xs
xsm
sm
md
lg

ชี้อำนาจปชช.แก้วิกฤติได้ ม.7ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 6 พ.ค.) ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภา กล่าวระหว่างให้การต้อนรับคณะนักศึกษาแลกเปลี่ยน คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า เหตุการณ์ของความขัดแย้งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถ้าพูดในหลักวิชาการ ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเหตุการณ์ทางการเมือง การปกครองในปัจจุบัน ไม่สามารถนำทฤษฎีใดเข้ามาแก้ไขปัญหาได้ เพราะความขัดแย้งในประเทศไทย ถูกแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ซึ่งความเห็นมีความเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ตรงกัน แต่มีความเห็นแตกในแง่ของพื้นฐานทางความคิด
โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ประชาธิปไตยของประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 82 ปี ตั้งแต่ปี 2475 ยังมีปัญหาที่จำเป็นจะต้องนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองการปกครองก่อน
ส่วนอีกฝ่ายมองว่า รูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต้องมีการเลือกตั้งก่อนการนำไปสู่การปฏิรูป ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นยังไม่ได้ข้อสรุป จึงทำให้ประเทศในวันนี้หาทางออกไม่เจอ ซึ่งปมขัดแย้งที่มีอยู่ จะต้องอาศัยวิธีการทางรัฐศาสตร์เข้ามาแก้ไข แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีทฤษฎีใดอ้างอิงมาเป็นคำตอบได้
อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่หลายฝ่ายพยายามเข้ามาหาทางออก อาทิ แนวทางของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้งออกมา และมีการออกมาปฏิเสธตามแนวทางดังกล่าว ซึ่งในประเด็นนี้ทาง ส.ว. จะนำข้อโต้แย้ง และสิ่งที่ถูกปฏิเสธ มาช่วยกันวิเคราะห์ โดยบทบาทของวุฒิสภา หลังจากที่มี ส.ว.เลือกตั้งชุดใหม่ เชื่อว่าจะมีบทบาทในการเข้ามาแก้ไขปัญหามากขึ้นกว่าเดิม
นายสุรชัย กล่าวว่า ในหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้มีแค่การเลือกตั้งเท่านั้น สิ่งที่ควรจะให้ความสำคัญมากที่สุด คือ ประชาธิปไตยผ่านตัวแทนที่มีการตรวจสอบถ่วงดุล โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้มีการออกแบบระบบตรวจสอบเพื่อถ่วงดุล ไม่ให้ฝ่ายที่มี
อำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ หรือใช้อำนาจในรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีขอบเขต
อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่ประชาชนยังไม่ทราบ คือ ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในทางการเมือง และอำนาจนั้นเป็นของประชาชนอยู่ตลอดเวลา โดยหากพบว่า ผู้ที่ใช้อำนาจแทน เมื่อไปใช้อำนาจโดยมิชอบ ประชาชนก็สามารถเรียกคืนอำนาจนั้นได้ ซึ่งในประเด็นนี้คนไทยไม่ค่อยพูด ทำให้กลายเป็นปัญหาของความขัดแย้งในสังคมไทย ส่วนตัวมองว่า หากประเทศผ่านพ้นวิกฤตความขัดแย้งนี้ไปได้ ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่ประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็จะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไปในทิศทางที่ทำให้ประชาธิปไตยมีความสมบูรณ์มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
สำหรับแนวทางของการเสนอนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ก็เป็นความคิดของคนคนหนึ่งในสังคม หากเกิดในกรณีที่การเลือกตั้งไม่เกิดขึ้น แต่ตอนนี้เรื่องข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้ง ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ว่าจะปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป ซึ่งหากการเลือกตั้งเกิดขึ้น แนวคิดของนายกฯ มาตรา 7 ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น และอาจจะไม่ใช้คำตอบสุดท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น