xs
xsm
sm
md
lg

ตร.จัดทีม5ชุดฉก.กองปราบ ล่าแก๊งหมิ่นฯ-หนีหมายคสช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ ( 25 มิ.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร. ) ด้านความมั่นคง กล่าวถึงกรณี นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ออกแถลงการณ์จัดตั้งองค์กรเสรีไทย เพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) สั่งการให้ตนติดตามความเคลื่อนไหว และตรวจสอบคำแถลงการณ์ดังกล่าวด้วย เพื่อพิจารณาว่า คำแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นตนมอบหมายให้ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการศึกษา ช่วยราชการกองบัญชาการตำรวจนครบาล นำคำแถลงการณ์ดังกล่าวมาถอดความ เพื่อตรวจสอบว่า เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ และจะมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าในที่ประชุมกรรมการด้านกฎหมาย กองบัญชาการตำรวจนครบาลพิจารณา เพื่อความรอบคอบในการปฏิบัติงาน และการวางมาตรการดำเนินการอีกครั้ง
พล.ต.อ.สมยศ ยังกล่าวถึงกรณี บุคคลที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าได้สั่งการให้ พล.ต.ต.นรบุญ แน่นหนา รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) รรท. ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปราม (ผบก.ป.) ออกคำสั่งกองบังคับการปราบปราม ที่ 173/2557 เรื่อง แต่งตั้งชุดปฏิบัติการสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดคดีความมั่นคง โดยมอบหมายให้ พล.ต.ต.นรบุญ จัดชุดปฏิบัติการสืบสวนจับกุม ผู้กระทำผิดฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. และผู้ต้องหาตามหมายจับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นความผิดต่อสถาบัน ขึ้นมา 5 ชุด ประกอบด้วย พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รอง ผบก.ป. เป็นหัวหน้าควบคุมชุดปฏิบัติการฯ , พ.ต.อ.อัครวุฒิ์ หลิมรัตน์ ผู้กำกับการ ผกก.1 ป. เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติที่ 1 , พ.ต.อ.นิรันด์ นามสุวรรณ ผกก. 2 ป. เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 2 , พ.ต.อ.วรวุฒิ คุณะเกษม ผกก.3ป. เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 3 , พ.ต.อ.ปิยะ เจริญสุข ผกก. 4 ป. เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 4 , พ.ต.อ.วัชรพล ทองล้วน ผกก.5 ป. เป็นรองหัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 4 พ.ต.อ.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผกก. 6 ป. เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 5 และ พ.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ ฯ รรท.ผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษกองบังคับการปราบปราม เป็นรองหัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 5
ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าว ให้หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิจารณาจัดกำลังประกอบชุดปฏิบัติการตามความเหมาะสม เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ โดยให้มีอำนาจทำการสืบสวนจับกุมในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรโดยเฉพาะความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ความผิดมาตรา 112 มาตรา 116 ความผิดเกี่ยวกับฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ คสช. และความผิดอื่นๆ ตามที่ผู้บังคับบัญชาได้มอบหมาย

