xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ปรับระเบียบ รับขยายเวลาสอบ โกงเลือกตั้ง60วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายดุษฎี พรสุขสวัสดิ์ รองเลขาธิการ ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงสรุปการพิจารณาสำนวนร้องคัดค้านการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น ว่า มีคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งสิ้น 1,002 สำนวน กกต.พิจารณาวินิจฉัยแล้วเสร็จ 413 สำนวน คงเหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ 589 สำนวน โดยที่ กกต.พิจารณาสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง สั่งเลือกตั้งใหม่ และนับคะแนนใหม่ รวม 56 เรื่อง
ส่วนสำนวนร้องคัดค้านการเลือกตั้งส.ส. จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. มีทั้งสิ้น 34 เรื่อง กกต.วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว 1 เรื่อง โดยเป็นกรณีไม่รับเป็นคำร้อง คงเหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการรวม 33 เรื่อง ซึ่งในจำนวนนี้มี 13 เรื่อง ที่มีการเสนอเข้าวาระพิจารณาของกกต.แล้ว ขณะที่สำนวนร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ว. จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 30 มี.ค. มีทั้งสิ้น 39 เรื่อง กกต.วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว 15 เรื่อง โดยเป็นไม่รับเป็นคำร้อง 8 เรื่อง ยกคำร้อง 6 เรื่อง และสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครส.ว.นครปฐม 1 เรื่อง คงเหลือสำนวนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 24 เรื่อง ซึ่งในจำนวนนี้มี 3 เรื่องที่มีการเสนอเข้าวาระพิจารณาของกกต.แล้ว อย่างไรก็ตามคาดว่าสำนวนคัดค้านเลือกตั้งส.ส.และส.ว.ที่เหลือ น่าจะพิจารณาได้แล้วเสร็จภายในเดือนก.ค.
นอกจากนี้นายดุษฎี ที่ประชุมกกต. ยังมีมติให้มีการปรับปรุงระเบียบ เกี่ยวกับการพิจารณาสืบสวนสอบสวนเรื่องร้องเรียนร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น ให้สอดรับกับประกาศ คสช. ฉบับที่ 58 ที่ให้ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นภายใน 60 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง โดยสำนักงานฯ จะมีหนังสือเวียนแจ้งไปยังสำนักงานกกต.จังหวัดทั่วประเทศว่าในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมีขึ้นหากมีการร้องเรียน กกต.จังหวัด มีเวลา 2 วันในการพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับเป็นคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยและหากรับให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนให้แล้วเสร็จและส่งมายังกกต.กลางภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง ส่วนการให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกร้องนั้น ให้กกต.แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกร้องทราบในทันที โดยให้ผู้ถูกร้องต้องมาชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 3 วันนับแต่ได้รับหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา และให้โอกาสในการเลื่อนการชี้แจงได้เพียง 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน รวมเวลาในการให้โอกาสชี้แจงไม่เกิน 6 วันตามเวลาปฏิทิน ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาสู้กับการประวิงเวลาของนักเลือกตั้ง
ส่วนการยื่นเรื่องร้องเรียนนั้น ก็จะแก้ไขให้มีการกำหนดให้ยื่นเรื่องร้องเรียนทันที เมื่อมีเหตุ หรือภายใน 7 วันหลังการเลือกตั้ง เพื่อให้กกต. มีเวลาในการดำเนินการสืบสวนสอบสวนให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด โดย กกต.คาดการณ์ว่า หากเป็นการร้องเรียนในทันทีเมื่อมีเหตุ และเป็นความผิดที่ กกต.ต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก่อนการประกาศรับรองผล กกต. น่าจะดำเนินการจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ถึง 2 ครั้ง ภายในกรอบเวลา 60 วันนี้ เพราะด้านบริหารงานเลือกตั้งยืนยันแล้วว่า สามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายใน 10 วันนับแต่กกต.มีมติ โดยระเบียบสืบสวนที่มีการปรับปรุงนี้จะมีการนำมาใช้กับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้กกต.ได้ประกาศชะลอการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งหมดของเดือนพ.ค.และมิ.ย.ออกไป หากคสช.ให้มีการจัดการเลือกตั้งในส่วนนี้เมื่อใด เมื่อเลือกตั้งแล้วมีการร้องเรียนก็จะมีการดำเนินการตามระเบียบนี้ทันที
