ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การขับเคลื่อนธุรกิจในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาของเครือสหพัฒนฯ ยักษ์ใหญ่แห่งวงการผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภค ที่มีบริษัทในเครือ 200 กว่าบริษัท ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเกือบทุกหมวดในชีวิตประจำวันมากกว่า 30,000 รายการ จากกว่า 100 แบรนด์ นอกจากเป็นการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านสินค้าแล้ว ยังเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจ รุกคืบเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกอย่างเต็มระนาบ เพื่อสร้างจุดแข็งและจุดขายใหม่ให้กับองค์กร เป็นการเคลื่อนไหวที่น่าจับตา
ความพยายามก้าวเท้าเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกที่สำคัญมากก้าวหนึ่งของสหพัฒนฯ ก็คือการร่วมเปิดสถานี SHOP CH เพื่อจำหน่ายสินค้าผ่านทางช่องทีวีดาวเทียม ที่ข้ามพ้นข้อจำกัดของเวลา เพราะเปิดส่งสัญญาณให้ได้ซื้อขายกันตลอด 24 ชั่วโมง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับข้อเท็จจริงที่ว่า พันธมิตรทางธุรกิจที่ประกาศความร่วมมือกันในครั้งนั้น ปรากฏชื่อของ บริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีโครงข่ายธุรกิจกว้างขวางและเป็นผู้ผลิตรายการทีวีชอปปิ้งอันดับ 1 ของประเทศญี่ปุ่น การรุกเข้าสู่ธุรกิจทีวีชอปปิ้งของสหพัฒนฯ จึงเป็นประหนึ่งการยืนอยู่บนสปริงบอร์ดที่พร้อมทะยานไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว
แม้ทีวีชอปปิ้งจะเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าที่น่าสนใจมากๆ แต่ขณะเดียวกัน ทีวีชอปปิ้งย่อมไม่ใช่คำตอบที่หนักแน่นคำตอบเดียวสำหรับสหพัฒนฯ ที่ต้องการรุกคืบไปข้างหน้าอย่างมั่นคงในระยะยาว โดยยังไม่ได้กล่าวถึง บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ในฐานะพันธมิตรร่วมค้าอีกรายของสหพัฒนฯ ใน SHOP CH ซึ่งในระยะยาวอาจต้องกลายเป็นคู่แข่งขันกันในสมรภูมิค้าปลีกอีกด้วย
สหพัฒนฯ เติมเกมรุกและสร้างจังหวะก้าวในสมรภูมิค้าปลีกอย่างต่อเนื่องด้วยการจับมือกับ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ได้แก่ “ลอว์สัน เจแปน อิงค์” ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อหรือคอนวีเนียนสโตร์ของญี่ปุ่น ตั้งบริษัท สหลอว์สัน เพื่อยกเครื่องธุรกิจร้านสะดวกซื้อของเครือสหพัฒนฯ จาก “108 ช็อป” เป็น “ลอว์สัน 108” และร่วมทุนกับบริษัท ซูรูฮะ ประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท ซูรูฮะ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดร้านดรักสโตร์สไตล์ญี่ปุ่นชื่อ “ซูรูฮะ”
ซึ่งถือเป็นแผนดำเนินงานต่อเนื่องที่ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒนฯ ดร.กิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น (Waseda University) ผู้เรียนรู้จุดอ่อนจุดแข็งของธุรกิจเกือบทุกรูปแบบของญี่ปุ่น วางไว้เพื่อแก้โจทย์การตลาดในไทย การขยายช่องทางการกระจายสินค้าและเปิดหน้าร้านที่มีประสิทธิภาพ
“ร้าน 108 ช็อป เป็นความคิดของสหกรุ๊ป เราเปิดมาร่วม 10 ปีแล้ว เรามองว่า ถ้าเราจะต่อสู้ในประเทศต่อไปได้ เราต้องร่วมมือกับกลุ่มลอว์สัน อิงค์ ในการรุกตลาดร้านสะดวกซื้อไทย โดยใช้ชื่อ ร้านลอว์สัน 108 เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจค้าปลีกของเครือสหพัฒนฯ” บุณยสิทธิ์กล่าว
การรุกเข้าสู่ธุรกิจร้านสะดวกซื้อของสหกรุ๊ปในครั้งนี้ ถือเป็นความพยายามอีกครั้งของบุณยสิทธิ์ในการสร้างที่ยืนในธุรกิจร้านสะดวกซื้อของกลุ่ม และสร้าง “แบรนด์” ที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางและสร้างรายได้ให้กับเครือ หลังจากที่บริษัทคลุกคลีอยู่ในวงการนี้มานานกว่า 20 ปี