** ตามจับ 60 คน ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.

สำหรับรายชื่อผู้ต้องหาตามหมายจับความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. มี 60 รายชื่อ ซึ่งประกอบด้วย 1. นายสำราญ สายชนะ 2.น.ส.จิตรา คชเดช 3. ด.ต.พิพัฒน์ พรรณสุวรรณ์ 4. นายสิรภพ กรณ์อรุษ 5. นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ 6. นายธนเดช เอกอภิวัชร์ 7. นายณรงค์ศักดิ์ พลายอร่าม 8. นางหน่อย แดงเป้า 9. นายอรรถชัย อนันตเมฆ 10. นายยอดเยี่ยม ศรีมันตะ 11. นายสุนัย จุลพงศธร 12. น.ส.ณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ 13.นายธีร์ บริรักษ์ 14.นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล 15.น.ส.สุดา รังกุพันธุ์ 16.นายชัยอนันต์ ไผ่สีทอง 17.นายพฤทธิ์นรินทร์ ธนบริบูรณ์สุข 18.นายนิธิวัต วรรณศิริ 19. น.ต.ชนินทร์ คล้ายคลึง 20. นายศรัณย์ ฉุยฉาย 21. นายไตรรงค์ สินสืบผล 22. นายชฤต โยนกนาคพันธุ์ 23. นายวัฒน์ วรรลยางกูร 24. นางดารุณี กฤตบุญญาลัย 25. นายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ 26. นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ 27. นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ 28. นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล 29. นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ 30. นายจรัล ดิษฐาอภิชัย
31.นายสงวน พงษ์มณี 32. นายวิสา คัญทัพ 33. นางไพรจิตร หรือ ไพรจิตร อักษรณรงค์ 34. พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ 35. นายใจลล์ ใจ อึ้งภากรณ์ 36. นายจักรภพ เพ็ญแข 37. นายพิษณุ พรหมสร 38. นายองอาจ ธนกมลนันท์ 39. นายอำนวย แก้วชมภู 40. นายชูพงศ์ ถี่ถ้วน 41.นางจรรยา ยิ้มประเสริฐ 42.นายเอกภพ เหลือรา 43.นายเสน่ห์ ถิ่นแสน 44.นายภิเษก สนิทธางกูร 45.นายสันติ วงษ์ไพบูรณ์ 46.นางมนัญชยา เกตุแก้ว 47.นางฉัตรวดี อมรพัฒน์ 48.นายจตุเทพ หรือ เลอพงษ์ วิไชยคำมาตย์ 49.นายทนง ศิริปรีชาพงษ์ 50.นายอุสมาน สะแลแมง 51.นายฉกาจ คหบดีรัตน์ 52.นายชัยพฤกษ์ สมานรักษ์ 53.นายรัสฤษฎิ์ ธิยาโน 54.นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ 55.นายยงยุทธ บุญดี 56.น.ส.อัมรา วัฒนกูล 57.นายเกษมสันติ หรือ เกษมสันต์ จำปาเลิศ 58.นายนิทัช ศรีสุวรรณ 59.น.ส.นุ่มนวล ยัพราช และ 60. นายวิระศักดิ์ โตวังจร

**"สงวน พงษ์มณี"เข้ามอบตัว

เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ ที่ กองปราบปราม นายสงวน พงษ์มณี อดีต ส.ส.ลำพูน เขต 1 พรรคเพื่อไทย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพ ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีไม่เข้ารายงานตัวตามกำหนด พร้อมทนายความ เดินทางเข้าพบพ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รอง ผบก.ป. เพื่อมอบตัวตามหมายจับดังกล่าว
นายสงวน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ตนได้เดินทางไปอาศัยอยู่ต่างประเทศ แต่ขอไม่ระบุว่าเป็นประเทศใด นับตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยตั้งใจว่าจะอยู่เมืองนอก จนกว่าประเทศไทยจะมีรัฐบาลใหม่ แต่หลังจากทราบข่าวผ่านทางสื่อมวลชนหลายแขนงว่า ถูกศาลทหารออกหมายจับในความผิดดังกล่าว เนื่องจากไม่ได้เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา จึงเดินทางกลับประเทศ และติดต่อกับทนายความ เพื่อเข้ามอบตัว
นายสงวน กล่าวต่อว่า สำหรับสาเหตุที่ไม่ได้เดินทางเข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ก่อนหน้านั้น เป็นเพราะคิดว่าตนเองไม่ได้ทำอะไรผิด และยังอาศัยอยู่ในต่างประเทศ ที่ผ่านมาก็ไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองใด ๆ แล้ว แม้จะมีตำแหน่ง ส.ส.ลำพูน ก่อนที่คสช.จะยึดอำนาจ ประกอบกับปัจจุบัน มีโรคประจำตัวหลายอย่าง รวมทั้งต้องเตรียมพร้อมเข้ารับการผ่าตัดที่ลำคออีกด้วย อย่างไรก็ตาม ทางทนายความได้ประสานกับญาติ เตรียมหลักทรัพย์เพื่อยื่นขอประกันตัวไว้แล้ว
ด้าน พ.ต.อ.ประสพโชค กล่าวว่า หลังจากนี้ทางพนักงานสอบสวนก็จะประสานทหารพระธรรมนูญ เพื่อดำเนินการสอบปากคำและพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำประวัติอาชญากรรม ตามขั้นตอน ก่อนจะคุมตัวไปขออำนาจศาลทหาร ฝากขังในวันที่ 26 มิ.ย.นี้