"เราคงไม่ใช่เสือกระดาษ หรือเป็นยักษ์ไม่มีกระบองอย่างเมื่อก่อนแล้ว ที่มีเวลาแค่ 30 วัน ต้องประกาศรับรองผล ทำให้เรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่ กกต.ไม่สามารถสอบสวนให้เสร็จได้ทัน ต้องประกาศรับรองผลไปก่อน แล้วมาดำเนินการภายหลัง แต่เมื่อมีประกาศ คสช. ฉบับที่ 58 กกต.จะมีเวลามากขึ้น ยืนยันว่า จากนี้ไปจะใช้กลไกสืบสวนทั้งหมดที่มีในการเอาผิดกับผู้กระทำความผิดให้ได้"
อย่างไรก็ตาม ในส่วนการสืบสวนสอบสวนนั้น ก็จะมีการปรับปรุงระเบียบ ว่าหากเป็นกรณีที่ทางจังหวัด หรือ กกต. เล็งเห็นว่ามีการแข่งขันรุนแรง หรือเป็นพื้นที่ที่ผู้สมัครมีอิทธิพล กกต.จังหวัดทำงานได้ลำบาก ก็จะมีการพิจารณาตั้งคณะสืบสวนสอบสวนชุดพิเศษของส่วนกลาง ลงไปสืบสวนสอบสวนในพื้นที่
นายดุษฎี ยังกล่าวถึง ความคืบหน้าการพิจารณาเรื่องร้องเรียนการเลือกตั้งส.ส. ในกรณีร้องเรียน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ใช้ทรัพยากรของรัฐขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในการไปหาเสียงในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน การมอบเงินให้กับครอบครัวตำรวจที่เสียชีวิตจากเหตุสลายชุมนุม และใช้สื่อของรัฐหาเสียง เพื่อประโยชน์ของตนเองที่เป็นผู้สมัครส.ส.และพรรคเพื่อไทย ว่า เรื่องยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการไต่สวน ซึ่งเป็นชุดพิเศษที่ กกต.แต่งตั้งบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นกรรมการกำลังดำเนินการสืบสวนสอบสวนอยู่ ทราบว่า ได้มีการ เชิญข้าราชการ และผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำแล้วจำนวนมาก รวมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ถูกกล่าวหา แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจไม่ได้เดินทางให้ถ้อยคำด้วยตนเอง แต่ใช้วิธีชี้แจงเป็นหนังสือ ซึ่งสามารถทำได้อยู่แล้ว ยืนยันสำนวนยังคัดค้าน กกต. ยังดำเนินการอยู่ คาดว่าอีกไม่นานจะแล้วเสร็จ


** "สิงห์ทอง"เข้าให้ถ้อยคำปมร้องยุบปชป.

เมื่อวานนี้ นายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย เดินทางเข้าให้ถ้อยคำกับ คณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงของ กกต. กรณีที่ก่อนหน้านี้ ได้ยื่นคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ รวม 5 สำนวน โดยนายสิงห์ทอง กล่าวว่า ทั้ง 5 สำนวน ตนได้ร้องเกี่ยวกับการกระทำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรรมการบริหารพรรค และสมาชิกพรรค ที่รู้เห็นเป็นใจสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตสมาชิกพรรคเป็นแกนนำ เนื่องจากมีการปลุกระดมประชาชนออกมาชุมนุมออกมาใช้ความรุนแรงและยึดทำเนียบรัฐบาล ปิดล้อมสถานที่ราชการหลายแห่ง ชุมนุมไม่สงบ มีอาวุธในการชุมนุมขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 มาตรา 113 รวมทั้งขัดขวาง บอยคอตการเลือกตั้ง และมีการปราศรัยใส่ร้ายพรรคเพื่อไทย ให้เสียคะแนนนิยม ทำผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ถือเป็นการล้มล้างการปกครองด้วย
อย่างไรก็ตาม ในคำร้องคัดค้านทั้ง 5 สำนวน ตนได้ขอให้ กกต.เรียกรับเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองคืนจากพรรคประชาธิปัตย์ 30 ล้านบาท เนื่องจาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ลาออก 9 คน โดยไม่มีสาเหตุ พร้อมกันนี้ได้นำหลักฐานเพิ่มเติมประกอบคำร้อง เช่น ถอดเทปคำปราศรัย ภาพประกอบเหตุการณ์ ทั้งนี้ ตนยังได้เตรียมหลักฐานต่อสู้กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นยุบพรรคเพื่อไทย ด้วยเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น