xs
xsm
sm
md
lg

อาฟเตอร์ช็อกพุ่ง675ครั้ง ชาวบ้านผวาไม่กล้าเข้าบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผ่นดินเชียงรายยังเขย่าไม่เลิก ตั้งแต่ 18.08 น. 5 พ.ค. ถึง 18.00 น. 11 พ.ค. อาฟเตอร์ช็อกพุ่ง 675 ครั้ง ขณะเหยื่อแผ่นดินไหวเพิ่มเป็น 2 ศพ จังหวัดสั่งระงับใช้สถานที่ราชการ 18 แห่ง ด้านถนนในชุมชนบ้านใหม่ ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว เกิดรอยแยก-ทรุดตัวยาวกว่า 100 เมตร ขณะชาวบ้านยังไม่กล้ากลับเข้าบ้านหวั่นพังถล่มเพราะแรงสั่นสะเทือน ด้านกรมสุขภาพจิตเร่งเยียวยาจิตใจเด็ก หลังพบส่อเป็นโรคเครียด

วานนี้ (11 พ.ค.) กรณีสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริคเตอร์ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม เวลา 18.08 น. ศูนย์กลางอยู่ที่ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย ที่ความลึก 7 กิโลเมตร รู้สึกสั่นไหวหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายให้กับอาคารบ้านเรือน และสาธารณูปโภคในจ.เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง ปรากฏว่าเกิดแผ่นดินไหวตามมาหรืออาฟเตอร์ช็อค จนถึงเวลา 09.00 น. วันที่ 11 พฤษภาคม วัดแรงสั่นสะเทือนตามมาตราริกเตอร์ได้ขนาด 5.0-5.9 จำนวน 7 ครั้ง ขนาด 4.0-4.9 จำนวน 28 ครั้ง ขนาด 3.0-3.9 จำนวน 113 ครั้ง ขนาดน้อยกว่า 3.0 จำนวน 523 ครั้ง

จากนั้นเวลา 10.42 น. เกิดอาฟเตอร์ช็อคขนาด 2.3 ความลึก 2 กิโลเมตร เวลา 11.36 น. ขนาด 2.3 ความลึก 3 กิโลเมตร เวลา 16.23 น. ขนาด 3.5 ความลึก 1 กิโลเมตร ทั้ง 3 ครั้ง ศูนย์กลางที่อ.แม่สรวย จ.เชียงราย และเวลา 17.14 น. ขนาด 3.3 ความลึก 2 กิโลเมตร ศูนย์กลางที่อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ทำให้ ณ เวลา 18.00 น. วันที่ 11 พฤษภาคม เกิดอาฟเตอร์ช็อครวม 675 ครั้ง

ด้านผู้สื่อข่าวจ.เชียงราย รายงานว่าคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาจากเหตุแผ่นดินไหว สรุปยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 2 ราย โดยรายล่าสุด คือ นายคมสัน แพร่อ้อย อายุ 91 ปี ชาวบ้านต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว เสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม คาดว่าหัวใจวาย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บมีเท่าเดิม คือ 23 ราย

นายประเสริฐ ประเสริฐกูลวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านใหม่จัดสรร หมู่ 18 ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว กล่าวว่า มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บสาหัสตั้งแต่วันแรกที่เกิดแผ่นดินไหว 1 คน เพราะถูกอิฐบล็อกพังทับทั้งตัว โผล่ออกมาแค่ศีรษะ ปัจจุบันยังลุกเดินไม่ได้

ทั้งนี้ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ แจ้งว่าขนาดและความถี่ของอาฟเตอร์ช็อคลดลงมากแล้ว โดยพื้นที่ใกล้จุดศูนย์กลางอาจยังคงมีความสั่นไหวเล็กน้อย แต่จะลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติใน 7-10 วัน ขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก และขอให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยที่บ้านเรือนไม่เสียหายกลับเข้าพักอาศัยได้ ส่วนรายที่บ้านเรือนเสียหาย ควรได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญของทางราชการก่อน อย่างไรก็ตามชาวบ้านในอ.พาน อ.แม่ลาว และอ.แม่สรวย ยังขอนอนอยู่นอกบ้าน เพราะเกรงว่าแรงสั่นสะเทือนจากอาฟเตอร์ช็อกจะทำให้บ้านพังถล่มลงมา

ด้านนายกอบชัย บุญอรณะ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.)เขต 15 เชียงราย กล่าวว่า ชาวบ้านจำนวนมากไม่กล้ากลับเข้าบ้าน เลือกที่จะนอนตามศูนย์อพยพ ซึ่งทางศูนย์ได้จัดหาน้ำดื่ม อาหาร เครื่องปั่นไฟ และฉายหนังให้ดูเพื่อคลายเครียด ขณะเดียวกันได้ระดมเครื่องจักรกลหนัก และเจ้าหน้าที่เข้ารื้อซากสิ่งปลูกสร้าง และบ้านเรือนที่เสียหายจากแผ่นดินไหวแล้ว หลังจากจังหวัดได้ตั้งคณะทำงานเข้าตรวจสอบ คาดว่าจะใช้เวลาอีกนาน เนื่องจากความเสียหายครอบคลุม 7 อำเภอ

ข่าวแจ้งว่า ล่าสุดพบรอยแยกเพิ่มเติมบนถนนภายในหมู่บ้านใหม่จัดสรร หมู่บ้านบริวารบ้านห้วยส้านยาว หมู่ 13 ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว ยาวกว่า 100 เมตร บางจุดกว้าง 50 เซนติเมตร ลึกกว่า 1 เมตร และทรุดตัวจนถนนเสียหายไป 1 ช่องจราจร ทำให้เกรงกันว่าจะขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง เพราะแรงสั่นสะเทือนจากอาฟเตอร์ช็อก

