xs
xsm
sm
md
lg

กกต.เดินหน้าคดีร้องคัดค้าน"ปู" โยงยุบพรรค-ตัดสิทธิ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (19พ.ค.) นายบุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต.ด้านสืบสวนสอบสวน กล่าวถึงปัญหาการร้องคัดค้านการเลือกตั้งว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งเมื่อ 2 ก.พ. 57 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ในเรื่องคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งส.ส.นั้น กกต.ยังคงต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อไป รวมถึงคำร้องเกี่ยวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่แม้รัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้สิ้นสภาพ ส.ส. แต่กกต.ก็ยังสอบสวนอยู่ เนื่องจากเรื่องที่ร้อง เกี่ยวข้องกับการยุบพรรค และตัดสิทธิ์ทางการเมือง ซึ่งขณะนี้มีหนึ่งเรื่องที่เกี่ยวกับอดีตนายกรัฐมนตรี อนุกรรมการสืบสวนฯ ได้สืบสวนแล้วเสร็จ และทางสำนักงานเตรียมที่จะบรรจุระเบียบวาระให้ที่ประชุม กกต.ได้พิจารณาเร็วๆ นี้ แต่ไม่สามารถเปิดเผยว่าเป็นเรื่องใด
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยว่า ในวันนี้ (20 พ.ค.) ที่ประชุมจะมีการพิจารณากรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ มีมติเห็นชอบให้มีการย้าย พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ไปเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 5 และให้ พล.ต.ท.สุเทพ เดชรักษา ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 มาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาตำรวจนครบาลแทน โดยพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะเข้าชี้แจงด้วยตนเอง เวลา 10.00 น.
นอกจากนี้นายสมชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่นักวิชาการกลุ่มสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) เห็นว่า รัฐบาลสามารถทูลเกล้าฯ ร่าง พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ได้ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจาก กกต. ว่า ข้อเสนอนี้ถือว่าเป็นการสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะเรื่องดังกล่าวไม่สามารถทำได้ หากรัฐบาลเห็นสอดคล้องกับกลุ่มนักวิชาการดังกล่าว ก็คงดำเนินการทูลเกล้าฯ ไปนานแล้ว แต่ที่ยังไม่ทูลเกล้าฯ ก็เพราะรัฐบาลรู้ว่าการจะทูลเกล้าฯ ต้องปรึกษากับกกต. เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสม และเป็นธรรม เพื่อให้การเลือกตั้งไม่เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเพื่อให้การเลือกตั้งนำไปสู่ความสำเร็จ โดยรัฐบาล และกกต. ต้องมีการประเมินสถานการณ์ร่วมกัน อีกทั้งการทูลเกล้าฯ ฝ่ายเดียวไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลเชื่อตามที่กลุ่มนักวิชาการ สปป. เสนอ และทูลเกล้าฯ ร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวขึ้นไปแล้ว ไม่มีการโปรดเกล้าฯลงมา ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งรัฐบาลต้องรับผิดชอบอย่างใหญ่หลวง หากเป็นเช่นนั้น

