญหาก็คือ ด้วยปัญหาที่ซับซ้อนของสังคมซึ่งเกินกว่าที่ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะสามารถแก้ไขได้โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอันถือเป็นองค์ประกอบมหึมาและสำคัญของโมเมนตัม แต่ผมคิดว่า คสช.กำลังถูกยัดไส้ด้วยข้าราชการประจำชั้นผู้ใหญ่ที่มีกลุ่มทุนอยู่เบื้องหลัง

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่เล็ดลอดออกมา (แต่ยังไม่เป็นข่าว) ก็คือความพยายามที่จะนิรโทษกรรมเรืออวนลากที่เป็นเรือประมงพาณิชย์ที่ทำลายล้างและผิดกฎหมายของกรมประมง

ข้าราชการระดับสูงของกรมประมงได้อาศัยคำประกาศของ คสช.ที่ให้มีการปราบปราม “การค้ามนุษย์” ซึ่งเกิดขึ้นบางส่วนในธุรกิจประมงพาณิชย์ เพื่อเสนอให้นิรโทษกรรมเรืออวนลากหลายพันลำซึ่งได้พยายามมานานนับปีแล้ว แต่ได้ถูกต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์และกระแสสังคม

เหตุการณ์ปัจจุบันดังกล่าวจึงกลายเป็นว่า แทนที่ คสช.จะใช้อำนาจของตนไปหยุดยั้งความไม่ถูกต้องในสังคม แต่กำลังจะถูกใช้เป็นเครื่องมือไปหยุดพลังที่สร้างสรรค์ของประชาชนที่ร่วมกันรักษาฐานทรัพยากรแหล่งอาหารของชาวประมงพื้นบ้านที่ได้เรียกร้องให้ยกเลิกเรืออวนลากที่ผิดกฎหมายมานานแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จเพราะกลไกของรัฐไม่ทำงานตามที่ควรจะเป็น

ในอดีต ในช่วงรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นสมัย รสช. (2534) และ คมช. (2549) เหตุการณ์ในลักษณะนี้ก็ได้เกิดขึ้นมาแล้ว เช่น การให้สัมปทานดาวเทียม การแก้กฎหมายปิโตรเลียมให้บริษัทต่างชาติสามารถมีแปลงสัมปทานได้อย่างไม่จำกัดนับแสนตารางกิโลเมตร การยัดแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (หรือแผนพีดีพี) เป็นต้น

นี่คือบทเรียนในอดีตที่ คสช.ควรต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูงในปัจจุบันนี้ ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะความพยายามยัดไส้ในกรมประมงเท่านั้น แต่กำลังจะมีโครงการลวงโลกนับแสนล้านบาทในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน 800 เมกะวัตต์ การจะเปิดให้สัมปทานรอบใหม่ด้วยคำขู่ว่าจะขาดแคลนพลังงานทั้งๆ ที่สามารถนำแสงแดดมาใช้แทนได้อย่างไม่ต้องสงสัย รวมถึงการส่งทหารไปลงพื้นที่ที่เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนกับกลุ่มอนุรักษ์ฐานทรัพยากรทั้งโปแตสและปิโตรเลียม เป็นต้น

ทางเดียวที่ท่านจะสามารถรอดปากเหยี่ยวปากกาที่จะคอยยัดไส้จากทุกกรณีก็คือ การยึดหลัก 3 ประการที่ผมได้เสนอไว้แล้วเมื่อสัปดาห์ก่อนคือ (1) การทำความคิดให้เป็นระบบ (2) การมีความกล้าหาญในการตัดสินใจไม่ใช่ประชานิยม และ (3) การถือหลักการว่าประชาชนคือพันธมิตรที่สำคัญที่สุด ต้องอิงประชาชน ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม

ประชาชนกำลังสะสมโมเมนตัมที่มีพลังมหาศาล ประวัติศาสตร์สอนเราเสมอมาว่า ใครก็ตามหากไม่ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักก็จะพังทุกรายไม่ช้าก็เร็ว

ผมพูดถึง “โมเมนตัม” มามากแล้ว แต่ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมาก เป็นปัจจัยในทางฟิสิกส์เช่นกัน คือ “โมเมนต์ของความเฉื่อย (Moment of Inertia)” ซึ่งด้วยคำแปลในภาษาไทยทำให้คนประมาทหรือสบประมาทมันเพราะไปคิดว่ามันเฉื่อย มันขี้เกียจ

