xs
xsm
sm
md
lg

เผยการบ้าน 5 ข้อ “ประยุทธ์” ถามจะปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้ง-ประชามติหรือไม่-ร้อง กปปส.-นปช. เลิกม็อบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ จันทรโอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ภาพจากแฟ้ม)
เผยการบ้าน 5 ข้อ ผบ.ทบ. สั่งวงหารือ กอ.รส. หาทางออกประเทศ รัฐบาล-เพื่อไทย ประสานเสียง นายกฯ คนกลางทำไม่ได้ “จตุพร” ผุดไอเดียทำประชามติต้องการเลือกตั้ง หรือปฏิรูป “สุเทพ” ยันหน้าที่วุฒิสภาหานายกฯ ตัวจริง ต้องจัดตั้งรัฐมนตรีปลอดนักการเมือง ปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง กกต. ชง 2 แนวทางจัดการเลือกตั้ง ย้ำ 3 สิงหา ต้องถามฝ่ายความมั่นคงก่อน

วันนี้ (21 พ.ค.) ที่สโมสรทหารบก รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการประชุมกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ที่เชิญตัวแทน 7 ฝ่ายเข้าหารือเพื่อหาทางออกของประเทศ ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะ ผอ.รส. ได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนแต่ละฝ่ายนำเสนอจุดยืนและมุมมองในการแก้ไขปัญหาประเทศว่าแต่ละฝ่ายมีความคิดเห็นอย่างไร

ซึ่งตัวแทนของพรรคเพื่อไทย นำโดย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา คณะกรรมการกิจการพรรคเพื่อไทย เสนอว่า พรรคเพื่อไทยพร้อมให้ความร่วมมือกับ กอ.รส. ในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ สิ่งใดทำได้แก้ไขได้ ก็ให้ดำเนินการไปก่อน แต่มองว่านายกรัฐมนตรีคนกลางเป็นไปไม่ได้

ขณะที่ตัวแทนฝ่ายรัฐบาล โดย นายชัยเกษม นิติสิริ ปฏิบัติหน้าที่ รมว.ยุติธรรม ระบุว่า เมื่อยุบสภาแล้วก็ต้องให้ประชาชนเป็นฝ่ายตัดสิน ขณะนี้มีการประกาศกฎอัยการศึก ก็ยิ่งมีโอกาสที่การจัดการเลือกตั้งจะเกิดความสำเร็จ การปฏิรูปไม่สามารถทำได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ สิ่งใดทำได้ก่อนเลือกตั้งควรทำไปก่อน แต่หากสิ่งใดเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินไป ให้รอดำเนินการหลังมีสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ส่วนประเด็นนายกรัฐมนตรีคนกลางที่มีอำนาจเต็มน่าจะเป็นไปไม่ได้ในทางกฎหมาย หากประเมินแล้วยังเกิดความเห็นต่างก็ควรทำประชามติ

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ปัญหาขณะนี้ไม่ได้อยู่การประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้วจะทำให้ทุกอย่างเกิดความสงบเรียบร้อย เพราะความขัดแย้งยังคงอยู่ การเลือกตั้งภายใต้การประกาศใช้กฎอัยการศึก จะส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ

ส่วน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า จุดยืนของ นปช. เป็นจุดยืนบนหลักประชาธิปไตย การเลือกตั้งในช่วงสถานการณ์การเมืองขณะนี้สำเร็จยาก ดังนั้น ควรมีการจัดทำประชามติ ถามประชาชนว่าต้องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง หรือต้องการเลือกตั้งก่อนการปฏิรูป โดยให้มีการจัดทำประชามติในเดือนกันยายน และหลังจากนั้นอีก 2 เดือน ประมาณเดือนพฤศจิกายน และเดือนธันวาคม ถึงจัดการเลือกตั้ง

ขณะที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ยืนยันว่า ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีนายกรัฐมนตรีแล้ว เป็นหน้าที่ของวุฒิสภา ที่จะต้องดำเนินการหานายกรัฐมนตรีตัวจริง ต้องจัดตั้งรัฐมนตรีที่ไม่เป็นนักการเมือง ควรต้องมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง เพราะหากจัดการเลือกตั้งทันทีก็จะได้รัฐบาลที่มาจากวงจรเดิมๆ และไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ เพราะจะเป็นการสร้างความขัดแย้งเรื่องใหม่ให้เกิดขึ้นมาอีกครั้ง

