xs
xsm
sm
md
lg

กกต.เมินถกนายกฯม.7 คุยรัฐบาลเลื่อนเลือกตั้ง3ส.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายภุชงค์ นุตรงวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึงกรณีที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ออกมาเรียกร้องให้ ว่าที่ประธานวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ ประธานกกต. หารือร่วมกันเพื่อเสนอชื่อนายกฯ คนกลางว่า เรื่องดังกล่าว ตนได้นำเรียน นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต.แล้ว ซึ่งนายศุภชัย ก็กล่าวว่า กกต. ต้องหารือร่วมกับรัฐบาล ในวันที่ 14 พ.ค. เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งต่อไป และส่วนตัวมองว่าขณะนี้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งยังคงมีอยู่ กกต.ก็ต้องดำเนินการตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ต่อไป

**กกต.ถกฝ่ายกม.ปมผู้ทูลเกล้าฯ

ผู้สื่อข่าวรานงานว่า ในวันนี้ ( 12 พ.ค.) เวลา 16.00 น. กกต.จะมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของกกต. ที่ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการด้านกฎหมายรวม 8 คน เพื่อหารือถึงความชัดเจนว่า ใครจะเป็นผู้มีอำนาจในการทูลเกล้าฯ ร่าง พ.ร.ฎ. แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งส.ส.ใหม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง รวมถึงปัญหาการตรา ร่าง พ.ร.ฎ. ที่ กกต. และคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล เห็นขัดแย้งกัน กรณีที่จะให้มีการบรรจุถ้อยคำว่า หากเกิดปัญหาให้สามารถเลื่อนวันเลือกตั้งได้ไว้ใน ร่าง พ.ร.ฎ.ด้วย เนื่องจากในการประชุม กกต.เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา มีการถกเถียงกันกว้างขวาง ว่า นายนิวัฒน์ธำรง บุญ
ทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ตามความหมายของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2545 มาตรา 10 เป็นผู้มีอำนาจที่จะทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการ ร่าง พ.ร.ฎ. แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งส.ส.ใหม่ หรือไม่
ซึ่งฝ่ายสำนักงานกกต. ก็มีความเห็นเป็น 2 ทาง ฝ่ายหนึ่งมองว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เหมือนนายกรัฐมนตรีทุกอย่าง เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 195 ที่กำหนดเกี่ยวกับกรณีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ในการตรากฎหมายว่า ต้องเป็นรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรี ก็คือรัฐมนตรี และถึงแม้ไม่มีนายกรัฐมนตรีแล้ว รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ก็สามารถทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการได้ แต่ประธาน กกต.ในฐานะผู้ร่วมรักษาการตาม ร่าง พ.ร.ฎ.ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้เนื่องจากไม่ใช่รัฐมนตรี
ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็เห็นว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี สามารถปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ได้เพียงบางอย่างบางเรื่องเท่านั้น ทำให้ที่ประชุมเห็นว่า จำเป็นต้องมีความชัดเจนเสียก่อนว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่เพียงไร
"ในที่ประชุม กกต.มองว่า เหตุการณ์บ้านเมืองขณะนี้ไม่ปกติ หากกกต. มีการหารือ หรือเสนอเรื่องที่เป็นความขัดแย้งกับรัฐบาลเกี่ยวกับการจะให้บรรจุถ้อยคำว่า "ให้สามารถเลื่อนวันเลือกตั้งได้ หากเกิดเหตุความจำเป็น" ไปยังผู้ที่ กกต.เองก็ไม่ชัดเจนว่า มีอำนาจในการทูลเกล้าฯ หรือไม่ อาจทำให้ถูกตีความว่า กกต.ยอมรับแล้วว่า ผู้ที่ กกต.เสนอเรื่อง และหารือด้วยนั้นเป็นผู้มีอำนาจเต็ม และหากท้ายที่สุด มีการยื่นเรื่องให้องค์กรศาลวินิจฉัยว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี มีอำนาจทูลเกล้าฯ หรือไม่ กกต.จะอาจต้องตกเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดไปด้วย ยิ่งมีหนังสือของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ให้รัฐบาลชดใช้ค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ด้วยแล้ว กกต.ยิ่งต้องระมัดระวัง เ พราะครั้งนี้ กกต.เป็นผู้เสนอว่า วันเลือกตั้งที่เหมาะสมคือ วันที่ 20 ก.ค. ขณะที่รัฐบาลแม้รับที่จะเข้ามาช่วยดูแลการจัดการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลก็ไม่ยืนยัน ว่าจะคุมสถานการณ์ความขัดแย้ง จนทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยได้ ดังนั้นหากเกิดปัญหาขึ้นกับการเลือกตั้งรอบใหม่ กกต. ก็ยากที่รอดจากการที่ไม่ต้องรับผิดชอบเหมือนครั้งที่แล้วได้ จึงจำเป็นที่ กกต.จะต้องมีความชัดเจนก่อนที่จะหารือกับรัฐบาลในวันที่ 14 พ.ค.” แหล่งข่าวระบุ

