xs
xsm
sm
md
lg

ปรับปรุงพิพิธภัณฑฯ เรือพระราชพิธี ฉลองสิริราชสมบัติครบ 69 ปีในปี58

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ปรับครั้งใหญ่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี จัดแสดงครบ 52 ลำ ยิ่งใหญ่หนึ่งเดียวในโลก เทิดพระเกียรติในหลวง ฉลองสิริราชสมบัติครบ 69 ปี ในปี 2558 กรมศิลป์ ชงของบ คสช. 425 ล้าน พัฒนาเป็นศูนย์ศึกษาเรือพระราชพิธีระดับชาติ ให้เป็นแหล่งศึกษาของเยาวชนไทย พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่จะมาเยี่ยมชมความงดงามนี้

วันนี้ ( 2 มิ.ย.) นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า วันที่ 4 มิ.ย. กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) จะนำเสนอโครงการการพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 69 ปี ในปี 2558 ต่อพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ฝ่ายสังคมและจิตวิทยา ที่จะมารับฟังแนวทางการดำเนินงานของ วธ. ซึ่งถือเป็นเรือพระราชพิธีหนึ่งเดียวในโลก ที่เปิดบริการแก่สาธารณชนมาตั้งแต่ปี 2517 จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเรือพระที่นั่งและ เรือพระราชพิธีที่ใช้ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค หรือทางน้ำของพระมหากษัตริย์ไทย จำนวน 8 ลำจาก เรือทั้งหมด 52 ลำ โดยปัจจุบันเรือพระที่นั่งและเรือพระราชพิธีแยกเก็บตามที่ต่างๆ ทั้งที่ ท่าวาสุกรีในความดูแลของสำนักพระราชวัง จำนวน 6 ลำ และที่ กองเรือเล็ก กองทัพเรือ 38 ลำ

ในปัจจุบันสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งนี้แวดล้อมไปด้วยชุมชนแออัด มีสภาพทรุดโทรม ขาดความสวยงาม การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ทำได้สะดวกเฉพาะทางเรือเท่านั้น ส่วนทางรถจะต้องจอดรถยนต์ ที่บริเวณสะพานอรุณอัมรินทร์ แล้วเดินเท้าผ่านกองเรือเล็กซึ่งเป็นหน่วยงานของกองทัพเรือและชุมชนแออัด ซึ่งไม่สะดวกและยากลำบากในการเข้าชม ซึ่งในแต่ละปีมีนักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้เข้ามาเที่ยวชมเป็นจำนวนมาก กรมศิลปากร เห็นว่า ควรเร่งรัดดำเนินการ เพื่อให้พิพิธภัณฑสถานแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่รวบรวมเรือพระราชพิธีที่กระจัดกระจายอยู่ในที่อื่นๆ ให้มาอยู่ในที่เดียวกัน ปรับปรุงพัฒนาการจัดแสดงให้มีมาตรฐานน่าสนใจ ในลักษณะศูนย์ศึกษาเรือพระราชพิธีของชาติ

นายเอนก บอกว่า ส่วนแผนงานการพัฒนา จะเริ่มตั้งแต่ปี 2558-2561 ดังนี้ ขอใช้ประโยชน์ในที่ดินของกองทัพเรือ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของที่บัญชาการกองเรือเล็กและสโมสรเนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา เพื่อเปิดพื้นที่เส้นทางเข้า -ออกพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ทางบกด้านถนนอรุณอัมรินทร์ เพื่อเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาทางรถยนต์ รวมทั้งเพิ่มขยายอาคารจัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาและเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับเรือพระราชพิธี ที่ใช้ในขบวนพยุหยาตราชลมารค ซึ่งจากเดิม 8 ลำ มาเป็นจำนวนทั้งหมด 52 ลำ ด้วยระบบการจัดแสดงที่ทันสมัยให้ความรู้ความเพลิดเพลิน รวมทั้งมีห้องบรรยายสรุปด้วย

ประการสำคัญจะมีการก่อสร้างส่วนบริการและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ประกอบด้วย ลานจอดรถ ท่าเทียบเรือ ทางเดินเท้า ป้ายประชาสัมพันธ์ ร้านจำหน่ายของที่ระลึก ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ห้องสุขา รวมทั้งปรับสภาพภูมิทัศน์และไฟฟ้าส่องสว่าง ปรับภูมิทัศน์โดยรอบ โดยจะใช้งบประมาณการค่าใช้จ่ายในการการดำเนินโครงการพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 425 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กรมศิลปากร ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อทำประชาพิจารณ์ และศึกษาผลกระทบของชุมชนโดยรอบด้วย

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า เรือพระที่นั่งและเรือพระราชพิธีละลำทำด้วยฝีมือประณีตงดงาม ล้วนทรงคุณค่าสูงยิ่งทางศิลปกรรม เป็นมรดกทางวัฒนธรรมล้ำค่าของชาติและของชาวโลก ที่ยังคงได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบสานทั้งการสร้างเรือและแบบแผนราชประเพณีว่าด้วยการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำของสถาบันพระมหากษัตริย์จากอดีตจวบจนถึงปัจจุบันแห่งเดียวในโลก โดยเฉพาะเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ที่ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของโลก โดยองค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักรได้มอบรางวัลเกียรติยศมรดกทางทะเล ประจำปี 2535 ให้แก่ เรือพระที่นั่งลำนี้

“ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2495 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรเรือ ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้รักษาโรงเรือและเรือมากยิ่งขึ้น รัฐบาลจึงให้กรมศิลปากรและกองทัพเรือเป็นแม่งานในการซ่อมแซมและจัดทำทะเบียนบัญชีเรือพระราชพิธีประเภทต่างๆ จนสามารถนำมาใช้จัดขบวนพยุหยาตราชลมารคในโอกาสฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ พ.ศ.2500 และในปี 2502พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูจารีตประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราชลมารค ขึ้นใหม่เป็นครั้งแรก” นายเอนก กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น