ความจริงแล้วคำว่า “Inertia” หมายถึงความขี้เกียจ แต่ความขี้เกียจไม่ได้มีด้านเดียว มันมีอีกด้านหนึ่งที่มักมองข้าม กล่าวคือ ถ้าวัตถุนั้นมันอยู่กับที่ อยู่นิ่งๆ แล้วมันขี้เกียจจะเคลื่อนที่ แต่ถ้ามันเคลื่อนที่อยู่แล้วมันก็ขี้เกียจจะหยุดใช่ ขี้เกียจจะหยุด

ตรงที่ขี้เกียจจะหยุด (ซึ่งหมายถึงหยุดยาก) นี่แหละน่ากลัวครับ

ผมเคยพูดเปรียบเทียบถึง “ทฤษฎีการหมุนไข่” ไว้นานแล้วว่า

ถ้านำไข่ต้มสุกแล้วทั้งฟองโดยที่ยังไม่ปอกเปลือกมาหมุนเบาๆ บนพื้นโต๊ะที่มีความเรียบ จากนั้นใช้ฝ่ามือแตะเบาๆ ให้ไข่หยุดหมุน จากนั้นก็ยกมือออกทันที ปรากฏว่าไข่สุกจะหยุดนิ่งอยู่กับที่อยู่อย่างนั้น

แต่ไข่ดิบไม่ยอมหยุดหลังจากเอามือออกแล้ว เพราะมันมี “โมเมนต์ของความเฉื่อย” มันขี้เกียจจะหยุด

คนขับรถบรรทุกน้ำหรือน้ำมันจะทราบดีว่า การหยุดรถบรรทุกน้ำนั้นมันยากกว่าการหยุดรถบรรทุกดินเป็นไหนๆ เพราะน้ำหรือน้ำมันในรถมีโมเมนตัมของความเฉื่อยอยู่ ยังเคลื่อนที่อยู่และขี้เกียจจะหยุด “รถหยุดแล้ว แต่น้ำยังไม่หยุด”

ปัจจุบันนี้คนไทยอยู่ในสภาวะที่มีโมเมนตัมที่เป็นความหวังที่ใหญ่โตมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนและเมื่อประกอบกับมี “โมเมนต์ความเฉื่อย” มาเสริมอีกจึงเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากครับ

ผมหวังว่า คสช.คงจะเข้าใจเจตนาดีของผมนะครับ และผมก็เชื่อว่า คสช.ก็ทราบดีอยู่แล้วว่า การศึกครั้งนี้สำคัญและใหญ่หลวงนักแต่แค่นั้นยังไม่พอครับ ต้องยึดหลัก 3 ประการ พร้อมกับการน้อมรับพลังของประชาชนที่อยู่ในรูปของ “โมเมนตัม” และ “โมเมนต์ความเฉลื่อย” ด้วย

ก่อนจะจบผมขอนำเสนอรูปให้พิจารณา 2 รูป รูปแรกดูเผินๆ ก็ไม่มีอะไร แต่ดูนานๆ จะเห็นว่ามีปัญหาและหลอกลวงเต็มไปหมด คสช.กรุณาดูดีๆ ดูนานๆ อย่าให้ใครมาหลอกเรา

ภาพที่สองเป็นภาพอุปมาอุปไมยที่เรียกว่า “ตาบอดคลำช้าง” ซึ่งเป็นคำสอนไม่เฉพาะแต่ในเมืองไทยเท่านั้น

แต่สิ่งที่ผมจะเสริมก็คือ ถึงแม้ว่าเป็นคนตาดีก็เถอะ แต่ถ้าเห็นและรับรู้เฉพาะแค่ตัวช้างโดยไม่เห็นบริบทรอบๆ ตัวของช้างด้วย เช่น ช้างกินอยู่อย่างไร ทำไมช้างจึงถูกฆ่าเพื่อเอางา (ดังเป็นข่าว) ก็ยังเรียกว่าเป็นคนที่มีความคิดอย่างไม่เป็นระบบอยู่ดีนั้นแหละ

แต่ขออย่าได้ท้อถอยกับ “โลกที่ซับซ้อน” ตามชื่อคอลัมน์นี้นะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น