xs
xsm
sm
md
lg

ศิลปินแห่งชาติครวญ ถูกก๊อปปี้ผลงานเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (3 มิ.ย.) ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดการบรรยายในหัวข้อ "การปกป้องลิขสิทธิ์ผลงานของศิลปินแห่งชาติ" โดยมีศิลปินแห่งชาติ เข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก โดย น.ส.เขมะศิริ นิชชากร หัวหน้าส่วนส่งเสริมงานลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า จากการพูดคุยกับศิลปินแห่งชาติ ส่วนใหญ่ผลงานถูกละเมิดลิขสิทธิ์ วรรณกรรม นวนิยาย เรื่องสั้น ทัศนศิลป์ ภาพถ่าย ภาพวาด นาฏศิลป์ เพลงต่างๆ ภาพยนตร์ ยกตัวอย่างกรณี การละเมิดภาพวาด ศ.ปรีชา เถาทอง เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ถ้าใครทำซ้ำต้องขออนุญาติก่อน แต่หากให้ขายลิขสิทธิ์แก่ผู้ใด ผู้นั้นสามารถนำไปทำซ้ำ พิมพ์ ทำปฏิทินได้
"เดี่ยวนี้มีการอัพโหลดก๊อบปี้ไวมาก ดังนั้นเวลาสร้างสรรค์งานจะต้องเขียนว่า สงวนลิขสิทธิ์ พร้อมลงวันที่กำกับไว้ทุกครั้ง ใครจะไปทำซ้ำ ต้องขอลิขสิทธิ์ก่อน อย่างไรก็ตามไม่ควรให้ หรือโอนใครใช้ลิขสิทธิ์ของเรา จะเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด หากต้องการเผยแพร่ให้ทำสัญญาอนุญาตเป็นครั้งไป อาจมีฝ่ายกฎหมายดูแล หรือรวมตัวกันเป็นชมรม เพื่อปกป้องคุ้มครองในระยะยาว" น.ส.เขมะศิริ กล่าว
นายนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ กล่าวว่า ผลงานประติมากรรมชุด "ความปรารถนา" ที่สร้างสรรค์ไว้มากกว่า 20 ชิ้น มีหลายรูปแบบ ทั้งท่านั่ง ท่ายืน เอี้ยวตัว เป็นรูปทรงประสานเชื่อมโยงกันในลักษณะกึ่งนามธรรม พบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์ชุดนี้ของตนในแกลอรี่ศิลปะตามศูนย์การค้า โดยดัดแปลงเพียงเล็กน้อย แต่รูปทรง ปริมาตร มาจากงานของตนทั้งหมด มีการตั้งราคาไว้ขายเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า นอกจากนี้ ยังพบโรงแรมบางแห่ง ละเมิดลิขสิทธิ์งานของตน นำไปติดตั้งในห้องโถงใหญ่โดยไม่ขออนุญาต ผลงานมีการดัดแปลง ไม่สวยงามเท่าต้นฉบับ เกิดความเสียหาย การละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานศิลปินแห่งชาติ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น เมื่อ 20 ปี ก่อนผลงาน"ขลุ่ยทิพย์" อันโด่งดังของอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ มีโรงหล่อปั้นเลียนแบบผลงาน และทำขายตามร้านขายของที่ระลึก ขณะนั้นศิลปินแห่งชาติเสียชีวิตแล้ว แต่ภรรรยา นำเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าดำเนินคดีกับโรงหล่อ และทำลายผลงานละเมิดทิ้งทั้งหมด อีกกรณีโรงแรมชื่อดังย่านสุขุมวิท นำรูปทรงประติมากรรมขยายเหมือนจริง ของอาจารย์ชำเรือง วิเชียรเขตต์ ไปติดตั้งใต้บันได นอกจากละเมิดแล้ว ยังทำลายคุณค่าผลงานของศิลปินแห่งชาติ จนมีคดีฟ้องร้องกัน
นายนนธิวรรธน์ กล่าวต่อว่า เห็นด้วยกับ สวธ. ที่มีแนวคิดจัดทำบัญชีทะเบียนผลงานของศิลปินแห่งชาติ หากมีความเป็นรูปธรรม จะช่วยป้องกันการลักลอบนำผลงานของศิลปินแห่งชาติไปหาประโยชน์ทางการค้า และสามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง ดำเนินคดีต่อผู้นำผลงานไปละเมิดได้ เพราะผลงานเหล่านี้ทรงคุณค่า เป็นมรดกตกทอด ไม่ควรถูกบ่อนทำลายด้วยการละเมิด มาตรการที่ออกมา จะเป็นการปรามให้หยุดพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายได้ ไม่ปล่อยปละละเลยตามยถากรรม
นายสมนึก ทองมา หรือคนในวงการรู้จักในชื่อ "ครูชลธี ธารทอง" ศิลปินแห่งชาติ ปี 2542 สาขาศิลปะการแสดง (นักแต่งเพลงลูกทุ่ง) กล่าวว่า หลังจากที่มีการยื่นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายค่ายเพลงในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ หลังจากทำสัญญาขายเพลงที่แต่ง 8 เพลง ในราคา 76,000 บาท แต่บริษัทแอบอ้างสิทธิ์ในเพลงอื่นๆ ที่ครูแต่งไว้อีก 142 เพลง บริษัทอ้างถือลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ถ้าจะใช้เพลงต้องมาจ่ายค่าลิขสิทธิ์กับบริษัท จนเป็นคดีฟ้องร้องยาวนาน 30 กว่าปี สุดท้ายศาลตัดสินให้ชนะคดีละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น เพลงล่องเรือหารัก ไอ้หนุ่มตังเก อีสาวทรานซิสเตอร์ ทหารอากาศขาดรัก ฯลฯ
ทั้งนี้ ขอแนะนำให้นักแต่งเพลงอ่านสัญญาซื้อขายเพลงให้รอบคอบ และในสัญญาไม่ควรระบุคำว่า "ขายขาด" แต่ให้ใช้คำว่า "อนุญาตเผยแพร่" แทน
" ครูเพลงทุกคนเผชิญปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ครูเพลง อยากให้ครูเพลงรวมกลุ่มเพื่อดูแลปัญหานี้โดยเฉพาะ ตั้งทีมกฎหมายมาต่อสู้ ที่เสียหายมากตอนนี้กฎหมายยังไม่คุ้มครองการโหลดงานเพลงต่างๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต ปัจจุบันโหลดกันอย่างแพร่หลาย และนำไปใช้ประโยชน์ทางการค้า โดยที่เจ้าของผลงานไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆเลย " ครูชลธี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น