**กกต.คาดคุยรัฐบาลหลัง 27พ.ค.

ส่วนการนัดหารือระหว่างกกต.กับรัฐบาล เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งนั้น ยังมองว่า ควรจะเป็นการพบปะพูดคุยกัน ไม่ใช่ใช้ระบบวีดีโอคอนเฟอร์เร้นท์ ซึ่งขณะนี้ยังรอการประสานจากรัฐบาลอยู่ ว่าจะพร้อมเมื่อใด ที่ไหน โดย กกต.ขอให้นัดหมายล่วงหน้า ไม่เกี่ยงสถานที่ แต่ส่วนตัวมองว่า การหารือไม่ควรเป็นสัปดาห์นี้ เนื่องจากสถานการณ์การเมืองค่อนข้างรุนแรง หากมีการหารือ ก็จะเป็นการดึงความสนใจของผู้ชุมนุม ดังนั้นมองว่า ถ้าจะหารือควรเป็นหลัง วันอังคารที่ 27 พ.ค. ที่เชื่อว่าสถานการณ์น่าจะมีการคลี่คลายลง
นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา ทางสำนักงานกกต.ได้โทรศัพท์ประสานกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนัดหมายหารือร่วมกัน ถึงวันเลือกตั้งที่เหมาะสม แต่เบื้องต้นยังไมได้กำหนดวันเวลา สถานที่ ที่ชัดเจน เข้าใจว่า รัฐบาลคงรอความชัดเจนจากการหารือร่วมกับวุฒิสภาก่อน โดยการหารือครั้งหน้า กกต. จะเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะล่าสุดสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ทำหนังสือแจ้งมายัง กกต.อีกครั้ง เพื่อให้ระวังการใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง หากเกิดปัญหา กกต.ต้องรับผิดชอบ แต่ทั้งนี้ กกต. คงไม่สามารถหยุดในเรื่องการดำเนินการเลือกตั้งได้ เพราะทำเช่นนั้น ก็อาจจะโดนฟ้องเอาผิดฐานะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
" สถานการณ์ขณะนี้น่าจับตามอง หลังจากมีการประกาศจับตัวรัฐมนตรีรักษาการ หากนัดหมายเหมือนที่ หอประชุมกานตรัตน์ ก็อาจต้องเลื่อนการหารือออกไปอีก ดังนั้นจะนัดที่ใด ต้องรอบคอบ จะให้เร็วดังใจไม่ได้ ต้องมีการพูดคุยหาเหตุผล กกต.รวมทั้งกกต.จังหวัด 77 จังหวัด จะดำเนินการโดยยึดกฎมาย และอำนาจหน้าที่ เพราะหากหยุดก็จะโดนฟ้องร้อง และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แต่เราจะยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก" นายภุชงค์ กล่าว และย้ำว่า วันเลือกตั้งที่เคยกำหนดวันที่ 20 ก.ค. เป็นไปไม่ได้แล้ว แต่จะเป็นวันใด ก็ต้องรอการหารือร่วมกัน ของกกต.และรัฐบาล
สำหรับการประชุม กกต.ในวันนี้ (20 พ.ค.) นายภุชงค์ เปิดเผยว่า กกต. ได้นัดหมาย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. มาชี้แจงเรื่องงบประมาณของ ศอ.รส. ที่ยังคงค้างการพิจารณาอยู่

**พท.ยื่นเอกสารยุบปชป.เพิ่ม

วานนี้ นายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นคำร้องเพิ่มเติม พร้อมนำหลักฐานกรณีที่ก่อนหน้านี้ได้ยื่นให้กกต.พิจารณา สั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากเห็นว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกพรรค เข้าไปเมีส่วนเกี่ยวข้อง รู้เห็นเป็นใจกับ การชุมนุมของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. และพวก ซึ่งถือเป็นการล้มล้างการปกครอง และกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยหลักฐานที่นำมามอบให้เป็น ซีดีบันทึกภาพวีดีโอ ภาพถ่าย ภาพข่าว จากสื่อต่างๆ และการถอดเทปการปราศรัยของ นายอภิสิทธิ์ และ อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีพฤติการณ์สนับสนุนแนวทางของกลุ่มกปปส. ตั้งแต่แรก ซึ่ง กกต. ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาไต่ส่วนข้อเท็จจริงตามคำร้องทั้ง 5 คำร้อง ที่ตนได้ยื่นยุบพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมา และได้มีการนัดให้ตนมาให้ข้อมูลข้อเท็จจริง ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ เวลา 13.30 น. ด้วย

**ยุรัฐบาลทูลเกล้าฯพ.ร.ฎ.ไม่ต้องรอกกต.

นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ ประธานกลุ่มสหพรรคการเมืองประชาธิปไตย พร้อมด้วยตัวแทนพรรคเล็ก ได้ยื่นหนังสือต่อ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี โดยมี นายวิม รุ่งวัฒนจินดา เลขานุการ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มารับหนังสือแทน โดยเรียกร้องให้รัฐบาลยื่นทูลเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง โดยไม่ต้องรอหารือกับกกต.อีก เสนอให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อมูลจากประชาชน ให้เร่งรัดกกต.จัดเลือกตั้งโดยเร็ว และหาก กกต.ยังไม่จัดการเลือกตั้ง ทางสหพรรคการเมือง จะนำมวลชนมากดดัน กกต. พร้อมกับเรียกร้องให้ กกต.ลาออกทั้งคณะ ถ้าจัดการเลือกตั้งไม่ได้ และจะเสนอให้สหประชาชาติ (ยูเอ็น) มาดำเนินการจัดการเลือกตั้งแทน
นายสุรทิน กล่าวด้วยว่า ในสัปดาห์หน้า สหพรรคการเมืองจะเสนอชื่อนายกฯ ที่มาจากคนกลางคน แต่ยังไม่ขอเปิดเผยชื่อ และไม่ใช่นายกฯตาม มาตรา 7 แน่นอน เพราะการดำเนินการตาม มาตรา 7 ทำไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น