**ขอฝากขัง"ทอม ดันดี" ผลัดที่ 2

ที่ศาลทหารกรุงเทพ กรมพระธรรมนูญ เจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษ ได้นำตัวนายธานัท ธนวัชรนนท์ หรือ พันทิวา ภูมิประเทศ หรือ ทอม ดันดี ดารานักร้อง ที่ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ต้องหาฝ่าฝืน และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกรายงานตัวของคสช. เดินทางมายังศาล เพื่อให้ศาลพิจารณาฝากขังผลัดที่ 2 หลังจากศาลได้พิจารณาฝากขังผลัดแรก จำนวน 12 วัน ตั้งแต่ 14-25 มิ.ย. เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ทำการสอบสวน
ทั้งนี้ นายทอม ดันดี กล่าวก่อนเข้าชี้แจงต่อศาลว่า มาแสดงตนตามที่ศาลกำหนด และได้รับความกรุณาจากศาล เนื่องจากไม่ได้กระทำผิด ส่วนกรณีถูกจับกุมตัวเกิดจากความเข้าใจผิด และการสื่อสารคลาดเคลื่อน หลังการรายงานตัว จะกลับไปดูแลสวนที่เพชรบุรี ต่อไป
ต่อมาเวลา 11.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลได้อนุญาตตามคำขอของพนักงานสอบสวน เนื่องจากรอสอบพยานเพิ่มเติมและตรวจสอบประวัติอาชญากร แต่อย่างไรก็ตาม ศาลทหารได้มีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวครั้งที่ 2 ของ น.ส.จิตรา และ ทอม ดันดี ด้วยหลักประกันเงินสด 20,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่า ห้ามชุมนุมทางการเมืองอันก่อให้เกิดความไม่สงบ และห้ามแสดงความคิดเห็นด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใด หรือทำเป็นหนังสือเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และให้ผู้ต้องหามา วันที่ 7 ก.ค. นัดฟังคำพิจารณาว่า ศาลจะให้ฝากขังผลัดต่อไปหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ และ นายสุรสิทธิ์ น่วมศิริ อีก 2 ผู้ต้องหา ที่ถูกพนักงานสอบสวนขออนุญาตศาลฝากขังในรอบเดียวกันกับ น.ส.จิตรา และทอม ดันดี ก็ได้รับอนุญาตปล่อยชั่วคราว ด้วยหลักประกันเงินสด 10,000 บาท เช่นกัน

** "รัชต์ยุตม์" บวช หลังศาลให้ประกัน

น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความกลุ่มพันธมิตรฯ เปิดเผย กรณีศาลอาญามีคำสั่งให้ นายรัชต์ยุตม์ หรือ อมร ศิรโยธินภักดี จำเลยที่ 13 คดีร่วมชุมนุมปิดล้อมท่าอากาศยานดอนเมือง และสุวรรณภูมิ เมื่อปี 51 เดินทางมารายงานตัว เนื่องจากกระทำผิดเงื่อนไขของศาล ว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายรัชต์ยุตม์ ได้รายงานตัวต่อศาลเรียบร้อยแล้ว และทนายความได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ของ บริษัทวิริยะ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำนวน 6 แสนบาท ขอประกันตัวต่อทันที โดยระบุเหตุผลว่า นายรัชตยุตม์ ไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี แต่เนื่องจากในช่วงที่จะเข้ารายงานตัวต่อศาล ก็มีคำสั่งจาก คสช. ให้ไปรายงานตัว จึงมีเหตุจำเป็นดังกล่าว และเห็นว่าขณะนี้สถานการณ์ และข้อเท็จจริงได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว จากคำร้องของ ดีเอสไอ ประกอบกับการชุมนุมได้ยุติไปแล้ว คสช.ได้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน อีกทั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาศาลอุทธรณ์ ก็มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว นายพิชิต ไชยมงคล และ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ แกนนำ กปปส. แล้วด้วย
ทั้งนี้ภายหลังศาลพิจารณาแล้ว เห็นควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว นายรัชยุตม์ โดยตีราคาประกัน 6 แสนบาท แต่กำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังได้รับการประกันตัว นายรัชยุตม์ ก็เตรียมจะกำหนดวันเข้าพิธีอุปสมบท เช่นเดียวกับ นายพิชิต ไชยมงคล หรือ ตั้ม โฆษก คปท. ที่ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดโพธิสมพร อ. เมืองฯ จ. อุดรธานี เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา และได้รับฉายาว่า "สุมังคโร" หรือผู้มีมงคลในชีวิต