ด้าน นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ปฏิบัติหน้าที่รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ในฐานะว่าที่ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ทางวุฒิสภากำลังพยายามหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หากมีองค์กรใดที่เสนอตัวเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาประเทศ ทางวุฒิสภาก็พร้อมที่จะถอนตัว แต่ทางวุฒิสภามีทางออกในการแก้ไขปัญหาแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดให้รับทราบได้ เนื่องจากต้องการรอให้แนวทางดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยก่อน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบให้แต่ละฝ่ายกลับไปหาคำตอบใน 5 เรื่อง คือ 1. การปฏิรูปจะทำอย่างไร จะปฏิรูปก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง 2. รัฐบาลรักษาการหรือรัฐบาลเฉพาะกาล จะได้มาอย่างไร 3. ควรจะมีการทำประชามติหรือไม่ 4. การสร้างบรรยากาศเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งควรจะทำอย่างไร และ 5. ขอให้ผู้ชุมนุม กปปส. และ นปช. ยุติการชุมนุมเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลาย สามารถนำไปสู่บรรยากาศการเลือกตั้งที่สำเร็จได้ โดยขอให้นำคำตอบกลับมาเสนอให้ที่ประชุมรับทราบในวันที่ 22 พ.ค. เวลา 14.00 น. อีกครั้ง

ต่อมาเวลา 17.30 น. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวภายหลังการร่วมประชุมกับ กอ.รส. ว่า บรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ฝ่ายต่างๆไ ด้เสนอความคิดเห็น ในการหาทางแก้ไขปัญหาของประเทศ ซึ่ง กกต. ได้ยืนยันต่อที่ประชุมว่าการเลือกตั้งเป็นทางออกของประเทศ เพียงแต่จะต้องรอจังหวะเวลาที่เหมาะสม ให้การเลือกตั้งเกิดความสงบเรียบร้อย เพราะหากจัดการเลือกตั้งแล้วไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ถือว่าไม่ใช้การแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ หากจะจัดการเลือกตั้ง ต้องสร้างบรรยากาศให้ทุกฝ่ายสามารถหาเสียงได้อย่างเสรี ประชาชนมีโอกาสรับรู้นโยบายของแต่ละพรรคการเมือง ไม่มีการทำร้าย ข่มขู่ หรือคุกคาม และในวันเลือกตั้ง จะต้องเป็นการเลือกตั้งที่ สุจริต เที่ยงธรรม ไม่มีการซื้อเสียง ไม่มีการใช้อิทธิพล หลังการเลือกตั้งสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับ ไม่มีการต่อต้าน ซึ่งบรรยากาศขณะนี้ มองว่า ไม่สามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้ เนื่องจากยังมีความขัดแย้ง และจะทำให้การเลือกตั้งไม่ประสบสำเร็จ

ทั้งนี้ กกต. ได้เสนอแนวทางต่อที่ประชุมจำนวน 2 แนวทาง คือ 1 ให้จัดการเลือกตั้ง โดยเร็วใน 5 เดือนนับจากนี้ โดย 3 เดือนแรก จะเป็นการเตรียมการ สร้างบรรยากาศ สร้างกลไก ที่เหมาะสม ให้การเลือกตั้งบริสุทธิ เที่ยงธรรม และใช้เวลา 2 เดือน จัดการเลือกตั้งตามกรอบของกฎหมาย ซึ่งข้อนี้รัฐบาลต้องเสียสละให้มี รัฐบาลรักษาการ ที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมือง แต่ให้เป็นข้าราชการประจำ ระดับ ปลัดกระทรวง รักษาการแทน และแนวทางที่ 2 คือ ให้มีการเลือกตั้งในช่วง 1-2 ปี หลังจากนี้ ซึ่งฝ่ายที่เลือกแนวทางนี้ จะต้องเสนอกลไก การได้มาซึ่ง นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ที่ถูกกฎหมาย มีหลักประกันว่า เป็นคนที่ทุกฝ่ายยอมรับอย่างแท้จริง

ส่วนที่รัฐบาล เสนอให้จัดการเลือกตั้งวันที่ 3 สิงหาคมนั้น กกต. เห็นว่า เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายอัยการศึก แล้ว จำเป็นต้องมีการหารือกับ กอ.รส. ด้วย ซึ่งหาก 3 ฝ่ายยืนยันจะจัดการเลือกตั้ง วันที่ 3 สิงหาคม ก็สามารถดำเนินการได้ ซึ่ง กกต. จะได้ทำหนังสือตอบกลับรัฐบาล


กำลังโหลดความคิดเห็น