** ส่อเลื่อนวันเลือกตั้งไป 3 ส.ค.

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กกต. ยังเห็นว่า แม้กกต.จะมีการหารือกับผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 14 พ.ค. เวลา 14.00 น. ทางรัฐบาลโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็คงยืนยันว่า ตามความหมายของ มาตรา 10 วรรคสี่ วรรคห้า ของพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี มีอำนาจเทียบเท่านายกรัฐมนตรี สามารถทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งส.ส.ใหม่ ได้ แต่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง และอาจทำให้ กกต.ตกเป็นจำเลย ก็อาจจะใช้ช่องทางรัฐธรรมนูญมาตรา 214 มีความขัดแย้งระหว่างองค์กร ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และแน่นอนว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. ไปจนถึงวันที่ 22.พ.ค. ซึ่งเป็นวันที่เดิม กกต. และรัฐบาลเห็นร่วมกันว่า จะให้ ร่าง พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไป มีผลบังคับใช้ เพื่อจะเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค. นั้น เหลืออยู่เพียง 8 วัน ซึ่งอาจไม่เพียงพอกับขั้นตอนของการทูลเกล้าฯ และโปรดเกล้าฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ดังนั้น มีแนวโน้มว่า แม้วันที่ 14 พ.ค. ทางกกต.และรัฐบาล จะหารือจนได้ข้อยุติในประเด็นผู้มีอำนาจทูลเกล้าฯแล้ว หรือข้อความในมาตรา 4 ของ ร่าง พ.ร.ฎ. ก็ยากที่จะเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค.ได้ทัน ซึ่งสำนักงานก็ได้เตรียมเสนอปฏิทินแผนงานจัดการเลือกตั้งใหม่ ให้ที่ประชุมกกต. และรัฐบาลพิจารณาแล้ว โดยจะเลื่อนวันเลือกตั้งจากเดิมวันที่ 20 ก.ค. ราว 2 สัปดาห์ คือให้วันที่ 3 ส.ค.เป็นวันเลือกตั้ง และให้ ร่าง พ.ร.ฎ. มีผลใช้บังคับจากเดิมวันที่ 22 พ.ค. เป็นวันที่ 5 มิ.ย. รวมระยะเวลาจัดการเลือกตั้ง นับแต่วันที่ ร่าง พ.ร.ฎ.มีผลใช้บังคับ จนถึงวันเลือกตั้ง 58 วัน

**ปชป.ยันมาร์คพร้อมเสียสละ

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาบ้านเมืองว่า ต้องเริ่มจากความเสียสละจากฝ่ายการเมือง โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอแผนเดินหน้าประเทศไทยให้พ้นวิกฤต ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพราะในขณะที่คนกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเมือง ยังมีปัญหาเศรษฐกิจ ภัยพิบัติทั้งแผ่นดินไหว และภัยแล้ง รวมถึงความไม่สงบในภาคใต้ โครงการจำนำข้าว แต่ปัญหาทั้งหมดถูกรัฐบาลละเลย มุ่งแต่รักษาอำนาจ จึงขอเรียกร้องให้เลิกเอาผลประโยชน์ส่วนตัวนำหน้าปัญหาบ้านเมือง ให้นึกถึงการแก้ปัญหาประชาชนก่อนปัญหาทางการเมืองของตัวเอง โดยไม่ควรผูกปัญหาทุกอย่างไว้กับการเมือง เพราะแม้ผ่านวิกฤตการเมืองได้ แต่ประเทศจะเสียหายหนัก ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ ยินดีเสียสละตัวเอง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการหาทางออกให้ประเทศ
ส่วนการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ถนนอักษะ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.นั้น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงทั้ง สาระ และวิธีการ โดยยังวนเวียนบิดเบือนในเรื่องอำมาตย์ ที่ไม่มีตัวตนเพื่อหลอกลวงคนเสื้อแดงในการปกปิดความผิดของตัวเอง เป็นมุกเดิมที่ทำซ้ำซาก จึงขอเรียกร้องให้คนเสื้อแดงตาสว่างว่า ประเทศไม่มีอำมาตย์ มีแต่รัฐบาลโกงกิน ใช้อำนาจมิชอบ ทั้งนี้โครงสร้างสังคมไม่มีทฤษฎีสมคบคิดให้ร้ายพรรคเพื่อไทย แต่สิ่งที่เกิดกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เกิดจากการกระทำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เองทั้งสิ้น
"ขอท้าไปยังนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ว่า หากยังเป็นผู้ชายอยู่ขอให้พูดให้ชัดว่า อำมาตย์คือใคร เพราะที่ผ่านมาสมุนของนายจตุพร มีการระบุชัดเจนพาดพิงถึงสถาบันฯ จึงควรเลิกพูดจากำกวมได้แล้ว หากยังเป็นลูกผู้ชายอยู่" โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

