xs
xsm
sm
md
lg

“สุรชัย” โยนสมาชิกหาข้อสรุปเลือก ปธ.วุฒิฯ หรือไม่ ชี้หากมีเลือกตั้งนายกฯ ม.7 ไม่ใช่้คำตอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย (แฟ้มภาพ)
ปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภา ปฏิเสธตอบเลือกประธานฯ ในสมัยวิสามัญขัด รธน.หรือไม่ ให้สมาชิกถกเถียงกันในที่ประชุมก่อนลงมติ ระบุปัญหาความขัดแย้งทางเมืองต้องนำรัฐศาสตร์มาแก้ไข ชี้หลักประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง ส่วนนายกฯ ม.7 หากมีการเลือกตั้งคงไม่ใช้คำตอบสุดท้าย “จองชัย” ยันไม่ถอนตัว เดินหน้าสมัครแข่งประธานวุฒิฯ หากแพ้พร้อมเข้าชิงเก้าอี้รองประธานฯ

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า หลังจากวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมาที่ประชุมมีมติรับญัตติเรื่องการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา และกรรมการธิการสามัญ ไว้พิจารณาในที่ประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญแล้ว ในวันที่ 9 พ.ค.จะมีการเปิดโอกาสให้ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นและอภิปรายก่อนจะลงมติ โดนส่วนตัวไม่ขอตอบว่าวุฒิสภามีอำนาจที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะลงมติ ส่วนกรณีที่ยังมีความเห็นว่าหากพิจารณาเรื่องดังกล่าวอาจจะทำให้มีความผิดต่อรัฐธรรมนูญนั้น ต้องให้ที่ประชุมได้มีการอภิปรายแสดงความเห็น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการประชุมรอบที่ผ่านมา ส.ว.แสดงเจตจำนงว่า หากที่ประชุมเดินหน้าพิจารณาเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาอาจจะไม่เข้าร่วมการพิจารณาเพราะเสี่ยงที่จะขัดรัฐธรรมนูญ และจะมีปัญหาต่อการประชุมหรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า เป็นดุลพินิจของ ส.ว. แต่จะมีปัญหาต่อการประชุมหรือไม่ก็ต้องพิจารณาว่าสมาชิกที่อยู่ในห้องประชุมครบองค์ประชุมหรือไม่ หากจำนวนสมาชิกยังอยู่ครบองค์ประชุมตนก็ดำเนินการประชุมต่อไป

ส่วนหากมีการเลือกสำเร็จจะมีปัญหาต่อการยอมรับในตัวบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาคนใหม่หรือไม่นั้น นายสุรชัยกล่าวว่า ต้องฟังมติของที่ประชุมซึ่งต้องรับฟังเสียงส่วนใหญ่ ส่วนเสียงข้างน้อยก็ต้องยอมรับมติของที่ประชุม เบื้องต้นเชื่อว่า ส.ว.ทุกคนโดยเฉพาะ ส.ว.ชุดใหม่จะรับฟังเหตุผล ตนมองว่าควรจะอยู่ในห้องประชุมเพื่ออภิปราย และรับฟังเหตุผลของคนที่เห็นด้วยและเห็นต่าง ก่อนนำเหตุผลมาพิจารณาก่อนลงมติตัดสิน อย่างไรก็ตาม หากเริ่มประชุมแล้วไม่ยอมฟังเสียงกัน อาจกระทบต่อการบริหารการประชุมได้ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นและสามารถทำความเข้าใจกันได้