ตลาดคอนวีเนียนสโตร์ถือเป็นเซกเมนต์ที่มีอัตราเติบโตสูงสุด 10-15% ต่อปี จากมูลค่าตลาดค้าปลีกรวมกว่า 2 ล้านล้านบาท เกิดการช่วงชิงโอกาสการเติบโตในตลาด ผุดสาขาใหม่ๆ เพิ่มจากปีก่อนในอัตราที่สูงขึ้น การพลิกสถานการณ์ในช่วงจังหวะที่ธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์กำลังขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ จากเดิมต้องการสร้าง “108 ช็อป” เป็นมินิเอาท์เล็ตกระจายสินค้าในเครือและดึงชุมชน ผู้ประกอบการรายกลางรายย่อยหรือเอสเอ็มอี เพื่อสร้างพลังต่อรองกับกลุ่มซูเปอร์สโตร์ต่างชาติที่สยายปีกทั่วมุมเมืองในช่วงที่ผ่านมา
แต่เมื่อโมเดลธุรกิจของ “108 ช็อป” ไม่ประสบความสำเร็จ ท่ามกลางการแข่งขันอันหนักหน่วงของสองยักษ์ค้าปลีก ทั้งร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และแฟมิลี่มาร์ทของเครือเซ็นทรัล หาก “108 ช็อป” ไม่มีการยกเครื่องใหญ่ นั่นย่อมหมายถึงการทยอยปิดสาขาและเลิกกิจการในที่สุด
การร่วมทุนกับกลุ่มลอว์สัน เจแปน อิงค์ ซึ่งเป็นเครือข่ายค้าปลีกขนาดใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น เป็นทั้งการต่อยอดสินค้าและโนว์ฮาว เปลี่ยน “108 ช็อป” เป็น “ลอว์สัน 108” จากร้านค้าชุมชนแบบไทยๆ เป็นคอนวีเนียนสโตร์แบรนด์ดังระดับโลก สร้างจุดแข็งและจุดขายใหม่ให้กับคอนวีเนียนสโตร์ในเครือสหพัฒนฯ ในทันที
จุดเด่นของลอว์สัน 108 ที่ผู้บริหารสหพัฒนฯ เชื่อว่าจะสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งเบอร์ 1 และเบอร์ 2 ในธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์และเป็นจุดขายของแบรนด์นี้คือ บรรยากาศที่สะดวกสบาย ความเป็นมิตร บวกกับภาพลักษณ์ “พรีเมียม” และกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นที่เข้มข้น โดยเฉพาะสินค้าอาหารญี่ปุ่นพร้อมทานที่คัดสรรมาอย่างดี ซึ่งน่าจะเป็นจุดขายที่สำคัญ
อาจจะถือได้ว่า ร้านลอว์สัน 108 เป็น “หมัดเด็ด” ของเครือสหพัฒนฯ ในการกระจายสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคและลดต้นทุนส่วนหนึ่งในการวางจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่อย่างเซเว่น-อีเลฟเว่น แฟมิลี่มาร์ท รวมถึงซูเปอร์สโตร์รายใหญ่ที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการวางสินค้าสูงลิ่ว และเป็นการสร้างทางเลือกให้ผู้ผลิตสินค้ารายอื่นและผู้บริโภคอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ต้องถือว่าลอว์สัน 108 ยังต้องใช้เวลาหาความลงตัว เนื่องจากทั้งเซเว่น-อีเลฟเว่น และแฟมิลี่มาร์ท เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยนานหลายสิบปี เรียนรู้พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าและการใช้แคมเปญโปรโมชั่นดึงดูดใจ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสหพัฒนฯ มีจุดแข็งในฐานะผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ สามารถนำเสนอสินค้าได้อย่างครอบคลุมในราคาผู้ผลิต ซึ่งถือเป็น “หมัดเด็ด” ที่สามารถหยิบขึ้นมาถล่มยักษ์ค้าปลีกได้อีกหลายยก
ไม่ใช่แค่การจับมือกับซูมิโตโม่และลอว์สัน เจแปน อิงค์ แต่เครือสหพัฒนฯ ยังร่วมทุนกับบริษัท ซูรูฮะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกสินค้าสุขภาพครบวงจร อายุเก่าแก่กว่า 80 ปี จัดตั้งบริษัท ซูรูฮะ (ประเทศไทย) จำกัด เดินหน้าขยายร้าน “ซูรูฮะ” ค้าปลีกดรักสโตร์สไตล์ญี่ปุ่น
ตลาดดรักสโตร์หรือร้านขายยาและสินค้าสุขภาพอยู่ในจังหวะเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากจำนวนผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะดรักสโตร์ในกลุ่มโมเดิร์นเทรด จนทำให้สองค่ายหน้าเก่าทั้ง “วัตสัน” และ “บู๊ทส์” ต้องเร่งปรับกลยุทธ์สกัดคู่แข่งเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งยอดขาย
