xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เมื่อกกต.จับมือรัฐบาล อภิสิทธิ์ก็”หมาหัวเน่า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสร็จสิ้นภารกิจการเดินสายพบปะตัวแทนข้าราชการ ทหาร พรรคการเมือง เพื่อหาทางออกให้ประเทศไทยไปแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการสรุปความเห็น ทำพิมพ์เขียว เพื่อเสนอต่อรัฐบาล และแกนนำ กปปส. ว่าเห็นด้วยกับแนวทางที่ได้รวบรวมมาหรือไม่

ถ้าเห็นด้วย และนำไปสู่การเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายยอมรับ อภิสิทธิ์ ถึงกับประกาศ เว้นวรรค ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งที่จะมีขึ้นนี้ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า ข้อเสนอต่างๆ นั้น ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง

แต่ยังไม่ทันมีใครเห็นเนื้อหาสาระ ของพิมพ์เขียวที่ว่า อภิสิทธิ์ ก็ได้กลายเป็นหมาหัวเน่าไปเรียบร้อยแล้ว

เมื่อรัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้บรรลุข้อตกลงตัดหน้า ไปเมื่อ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่าจะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค. 57 โดย กกต.จะไปยกร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง แล้วนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ในวันที่ 6 พ.ค.นี้ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ

ในการสุมหัวหารือกันครั้งนี้ ฝ่ายกกต. มีข้อเสนอถึงแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรค โดยสรุปบทเรียนจากการเลือกตั้งเมื่อ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ให้รัฐบาลช่วยกันแก้ไข จำนวน 5 ข้อ คือ

1. รัฐบาลจะต้องสามารถรับประกันในบรรยากาศการเลือกตั้งที่เสรี และเป็นธรรม

2. ฝ่ายความมั่นคง จะต้องมีส่วนสนับสนุนให้การจัดการเลือกตั้งสำเร็จ และเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย

3. รัฐบาลต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่ใช้อำนาจในฐานะรัฐบาลรักษาการ เพื่อก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้ง

4.ในกรณีที่การเลือกตั้งครั้งต่อไป กกต.เห็นว่า การดำเนินการเลือกตั้งจะเป็นไปโดยไม่เสรีและเป็นธรรม หรือไม่สงบเรียบร้อย กกต.จะขอใช้สิทธิ์ในการเลื่อนวันลงคะแนน ในเฉพาะพื้นที่ที่เป็นปัญหา ซึ่งอาจเป็น รายหน่วย รายเขต รายจังหวัด หรือแม้กระทั่งเป็นรายภาค หรือทั้งประเทศ

5.รัฐบาลต้องยินยอมรับสภาพที่การเลือกตั้งอาจจะหย่อนบัตรสำเร็จ แต่อาจจะไม่สามารถเปิดสภาได้ใน 30 วัน

เงื่อนไข 4 ใน 5 ข้อดังกล่าว รัฐบาลบอกโอเค ไม่มีปัญหา ยกเว้นข้อ 4 ที่ กกต.จะขอใช้สิทธิในการเลื่อนวันลงคะแนนเอง หากพบว่าในบางพื้นที่มีปัญหา

โดย กกต. จะขอเขียนรายละเอียดลงใน ร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง ว่า หากการเลือกตั้งล่วงหน้า 7 วัน ก่อนถึงวันเลือกตั้งจริง มีปัญหา ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ ให้ประธานกกต. มีอำนาจเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปได้

แต่นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา โต้แย้งว่า ไม่เคยมีการ ร่าง พ.ร.ฎ. แบบนี้มาก่อน เพราะถือว่าการบังคับพระราชอำนาจ และหากประธาน กกต.ทำผิด นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ได้เสนอว่า หากระบุใน พ.ร.ฎ.ไม่ได้ ขอให้ทำเป็นบันทึกช่วยจำ (เอ็มโอยู) ได้หรือไม่ ที่จะให้อำนาจประธาน กกต. เลื่อนวันเลือกตั้งได้ แต่ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี โต้แย้งว่า นายสมชัย พูดแบบนี้ไม่ได้ เพราะปัญหายังไม่เกิดขึ้น เอาไว้ให้ปัญหาเกิดขึ้นก่อน แล้วค่อยมาคิดแก้ไขกัน