ด้านนายจองชัย เที่ยงธรรม ส.ว.สุพรรณบุรี กล่าวยืนยันว่าจะเข้ารับการเสนอชื่อเป็นประธานวุฒิสภาอย่างแน่นอน โดยจะไม่มีการถอดตัวตามที่มีรายงานข่าวออกไปก่อนหน้านี้ ส่วนตัวมองว่าที่มีข่าวออกไปก่อนหน้านี้เชื่อว่าเป็นข่าวลวงเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการลงเข้าแข่งขันอาจจะไม่ชนะบุคคลที่มีชื่อ เพราะตนเดินสายขอคะแนนเพียงคนเดียว แต่คนอื่นมีกลุ่มในการขอคะแนน หากตนไม่ได้รับเลือกแต่ยังได้รับการสนับสนุนและถูกเสนอชื่อเป็นรองประธานวุฒิสภาก็พร้อมก็จะลงชิงตำแหน่งเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย กล่าวระหว่างให้การต้อนรับคณะนักศึกษาแลกเปลี่ยนคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าเหตุการณ์ของความขัดแย้งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันถ้าพูดในหลักวิชาการถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเหตุการณ์ทางการเมืองการปกครองในปัจจุบันไม่สามารถนำทฤษฎีใดเข้ามาแก้ไขปัญหาได้ เพราะความขัดแย้งในประเทศไทยถูกแบ่งเป็นสองฝ่าย ความเห็นมีความเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ตรงกัน แต่มีความเห็นแตกในแง่ของพื้นฐานทางความคิด โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่าประชาธิปไตยของประเทศไทยตลอดระยะเวลา 82 ปี ตั้งแต่ปี 2475 ยังมีปัญหาที่จำเป็นจะต้องนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองการปกครองก่อน ส่วนอีกฝ่ายมองว่ารูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้งก่อนการนำไปสู่การปฏิรูป สิ่งที่เกิดขึ้นยังไม่ได้ข้อสรุปจึงทำให้ประเทศในวันนี้หาทางออกไม่เจอ ปมขัดแย้งที่มีอยู่จะต้องอาศัยวิธีการทางรัฐศาสตร์เข้ามาแก้ไข แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีทฤษฎีใดอ้างอิงมาเป็นคำตอบได้

“มีสิ่งที่หลายฝ่ายพยายามเข้ามาหาทางออก อาทิ แนวทางของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้งออกมา และมีการออกมาปฏิเสธตามแนวทางดังกล่าว ในประเด็นนี้ทาง ส.ว.จะนำข้อโต้แย้งและสิ่งที่ถูกปฎิเสธช่วยกันวิเคราะห์ โดยบทบาทของวุฒิสภาหลังจากที่มี ส.ว.เลือกตั้งชุดใหม่ เชื่อว่าจะมีบทบาทในการเข้ามาแก้ไขปัญหามากขึ้นกว่าเดิม”

นายสุรชัยกล่าวต่อว่า ในหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่ได้มีแค่การเลือกตั้งเท่านั้น สิ่งที่ควรจะให้ความสำคัญมากที่สุด คือ ประชาธิปไตยผ่านตัวแทนที่มีการตรวจสอบถ่วงดุล โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้มีการออกแบบระบบตรวจสอบเพื่อถ่วงดุลไม่ให้ฝ่ายที่มีอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ หรือใช้อำนาจในรัฐธรรมนูญโดยไม่มีขอบเขต

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่ประชาชนยังไม่ทราบ คือ ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในทางการเมืองและอำนาจนั้นเป็นของประชาชนอยู่ตลอดเวลา โดยหากพบว่าผู้ที่ใช้อำนาจแทน เมื่อไปใช้อำนาจโดยมิชอบประชาชนก็สามารถเรียกคืนอำนาจนั้นได้ ในประเด็นนี้คนไทยไม่ค่อยพูด ทำให้กลายเป็นปัญหาของความขัดแย้งในสังคมไทย ส่วนตัวมองว่าหากประเทศผ่านพ้นวิกฤตความขัดแย้งนี้ไปได้ ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่ประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็จะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไปในทิศทางที่ทำให้ประชาธิปไตยมีความสมบูรณ์มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

นายสุรชัยกล่าวว่า สำหรับแนวทางของการเสนอนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ก็เป็นความคิดของคนคนหนึ่งในสังคม หากเกิดในกรณีที่การเลือกตั้งขึ้น แต่ตอนนี้เรื่องข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจะปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป ซึ่งหากการเลือกตั้งเกิดขึ้นแนวคิดของนายกฯ มาตรา 7 ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น และอาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น