ซึ่งรูปแบบของร้าน “ซูรูฮะ” ใกล้เคียงกับร้านบู๊ทส์และวัตสัน เน้นกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม แต่สหพัฒนฯ พยายามสร้างความแตกต่างจากร้านค้าปลีกเพื่อสุขภาพและความงามทั่วไป ด้วยความหลากหลายของสินค้าอุปโภคบริโภคภายในบ้านที่ใกล้เคียงกับซูเปอร์มาร์เก็ต เพิ่มสินค้าสไตล์ญี่ปุ่นทั้งที่ผลิตในประเทศไทยและนำเข้าจากญี่ปุ่น เพียงแต่ไม่มีของสดจำหน่ายเท่านั้น
“เรามองรูปแบบดรักสโตร์ในไทยจะพัฒนาจนกลายเป็นร้านกึ่งๆ ซูเปอร์มาร์เก็ตเหมือนในญี่ปุ่น เพราะไลฟ์สไตล์ของคนเริ่มเบื่อที่จะซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ เสียเวลา โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์คนในเมือง ไม่ทำอาหารเอง เป้าหมายของซูรูฮะจึงต้องการขยายสาขาพื้นที่ขนาดใหญ่ ไม่ใช่แค่ร้านยา แต่มีสินค้าครบตามแนวคิด One Stop Shopping เป็นดรักสโตร์และซูเปอร์มาร์เก็ต มีทั้งยา สินค้าสุขภาพ บิวตี้ ของใช้ในบ้าน ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซุปกึ่งสำเร็จรูป ซอส เครื่องปรุงรสต่างๆ เพียงแต่ไม่จำหน่ายของสด เพื่อจับลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มคอนโดมิเนียม” เบญจมาศ ต้องประสิทธิ์ กรรมการบริษัท ซูรูฮะ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
มิเพียงเท่านั้น การเปิดตัวโครงการ “เจพาร์ค” คอมมูนิตี้มอลล์สไตล์ญี่ปุ่น บริเวณสวนอุตสาหกรรมศรีราชา จังหวัดชลบุรี ของเครือสหพัฒนฯ ยังเป็นการตอกย้ำการรุกเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกอย่างครบวงจร โดยสหพัฒนฯ ตั้งเป้าสร้างเจพาร์คให้เป็น “เจแปนทาวน์” รองรับกลุ่มนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นในเขตอุตสาหกรรม โดยรูปแบบโครงการจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ศูนย์การค้า แหล่งชอปปิ้งที่รวมร้านค้าทั้งของไทยและญี่ปุ่น ร้านอาหารญี่ปุ่น คอนโดมิเนียม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ โรงแรม โรงพยาบาล โรงเรียน ศูนย์การศึกษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยมีสถานศึกษาในเครือสหพัฒนฯ อย่างโรงเรียนภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นวาเซดะ และสถาบันแฟชั่นระดับโลกของญี่ปุ่น “บุนกะแฟชั่น”
โดยมีแม็กเน็ตหลักอย่างร้าน “ซูรูฮะ” ขนาดพื้นที่ 1,000 ตร.ม. เป็นสาขาใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมถึง “แม็กซ์แวลู่” ซูเปอร์มาร์เก็ตของกลุ่มบริษัทอิออน ในขณะที่แม็กเน็ตอื่นๆ จะทยอยเปิดตัวเนื่องจากต้องคัดเลือกร้านค้าสไตล์ญี่ปุ่น เพื่อให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ “เจแปนทาวน์”
ซึ่งแผน “เจแปนทาวน์” ของสหพัฒน์ในจังหวัดชลบุรี ไม่ใช่แค่การเปิดยุทธศาสตร์ค้าปลีกแบบครบวงจร แต่เป็นการใช้จุดแข็งและฉกฉวยโอกาสในพื้นที่เพื่อต่อยอดธุรกิจ เนื่องจากเครือสหพัฒน์ยังมีที่ดินรอการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าอีกหลายร้อยไร่ รวมทั้งขยายไปยังสวนอุตสาหกรรมในจังหวัดอื่นๆ ได้อีก หากสาขาแรกประสบความสำเร็จ นั่นอาจเป็นตัวชี้อนาคตบทบาทใหม่ทางธุรกิจในฐานะเจ้าของเครือข่ายค้าปลีกรายใหญ่ที่มีฐานการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคมากที่สุดด้วย
การปรับโครงสร้างธุรกิจในห้วงที่ผ่านของเครือสหพัฒนฯ ดังที่กล่าวข้างต้น ทั้งการรุกเข้าสู่ธุรกิจทีวีชอปปิ้งเปิดสถานี SHOP CH ยกเครื่องร้านสะดวกซื้อ “108 ช็อป” ไปเป็น “ลอว์สัน 108” เปิดร้านดรักสโตร์อย่าง “ซูรูฮะ” รวมถึงเปิดตัว “เจพาร์ค” คอมมูนิตี้มอลล์สไตล์ญี่ปุ่น จึงถือเป็นเกมรุกครั้งใหม่ในการสร้างช่องทางขายของตัวเอง เปลี่ยนจากการเป็น “ผู้ฝากขาย” สู่การเป็น “เจ้าของหน้าร้าน” สามารถตัดต้นทุนการวางสินค้า ค่าธรรมเนียมต่างๆ ขยายฐานรายได้เข้าสู่ธุรกิจปลายน้ำที่มีสัดส่วนกำไรมากกว่าเดิมหลายเท่า และรุกเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกอย่างเต็มรูปแบบ