แม้กกต.จะไม่ได้อำนาจในการเลื่อนวันเลือกตั้งตามที่ต้องการ แต่การหารือก็จบลงด้วยดี กำหนดวันเลือกตั้งได้ชัดเจนว่า คือวันที่ 20 ก.ค. 57 หากมีปัญหาที่ฝ่ายต่อต้านไปขัดขวางการรับสมัคร ทางกกต. ก็ได้เตรียมแก้ไขประกาศกกต. ให้รับสมัครทางไปรษณีย์ได้

เมื่อมีการประกาศวันเลือกตั้งออกมาเช่นนี้ ก็มีปฏิกิริยาจากทางพรรคประชาธิปัตย์ออกมาทันทีเช่นกัน เพราะชัดเจนว่าการเดินสายของนายอภิสิทธิ์ ที่ผ่านมา ย่อมสูญเปล่า มีการต่อว่าต่อขาน นายกฯยิ่งลักษณ์ ว่าเป็นคนสับปลับ ปากบอกว่าสนับสนุนแนวทางของอภิสิทธิ์ แต่แล้วก็มาชิงประกาศวันเลือกตั้งตัดหน้า โดยไม่รอดู"พิมพ์เขียว"ของอภิสิทธิ์ เสียก่อน

ที่สำคัญ ปัญหาที่ประชาธิปัตย์ตอบยากที่สุดในขณะนี้คือ จะลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้หรือไม่ ถ้าลงสมัครก็เหมือนเปลี่ยนจุดยืน ละทิ้งแนวทางที่เคยบอกว่าเป็นทางออกของประเทศ ต้องหาเหตุผลมาอ้อมแอ้ม อธิบาย แต่ถ้าไม่ลงสมัคร จะแก้ปัญหา"เลือดไหล" อย่างไร เพราะมีอดีต ส.ส.ในพรรคจำนวนไม่น้อย ที่เป็นนักการเมืองอาชีพ แค่ว่างเว้นไป 6 เดือนก็จะลงแดงตายอยู่แล้ว ถ้าพรรคยังบอยคอตอีก ก็ไปหาที่อยู่ใหม่ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึง "ไทม์ไลน์" ทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการในการจัดการเลือกตั้ง และสถานภาพของนายกฯยิ่งลักษณ์ แล้วจะเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญนัด พยาน ฝ่ายของยิ่งลักษณ์ ไปชี้แจงกรณีโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาฯสมช. มิชอบ ในวันที่ 6 พ.ค. จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญอาจจะพิจารณาตัดสินสถานภาพนายกฯ ในวันที่ 7-8-9 พ.ค. ก็เป็นได้

ส่วนคดีทุจริตจำนำข้าว ที่อยู่ในการพิจารณาของป.ป.ช. ทางเลขาธิการป.ป.ช.ก็ระบุออกมาแล้วว่า จะไม่มีการเพิ่มพยานอีก 7 ปาก จะไม่ลงพื้นที่ตรวจโกดังข้าว ตามที่ทนายของนายกฯร้องขอ และในวันที่ 6 พ.ค.นี้ คณะทำงานที่ตรวจสอบในเรื่องนี้ จะสรุปสำนวนส่งให้ป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณา และนัดชี้มูลความผิดในวันที่ 15 พ.ค.

ขณะที่การพิจารณา ร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง จะเข้าสู่การพิจารณาของครม.ในวันที่ 6 พ.ค. เช่นกัน เมื่อครม.มีมติให้ผ่านแล้ว อาจมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯในวันเดียวกันนั้นเลย หรือวันรุ่งขึ้น แต่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า จะมีการโปรดเกล้าฯ ลงมาเมื่อใด

ถ้าในระหว่างที่รอการโปรดเกล้าฯนั้น เกิดศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้ ยิ่งลักษณ์ พ้นสภาพการเป็นนายกฯ หรือ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดเรื่องจำนำข้าว ส่งผลให้นายกฯยิ่งลักษณ์ ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ แล้วใครจะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เพราะผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง ต้องเป็นนายกรัฐมนตรี เท่านั้น

การเลือกตั้ง 20 ก.ค. จะสำเร็จ ราบรื่นตามที่ กกต.และรัฐบาลตั้งควางหวังไว้หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป นี่ยังไม่นับรวมถึง ความชัดเจนว่า ประชาธิปัตย์จะลงสมัครหรือไม่ และคำประกาศของแกนนำกปปส. ที่ยืนยันว่าจะคัดค้านการเลือกตั้งถึงที่สุด ตราบใดที่ยังไม่มีการปฏิรูป 



กำลังโหลดความคิดเห็น