xs
xsm
sm
md
lg

ข้อเสนอจาก ASTV ถึง กอ.รส.

เผยแพร่:

ในที่สุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ก็โดดมาเล่นบทคนกลาง โดยการใช้อำนาจผ่านกฎอัยการศึก กฎหมายที่มีอายุ 100 ปี พอดีเพราะประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2457โดยเป็นกฎหมายที่ประกาศใช้ในภาวะสงครามและจลาจล และโดยข้อเท็จจริงแล้วต้องประกาศโดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ และต้องมีคนลงนามสนองพระบรมราชโองการ

ดังความในมาตรา 2 ของพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก 2547 ว่า เมื่อเวลามีเหตุอันจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งจะมาจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักรแล้ว จะได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึกทุกมาตราหรือแต่บางมาตรา หรือข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งของมาตรา ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขแห่งการใช้บทบัญญัตินั้นบังคับในส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรหรือตลอดทั่วราชอาณาจักร และถ้าได้ประกาศใช้เมื่อใด หรือ ณ ที่ใดแล้ว บรรดาข้อความในพระราชบัญญัติหรือบทกฎหมายใด ๆ ซึ่งขัดกับความของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับต้องระงับและใช้บทบัญญัติของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับนั้นแทน

และรัฐธรรมนูญมาตรา 188 บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึกตามลักษณะและวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก” และวรรคสอง “ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งเป็นการรีบด่วน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก” และมาตรา 195 บัญญัติว่า “บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้”

จากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศให้มีผลใช้บังคับตลอดทั่วราชอาณาจักรเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะต้องกระทำในรูปแบบพระบรมราชโองการ และต้องมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการประกาศใช้กฎอัยการศึก หาใช่อำนาจของผู้บัญชาการทหารบกไม่

การประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้จึงถูกนักกฎหมายบางฝ่ายท้วงติงว่า ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

แต่สำหรับอารมณ์ของประชาชนทั่วไปนั้นจับใจความได้ว่า ประชาชนพอใจกับการออกมาแอ็กชั่นของพล.อ.ประยุทธ์ในครั้งนี้ ด้านหนึ่งเพราะสังคมส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยาวนาน และอยากให้สังคมกลับสู่สภาพปกติ ขณะที่กลุ่มการเมืองต่างฝ่ายต่างมองว่า การออกมาของทหารจะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายของตัวเอง

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ถึงกับบอกว่า รักพล.อ.ประยุทธ์ เพิ่มขึ้น 120 เท่า หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ตอบคำถามนักข่าวว่า รัฐบาลอยู่ไหน เมื่อถูกถามว่า ประกาศกฎอัยการศึกบอกรัฐบาลหรือยัง

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็มีท่าทีที่ตอบรับกับการประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้ นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม บอกว่า กองทัพมีการประเมินสถานการณ์แล้ว และเป็นการเข้ามาแทน ศอ.รส.เพื่อควบคุมให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดี ไม่ให้เกิดความรุนแรง พร้อมทั้งเชื่อว่าผบ.ทบ.จะไม่เปิดทางให้วุฒิสภาได้ดำเนินการเสนอชื่อตั้งนายกฯ คนกลาง มองว่า ผบ.ทบ.จะมีข้อยุติที่ไม่นำไปสู่ความวุ่นวาย

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้จริงๆ ว่า เป้าประสงค์ของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึกและสถาปนาตัวเองเป็นผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยนั้นมีเป้าหมายอย่างไร และอยากให้เหตุการณ์บ้านเมืองเดินไปสู่จุดใด

แต่สิ่งที่เอเอสทีวีได้รับผลกระทบอยู่ขณะนี้การถูก “ขอความร่วมมือ” ให้ระงับการออกอากาศ ในประกาศฉบับที่ 6 ร่วมกับสถานีโทรทัศน์อื่นๆ อีก 10 ช่อง (ต่อมาฉบับที่ 7 ประกาศเพิ่มอีก 4 ช่อง) ซึ่งทางเราได้ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างไม่มีเงื่อนไขแม้รู้ว่า ประกาศดังกล่าวอาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม

แต่เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวของ กอ.รส.ไม่มีความชัดเจนว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด เมื่อบ่ายวันที่ 21 พฤษภาคม ตัวแทนของเอเอสทีวีจึงได้เดินทางไปยื่นข้อเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยว่า เอเอสทีวีคงไม่สามารถให้ความร่วมมือต่อคำสั่งดังกล่าวได้ตลอดไปเพราะก่อให้เกิดผลเสียหายในทางธุรกิจ และส่งผลกระทบต่อพนักงานสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี และอาจจะส่งผลกระทบจนถึงขั้นต้องปิดกิจการเพราะไม่สามารถจะมีรายได้มาหล่อเลี้ยงองค์กรต่อได้

ดังนั้นทางเอเอสทีวี จึงได้ยื่นข้อเสนอไปว่า จะทำการปรับผังรายการใหม่ โดยจะระงับรายการวิเคราะห์วิจารณ์สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศทั้งหมด และปรับผังรายการนำเสนอสารคดีเฉลิมพระเกียรติและโครงการพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งคำสอนของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ตลอดจนการรายงานข่าว การเล่าข่าว การวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ การจัดรายการสุขภาพ และสังคม เช่นเดียวกับสถานี โทรทัศน์อื่นๆ ที่เปิดดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

และไม่ว่าจะมีคำตอบกลับมาหรือไม่ ทางสถานีฯ จะดำเนินการออกอากาศตามผังรายการใหม่ที่ทำเสนอไป ในวันพุธที่ 28 พฤษภาคม 2557 หลังจากที่ได้ระงับการออกอากาศไปแล้วทั้งสิ้น 7 วัน การดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้สถานีฯ ทำหน้าที่สื่อมวลชน และสามารถดำรงสถานภาพทางธุรกิจต่อไปได้ หากทาง กอ.รส.ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว ขอให้แจ้งกลับมาก่อนวันพุธที่ 28 พฤษภาคม

เราตระหนักดีนะครับว่า พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 จะให้อำนาจไว้ในมาตรา 11 ดังนี้ การห้ามนั้น ให้มีอำนาจที่จะห้ามได้ดังนี้ (2) ที่จะห้ามออกจำหน่าย จ่ายหรือแจก ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพบทหรือคำประพันธ์ (3) ที่จะห้ามโฆษณา แสดงมหรสพ รับหรือส่งซึ่งวิทยุ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ แต่เราก็ได้ให้ความร่วมมือไปในระดับสำคัญแล้ว คือ การงดรายการวิพากษ์วิจารณ์การเมือง

เราหวังว่าทาง กอ.รส.จะตระหนักต่อการดำรงวิชาชีพและความอยู่รอดขององค์กรของเราด้วย มิพักต้องเอ่ยว่า สิทธิเสรีภาพของเราได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ที่ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

และแม้ว่า มาตรา 45 วรรค 2 จะบัญญัติไว้ต่อมาว่า การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่การใช้บทบัญญัติตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ก็น่าจะต้องมีขอบเขตที่จำกัดและต้องบังคับใช้อย่างระมัดระวังเท่านั้น

เรายินดีปฏิบัติต่อการ “ขอความร่วมมือ” ของท่านครับ แต่เราต้องตระหนักต่อสิทธิเสรีภาพและความอยู่รอดขององค์กรด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น