**เลิกเตะถ่วงตั้ง"สุรชัย"เป็นปธ.วุฒิ

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้รัฐบาลยุติความพยายามสกัดกั้นในการทูลเกล้าฯ ไม่ให้นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมเป็นประธานวุฒิสภา ให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานวุฒิสภา เพราะที่ผ่านมามีการสกัดกั้นการทำหน้าที่ของวุฒิสภามาโดยตลอด ตั้งแต่การยื้อเวลาไม่ยอมเปิดประชุมวุฒิสภา กระทั่งมีการออกพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุม แต่จำกัดวาระการประชุม มาจนถึงการอ้างว่าการเลือกประธานวุฒิสภา เป็นการดำเนินการนอกวาระ แต่เมื่อไม่สามารถสกัดการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ว.ได้ และฝ่ายรัฐบาลแพ้เสียงโหวตในวุฒิสภา ก็ยังพยายามหาช่องว่าง ให้กฤษฎีกาตีความการเลือกประธานวุฒิสภาอีก เพราะที่ผ่านมา ความเห็นของกฤษฎีกา มีทิศทางไปตามที่รัฐบาลต้องการ
"รัฐบาลมีความมุ่งหวังให้การแต่งตั้งประธานวุฒิสภาล่าช้าที่สุด หรือทำไม่ได้เลย จึงขอเรียกร้องไปยัง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการนายกรัฐมนตรี เลิกซื้อเวลา เพราะการเลือกประธานวุฒิสภา ไม่มีประเด็นขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นกิจการภายในของวุฒิสภาซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุม เห็นควรให้มีการเลือกประธานวุฒิสภา จึงเป็นสิ่งที่ดำเนินการได้ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ"
ส่วนการเรียกร้องของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่เป็นผู้นำในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ร่วมกันพิจารณาหาทางออกให้ประเทศนั้น นายองอาจ กล่าวว่า ตนเห็นด้วย เพราะเป็นวิกฤตที่เสี่ยงต่อการเกิดสังคมไร้ระเบียบอย่างรุนแรง ดังนั้น องค์กรภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ควรหารือเพื่อแก้วิกฤตประเทศ โดยเชื่อว่า ผู้นำองค์กรเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือ และแสดงตนชัดเจนว่ามีจุดมุ่งหมายทำงานเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ บ้านเมือง การพูดคุยหาทางออกให้บ้านเมือง น่าจะเป็นช่องทางให้การแก้วิกฤตการเมืองคลี่คลายได้ จึงคิดว่า ประธานศาลฎีกา ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ควรจะนัดหารือกัน เช่นเดียวกับที่ ผบ.เหล่าทัพ จะเปิดโอกาสให้คณะรัฐ บุคคลของ พล.อ.สายหยุด เกิดผล พบเพื่อหารือ โดยควรทำคู่ขนานกัน
"รัฐบาลยืนยันอย่างเดียวว่า ต้องเดินหน้าเลือกตั้ง ขณะที่กปปส. คัดค้านการเลือกตั้ง ยืนยันการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หากรัฐบาลเดินหน้าเลือกตั้ง ก็จะไม่สามารถดำเนินการได้ และอำนาจของรักษาการนายกฯ จะดำเนินการให้มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งได้หรือไม่ ยังมีข้อถกเถียง การเลือกตั้งจึงเกิดได้ยาก นายนิวัฒน์ธำรง ควรร่วมรับผิดชอบด้วยการหาทางออกอื่น นอกจากการเลือกตั้ง เพื่อให้สังคมได้พิจารณา เพราะรัฐบาลคือต้นตอของปัญหา แต่ถ้าไม่เสนอทางออกอื่น ก็ขอประณามว่า รัฐบาล คือผู้ที่ทำให้เกิดวิกฤตที่รุนแรงมากขึ้นในบ้านเมือง" นายองอาจ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น