**เร่งคสช.แก้ปัญหาขายสลากฯเกินราคา

เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ นายมณเฑียร บุญตัน อดีตส.ว.สรรหา พร้อมด้วยนายธนากร คมกฤส ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลากกินแบ่งรัฐบาล และตัวแทนภาคประชาชน 12 องค์กร เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อคสช. โดยมี นายสุขสวัสดิ์ สุวรรณวงศ์ หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เป็นตัวแทนรับ โดยทางเครือข่ายฯ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสลากกินแบ่งรัฐบาลให้เป็นสลากเพื่อสังคม หยุดขายเกินราคา พร้อมเสนอร่างกฎหมายปฏิรูปสลากฯ และกฎหมายเพื่อคนพิการ และขอให้ปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อให้ได้บุคคลที่เข้ามาดำเนินการปฏิรูปกิจการสลากให้โปร่งใส แก้ปัญหาสลากฯเกินราคา และนำเงินมา พัฒนาสังคม รวมถึงสั่งการให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ยกเลิกโควต้าการค้าสลากฯ ที่มีอยู่ และจัดสรรใหม่ด้วยวิธีที่โปร่งใส ยึดหลักความเป็นธรรมให้กลุ่มผู้ค้ารายย่อยในฐานะที่ยากลำบาก
พร้อมกันนี้ ยังขอให้มีการตรวจสอบการใช้จ่ายของสำนักงานสลากฯ โดยเฉพาะโครงการที่อยู่ในอำนาจของผู้อำนวยการ ที่มักจะมีข่าวว่า เอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายการเมืองในพื้นที่ โดยหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของกิจการสลากฯ ไปในทางที่เหมาะสมโปร่งใส ซึ่งจากยอดจำหน่ายแต่ละงวดมีมากถึง 72 ล้านฉบับ รายได้จากสลากแต่ละปี เกือบ 2 หมื่นล้านบาท จากจำนวนสลากที่ขายได้ 7 หมื่นล้านบาทต่อปี
นายสมชาย ปัญญ์เอกวงศ์ ประธานฝ่ายส่งเสริมอาชีพ และการจ้างงานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ขอให้ คสช. พิจารณาผลักดันร่างกฎหมายเพื่อคนพิการ 3 ฉบับ คือ 1. ร่าง พ.ร.บ.การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ 2. ร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะเรื่องการนำหนังสือไปทำซ้ำหรือดัดแปลง ถือว่าไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ และ 3.ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และผลักดันปฏิรูปสลากฯ อย่างยั่งยืน เพื่อคืนความสุขสู่ผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ

