xs
xsm
sm
md
lg

การปฏิรูปองค์กรอัยการให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง (๒)

เผยแพร่:   โดย: กิตติศักด์ สุคนธฉายา

หลังจากรัฐประหาร องค์กรอัยการได้เริ่มปฏิรูปโดยการที่อัยการสูงสุดได้ออกตรวจราชการโดยมิได้แจ้งหมายกำหนดการล่วงหน้าก่อน และพบการกระทำของพนักงานอัยการบางท่านแล้ว ก็สั่งย้ายเข้ามาส่วนกลางภายใน ๒๔ ชั่วโมง การออกตรวจราชการเช่นนี้ สร้างความกระตือรือร้นในการทำงานแก่พนักงานอัยการขึ้นบ้าง เพราะเกรงว่าอัยการสูงสุดจะมาตรวจโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวและสั่งย้ายโดยกระทันหัน โทรตรวจเช็คทุกระยะว่าอัยการสูงสุดอยู่ที่ไหน มีทีท่าว่าจะไปตรวจที่ไหนบ้าง

อัยการที่ถูกย้ายด่วนเข้ามารายงานตัวแล้วก็โวยวายไปทั่วตึกว่า เขารับผิดชอบศาลสูงทั้งจังหวัด ในจังหวัดที่รับผิดชอบ เขาไม่เคยปล่อยให้คดีขาดอุทธรณ์เลย แต่อัยการพิเศษฝ่ายไปรายงานอัยการสูงสุดว่าเขาไม่มาทำงาน ฟังแล้วทำให้นึกปลงว่า งานอัยการเป็นงานให้บริการประชาชน เป็นบริการสาธารณะที่รัฐจัดให้ เพื่อความมั่นคง จิตสำนึกแรกของผู้ให้บริการก็คือ คุณต้องสามารถอุทิศเวลาจาก ๘:๓๐ น. ถึง ๑๖:๓๐ น. ให้แก่ราชการได้ ไม่ได้อยู่ที่ว่าเพียงไม่ทำให้งานในความรับผิดชอบเสียหาย มองดูในบริบทของเรื่องนี้ ทำให้คิดว่า เราไม่ได้ลงทุนในการปลูกจิตสำนึกให้ข้าราชการของเรามีจิตใจรักในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน อัยการคนหนึ่ง เมื่อเข้ามารับราชการจนถึงวันเกษียณอายุ เขาจะได้รับการฝึกอบรม ครั้งแรก เมื่อเป็นอัยการผู้ช่วยประมาณ ๑ ปี ให้ว่าความเป็น ครั้งที่ ๒ อีก ๑๐ ปีต่อมาให้เป็นอัยการจัดหวัดคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ครั้งที่ ๓ อบรมอัยการจังหวัดในอีก ๕ ปีต่อมา ครั้งที่ ๔ ให้เป็นอัยการพิเศษฝ่ายในอีก ๑๐ ปีต่อมา และถ้าไม่เกษียณก่อนก็ครั้งที่ ๕ เป็นผู้บริหารระดับกลาง (อธิบดีอัยการ) สอนกันด้านวิชาการกับวิธีการบริหารงาน บริหารเงินและบริหารคน แต่ไม่มีการสอนให้สร้างจิตสำนึกในการให้บริการประชาชน ดูเหมือนว่าเราจะไม่เคยมีงบลงทุนด้านนี้เลย

จริงๆ แล้ว สิ่งที่ควรอยู่ใต้จิตสำนึกของพนักงานอัยการแต่ละคน ทั้ง ๓,๒๕๐ คน ก็คือ เราได้ตั้งคำถามกับตัวเองแล้วหรือยังว่า วันนี้ เราได้ทำในสิ่งที่ดีที่สุดแล้วในการให้บริการประชาชนของเราให้ดียิ่งขึ้น จนเขาเกิดความมั่นใจอย่างเป็นรูปธรรมว่า เขาจะได้รับบริการที่เสมอภาค เป็นธรรม และรวดเร็ว และนี่คือเป้าหมายของการปฏิรูปองค์กรให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง ยิ่งกว่าการออกไล่จับอัยการนอกแถว ว่าไปแล้ว การไล่จับอัยการนอกแถวก็ไม่ควรเป็นงานของอัยการสูงสุด อัยการสูงสุดเพียงคนเดียวจะไล่จับอัยการ ๓,๒๕๐ คน ได้อย่างไร แต่อยู่ที่อัยการจังหวัดก็ดี อัยการพิเศษฝ่ายก็ดี อธิบดีอัยการก็ดี เป็นผู้มีหน้าที่กระทำ เพราะว่ารู้จักลูกน้องเป็นอย่างดีแล้ว เพียงแต่อำนาจในการจัดการอัยการนอกแถว เป็นของอัยการสูงสุด และ ก.อ. อัยการระดับล่างไม่เคยมีอำนาจเช่นว่านั้น จึงไม่รู้จะเปลืองตัวไปทำไม

การจัดแถวอัยการคงไม่เพียงไล่จับ แต่จะต้องลงทุนทั้งในการอบรมจิตสำนึกและพื้นฟูสมรรถภาพอบรมจิตสำนึก เพื่อให้มีจิตใจรักการให้บริการประชาชนปลูกจิตสำนึกในการทำงานให้ดีที่สุด เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ อย่างเป็นรูปธรรมว่าจะได้รับบริการที่ดี เสมอภาค เป็นธรรม และรวดเร็ว พื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ ส่วนเหล่าผู้ที่ไม่อาจฟื้นฟูได้ คงต้องแนะนำให้หาอาชีพใหม่กันบ้าง

อย่าห่วงว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่อัยการจะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าจิตสำนึกในการให้บริการประชนอย่างเสมอภาค เป็นธรรม และรวดเร็ว อยู่ในสำนึกของพนักงานอัยการทุกคน รับรองได้ว่าองค์กรอัยการ ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้

กิตติศักด์ สุคนธฉายา
อัยการพิเศษฝ่ายคดีแพ่งกรุงเทพใต้ ๓
กำลังโหลดความคิดเห็น