นายประจญ ปรัชญ์สกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ขณะนี้ คือ ความเสียหายของอาคาร เพราะยังคงมีอาฟเตอร์ช็อคต่อเนื่อง โดยตัวเลขความเสียหายของบ้านเรือนก่อนหน้านี้ 7 อำเภอ ประกอบด้วย อ.พาน อ.แม่ลาว อ.แม่สรวย อ.เมือง อ.เวียงชัย อ.ป่าแดด และอ.พญาเม็งราย รวม 45 ตำบล 519 หมู่บ้าน 6,142 หลัง เสียหายทั้งหมด 46 หลัง แต่เมื่อตรวจสอบโครงสร้างภายในพบว่าเสียหายเพิ่มเติมอีกกว่า 1,000 หลัง ทำให้ยอดรวมบ้านที่เสียถึง 8,463 หลัง โดยเสียหายทั้งหลัง 46 หลัง ซึ่งเบื้องต้นได้ขออนุมัติงบประมาณจากกรมบัญชีกลาง 180 ล้านบาท ภายในกรอบที่ตั้งเอาไว้ 500 ล้านบาท แต่คงไม่เพียงพอ โดยเฉพาะการซ่อมแซมบ้านเรือน ที่กำหนดจ่ายให้บ้านที่เสียหายทั้งหลัง 33,000 บาท เพราะบางหลังความเสียหายสูงกว่านั้นมาก

ด้านนายนรินทร์ กวางทอง วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักงานโยธาธิการ และผังเมืองจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ได้ระดมทีมวิศวกรสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชมรมช่างท้องถิ่น วิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กว่า 100 คนลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารบ้านเรือน สำหรับสถานที่ราชการเสียหาย 98 แห่ง แจ้งให้ระงับการใช้งานแล้ว 17-18 แห่ง และมีแนวโน้มว่าต้องรื้อและสร้างใหม่ เช่น โรงเรียนแม่ลาววิทยาคม อ.แม่ลาว โรงเรียนพานพิทยาคม อ.พาน เป็นต้น ส่วนความเสียหายอื่น ประกอบด้วย วัด 99 แห่ง โรงเรียน 46 แห่ง โบสถ์คริสต์ 7 แห่ง มหาวิทยาลัย 1 แห่ง อาคารเอกชน 6 แห่ง อาคารชุมชน 2 แห่ง สะพาน 4 แห่ง ถนน 5 สาย ท่อส่งน้ำประปาหมู่บ้าน 1 แห่ง

***กรมสุขภาพจิตเร่งเยียวยาจิตใจเด็ก

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ศูนย์พักพิงชั่วคราววัดบ้านห้วยส้านยาว ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว มีประชาชนพักอาศัยอยู่ 30 ครอบครัว ส่วนใหญ่บ้านเรือนเสียหายทั้งหมด และมีเด็กอยู่ด้วย 35 คน ซึ่งได้ประเมินและให้การช่วยเหลือ 30 คน อีก 5 คนเป็นเด็กเล็กมาก ทั้งนี้ในจำนวน 30 คน เป็นเด็กนักเรียนป. 4 ถึงม. 2 จำนวน 12 คน และเป็นเด็กเล็กตั้งแต่ ป.3 ลงมา 18 คน จากการประเมินพบว่าเด็ก ป. 4 ถึงม. 2 จำนวน 7 คน มีการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจ ความคิด และพฤติกรรม ได้แก่ ฝันร้ายซ้ำซาก เช่น เสาไฟล้มทับ มีคนเสียชีวิต ทั้งยังปัสสาวะรดที่นอนทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่กล้าทำภารกิจส่วนตัวตามลำพัง ต้องมีคนไปเป็นเพื่อน ตกใจง่าย แค่ได้ยินเสียงสตาร์ทรถก็ตกใจ และกังวลว่าจะไม่ได้ไปโรงเรียน เพราะโรงเรียนเสียหาย

ขณะที่เด็กเล็ก 3 คน มีพฤติกรรมเซื่องซึมลง ติดผู้ดูแล ร้องไห้งอแง ซึ่งทีมแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์จิตเวช ได้ให้การช่วยเหลือด้านจิตใจ ผ่านกิจกรรมนิทาน การเล่น และเรื่องเล่า และส่งรายชื่อเด็กให้โรงพยาบาลแม่ลาว ติดตามดูแลต่อไป

วันเดียวกัน มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เชียงราย ชาวบ้านใน 7 อำเภอที่ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหว เช่น ชาวบ้านห้วยส้านยาว หมู่ 13 ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว ที่พักอาศัยอยู่ที่ศูนย์ช่วยเหลือประชาชน สนามโรงเรียนบ้านห้วยส้านยาว พากันไปใช้สิทธิ์ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 61 วัดห้วยส้านยาว และหน่วยที่ 62 ศาลาวัดห้วยส้านยาว

นางน้อย วงษา อยู่บ้านเลขที่ 105 บ้านห้วยส้านยาว กล่าวว่า บ้านของตนพังลงมาทั้งหลัง และถูกอิฐบล็อกทับที่เอวลงไปถึงเท้า แต่ก็หนีออกทางครัวหลังบ้านได้ทัน ทุกวันนี้ต้องอาศัยอยู่ที่โรงเรียนบ้านห้วยส้านยาว เมื่อมีการเลือกตั้งนายกอบจ.จึงมาใช้สิทธิเลือก แต่ดูแล้วบรรยากาศไม่คึกคัก เพราะชาวบ้านมีเรื่องให้คิดมาก ทั้งเรื่องบ้านและความเป็นอยู่ ปัจจุบันหลายคนมีอาการปวดศีรษะ มึนงง และเครียดอย่างเห็นได้ชัด.
กำลังโหลดความคิดเห็น