**ตั้งวงเสวนา"ปฏิรูปประเทศ"

เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ ที่อาคารศศนิเวศ มูลนิธิ Insight Foundation โดยศูนย์วิจัยข้อมูลการเมืองไทย ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริชเนามัน จัดเสวนาหัวข้อเรื่อง "ยกเครื่องประเทศไทย โจทย์ใหญ่ปฏิรูปประเทศ" โดยมี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนา
นพ.พลเดช กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูป ประเทศอื่นทุกๆ 20-30 จะต้องมีการปฏิรูปก่อนให้เกิดวิกฤต ตนได้เข้าไปประชุมกับ คสช. เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดย คสช. มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมา 1 ชุด เตรียมกรอบไว้ 4 ด้าน เศรษฐกิจ การเมือง สังคม กระบวนการยุติธรรม ทั้งหมด 11 ประเด็น ทีมที่ทำงานเป็นทหารนักวิชาการ และอาจารย์ที่ไม่มีชื่อเสียง ซึ่งเข้าตั้งหน้าตั้งตาอ่าน เพราะไม่ได้เป็นเจ้าของประเด็น โดยข้างฝาห้องก็ติดคำสัมภาษณ์ไว้ว่า ใครให้คำสัมภาษณ์ไว้อย่างไร
"การทำงานของคณะปฏิรูปตอนนี้เนื้อหาสาระไม่ค่อยเท่าไร เป็นเพื่อการขึ้นโครงไว้เท่านั้น เพื่อส่งกรอบประเด็นให้กับสภาปฏิรูป รัฐบาล สนช. ว่ามีประเด็นอะไรบ้าง โดยระหว่างขึ้นกรอบประเด็น จะเชิญภาคประชาชนไปเพื่อเชื่อมกัน เมื่อมีสภาปฏิรูปเกิดขึ้น และ สนช.ต้องจบภายใน 30 กรกฎาคม เพื่อส่งต่อให้สภาปฏิรูป และสนช. การปฏิรูปไม่ใช่การปฏิรูปกฎหมายอย่างเดียว แต่ต้องปฏิรูปการบังคับใช้ด้วย โดยการขับเคลื่อนโดยภาคส่วนต่าง ๆ และปรับเปลี่ยนสำนึกวิธีคิด" นพ.พลเดช กล่าว

ด้าน ศ.ดร.ธีรภัทร์ กล่าวว่า การปฏิรูปต้องครบทุกมิติ บริบทการปฏิรูปสมัยพระพุททธเจ้าหลวง เมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมา เพื่อให้พ้นจากลัทธิอาณานิคมได้สำเร็จมากพอสมควร เนื่องจากท่านมีอำนาจมาจากการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หลังจากนั้น ก็ไม่มีการปฏิรูปอีกเลย หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราประสบปัญหาต่าง ๆ มากมายที่หมักหมมมายาวนานจนกระทั่งบัดนี้
" คสช.มีอำนาจเป็นองค์รัฏฐธิปัตย์ ภายใน 3 เดือน ต้องเข้าใจอำนาจที่มีอยู่ คือ อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร จึงอยากเห็น 2 เดือนข้างหน้า กล้าตัดสินใจเรื่องที่รัฐบาลปกติทำได้ยาก (อาจจะถูกมองว่าไม่มีส่วนร่วม–เผด็จการ-ไม่ได้รับการยอมรับ) เพราะถึงแม้จะไปออกกฎหมายหลังจากมีนิติบัญญัติแห่งชาติ เพราะคงไม่สามารถออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะมีขั้นตอนต่างๆ มากมาย ไม่ใช่คสช.ไปทำในเรื่องการไปจัดระเบียบรถตู้ วินมอเตอร์ไซค์ เช่น การออกกฎหมายการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นอกจากนี้ เสนอกระทรวงศึกษา ออกนอกระบบกระทรวง โดยจัดให้มีคณะกรรมการที่เป็นแทคโนแครต ผู้รู้ มานั่งเป็นคณะกรรมการ ผู้นำไม่จำเป็นต้องทำทุกเรื่องแต่ทำให้ถูกเรื่อง" ศ.ดร.ธีรภัทร์กล่าว
ขณะที่ ศ.ดร.จรัส กล่าวว่า ให้ คสช. ตั้งต้นนับหนึ่งได้ แต่การปฏิรูปต้องนับถึงร้อย ควรปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การกระจายอำนาจ โดยใช้เวลาที่ไม่มีนักการเมืองในการเดินหน้าปฏิรูปเรื่องนี้ รวมทั้งการปฏิรูปตำรวจด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น