xs
xsm
sm
md
lg

ชี้รองปธ.วุฒิฯนั่งบัลลังก์ ประชุมถอดถอนนิคมได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (25มี.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา ที่มีนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ เป็นประธาน โดยมีวาระพิจารณาปัญหาข้อกฏหมาย กรณีส.ว.เลือกตั้งสิ้นสุดสมาชิกภาพ เมื่อถึงคราวออกตามวาระ โดยมีการเชิญนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระ เข้าให้ความเห็นทางกฎหมาย และตอบคำถามข้อซักถามของคณะกมธ.
โดยนายวีรพัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้มีข้อถกเถียงกันเกี่ยวกับการตีความตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 117 วรรคสาม เมื่อส.ว.เลือกตั้งสิ้นสุดสมาชิกภาพ แล้วจะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหรือไม่ ซึ่งตามความเห็นของตน ตามมาตรา 117 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติเชิงบังคับให้ ส.ว.ที่อยู่ครบวาระ หรือสิ้นสมาชิกภาพต้องดำรงตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่สืบเนื่องต่อไป จนกว่าจะมีส.ว.ขึ้นใหม่ ซึ่งการตีความเช่นนี้ เป็นการตีความที่สอดคล้องกันกับเจตนารมณ์ และวัตถุประสงค์พื้นฐานของรัฐธรรมนูญด้วย โดยเฉพาะจะต้องตีความให้สืบเนื่องกับสถาบันทางการเมือง ไม่ใช่ที่ตัวบุคคล เพราะความเป็นส.ว.ไม่ได้ผูกติดอยู่ที่ตัวบุคคล แต่ต้องถูกกำหนดไว้ที่สถาบันทางการเมือง แม้ว่าจะไม่มีตัวส.ว.อยู่ แต่วุฒิสภายังถือว่าเป็นสถาบันทางการเมืองที่ดำรงคงอยู่ต่อไป
เจตนารมณ์ดังกล่าว มีขึ้นเพื่อต้องการให้การสืบทอดอำนาจไม่มีการสะดุด แต่ก็มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามสถาบันนั้นๆด้วย ซึ่งการมีมาตรา 117 ก็เพื่อไม่ต้องการให้การใช้อำนาจต้องสะดุดหยุดลง หรือเกิดช่องว่างแต่อย่างใด แต่ปัญหาเกิดขึ้นก็คือ ตามมาตรา 117 ไม่ได้กำหนดว่า ส.ว.ที่ได้รับการเลือกตั้งมาใหม่จะมีสภาชิกภาพเป็นส.ว.เมื่อใด จึงต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ สภาชิกภาพที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันเลือกตั้งแล้ว ซึ่งเป็นสภาวะทางกฏหมาย แต่ต้องอาศัยสภาวะข้อเท็จจริงประกอบด้วย ซึ่งต้องอาศัยแนวจารีต และประเพณีตามกฎหมายที่สืบต่อกันมา ซึ่งตามประเพณีที่ผ่านๆ มา ตามความเห็นตนนั้น ควรยึดเอาวันที่ กกต.ประกาศรับรอง แล้วไปกล่าวปฏิญาณตนต่อที่ประชุมวุฒิสภาถึงจะปฏิบัติหน้าที่ส.ว.ได้โดยสมบูรณ์
จากนั้น คณะ กมธ.ได้สอบถาม กรณีที่ป.ป.ช.จะส่งหนังสือถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ตามรธน. โดยมีประธานรัฐสภา เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการยุบสภา อีกทั้งประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา หยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่มีผู้ทำหน้าที่รับสนองพระบรมราชโองการ แล้วจะจัดการอย่างไร
นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า ตามมาตรา 132 เป็นบทบัญญัติเฉพาะเจาะจงที่นำมาใช้ในกรณีที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรอยู่หรือถูกยุบไป ซึ่งจะเหลือแต่วุฒิสภาเหลืออยู่ ซึ่งตามความในมาตรา 132 ก็เปิดช่องให้วุฒิสภา สามารถประชุมเองได้ โดยมีการกำหนดเรื่องจำเป็นสำคัญไว้ 3 กรณี แม้จะเป็นการประชุมนอกสมัยประชุมก็ตาม ซึ่งการพิจารณาเพื่อมีมติถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งเป็น 1 ใน 3 กรณีที่ มาตรา 132 กำหนดไว้ ซึ่งการตีความเช่นนี้ เป็นการตีความเพื่อการสอดคล้องเชื่อมโยง ประหนึ่งเป็นข้อยกเว้นพิเศษของกรณีทั่วไป
ดังนั้น แม้จะประธานวุฒิสภาจะถูกชี้มูล ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การพิจารณาถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ยังดำเนินการได้ ตามมาตรา 132(3) เพราะเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจวุฒิสภาเป็นการเฉพาะในกรณีนี้ไว้แล้ว ไม่เกี่ยวกับสภาผู้แทนราษฎร แต่อย่างใด ดังนั้นตามความเห็นของตน คิดว่าในกรณีนี้ รองประธานวุฒิสภา สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภาได้ แต่ก็มีคำถามตามมาว่า กรณีดังกล่าวจะไปขัดแย้งต่อ มาตรา 273 หรือไม่ ซึ่งตนคิดว่า มาตรา 273 เป็นกรณีที่ใช้เป็นการทั่วไป แต่ถูกยกเว้นได้ ในกรณีเฉพาะตาม มาตรา 132 ไปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น